Skip to content
Home » News » การรัฐประหาร 16 กันยายน 2500

การรัฐประหาร 16 กันยายน 2500

การรัฐประหาร 16 กันยายน
http://cmu127416.blogspot.com/2015/04/6-16-2500.html

การรัฐประหาร 16 กันยายน 2500 ในระยะก่อนการรัฐประหารจะเกิดขึ้น ความขัดแย้งทางการเมือง 3 เส้าและกลุ่มอนุรักษ์-กษัตริย์นิยมดำเนินไปสู่การแบ่งออกเป็น 2 ขั้วทางการเมืองไทย คือ ขั้วที่สนับสนุนรัฐบาลอันมีกลุ่มจอมพล ป.และพล.ต.อ.เผ่า กับ ขั้วต่อต้านรัฐบาลที่มีจอมพลสฤษดิ์ และกลุ่มอนุรักษ์-กษัตริย์นิยม ต่างชิงไหวชิงพริบกันอยู่

โดยฝ่ายรัฐบาลได้ดำเนินการในช่วงวันสุดท้ายก่อนการเกิดรัฐประหารดังนี้ จอมพล ป.ได้เข้าเฝ้าพระมหากษัตริย์ที่พระที่นั่งอัมพรสถาน ในวันที่ 16 กันยายน เวลา 11.00 น. และกลับออกมาเวลา 13.00 น. ด้วยสีหน้า เคร่งเครียดและบึ้งตึง ไม่ยอมหยุดรถชี้แจงให้สัมภาษณ์กับคณะนักหนังสือพิมพ์ที่พากันไปรอสัมภาษณ์อย่างที่เป็นมา

เนื่องจาก พระองค์ไม่ทรงเห็นชอบในการปลดจอมพลสฤษดิ์ จากตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกตามที่รัฐบาลเสนอ ต่อมาในวันเดียวกัน เวลา 14.30 น. จอมพล ป.ได้เรียกประชุมบุคคลสำคัญของคณะรัฐมนตรี สมาชิกสภาผู้แทนประเภท 1 พรรคเสรีมนังคศิลา ประชุมที่ทำการพรรค ณ บ้าน มนังคศิลา เพื่อดำเนินการบางประการกับจอมพลสฤษดิ์และพวก

ในขณะที่ มีหลักฐานถึงปฏิกริยาความเคลื่อนไหวของกลุ่มทหารของจอมพลสฤษดิ์ต่อการเคลื่อนไหวของจอมพล ป. คือ “… เมื่อกลับมาถึงบ้านหลังกองพลที่ ๑ แล้ว ด้วยความสังหรณ์ใจ ฯพณฯ จึงให้นายทหารคนสนิทโทรศัพท์ไปที่บ้านจอมพลป. พิบูลสงครามอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งใขณะนั้นเป็นเวลาประมาณ ๑๕.๐๐ น.

ทางบ้านชิดลมตอบว่า จอมพล ป. ไม่สบาย จะพบไม่ได้ แม้แต่ในวันรุ่งขึ้น แต่พอโทรศัพท์ไปที่บ้านมนังคศิลากลับพบว่าจอมพลป.กำลังประชุมพรรคอยู่ที่นั่น ต่อมามีรายงานตามมาว่าทางพรรคเสรีมนังคศิลากำลังจะใช้อำนาจจับกุมฯฯพณฯ กับคณะ ถึงกับมีข่าวว่าได้จัดสถานที่ในคุกบางขวางและห้องพักชั้น ๔ ของโรงแรมเอราวัณเตรียมไว้เพื่อขังผู้ต้องหาและผู้สงสัยแล้ว ”

หลังการประชุมพรรคเสรีมนังคศิลาของรัฐบาลแล้ว จอมพลป.ได้ขอเข้าเฝ้าพระมหากษัตริย์อีกครั้ง ณ วังสวนจิตลดา ในเย็นวันที่ 16 กันยายน 2500 จากบันทึกนายทองใบ ทองปาวด์ -นักข่าวร่วมสมัยได้บันทึกว่า สีหน้าของจอมพล ป.ภายหลังเข้าเฝ้านั้น “บูด เหมือนปลาร้าค้างปี ” เขาถามจอมพล ป.ว่า “เข้าเฝ้าในหลวงทำไม”

