Skip to content
Home » News » จอร์จ บุช นโยบาย และความมั่นคง

จอร์จ บุช นโยบาย และความมั่นคง

จอร์จ บุช นโยบาย
https://th.wikipedia.org/wiki/จอร์จดับเบิลยู.บุช

จอร์จ บุช นโยบาย ระหว่างการเยือนยุโรปครั้งแรกของบุชในฐานะประธานาธิบดี ในเดือนมิถุนายน ค.ศ. 2001 ผู้นำชาติยุโรปได้วิพากษ์วิจารณ์บุชเกี่ยวกับการที่เขาปฏิเสธพิธีสารโตเกียว เพื่อลดการเพิ่มอุณหภูมิของโลก ในปี 2002 บุชได้ปฏิเสธสนธิสัญญาดังกล่าวเนื่องจากเห็นว่าเป็นตัวขัดขวางการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของสหรัฐ

โดยกล่าวว่า “แนวทางของข้าพเจ้านั้นเห็นว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจเป็นทางออก ไม่ใช่ปัญหา” คณะบริหารงานแผ่นดินของบุชยังโต้แย้งเกี่ยวกับความน่าเชื่อถือทางวิทยาศาสตร์ อันเป็นที่มาของสนธิสัญญาฉบับนี้ ในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 2004 รัสเซียได้ลงนามยอมรับสนธิสัญญาดังกล่าว ทำให้มันมีผลบังคับใช้โดยไม่จำเป็นต้องผ่านการลงนามเห็นชอบของสหรัฐอเมริกา

นโยบายต่างประเทศของบุชได้รณรงค์สนับสนุนการกระชับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ และการเมืองกับกลุ่มประเทศในแถบละตินอเมริกา โดยเฉพาะอย่างยิ่งเม็กซิโก และลดการเข้าแทรกแซง “การสร้างชาติ” และการแทรกแซงทางการทหารเล็กๆน้อยๆที่เกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ของสหรัฐ อย่างไรก็ดี หลังจากเหตุการณ์ก่อวินาศกรรมเมื่อวันที่ 11 กันยายน ค.ศ. 2001 (9/11) กระทรวงการต่างประเทศได้มุ่งเน้นความสำคัญไปยังกลุ่มประเทศตะวันออกกลาง

การก่อการร้าย

เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม ค.ศ. 2001 สหรัฐอเมริกาภายใต้การสนับสนุนจากนานาชาติ ได้ประกาศสงครามกับรัฐบาลตาลีบัน ของอัฟกานิสถาน ที่ถูกตั้งข้อกล่าวหาว่าให้ที่พักพิงแก่นายโอซามา บิน ลาเดน ผลพวงของความพยายามสร้างชาติอัฟกันร่วมกับสหประชาชาติ และประธานาธิบดีฮามิด การ์ไซ

ส่งผลทั้งในแง่บวกและแง่ลบ ในปี 2005 สหรัฐก็ยังหาตัว บิน ลาเดน ไม่พบ การเลือกตั้งประธานาธิบดีอัฟกานิสถานมีขึ้นเมื่อวันที่ 9 ตุลาคม ค.ศ. 2004 แม้ว่าผู้สังเกตการณ์จากนานาชาติจะบอกว่าการเลือกตั้งครั้งนี้ เป็นไปอย่าง “ค่อนข้างเป็นประชาธิปไตย” และ “ได้รับคะแนนเสียงข้างมาก”

ตามที่ศูนย์สำรวจคะแนนนิยมกลางระบุ ผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดี 15 จากทั้งหมด 18 คน ก็ถูกข่มขู่ให้ถอนตัว โดยถูกกล่าวหาว่าการลงทะเบียนเป็นมลทิน และไม่มีสภาพเป็นผู้สมัครอย่างถูกต้อง

หลายวันหลังจากที่บุชกลับเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดี เขาได้ประกาศว่า “ผมจะเดินหน้าแผนระบบต่อต้านขีปนาวุธ” และเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ดังกล่าว บุชได้ประกาศเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม ค.ศ. 2001 ว่าเขาประสงค์จะถอนตัวจากสนธิสัญญาต่อต้านขีปนาวุธ ของปี 1972 และใช้ระบบต่อต้านขีปนาวุธที่สามารถกำบังการจู่โจมจากประเทศที่เป็นภัยคุกคามได้

สมาคมฟิสิกส์แห่งสหรัฐได้วิพากษ์วิจารณ์การเปลี่ยนแปลงนโยบายครั้งนี้ โดยตั้งข้อกังขาเกี่ยวกับประสิทธิภาพของระบบ บุชได้โต้แย้งว่ามีความสมเหตุสมผลดีแล้ว เนื่องจากสงครามเย็นอันเป็นผลพวงของสนธิสัญญาดังกล่าวได้หมดยุคลงแล้ว เอกสารที่สหรัฐขอถอนตัวจากสนธิสัญญาดังกล่าวอย่างเป็นทางการได้ถูกประกาศเมื่อวันที่ 13 ธันวาคม ค.ศ. 2001

