กบฏแมนฮัตตัน รัฐประหารครั้งรุนแรงที่สุด การทำรัฐประหารที่เกิดจากคนถืออาวุธแย่งอำนาจกันเองนั้น “กบฏแมนฮัตตัน” ซึ่งเกิดขึ้นในวันที่ ๒๙กันยายน ๒๔๙๔ ถือได้ว่าเป็นครั้งรุนแรงที่สุด ตำรวจ ทหารบก ทหารเรือ ทหารอากาศ พร้อมหน้ากันทั้ง ๔ เหล่าทัพ ขนอาวุธประจำกองทัพถล่มกัน ขนาดเอาเรือบินทิ้งระเบิดใส่เรือรบ ไม่สนใจสมบัติของชาติและประชาชนต้องเดือดร้อน เพราะแพ้ไม่ได้ ทำให้พลเรือนที่ไม่ได้เกี่ยวข้องด้วย ถูกลูกหลงตายเป็นร้อย บาดเจ็บกว่าครึ่งพัน
การรัฐประหารครั้งนี้สืบเนื่องมาจากที่ พล.ท.ผิน ชุณหะวัน ได้ทำรัฐประหารเมื่อวันที่ ๘ พฤศจิกายน ๒๔๙๐ นำจอมพล ป.พิบูลสงคราม ซึ่งเพิ่งหลุดพ้นคดีอาชญากรสงครามกลับมาเป็นนายกรัฐมนตรี และกวาดล้างฝ่ายปรีดี พนมยงค์ ซึ่งเป็นขั้วตรงข้าม มีการนำ ๔ อดีตรัฐมนตรีเสรีไทยไปยิงทิ้ง จนปรีดีที่ลี้ภัยออกไปนอกประเทศต้องลอบกลับมาทำ “กบฏวังหลวง” และเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ ทำให้ฝ่ายขั้วปรีดีถูกคุกคามอย่างหนัก โดยเฉพาะทหารเรือซึ่งนิยมปรีดี ถูกแทรกแซงกิจการภายในจนต้องออกแถลงการณ์คัดค้านกันมาแล้ว และมีการ “เตรียมพร้อม” คุมเชิงกันอยู่เป็นประจำ

กบฏแมนฮัตตัน รัฐประหารครั้งรุนแรงที่สุด
ในที่สุดทหารเรือกลุ่มหนึ่งก็หมดความอดทนที่ต้องเตรียมพร้อมวันแล้ววันเล่า จึงถือโอกาสที่จอมพล ป. นายกรัฐมนตรี มาทำพิธีที่ท่าราชวรดิฐรับมอบเรือขุดสันดอนแมนฮัตตันซึ่งองค์การช่วยเหลือทางเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกามอบให้ไทย จึงสั่งการให้ น.ต.มนัส จารุภา นำทหารเรือกลุ่มหนึ่งมีปืนกลมือเมดเสนเป็นอาวุธ บุกเข้าจี้จอมพล ป.บนเรือขุดแมนฮัตตัน นำไปลงเรือเปิดหัวไปขึ้น ร.ล.ศรีอยุธยา ซึ่งจะใช้เป็นกองบัญชาการ แล้วนำไปที่กรมสรรพาวุธทหารเรือ บางนา ซึ่งเป็นที่ชุมนุมพล แต่เกิดขัดข้องเมื่อไม่สามารถยึดสะพานพุทธยอดฟ้าเปิดให้เรือออกไปได้ อีกทั้งหางเสือ ร.ล.ศรีอยุทธยาก็เกิดขัดข้อง ทำให้บังคับเรือได้ลำบาก จึงกลายเป็นเป้าอยู่กลางแม่น้ำให้ตำรวจและทหารของกรมการรักษาดินแดนซึ่งตอนนั้นยึดมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เป็นที่ทำการระดมยิง ซึ่ง ร.ล.ศรีอยุธยาก็ตอบโต้ด้วยปืนเรือที่ทรงพลังกว่า