จอมพล ป.ตอบว่า “เข้าเฝ้าตามปกติ” เขาถามต่อว่า “ในหลวงรับสั่งอย่างไรบ้าง” จอมพล ป.ตอบว่า “ไม่รับสั่งอะไร… ไม่มีข่าว” หลังจากนั้นจอมพล ป.เร่งขับรถทันเดอร์เบิรต์ “พุ่งปราดออกจากประตูสวนจิตรลดาไป”

การรัฐประหาร 16 กันยายน 2500 เกิดขึ้นในเวลา 18.00 น. พล.ท.ประภาส จารุเสถียร แม่ทัพภาคที่ 1 (ยศและตำแหน่งในขณะนั้น) ใช้รถถัง รถหุ้มเกราะและกำลังพล กระจายกำลังออกยึดจุดยุทธศาสตร์ต่าง ๆ เช่น หอประชุมกองทัพบก ที่ถนนราชดำเนินนอก เป็นต้น ในส่วนของกองบัญชาการตำรวจกองปราบ ที่สามยอด ซึ่งเป็นที่บัญชาการของ พล.ต.อ.เผ่า ได้รับคำสั่งให้ยึดให้ได้ภายใน 120 นาที

ก็สามารถยึดได้โดยเรียบร้อย โดย ร.ท.เชาว์ ดีสุวรรณ ในขณะที่ พล.จ.กฤษณ์ สีวะรา รองแม่ทัพภาคที่ 1 (ยศและตำแหน่งในขณะนั้น) พ.ท.เอิบ แสงฤทธิ์ พ.ต.เรืองศักดิ์ ชุมะสุวรรณ พ.อ.เอื้อม จิรพงษ์ และ ร.อ.ทวิช เปล่งวิทยา นำกำลังตามแผนยุทธศาสตร์ “เข้าตีรังแตน” โดยนำกองกำลังทหารราบที่ 1 พัน 3 บุกเข้าไปยึดวังปารุสกวัน

ซึ่งเป็นกองบัญชาการตำรวจนครบาล จากนั้นจึงติดตามด้วยกองกำลังรถถัง ในขณะที่กองทัพเรือ พล.ร.อ.หลวงชำนาญอรรถยุทธ ผู้บัญชาการทหารเรือ ได้สั่งวิทยุเรียกเรือรบ 2 ลำ ยึดท่าวาสุกรี และส่งกำลังส่วนหนึ่งยึดบริเวณหน้าวัดราชาธิวาส เพื่อประสานงานยึดอำนาจ จนกระทั่งการยึดอำนาจผ่านไปอย่างเรียบร้อย

ขณะที่ฝ่าย จอมพล ป. พิบูลสงคราม รู้ล่วงหน้าก่อนเพียงไม่กี่นาที จึงตัดสินใจหลบหนีโดยไม่ต่อสู้ โดยเดินทางไปโดยรถยนต์ประจำตัวนายกรัฐมนตรียี่ห้อฟอร์ด รุ่นธันเดอร์เบิร์ด พร้อมกับคนติดตามเพียง 3 คน เท่านั้นคือ นายฉาย วิโรจน์ศิริ เลขานุการส่วนตัว พ.ต.อ.ชุมพล โลหะชาละ นายตำรวจติดตามตัว และ พ.ท.บุลศักดิ์ วรรณมาศ

ทั้งหมดได้หลบหนีไปทางจังหวัดตราด และว่าจ้างเรือประมงลำหนึ่งเดินทางไปที่เกาะกง ประเทศกัมพูชา ก่อนลงเรือ จอมพล ป. ได้ให้ พ.ท.บุลศักดิ์ นำรถไปคืนสำนักนายกรัฐมนตรี และเข้าพบหัวหน้าคณะปฏิวัติ คือ จอมพลสฤษดิ์ ว่า ทั้ง 3 ได้หลบหนีออกนอกประเทศไปแล้ว ขออย่าได้ติดตามไปเลย