โดยกล่าวถึงความจะเป็นในการต่อต้านการก่อการร้าย แม้จะเคยมีปรากฏว่าประธานาธิบดีเป็นผู้ขอยกเลิกสนธิสัญญา แต่กรณีส่วนใหญ่แล้วจะมีการขอความเห็นชอบจากสภาคองเกรส

การอพยพเข้าเมือง

บุชได้เสนอให้แก้ไขกฎหมายผู้อพยพเข้าเมือง ที่จะทำให้เกิดการใช้วีซ่าแรงงานต่างชาติอย่างกว้างขวาง ข้อเสนอของเขาสนองตอบต่อความต้องการของนายจ้าง ที่มีแรงงานต่างชาติทำงานให้ไม่เกินหกปี อย่างไรก็ดี ผู้ใช้แรงงานจะไม่มีสิทธิ์ได้รับบัตรพำนักถาวร (หรือ กรีนการ์ด) หรือแม้กระทั่งสัญชาติสหรัฐ ร่างแก้ไขข้อกฎหมายดังกล่าวถูกคัดค้านโดยวุฒิสมาชิกจากพรรคเดโมแครตกลุ่มหนึ่ง รวมถึง บาบารา บ็อกเซอร์ และ เท็ด เคเนดี

บุชยังได้ประกาศอย่างเป็นทางการว่า ต้องการเพิ่มความเข้มงวดของการรักษาความปลอดภัย ตามแนวพรมแดนสหรัฐ – เม็กซิโก อีกทั้งต้องการเร่งรัดกระบวนการขับผู้อพยพกลับประเทศ การสร้างที่คุมขังเพิ่มเติม เพื่อรองรับผู้อพยพเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย และการติดตั้งอุปกรณ์เพิ่มเติม

และเพิ่มจำนวนเจ้าหน้าที่ตามแนวชายแดน บุชยังเห็นชอบต่อการ “เพิ่มจำนวนกรีนการ์ดประจำปี ที่จะก่อให้เกิดการขอสัญชาติเพิ่มขึ้น” แต่ก็มิได้สนับสนุนการให้นิรโทษกรรมแก่ผู้ที่เข้าประเทศโดยผิดกฎหมายอยู่แต่ก่อนแล้ว โดยอ้างว่ามาตรการดังกล่าวมีแต่จะสนับสนุนให้มีการอพยพเข้าเมืองโดยผิดกฎหมายเพิ่มขึ้น

การสาธารณสุข

ใน การแถลงนโยบายประจำปี เมื่อเดือนมกราคม ค.ศ. 2003 บุชได้กำหนดยุทธวิธีห้าปี เพื่อบรรเทาการแพร่ระบาดของโรคเอดส์ระดับสากล โดยเขาได้เรียกร้องงบประมาณ 15,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐเพื่อการนี้ และข้อเสนอดังกล่าวก็ได้รับการสนับสนุนจากสภาคองเกรส

ความพยายามบรรเทาการระบาดของโรคเอดส์อย่างเร่งด่วน มีนายแรนดาล แอล. โทเบียส ผู้ประสานงานโรคเอดส์สากล ประจำสำนักการต่างประเทศ เป็นหัวหน้าโครงการ โดยในเงินงบประมาณก้อนนี้ ได้มีการจัดสรร 9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐเพื่อโครงการบรรเทาการแพร่ระบาดของเอดส์ใน 15 ประเทศที่มีผู้ติดเชื้อเอช.ไอ.วี. มากที่สุด

อีก 5 พันล้านดอลลาร์จะนำไปสนับสนุนการบรรเทาการแพร่ระบาดของเอดส์อย่างต่อเนื่อง ในอีก 100 ประเทศที่สหรัฐได้เคยจัดตั้งโครงการควบคู่ไว้แล้ว และอีกหนึ่งพันล้านดอลลาร์สหรัฐจะนำไปสนับสนุนกองทุนรวมเพื่อต่อสู้กับโรคเอดส์ วัณโรค และมาลาเรีย เงินงบประมาณนี้นับเป็นมูลค่ามากกว่าเงินบริจาคเพื่อต่อสู้กับโรคเอดส์ จากทุกประเทศรวมกันเสียอีก

