Skip to content
Home » News » การรายงานของสื่อ ต่อรัฐบาล

การรายงานของสื่อ ต่อรัฐบาล

การรายงานของสื่อ
https://mgronline.com/onlinesection/detail/9630000084398

การรายงานของสื่อ ต่อรัฐบาลพบว่ามีความเกรงใจรัฐบาลและตำรวจสูง คือ ปรากฏภาพความรุนแรงที่เกิดจากฝั่งตำรวจน้อยมาก ทั้งโจมตีผู้ประท้วงและแก้ต่างให้รัฐบาลกับตำรวจ ส่วนภาพและวิดีทัศน์ความรุนแรงจากตำรวจนั้นล้วนเผยแพร่ทางสื่อสังคมต่าง ๆ ทำให้เกิดกระแส #แบนสื่อช่องหลัก เดือนสิงหาคม 2563

เนชั่นทีวีลงข่าวยอมรับว่ามีผู้สื่อข่าวของตนปกปิดสังกัดและแอบอ้างว่ามาจากช่องอื่นจริง และกองบรรณาธิการเรียกตักเตือนแล้ว แต่อ้างว่านักข่าวกระทำเช่นนั้นเพราะกลัวเกิดอันตรายจากผู้ชุมนุม ต่อมาจึงเกิดการดำเนินกิจกรรมของผู้บริโภคชื่อ #แบนสปอนเซอร์เนชั่น เพื่อให้เนชั่นเปลี่ยนแปลงวิธีการนำเสนอข่าว

ทำให้เนชั่นต้องมีการปฏิรูปองค์กรในช่วงเดือนพฤศจิกายน และปัจจุบันบุคลากรกลุ่มสุดโต่งได้ย้ายไปทำสถานีข่าวชื่อท็อปนิวส์เรียบร้อยแล้ว

พบนักข่าวภาคสนามช่องเนชั่นทีวี ไปแอบอ้างช่องอื่นขอสัมภาษณ์ผู้ชุมนุมกลุ่มประชาชนปลดแอก บอกว่ามาจาก “นิวทีวี” ทำเอานักข่าวนิวทีวีตัวจริงเดือดร้อน ทำให้เพื่อนร่วมวิชาชีพเสียหาย ด้านต้นสังกัดขออภัย อ้างนักข่าวกังวลความปลอดภัย หากบอกต้นสังกัดจริงอาจถูกกดดันเพราะถูกด่ามาแล้วหลายครั้ง สั่งกำชับไม่ให้ทำแบบนี้อีก

เมื่อวันที่ 17 ส.ค. รายงานข่าวแจ้งว่า ได้มีเรื่องอื้อฉาวในวงการสื่อมวลชนเกิดขึ้น เมื่อผู้ใช้เฟซบุ๊กรายหนึ่งซึ่งเป็นผู้ชุมนุมกลุ่มประชาชนปลดแอก ที่ไปร่วมชุมนุมเมื่อวันที่ 16 ส.ค. ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย โพสต์ข้อความระบุว่า ตนและเพื่อนอีก 2 คน ไปร่วมชุมนุมเป็นครั้งแรก

ก่อนจะกลับพบนักข่าวรายหนึ่งถามว่า ขอสัมภาษณ์ได้ไหม เมื่อถามว่ามาจากช่องอะไรก็ตอบว่า “นิวทีวีนะ สื่อเล็กๆ” ตนก็ตอบไปแบบที่คิด ไม่ได้ใส่อารมณ์อะไร คิดยังไงก็พูดออกไปแบบนั้น เพราะว่าอยากให้คนที่ลังเลได้ตัดสินใจออกมาชุมนุมเหมือนกับพวกตน ปรากฎว่ากลับมาไม่ถึง 24 ชั่วโมง พวกตนไปโผล่ช่องเนชั่น

ทำให้ถูกคอมเมนต์จากผู้สนับสนุนรัฐบาลด่าจำนวนมาก อีกทั้งยังพบว่านักข่าวเนชั่นต้องบอกว่ามาจากช่องอื่น จึงสงสัยว่าผิดจริยธรรมสื่อหรือไม่ จึงขอฝากว่าถ้ารอบหน้าจะให้สัมภาษณ์ ขอดูบัตรนักข่าวด้วย

ด้านนายอติ บุญเสริม ผู้สื่อข่าวสถานีโทรทัศน์นิว 18 โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก ระบุว่า “ผมในฐานะเป็นผู้สื่อข่าวของช่อง New18 (นิวทีวี) ขอประณามการกระทำของเพื่อนร่วมวิชาชีพ ผมไม่รู้ว่าองค์กรของคุณมีทัศนคติทางการเมืองอย่างไร แต่ในสนามของการทำงานคุณต้องเคารพผู้อื่น เคารพแหล่งข่าว และให้เกียรติเพื่อนร่วมวิชาชีพ การทำงานแบบนี้คือการแอบอ้าง ผมเองไปทำข่าวการชุมนุมทุกกลุ่ม ทุกครั้ง ไม่เคยมีปัญหาใดๆ ได้รับความร่วมมือจากแหล่งข่าวเสมอ ยินดีปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ที่กลุ่มผู้ชุมนุมกำหนดกับสื่อมวลชน รวมทั้งในเกียรติการแสดงความคิดเห็นที่แตกต่าง บนพื้นฐานของเสรีภาพและจรรยาบรรณของสื่อมวลชน