ขณะที่ พล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ ยังมิได้หลบหนีไปเหมือนจอมพล ป. แต่ถูกควบคุมตัวเข้ากองบัญชาการคณะปฏิวัติ พร้อมกับกล่าวว่า “อั๊วมาแล้ว จะเอาอย่างไรก็ว่า” แต่ในวันรุ่งขึ้นก็ต้องเดินทางออกจากประเทศไทยไปยังสวิตเซอร์แลนด์

ในคืนนั้นเอง เมื่อรถถังได้ปรากฏตามมุมสำคัญๆในกรุงเทพฯ สำหรับท่าทีของกลุ่มอนุรักษ์-กษัตริย์นิยมอย่างพระยาศรีวิสารวาจา-องคมนตรี เมื่อรู้ว่าเกิดการรัฐประหาร คือ เสียงหัวเราะ ไม่นานจากนั้น วิทยุได้ประกาศพระบรมราชโองการของพระมหากษัตริย์ที่ทรงแต่งตั้งให้จอมพล สฤษดิ์เป็นผู้รักษาพระนครฝ่ายทหาร

ทั้งนี้ พระบรมราชโองการฉบับนี้ ยังคงเป็นปัญหาถกเถียงถึงอำนาจของพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ เนื่องจากเป็นการกระทำที่ปราศจากผู้รับสนองพระราชโองการอันละเมิดต่อรัฐธรรมนูญ 2495 ซึ่งขณะนั้นรัฐธรรมนูญฉบับนี้มิได้ถูกยกเลิก

“ ประกาศพระบรมราชโองการตั้งผู้รักษาพระนครฝ่ายทหาร
ภูมิพลอดุลยเดช ปร.

เนื่องด้วยปรากฏว่า รัฐบาลอันมี จอมพลป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี ได้บริหารราชการแผ่นดินไม่เป็นที่ไว้วางใจของประชาชน ทั้งไม่สามารถรักษาความสงบเรียบร้อยของบ้านเมืองได้ คณะทหารซึ่งมี จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นหัวหน้า ได้เข้ายึดอำนาจการปกครองไว้ได้ และทำหน้าที่เป็นผู้รักษาพระนครฝ่ายทหาร ข้าพเจ้าจึงขอตั้ง จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นผู้รักษาพระนครฝ่ายทหาร ขอให้ประชาชนทั้งหลายจงอยู่ในความสงบ และให้ข้าราชการทุกฝ่ายฟังคำสั่งจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์

ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป

ประกาศมา ณ วันที่ 16 กันยายน พุทธศักราช 2500”

จากนั้น การเมืองไทยถูกผลักเข้าไปสู่ระบอบเผด็จการทหารเต็มรูปแบบ สุดท้ายแล้ว สถานทูตสหรัฐฯวิเคราะห์ว่า สาเหตุที่กลุ่มอนุรักษ์-กษัตริย์นิยมมีส่วนเกี่ยวข้องในทางการเมืองในการรัฐประหารครั้งนี้ ด้วยคาดหวังถึงการขยายบทบาททางการเมืองให้มากขึ้น ทั้งนี้ ภายหลังการรัฐประหาร 2500 การเมืองไทยถูกผลักเข้าไปสู่มุมมืดอย่างยาวนาน

ต่อกรณีการที่รัฐบาลส่งตัวแทนมาพบนายปรีดีที่จีนนั้น นายปรีดี ได้บันทึกเรื่องเกี่ยวการส่งตัวแทนมาพบที่จีนและการพยามยามรื้อฟื้นคดีสวรรคตขึ้นมาพิจารณาใหม่ของจอมพล ป.ว่า

