
ความทุกข์ยากชาวเวเนซุเอลา การสั่งคว่ำบาตร PDVSA บริษัทน้ำมันแห่งชาติของเวเนซุเอลาเป็นมาตรการล่าสุดของสหรัฐฯ ที่พยายามกดดันให้ ปธน.นิโกลัส มาดูโร ยอมเปิดทางให้นายฮวน กุยโด ผู้นำฝ่ายค้านขึ้นเป็นผู้นำประเทศแทน
นายจอห์น โบลตัน ที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งชาติ สหรัฐฯ ระบุว่า ปธน.มาดูโร และพันธมิตรของเขาไม่สามารถ “ปล้นทรัพย์สินของชาวเวเนซุเอลาได้อีกต่อไป” และนายสตีเวน มนูชิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง สหรัฐฯ
บอกว่า รัฐบาลของ ปธน.มาดูโร จะไม่ได้รับผลกำไรจากการซื้อขายน้ำมันจากเวเนซุเอลาอีกต่อไป แต่บริษัทสามารถหลีกเลี่ยงการคว่ำบาตรได้หากยอมรับนายกุยโดในฐานะประธานาธิบดี
สหรัฐฯ เป็นผู้นำเข้าน้ำมันหลักของเวเนซุเอลา โดยคิดเป็น 41 เปอร์เซ็นต์ของยอดส่งออกน้ำมันทั้งหมดของเวเนซุเอลา ในเวลาต่อมา ปธน. มาดูโร บอกว่าเขาได้บอกบริษัท PDVSA ให้เตรียม “ปฏิบัติการทั้งเชิงการเมืองและกฎหมายต่อศาลสหรัฐฯ และนานาชาติ” ที่จะปกป้อง Citgo ซึ่งเป็นสาขาบริษัทของ PDVSA ในสหรัฐฯ
ด้านนายกุยโดระบุว่าเขาได้ออกคำสั่งให้สภานิติบัญญัติแต่งตั้งประธาน PDVSA และ Citgo คนใหม่ซึ่งเป็นความพยายามที่จะเข้าควบคุมสินทรัพย์ของประเทศ
ท่ามกลางวิกฤตทางการเมือง ความไม่พอใจก็ทวีคูณด้วยภาวะเงินเฟ้ออย่างรุนแรง ไฟฟ้าดับบ่อยครั้ง และการขาดแคลนอาหารและยา มีรายงานว่ามีผู้เสียชีวิตราว 26 รายแล้วจากการประท้วงเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว และสหประชาชาติได้เตือนว่าอาจนำไปสู่ความรุนแรงที่ไม่อาจควบคุมได้
นี่คือ ตารางที่จะช่วยให้เราเข้าใจสถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นในเวเนซุเอลาได้ดีขึ้น
1. ภาวะเงินเฟ้อรุนแรง (Hyperinflation)
ปัญหาใหญ่ที่สุดสำหรับชีวิตความเป็นอยู่ของชาวเวเนซุเอลาคือภาวะเงินเฟ้ออย่างรุนแรงจนคุมไม่ได้ งานวิจัยที่ทำขึ้นโดยสภานิติบัญญัติแห่งชาติซึ่งพรรคฝ่ายค้านครองเสียงข้างมาก ระบุว่า อัตราเงินเฟ้อพุ่งสูงขึ้นถึง 1,300,000% ในช่วง 12 เดือนจนถึงเดือน พ.ย. 2018
ไม่มีวี่แววว่าจะควบคุมได้ และอาจทะลุ 1 ล้านเปอร์เซ็นต์ในปีนี้ เห็นได้จากที่มีคนออกมาโยนเงินทิ้งเกลื่อนถนน เพราะเหลือค่าเพียงแค่เศษกระดาษ ขณะที่สินค้าราคาแพงมหาศาล สวนทางกับค่าแรงคนในประเทศ ซึ่งภาวะที่คนเวเนซุเอลาเจอตอนนี้ เรียกว่า เงินเฟ้อขั้นรุนแรง หรือ Hyperinflation นั่นเอง
Hyperinflation คืออะไร ?