ในที่สุดทหารอากาศก็มา เมื่อส่งเครื่องบิน เอ.ที.๖ ลำหนึ่งบินมาสำรวจเหตุการณ์ เห็นว่า ร.ล.ศรีอยุธยาเป็นเป้านิ่งอยู่กลางแม่น้ำแล้ว ก็กลับไปขนระเบิดมาหย่อนใส่ แม้จอมพล ป.จะถูกควบคุมอยู่บนเรือก็ตาม ระเบิดบางลูกหลงไปลงบ้านราษฎร ลูกหนึ่งไปลงคลังน้ำมันของกองทัพเรือที่ข้างวัดอรุณราชวรารามวอดเรียบ ร.ล.ศรีอยุธยาแม้จะต่อสู้ด้วยปืนต่อสู้อากาศยาน แต่ระเบิดลูกหนึ่งทะลุดาดฟ้าเรือลงไประเบิดในห้องกระสุนข้างล่าง เป็นเหตุให้มีคำสั่งทิ้งเรือที่กำลังจะจม ทหารเรือจึงนำจอมพล ป.ว่ายน้ำฝ่ากระสุนที่ยิงมาจากฝั่งท่าราชวรดิฐ รอดชีวิตขึ้นฝั่งกองทัพเรือได้
ส่วนทหารเรือที่ปักหลักอยู่ที่ท่าราชวรดิฐก็แตกพ่าย ต้องโดดลงแม่น้ำว่ายข้ามฟาก โดยมีอีกฝ่ายยังระดมยิงเหมือนเกมล่าสัตว์ บางคนต้องทิ้งชีวิตอยู่กลางน้ำ บางคนก็ถอดเสื้อเลาะเขื่อนไปทางท่าช้าง ได้รับความช่วยเหลือจากประชาชนรอดชีวิตไปได้
ส่วนกองสัญญาณทหารเรือ ข้างสวนลุมพินี ทหารบกได้ส่งหน่วยรถยานเกราะบุก โดยมีตำรวจส่งรถหุ้มเกราะสแตรคฮาวน์กว่า ๑๐ คันมาร่วม สู้กันหนักในที่สุดก็ยึดได้
ฝ่ายทหารเรือแตกพ่ายทุกแนวรบ น.ต.มนัส จารุภา คนลงมือหนีออกนอกประเทศไปทางพม่า มีการเปิดเผยตัวเลขว่า มีทหารบกเสียชีวิต ๑๗ คน ตำรวจ ๘ คน พลเรือน ๑๐๓ คนและบาดเจ็บกว่า ๕๐๐ คน ลูกหลงทำให้ประชาชนที่ไม่เกี่ยวข้องอะไรด้วย ต้องตายมากกว่าคนที่รบกันเหมือนทุกครั้ง
ความพ่ายแพ้ครั้งนี้ ทำให้ทหารเรือถูกจับกว่า ๑,๐๐๐ คน กองทัพถูกลดทอนอำนาจทั้งด้านกำลังพลและอาวุธ หลายหน่วยงานถูกโอนไปขึ้นกับกองทัพบกและกองทัพอากาศ เช่นกองบินนาวี สถานที่ตั้งกองสัญญาณทหารเรือกลายเป็นโรงเรียนเตรียมทหาร เขตอิทธิพลของทหารเรือในจังหวัดสมุทรปราการ สมุทรสาครสมุทรสงคราม ชลบุรี จันทบุรี ระยอง ตราด ถูกกองทัพบกเข้าแทนที่ ให้ทหารเรือปฏิบัติการทางทะเลเท่านั้น
ส่วน ร.ล.ศรีอยุธยาที่จอมพล ป.เป็นผู้ตั้งงบประมาณซื้อเอง จมลงที่ปากคลองบางหลวง ขวางทางสัญจรทางน้ำ กองทัพเรือว่าจ้างบริษัทญี่ปุ่นกู้แต่ไม่สำเร็จ ต่อมาบริษัท อิตาเลียน-ไทย ดีเวลอปเมนต์ กู้ได้ในวันที่ ๒๔ พฤษภาคม ๒๕๐๓ แต่ก็ต้องขายเป็นเศษเหล็กเพราะจมน้ำอยู่นาน นำอุปกรณ์สำคัญบางชิ้นจัดแสดงไว้ที่พิพิธภัณฑ์ทหารเรือ สมุทรปราการ
โดยการกบฏครั้งนี้นับว่าเสียหายมากที่สุดในประวัติศาสตร์ไทย เพราะสถานที่ต่าง ๆ เสียหาย และมีผู้บาดเจ็บล้มตายนับร้อยทั้งทหารของทั้ง 2 ฝ่าย รวมถึงประชาชนที่ไม่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ เฉพาะผู้เสียชีวิตมีจำนวนประมาณ 187 ราย แบ่งเป็นประชาชน 118 ราย ทหารเรือ 43 ราย ทหารบก 17 ราย และ ตำรวจ 9 ราย