“ ภายหลังที่นายเฉลียว ประทุมรส นายชิต สิงหเสนี นายบุศย์ ปัทมศรินทร์ ถูกประหารชีวิต ฐานต้องหาว่าปลงพระชนม์รัชกาลที่ 8 แล้ว จอมพล ป. ได้ข้อเท็จจริงใหม่หลายประการที่แสดงความบริสุทธิ์ของผู้ต้องหาเหล่านั้น จึงส่งตัวแทนไปแจ้งกับข้าพเจ้าที่อาศัยอยู่ในประเทศจีนว่าจะดำเนินการยุติธรรม โดยให้มีพิจารณาคดีสวรรคตกรณีรัชกาลที่ 8 ขึ้นใหม่ ตามวิธีพิจารณาของบางประเทศที่อารยะแล้ว …..

ฝ่ายซากทรรศนะระบบทาสได้โฆษณาใส่ร้ายจอมพล ป. ว่าไม่เคารพพระมหากษัตริย์ ทำให้คนรุ่นใหม่สมัยนั้นจำนวนหนึ่งหลงเชื่อ ครั้นแล้วพวกซากทรรศนะทาสได้สนับสนุนให้จอมพลสฤษดิ์ทำรัฐประหารโค่นล้มจอมพล ป. แล้วช่วยโฆษณาให้แก่จอมพลสฤษดิ์ว่าเป็นผู้รักษาพระราชบัลลังก์ไว้ ”

จากรายงานของหน่วยข่าวกรองสหรัฐฯรายงานในภายหลังว่า พระมหากษัตริย์ไทยได้ให้พระบรมราชูปถัมภ์การรัฐประหารของจอมพลสฤษดิ์ ในการโค่นล้มรัฐบาลของจอมพล ป.เมื่อ 2500 เนื่องจากพระองค์ไม่พอพระราชหฤทัยรัฐบาล

จอมพล ป. หลังรัฐบาลถูกรัฐประหาร และพล.ต.อ.เผ่าได้ให้สัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์และวิทยุรอยเตอร์จากกรุงการาจี ค่ำวันที่ 17 กันยายน 2500 หลังการเดินออกนอกประเทศ ว่า “รัฐประหารครั้งนี้ เป็นที่ทราบกันอยู่แล้ว เพียงแต่ว่า ไม่มีใครคิดสู้กับทหารและกษัตริย์ ”

รัฐประหารครั้งนี้ยังเป็นครั้งแรกที่ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมีพระบรมราชโองการให้ประกาศกฎอัยการศึกทั่วราชอาณาจักร เป็นครั้งแรกในรัชกาลของพระองค์ โดยไม่ได้เป็นพระบรมราชโองการผ่านผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ โดย จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ ประกาศ ณ วันที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2500

ในวันที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2500 จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้ทูลเกล้า พจน์ สารสิน เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 9 ของราชอาณาจักรไทย

ในวันที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2500 23.00 น. มีพระบรมราชโองการให้เลิกประกาศกฎอัยการศึกในบางจังหวัด โดยทรงยกเลิกกฎอัยการศึกทั้งหมด 46 จังหวัด และให้คงกฎอัยการศึกไว้ทั้งหมด 26 จังหวัด จากทั้งหมด 72 จังหวัด โดยนาย พจน์ สารสิน นายกรัฐมนตรี เป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ

ในวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2501 พลโทถนอม กิตติขจร ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่ 10 ของราชอาณาจักรไทย ตามมติสภาผู้แทนราษฎร

ในวันที่ 10 มกราคม พ.ศ. 2501 6.00 น. มีพระบรมราชโองการให้เลิกประกาศกฎอัยการศึก ใน 26 จังหวัด ที่ยังคงให้ประกาศกฎอัยการศึกไว้[6]เป็นอันจบเหตุการณ์เนื่องจากยกเลิกใช้กฎอัยการศึกทั่วราชอาณาจักรในวันและเวลาดังกล่าว โดยมีพลโท ถนอม กิตติขจร นายกรัฐมนตรี เป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