ข้อมูลจาก The Guardian ให้ความหมายของ Hyperinflation ว่าเป็นภาวะเงินเฟ้อขั้นรุนแรงที่ราคาสินค้าแพงขึ้นต่อเนื่องแบบรวดเร็ว หรือมากกว่า 50% ภายใน 1 เดือน ส่งผลให้เงินด้อยค่าจนไม่มีใครอยากได้ เช่น สถานการณ์ในเวเนซุเอลาที่ต้องใช้เงินถึง 2.6 ล้านโบลิวาร์ (340 บาท) เพื่อซื้อกระดาษชำระ 1 ม้วน หรือใช้เงิน 14.6 ล้านโบลิวาร์ (1,900 บาท) ซื้อไก่ 1 ตัว
ทั้งนี้แม้ Hyperinflation เป็นภาวะที่เกิดขึ้นไม่บ่อยนัก แต่ก็มีหลายประเทศเคยมีบทเรียนเรื่องนี้มาแล้ว ไม่ว่าจะเป็น
– เยอรมนี ในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 ปี 1920
– ฮังการี ช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เคยมีเงินเฟ้อทำสถิติสูงสุดในประวัติศาสตร์ถึง 41,900,000,000,000,000%
– รัสเซีย หลังเกิดเหตุการณ์ล่มสลายของสหภาพโซเวียต
– ซิมบับเว ที่พิมพ์เงินออกมาจำนวนมากจนไร้ค่า โดยเคยออกธนบัตรมูลค่า 100,000,000,000,000 ดอลลาร์ซิมบับเว ในปี 2008 ก่อนยกเลิกสกุลเงินของตัวเอง เปลี่ยนไปใช้ดอลลาร์สหรัฐ เมื่อปี 2009
จนถึงสิ้นปีที่แล้ว ราคาสินค้าเพิ่มขึ้น 2 เท่าโดยเฉลี่ยทุก ๆ 19 วัน ทำให้เป็นเรื่องยากที่ชาวเวเนซุเอลาจะซื้อข้าวของเครื่องใช้ที่จำเป็นได้ อาทิ อาหารและผลิตภัณฑ์สำหรับทำความสะอาดร่างกาย
ในตอนนี้ ต้องใช้เงินโบลิวาร์จำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ กว่าจะสามารถแลกเงิน 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ ได้
2. GDP ลดต่ำลง
ความทุกข์ยากชาวเวเนซุเอลา เวเนซุเอลาเคยเป็นประเทศที่ร่ำรวยที่สุดในละตินอเมริกา ซึ่งเป็นผลมาจากแหล่งน้ำมันที่มีมูลค่าที่สุดในโลก แต่ภายใต้การบริหารประเทศของ อดีต ปธน. ฮูโก ชาเวซ ซึ่งเสียชีวิตเมื่อปี 2013 และ ปธน. มาดูโร ทั้งคอร์รัปชั่น, การบริหารจัดการที่ผิดพลาด, และหนี้สูง ทำให้เศรษฐกิจของประเทศพังลง
ปธน. ชาเวซ ถือโอกาสช่วงที่การค้าขายน้ำมันมั่งคั่งในช่วงปี 2000 ในการกู้ยืมเงินมหาศาลและยอดเงินใช้จ่ายของรัฐบาลก็พุ่งสูงขึ้น และจากนั้นในสมัยแรกของมาดูโรในฐานะประธานาธิบดี เศรษฐกิจเวเนซุเอลาก็ล่วงดิ่งลง
หลายฝ่ายโทษ ปธน.มาดูโร และรัฐบาลสังคมนิยมของเขาที่ทำให้เศรษฐกิจของประเทศแย่ลง ส่วน ปธน.มาดูโร ก็โทษ “พวกจักรวรรดินิยม” อย่างสหรัฐฯ และยุโรป ที่ทำ “สงครามเศรษฐกิจ” กับเวเนซุเอลา และดำเนินมาตรการคว่ำบาตรต่อสมาชิกในรัฐบาลของเขาหลายคน
ราคาน้ำมันที่ตกต่ำลงในปี 2016 ยิ่งทำให้วิกฤตของประเทศที่พึ่งน้ำมันเป็นหลักยิ่งแย่เข้าไปใหญ่
