Skip to content
Home » News » จอมพล ป.พิบูลสงคราม

จอมพล ป.พิบูลสงคราม

จอมพล ป.พิบูลสงคราม
https://th.wikipedia.org/wiki/แปลก_พิบูลสงคราม

จอมพล ป.พิบูลสงคราม หรือ จอมพล แปลก พิบูลสงคราม และ หลวงพิบูลสงคราม (นามเดิม แปลก ขีตตะสังคะ ; 14 กรกฎาคม 2440 – 11 มิถุนายน 2507) เป็นนายทหารและนักการเมืองชาวไทย ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีระหว่างปี 2481 ถึง 2487 และ 2491 ถึง 2500 รวมระยะเวลา 14 ปี 11 เดือน นับเป็นนายกรัฐมนตรีที่ดำรงตำแหน่งนานที่สุด และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นสมาชิกคณะราษฎรสายทหารบกชั้นยศน้อย

นายกรัฐมนตรีไทย คนที่ 3 ดำรงตำแหน่ง 16 ธันวาคม 2481 – 1 สิงหาคม 2487 (5 ปี 228 วัน) ข้อมูลส่วนบุคคล เกิด 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2440 เมืองนนทบุรี ประเทศสยาม เสียชีวิต 11 มิถุนายน พ.ศ. 2507 (66 ปี) จังหวัดคานางาวะ ประเทศญี่ปุ่น พรรคการเมือง พรรคเสรีมนังคศิลา (พ.ศ. 2498) การเข้าร่วม พรรคการเมืองอื่น คณะราษฎร คู่สมรส ท่านผู้หญิงละเอียด พิบูลสงคราม บุตร 6 คน การยุทธ์ กบฏบวรเดช

เขาเป็นผู้มีบทบาทสูงตั้งแต่การปฏิวัติสยาม พ.ศ. 2475 และยิ่งมีฐานะทางการเมืองดีขึ้นอีกหลังบังคับบัญชาทหารฝ่ายรัฐบาลปราบกบฏบวรเดชในปี 2476 นับแต่นั้นเขาดำรงตำแหน่งในรัฐบาลคณะราษฎรมาโดยตลอด ในปี 2481 เขาได้เป็นนายกรัฐมนตรี

และเขาเริ่มแสดงความเป็นผู้เผด็จการมากขึ้นจนเริ่มแตกแยกกับคณะราษฎรสายพลเรือน ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง เขาออกประกาศรัฐนิยมหลายข้อ เปลี่ยนชื่อประเทศจาก “สยาม” มาเป็น “ไทย” ยกเลิกประเพณีเก่าแล้วหันมารับวัฒนธรรมตะวันตกที่มองว่าทันสมัยมากยิ่งขึ้น

เขาดำเนินนโยบายเป็นพันธมิตรทางทหารกับญี่ปุ่น จนในปี 2487 เขาลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีหลังแพ้เสียงในสภาในร่างกฎหมายสำคัญ ประกอบกับสถานการณ์โลกขณะนั้นญี่ปุ่นกำลังแพ้สงคราม

หลังรัฐประหารปี 2490 เขาได้รับทาบทามกลับมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอีกช่วงหนึ่ง เขาถือเป็นหนึ่งในผู้นำในการเมืองสามเส้าในช่วงนั้น แต่เขาไม่มีฐานกำลังที่มั่นคงของตนเอง เขาพยายามสร้างความชอบธรรมโดยเข้าร่วมกับสหรัฐอย่างเต็มตัวในสงครามเย็น

และพยายามเปลี่ยนรูปแบบการปกครองมาเป็นประชาธิปไตยแบบเน้นเลือกตั้ง กระนั้นเขาพ่ายการแข่งขันชิงอิทธิพลกับกลุ่มกษัตริย์นิยมจนพ้นจากตำแหน่งในรัฐประหารปี 2500 นำโดยจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ นับแต่นั้นเขาลี้ภัยในประเทศญี่ปุ่นจนเสียชีวิต