นับเป็นเหตุการณ์สงครามกลางเมืองที่คนไทยฆ่าคนไทยมากที่สุดจวบจนปัจจุบัน ความเสียหายที่เป็นสิ่งของและอาวุธยุทโธปกรณ์ในส่วนของประชาชน ทางราชการได้แถลงว่าทรัพย์สินของประชาชนที่เสียหายมีจำนวนถึง 670,000 บาท ไม่นับทรัพย์สินที่ถูกลักขโมยไปในช่วงที่เกิดความวุ่นวายและค่าทำศพของราษฎรอีกเป็นจำนวนมาก
โดยรัฐบาลจ่ายให้แก่ผู้เสียชีวิตคนละ 1,500 บาท ผู้ทุพพลภาพคนละ 1,200 บาท และผู้บาดเจ็บสาหัสคนละ 400 บาท ทางด้านความสูญเสียและความเสียหาย กองทัพบกเสียหายประมาณ 6,000,000 บาท กองทัพเรือเสียหายมากที่สุด เป็นทรัพย์สินประมาณ 5,000,000 บาท
ทั้งนี้ไม่นับรวมมูลค่าเสียหายของเรือหลวงศรีอยุธยาและเรือคำรณสินธ์ที่อับปางลง เรือหลวงศรีอยุธยานั้นเป็นเรือรบที่เรียกว่าเรือปืนหนัก เป็นเรือที่สั่งต่อพิเศษจากประเทศญี่ปุ่น เรือคำรณสินธ์เป็นเรือขนาดเล็ก นอกจากนี้ กรมอู่ทหารเรือยังถูกไฟไหม้วอด มีเชื้อเพลิงและอาวุธยุทโธปกรณ์ที่สูญหายอีกจำนวนมาก เหล่าที่สูญเสียน้อยที่สุดคงเป็นกองทัพอากาศ ซึ่งรัฐบาลถือว่าเป็น “อัศวินขี่ม้าขาว” ที่ทำให้กบฏครั้งนี้จบลงเร็วขึ้น ส่วนกรมตำรวจเสียหายประมาณ 380,000 บาท งบประมาณที่ใช้ปราบกบฏมีมูลค่าเป็นเงินทั้งหมด 15 ล้านบาท
การดำเนินคดีมีการจับกุมผู้ต้องหาร่วม 1,000 คน ซึ่งควบคุมตัวไว้ที่สนามกีฬาแห่งชาติ เนื่องจากมีจำนวนมาก ในที่สุดก็ต้องปล่อยตัวเพราะหาหลักฐานไม่เพียงพอจนเหลือฟ้องศาลประมาณ 100 คน
ภายหลังนักโทษคดีนี้ส่วนใหญ่ได้รับการนิรโทษกรรมเมื่อปี พ.ศ. 2500 เนื่องในโอกาสครบ 25 พุทธศตวรรษ ในส่วนของกองทัพเรือ แม้ทหารที่ก่อการจะไม่ใช่ทหารระดับสูงและทหารเรือส่วนใหญ่ก็ไม่เกี่ยวข้องด้วย กระนั้น พล.ร.อ.สินธุ์ กมลนาวิน ผู้บัญชาการทหารเรือ และนายทหารเรือระดับสูงหลายคน ก็ยังต้องโทษตัดสินจำคุกนานถึง 3 ปี โดยที่ไม่มีความผิด และได้มีการปรับลดอัตรากำลังพลของกองทัพเรือลงไปมาก เพราะถือเป็นความพยายามก่อรัฐประหารเป็นครั้งที่ 2 ติดต่อกันของทหารเรือ ต่อจากกบฏวังหลวง ที่เกิดขึ้นมาก่อนหน้านั้นเพียง 2 ปี โดยเฉพาะในพื้นที่กรุงเทพมหานคร เช่น ยุบกรมนาวิกโยธินกรุงเทพ, ยุบกองการบินกองทัพเรือไปรวมกับกองทัพอากาศ, ย้ายกองสัญญาณทหารเรือที่ถนนวิทยุ ที่ต่อมากลายเป็นที่ตั้งของโรงเรียนเตรียมทหาร ซึ่งในปัจจุบันคือที่ตั้งของ วัน แบงค็อก
นี่ก็เป็นประวัติศาสตร์หน้าหนึ่งของการแย่งชิงอำนาจทางการเมืองไทย ในระบอบ “ประชาธิปไตย”