3. ขาดแคลนอาหาร

ชาวเวเนซุเอลากำลังหิวโหย แบบสำรวจสภาพความเป็นอยู่ Encovi จากปี 2017 พบว่า 8 ใน 10 บอกว่าพวกเขารับประทานอาหารน้อยลง เพราะว่าที่บ้านมีอาหารไม่เพียงพอ
6 ใน 10 บอกว่าต้องเข้านอนอย่างหิวโหยเพราะไม่มีเงินพอที่จะซื้ออาหาร
และนี่ก็ทำให้สุขภาพของผู้คนพลอยแย่ไปด้วย คนส่วนใหญ่ (64.3%) บอกว่า พวกเขาน้ำหนักลดลงในปี 2017 โดยเฉลี่ย 11.4 กก. และเป็นคนยากจนที่น้ำหนักลดลงมากที่สุด
ความทุกข์ยากชาวเวเนซุเอลา ผลสำรวจอื่น ๆ
- อาหารพื้นถิ่นต่าง ๆ มีขนาดและคุณภาพลดลง
- คน 9 ใน 10 ไม่สามารถซื้ออาหารประจำวันได้
- คน 8.2 ล้านคนทานอาหารวันละ 2 มื้อหรือน้อยกว่านั้น
- อาหารที่คนรับประทานไม่มีธาตุเหล็ก วิตามิน และสารอาหารต่าง ๆ
นี่เป็นผลให้ชาวเวเนซุเอลาหันไปกินผักและอาหารประเภทอื่น ๆ ที่เคยถูกมองว่าเป็นของคนจน
4. ไม่มียารักษาโรคเพียงพอ
ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา มีผู้ติดเชื้อมาลาเรียในเวเนซุเอลาเพิ่มมากขึ้น ซึ่งตรงกันข้ามกับชาติอื่น ๆ ในละตินอเมริกา จากที่เคยเป็นประเทศแรกที่กำจัดโรคนี้สำเร็จเมื่อปี 1961 ตอนนี้ มีรายงานผู้ติดเชื้ออย่างน้อย 10 ใน 24 รัฐ
Icaso องค์กรไม่หวังกำไรจากแคนาดาระบุว่า เอกสารรัฐบาลที่หลุดรอดออกมาระบุว่า เกิดการแพร่ระบาดของเชื้อมาลาเรียสายพันธุ์ที่กำจัดได้ยากที่ชื่อ “plasmodium vivax” ด้วย ศูนย์วิจัยสังเกตการณ์สุขอนามัยเวเนซุเอลา (Venezuelan Health Observatory) รายงานถึงการขาดแคลนยาต้านเชื้อมาลาเรียทุกสายพันธุ์อย่างกว้างขวาง
5. ปริมาณการผลิตน้ำมันที่น้อยลง
เวเนซุเอลามีทรัพยากรน้ำมันดิบมากที่สุดในโลก และผลิตภัณฑ์จากน้ำมันปิโตรเลียมเป็นรายได้ส่วนใหญ่ของประเทศ กระบวนการผลิตดำเนินมาด้วยความเสถียรตั้งแต่ปี 2002 ถึงปี 2008 ซึ่งราคาน้ำมันโลกพุ่งขึ้นสูงสุด ตัวเลขจากโอเปกระบุว่า เวเนซุเอลาทำเงินราว 6 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จากน้ำมันในปีนั้น แต่ราคาน้ำมันที่พุ่งต่ำลงช่วงจะสิ้นปี 2014 ทำให้เศรษฐกิจของประเทศที่ต้องพึ่งน้ำมันและกำลังดิ้นรนอยู่แล้วพังลง
6. ชาวเวเนซุเอลาจำนวนมากเดินทางออกจากประเทศ
สหประชาชาติระบุว่า ตั้งแต่ปี 2014 ชาวเวเนซุเอลา 3 ล้านคนเดินทางออกจากประเทศ ส่วนใหญ่แล้วเดินทางเข้าไปยังโคลอมเบียประเทศเพื่อนบ้านก่อนจะไปยังเอกวาดอร์ เปรู และชิลี และส่วนอื่น ๆ เดินทางไปบราซิล