ปฐมวัยและการศึกษา

วัยเด็ก

จอมพล ป.พิบูลสงคราม มีชื่อเดิมว่า “แปลก ขีตตะสังคะ” ชื่อจริงคำว่า “แปลก” เนื่องจากเมื่อแรกเกิดบิดามารดาเห็นว่าหูทั้งสองข้างอยู่ต่ำกว่าตา ผิดไปจากบุคคลธรรมดา จึงให้ชื่อว่า แปลก

แปลก ขีตตะสังคะ เกิดเมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2440 บิดาชื่อ นายขีด และมารดา ชื่อ นางสำอางค์ ในสกุล ขีตตะสังคะ บ้านเกิดเป็นเรือนแพขนาดใหญ่ 2 ชั้น ที่ปากคลองบางเขนเก่า ตรงข้ามวัดปากน้ำไม่ห่างจากศาลากลางจังหวัดนนทบุรี และ วัดเขมาภิรตาราม ตำบลบางเขน อำเภอเมืองนนทบุรี ​จังหวัดนนทบุรี อาชีพครอบครัว ประกอบอาชีพเกษตรกรรม สวนทุเรียนและสวนผลไม้

เด็กชายแปลก ขีตตะสังคะ เป็นบุตรคนที่สองในพี่น้อง 5 คน พี่ชาย คนโตชื่อ “ประกิต” (รับราชการทหารได้ยศ พลตรี) คนที่สามเป็นหญิงชื่อ “เปลี่ยน” คนที่สี่เป็นชายชื่อ “ปรุง” คนสุดท้ายชื่อ “ครรชิต” (รับราชการทหารได้ยศ พลตรี)

จอมพล ป.พิบูลสงคราม การศึกษา

การเข้าสู่อาชีพทหาร

เขาเข้าสู่ระบบศึกษาครั้งแรกที่ โรงเรียนวัดเขมาภิรตาราม จังหวัดนนทบุรี เมื่อ พ.ศ. 2452 อายุได้ 12 ปี ได้เข้าเรียนในโรงเรียนนายร้อยทหารบก โดยบิดาขอร้องให้ พล.ต.พระยาสุรเสนาช่วยนำฝากเข้าเรียนพร้อมกับพี่ชาย “ประกิต” ศึกษาที่โรงเรียนนายร้อยเป็นเวลา 6 ปี (นักเรียนชั้นประถม 3 ปี นักเรียนชั้นมัธยม 3 ปี) ได้เป็น”นักเรียนทำการนายร้อย” เมื่ออายุได้ 18 ปี (9 พ.ค. 2458) สังกัด “เหล่าปืนใหญ่” โดยได้เป็น “ว่าที่ร้อยตรี” (1 พ.ย. 2458)

การสมรส

นักเรียนทำการนายร้อยว่าที่ร้อยตรีแปลก เข้าประจำการเหล่าปืนใหญ่ที่ 7 พิษณุโลก และไม่นานนักได้พบรักกับท่านละเอียด พิบูลสงคราม (ขณะนั้นสกุล พันธ์กระวี) ซึ่งเป็น “นักเรียนชั้นสูงสุดเพียงคนเดียว” ในโรงเรียนผดุงนารี โรงเรียนของคณะมิชชันนารี และเป็นโรงเรียนหญิงแห่งแรกของพิษณุโลก

ทั้งทำหน้าที่ “ครูฝึกหัด” ฝึกหัดสอน “ชั้นเล็ก ๆ” ในโรงเรียนแห่งนี้ด้วย ไม่นานนักทั้งสองก็ทำพิธีหมั้นและพิธีแต่งงานเมื่อวันที่ 14 มกราคม 2459 เมื่อว่าที่ร้อยตรีแปลกอายุย่างเข้า 20 ปี ท่านผู้หญิงละเอียดย่างเข้า 15 ปี มีบุตร 6 รายได้แก่ พลตรี อนันต์ พิบูลสงคราม พลเรือโท ประสงค์ พิบูลสงคราม ร้อยเอกหญิง จีรวัสส์ ปันยารชุน รัชนิบูล ปราณีประชาชน พัชรบูล เบลซ์ นิตย์ พิบูลสงคราม