การกระทำของคุณมันส่งผลให้เพื่อนร่วมวิชาชีพเสียหาย และทำงานลำบากมากขึ้น ในสถานการณ์เช่นนี้มันคือการซ้ำเติมและทำให้ภาพลักษณ์ของสื่อมวลชนให้ดูแย่ลงไปอีก คุณสนุกคนอื่นเขาไม่สนุกด้วยเลย เพื่อนผมอยู่สื่อนี้หลายคนแต่ก็ยังมีสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน แต่สำหรับคุณผมไม่รู้จัก และไม่อยากรู้จักด้วย”

หลังเกิดปฏิกิริยาในโซเชียลฯ สถานีโทรทัศน์เนชั่นทีวี ได้ออกคำชี้แจงระบุว่า ตามที่มีคอมเมนท์ในโซเชียลมีเดียและเพจดังที่ติดตามการปฏิบัติหน้าที่ของสื่อมวลชน วิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับการรายงานข่าวการชุมนุมของกลุ่มประชาชนปลดแอก ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 16 ส.ค. 2563 โดยผู้สื่อข่าวหญิงคนหนึ่งซึ่งเป็นพนักงานของเนชั่นทีวี กรณีที่ผู้สื่อข่าวขอสัมภาษณ์ผู้ชุมนุมโดยไม่ยอมแจ้งสังกัดที่แท้จริง แต่กลับแจ้งว่าเป็นผู้สื่อข่าวของสถานีโทรทัศน์อีกช่องหนึ่งนั้น

กองบรรณาธิการเนชั่นทีวี ได้ตรวจสอบเรื่องที่เกิดขึ้น และได้สอบถามผู้สื่อข่าวหญิงรายดังกล่าวแล้ว พบว่าข้อมูลที่มีการวิพากษ์วิจารณ์กันนั้นเป็นความจริง ทางเนชั่นทีวีจึงต้องขออภัยมายังบุคคลที่ถูกสัมภาษณ์, ผู้ชมทุกท่าน ตลอดจนประชาชนทั่วไปมา ณ ที่นี้

จากการตรวจสอบเพิ่มเติมพบว่า สาเหตุที่ผู้สื่อข่าวหญิงรายนี้ต้องปกปิดสังกัดตัวเอง เป็นเพราะผู้สื่อข่าวมีความกังวลเรื่องความปลอดภัย เกรงว่าหากบอกสังกัดที่แท้จริงไป อาจจะถูกกดดันการทำหน้าที่ เนื่องจากที่ผ่านมาผู้สื่อข่าวของเนชั่นทีวีที่ลงพื้นที่ติดตามข่าวการชุมนุมในหลายๆ สถานที่ ได้ถูกคุกคาม กดดัน ตะโกนต่อว่า รวมไปถึงด่าทอด้วยถ้อยคำหยาบคายมาแล้วหลายครั้ง ทั้งยังมีสร้างแคมเปญรณรงค์ให้เลิกดูเนชั่นด้วย

ประกอบกับผู้สื่อข่าวหญิงรายนี้เป็นนักข่าวที่ประจำอยู่สายงานอื่น ไม่ใช่สายงานการเมือง แต่ต้องไปช่วยปฏิบัติหน้าที่กับผู้สื่อข่าวสายการเมืองในวันหยุด ทำให้ไม่มีประสบการณ์มากนักในการรายงานข่าวกลางกลุ่มผู้ชุมนุม จึงรู้สึกกดดันตัวเอง ทำให้ตัดสินใจผิดพลาด

สำหรับเรื่องที่เกิดขึ้น ทางกองบรรณาธิการไม่ได้นิ่งนอนใจ ได้เรียกผู้สื่อข่าวหญิงรายนี้มาทำความเข้าใจ และได้กำชับไม่ให้กระทำพฤติกรรมเช่นนี้อีก พร้อมพิจารณาลงโทษในลำดับต่อไป โดยการไปรายงานข่าวภาคสนามทุกครั้ง จะต้องแจ้งชื่อและสังกัดอย่างตรงไปตรงมา และพร้อมรับผลกระทบที่เกิดขึ้น โอกาสนี้ทางกองบรรณาธิการขอแสดงความเสียใจและขอโทษไปยังสถานีโทรทัศน์ที่ถูกอ้างถึงด้วย