เดลซี รอดริเกซ รองประธานาธิบดีเวเนซุเอลาบอกว่านั่นไม่ใช่ตัวเลขที่ถูกต้อง โดยบอกว่า “ประเทศคู่อริ” พยายามทำให้ตัวเลขออกมาเกินจริง เพื่อที่ใช้เป็นเหตุผล ในการใช้กำลังทหารเข้าแทรกแซง
7. นานาชาติแบ่งฝ่ายสนับสนุน
สหรัฐฯ และประเทศละตินอเมริกามากกว่า 12 ประเทศ รวมถึงแคนาดา สนับสนุนนายกุยโดให้เป็นรักษาการประธานาธิบดีแทน ปธน. มาดูโร
เมื่อวันเสาร์ สเปน, เยอรมนี, ฝรั่งเศส และสหราชอาณาจักร บอกว่าพวกเขาจะสนับสนุนนายกุยโด หากไม่มีการประกาศให้มีการเลือกตั้งใหม่ภายใน 8 วัน
อย่างไรก็ตาม รัสเซียประณามต่างชาติที่ให้การสนับสนุนนายกุยโด โดยบอกว่าเป็นการละเมิดกฎหมายนานาชาติ และเป็นการปูทางไปสู่การนองเลือด จีน, เม็กซิโก, และตุรกี ก็สนับสนุน ปธน. มาดูโร เช่นกัน
8. ไฟฟ้าดับทั่วประเทศ ไม่มีน้ำสะอาดใช้
ในช่วงต้นเดือนมีนาคม 2019 พื้นที่ส่วนใหญ่กว่า 70% ในประเทศเวเนซุเอลา เจอกับปัญหาไฟดับติดต่อกันถึง 1 สัปดาห์แล้ว เนื่องจากโรงไฟฟ้าของเวเนซุเอลาไม่สามารถผลิตไฟฟ้าได้อีกต่อไป ทำให้ระบบขนส่งสาธารณะหยุดชะงัก โทรศัพท์และอินเทอร์เน็ตถูกตัดขาดไปโดยปริยาย
การที่ไม่มีไฟฟ้านี้ยังส่งผลให้โรงพยาบาลเดือดร้อนอย่างหนัก การดูแลรักษาผู้ป่วยเป็นไปอย่างยากลำบากมาก และมีผู้ป่วยโรคไตเสียชีวิต เพราะเครื่องฟอกไตและอุปกรณ์ทางการแพทย์ใช้งานไม่ได้ อย่างไรก็ตามนายมาดูโร ได้อ้างว่า ปัญหาไฟดับเป็นฝีมือของกลุ่มต่อต้านที่ต้องการก่อความไม่สงบในประเทศ โดยมีสหรัฐอเมริกาสนับสนุนอยู่เบื้องหลัง
ขณะเดียวกันในหลาย ๆ เมืองยังไม่มีน้ำสะอาดใช้ จากการปิดระบบประปา โดยบางเมืองรัฐบาลจะปล่อยน้ำประปาให้ใช้เพียงเดือนละ 1 ครั้งเท่านั้น และแม้ว่าล่าสุด น้ำประปาในเมืองซานติเอโกจะกลับมาไหลอีกครั้งในรอบหลายเดือน แต่ทว่ากลับเจือปนด้วยน้ำมันดิบ ไม่สามารถใช้อุปโภคบริโภคได้เลย

9. สงครามกลางเมือง คนเสียชีวิตจำนวนมาก
อย่างที่บอกคือตอนนี้การเมืองเวเนซุเอลาแบ่งออกเป็น 2 ฝ่าย จนเกิดเหตุปะทะกันต่อเนื่องจากฝ่ายสนับสนุนและต่อต้าน จนถึงขณะนี้มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 100 คนเข้าไปแล้ว โดยนายมาดูโร มีเสียงสนับสนุนจากประเทศจีนและรัสเซีย ส่วนประเทศสหรัฐอเมริกา บราซิล ออสเตรเลีย เลือกยืนข้างนายกุยโด ขณะที่ชาติยุโรปอีกหลายประเทศ ออกมาเรียกร้องให้จัดการเลือกตั้งขึ้นใหม่
ขณะที่ความยากจนข้นแค้น ได้ทำให้ประชาชนจำนวนหนึ่งออกมาสร้างความรุนแรง ก่ออาชญากรรม ปล้นสะดม พยายามกักตุนทุกอย่างเอาไว้ เพื่อความอยู่รอดของชีวิต