อาชีพทหาร – การศึกษา

หลังการแต่งงานได้ 3 เดือนและเป็นนักเรียนทำการนายร้อยเหล่าปืนใหญ่ที่ 7 พิษณุโลกครบ 2 ปี ก็ได้รับยศเป็น “ร้อยตรี” (23 พ.ค. 2460) และย้ายเข้ากรุงเทพเพื่อศึกษาต่อในโรงเรียนเหล่าทหารปืนใหญ่ที่บางซื่อตามระเบียบการศึกษา โดยพาครอบครัวมาด้วย การศึกษา 2 ปีใน โรงเรียนแห่งนี้แต่ละปีประกอบด้วย 6 เดือนแรกเรียนประจำอยู่ ณ ที่ตั้ง 4 เดือนถัดมาไปฝึกในสนามยิงปืนโคกกระเทียม ลพบุรี อีก 2 เดือนท้าย ซ้อมรบในสนามต่างจังหวัด

เมื่อสำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนเหล่าทหารปืนใหญ่ ได้กลับกรมต้นสังกัดประจำการที่ปืน 7 พิษณุโลก แต่ไม่นานนักก็ได้ย้ายมาประจำกรมทหารปืนใหญ่ที่ 1 รักษาพระองค์ (1 ส.ค. 2462) ในตำแหน่งนายทหารสนิทของผู้บังคับบัญชากรม พลตรี หม่อมเจ้าปรีดิเทพย์พงษ์ เทวกุล ปีถัดมาได้รับยศ “ร้อยโท” (24 เม.ย 2463)

1 เมษายน พ.ศ. 2464 นายร้อยโทแปลกได้เข้าศึกษาต่อในโรงเรียนเสนาธิการทหารบก เป็นรุ่นที่ 10 หลักสูตรการศึกษา 2 ปี โรงเรียนเสนาธิการทหารบกเป็นโรงเรียนนายทหารขั้นสูงที่มีนายทหารจำนวนมากประสงค์เข้าศึกษาต่อ แต่โรงเรียนนี้รับนักเรียนได้ประมาณรุ่นละ 10 นาย และนักเรียนที่สอบได้ที่ 1 ของรุ่นจะได้รับทุนไปศึกษาวิชาการเพิ่มเติมที่ต่างประเทศ ในรุ่นของนายร้อยโทแปลกมีผู้สอบไล่ผ่านในปีที่ 2 เพียง 7 นาย และนายร้อยโทแปลกสอบไล่ได้เป็นลำดับที่ 1 ของรุ่นในปีสุดท้ายนี้

การศึกษาที่ฝรั่งเศส

เมื่อจบการศึกษา นายร้อยโทแปลกได้ย้ายไปประจำกรมยุทธศาสตร์ทหารบก (1 มี.ค. 2466) และปีถัดมาได้เดินทางไปศึกษาวิชาทหารปืนใหญ่ ต่อที่ ประเทศฝรั่งเศส โดยเดินทางไปเรือลำเดียวกับนายร้อยตรีทัศนัย มิตรภักดี นายทหารม้าได้รับทุนไปศึกษาต่อประเทศฝรั่งเศสเช่นกัน

การศึกษาในประเทศฝรั่งเศสประมาณ 3 กว่าปีนั้น นายร้อยโทแปลกเริ่มต้นด้วย 8 เดือนแรกเรียนภาษาฝรั่งเศสกับครอบครัวนายโมเร็ล เดือนมีนาคม พ.ศ. 2467 จึงศึกษาวิชาคำนวณที่มหาวิทยาลัยซอร์บอนน์ในกรุงปารีส และเรียนภาษาฝรั่งเศสเพิ่มเติมที่ L’ecole alliance française

หลังจากนั้นได้เข้าประจำกรมทหารปืนใหญ่ (École d’application de l’artillerie) ที่เมืองฟงแตนโบล สำเร็จการศึกษาได้รับประกาศนียบัตร และได้เข้าร่วมการประลองยุทธ ณ ค่าย Valdahon (Doubs) ตั้งแต่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2470 ต่อมาแปลกในยศร้อยเอกได้รับบรรดาศักดิ์เป็น หลวงพิบูลสงคราม เมื่อพ.ศ. 2471