ส่วนนายนายจักร์กฤษ เพิ่มพูล กรรมการนโยบาย ด้านกิจการสื่อสารมวลชน องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ส.ส.ท.) และอดีตบรรณาธิการเครือเนชั่น ยุคนายสุทธิชัย หยุ่น โพสต์ข้อความระบุว่า “หลักจริยธรรมสำคัญข้อหนึ่ง ที่ปรากฏใน Thai PBS WAY ll คือไม่แสดงตัวว่าเป็นนักข่าวขณะทำข่าว หรือทำให้เข้าใจผิดว่าเป็นนักข่าวสังกัดสำนักอื่น

แม้การไม่แสดงตัวว่าเป็นนักข่าวขณะทำข่าว จะเป็นข้อยกเว้นในการทำข่าวเชิงสืบสวน สอบสวน แต่โดยหลักการ ก่อนทำข่าว ก่อนสัมภาษณ์แหล่งข่าว จะต้องแนะนำตัวเองและสังกัด แจ้งวัตถุประสงค์ให้แหล่งข่าวทราบทุกครั้ง นอกจากนั้นถึงแม้แหล่งข่าว จะทราบอยุ่แล้วว่า เราเป็นนักข่าว แต่เมื่อมีการพูดคุยกับแหล่งข่าว และต้องการนำถ้อยคำนั้นไปเป็นข่าว ก็ต้องแจ้งแหล่งข่าวเช่นเดียวกัน

แหล่งข่าวไม่ควรประหลาดใจว่า ข่าวการสัมภาษณ์ของเขานั้นมาได้อย่างไร ทั้งที่ไม่เคยให้สัมภาษณ์ หรือเป็นเพียงพูดคุยกับนักข่าว ในฐานะคนคุ้นเคย ไม่ใช่นักข่าวกับแหล่งข่าว”

หนังสือพิมพ์ บางกอกโพสต์ ลงแก้ไขข่าวว่าในหนังสือพิมพ์ฉบับวันที่ 18 ตุลาคม รายงานผิดว่าผู้ประท้วงรบกวนระบบขนส่งมวลชนในกรุงเทพมหานคร แต่แท้จริงแล้ว กอร.ฉ. สั่งปิดรถไฟฟ้า

ในเดือนพฤศจิกายน การรายงานของสื่อ อีก 3 สำนักที่นำเสนอข่าวผิดจากข้อเท็จจริง ทำให้เกิดกระแสต่อต้านจากฝั่งราษฎร ได้แก่ ช่องวัน ที่อ้างว่ามีการย้ายรถตำรวจจึงทำให้เกิดเหตุการณ์ใช้รถฉีดน้ำแรงดันสูงขึ้น, อมรินทร์ทีวี ที่พาดหัวใส่ร้ายราษฎรว่าทำร้ายกลุ่มเสื้อเหลือง และ ไทยรัฐทีวี ที่ด่วนสรุปว่าเหตุความวุ่นวายเกิดจากนักเรียนอาชีวะทะเลาะกันเอง

ส่วนการรายงานของสื่อต่างประเทศ สำนักข่าวรอยเตอส์และไฟแนนเชียลไทมส์ลงข่าวกระแสแฮชแท็ก #RepublicofThailand ทางทวิตเตอร์ในปลายเดือนกันยายน ขณะที่เดือนตุลาคมสัญญาณจากซีเอ็นเอ็น, บีบีซี เวิลด์นิวส์, อัลญะซีเราะฮ์อิงกลิช, เอ็นเอชเคเวิลด์

และสำนักข่าวต่างประเทศอื่นที่นำเสนอการชุมนุมในประเทศไทยถูกห้ามออกอากาศทางทรูวิชั่นส์และแอปพลิเคชันทรูไอดี 31 ตุลาคม สำนักข่าวเอเอฟพีลงข่าวเพื่อแก้ไขข่าวเท็จที่บิดเบือนคำพูดของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศว่า พระมหากษัตริย์ไทยมิได้กระทำผิด

ในเดือนพฤศจิกายน หนังสือพิมพ์ นิวยอร์กไทมส์ ลงบทวิเคราะห์ว่ามีข่าวลือรัฐประหารในไทยอีกครั้ง ส่วนสื่อต่าง ๆ ในประเทศเยอรมนีจับประเด็นการพำนักของพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว สื่อในสหราชอาณาจักร ตั้งแต่หนังสือพิมพ์ที่ได้รับความเคารพนับถือไปจนถึงแทบลอยด์ต่างให้ความสนใจกับข่าวการประท้วง

หลายเจ้าตั้งคำถามถึงพระจริยวัตรและพระราชทรัพย์ เช่น ดิอีโคโนมิสต์ ลงว่า พระองค์ต้องการสถาปนาระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ หรือ เดอะไทมส์ พาดหัวว่า พระองค์ทรงเป็นของขวัญของนักสาธารณรัฐนิยม