การพาณิชย์

การที่บุชบังคับใช้อัตราภาษีนำเข้าเหล็ก และไม้เนื้ออ่อนแปรรูปของแคนาดา ทำให้เกิดการถกเถียงในประเด็นที่เขาให้การสนับสนุนนโยบายการค้าเสรี กับสินค้าตัวอื่นๆ และทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ ทั้งจากเพื่อนแนวร่วมอนุรักษนิยม และจากชาติที่ได้รับผลกระทบ อัตราภาษีเหล็กนำเข้าได้ถูกเพิกถอนในเวลาต่อมาภายใต้แรงกดดันจากองค์กรการค้าโลก กรณีพิพาทไม้เนื้ออ่อนแปรรูประหว่างแคนาดากับสหรัฐ ยังคงดำเนินอยู่

การช่วยเหลือเพื่อการพัฒนา

สำนักงานการต่างประเทศสหรัฐ และสำนักงานเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐ (หรือ ยูเสด) ได้ตีพิมพ์แผนยุทธวิธีสำหรับช่วงปี 2004 – 2009 ซึ่งวัตถุประสงค์หลักของยุทธวิธีดังกล่าว ได้ยึดเอาแนวทางที่ถูกระบุไว้ในยุทธวิธีเพื่อความมั่นคงแห่งชาติของประธานาธิบดีบุช สามประการด้วยกัน

อันได้แก่ การทูต การพัฒนา และการป้องกันประเทศ นโยบายใหม่ของบุชจะทำให้มีการให้ความช่วยเหลือเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 50 แก่ประเทศที่ช่วยเหลือตัวเองในการพัฒนา “ด้วยการปกครองอย่างถูกต้อง ลงทุนอย่างชาญฉลาดในทรัพยากรมนุษย์ของตน และสนับสนุนให้เกิดอิสรภาพทางเศรษฐกิจ”

การช่วยเหลือการพัฒนาจะต้องควบคู่ไปกับนโยบายต่างประเทศของสหรัฐ นั่นหมายความว่า ยูเสด จะให้การสนับสนุนเพื่อการพัฒนาแก่ “ประเทศที่ยึดมั่นต่อการปกครองตามระบอบประชาธิปไตย เศรษฐกิจแบบเปิด และมีการลงทุนอย่างชาญฉลาดในด้านการศึกษา การสาธารณสุจ และศักยภาพของประชาชน”

จอร์จ บุช นโยบาย ภายในประเทศ

จอร์จ บุช นโยบาย
/media/ไฟล์:George_W.Bush_Omaha_panel(cropped).jpg

ความหลากหลายของเชื้อชาติและสิทธิพลเมือง

จอร์จ บุช นโยบาย บุชคัดค้านการยอมรับกฎหมายสมรสระหว่างเพศเดียวกัน แต่สนับสนุนการอยู่ด้วยกันของหญิงชายโดยไม่จดทะเบียนสมรส (“กระผมคิดว่า เราไม่ควรปฏิเสธสิทธิของพลเรือนที่จะอยู่ด้วยกันโดยไม่จดทะเบียนสมรส ที่มีการจัดการทางกฎหมายอย่างถูกต้อง” ข่าวจากสถานีโทรทัศน์เอบีซี 16 ตุลาคม ค.ศ. 2004)

เขาได้ลงนามรับรองร่างแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายสมรสของรัฐบาลกลาง ซึ่งเป็นการเสนอข้อแก้ไขเพิ่มเติมของรัฐธรรมนูญสหรัฐ ที่ให้เพิ่มคำจำกัดความของการสมรสว่า “คือการอยู่ร่วมกันระหว่างหนึ่งหญิงและหนึ่งชาย” บุชได้ตอกย้ำว่าไม่เห็นด้วยกับแม่แบบทางการเมืองของพรรครีพับลิกัน ที่คัดค้านการอยู่ด้วยกันโดยไม่จดทะเบียนสมรส

และกล่าวว่าประเด็นดังกล่าวควรขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของรัฐบาลท้องถิ่นในแต่ละรัฐ ในการแถลงนโยบายประจำปีวันที่ 2 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 2005 เขาได้ย้ำแนวคิดของเขาที่สนับสนุนให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

บุชเป็นประธานาธิบดีคนแรกจากพรรครีพับลิกันที่ได้แต่งตั้งให้เกย์เป็นหนึ่งในคณะบริหารงานแผ่นดินของเขาอย่างเปิดเผย (สก็อต เอเวิร์ตซ ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานควบคุมนโยบายโรคเอดส์แห่งชาติ)

และเป็นประธานาธิบดีคนแรกที่ประสบความสำเร็จจากการแต่งตั้งนายไมเคิล อี. เกสต์ ที่เป็นเกย์ให้เป็นเอกอัครราชทูตสหรัฐประจำโรมาเนียอย่างเปิดเผย บุชอ้างว่าเขาสนับสนุนแนวนโยบายของผู้บริหารระดับสูง ที่ออกบังคับใช้โดยประธานาธิบดีบิล คลินตัน ที่ห้ามการจ้างงานที่คัดสรรบุคคลโดยการเหยียดรสนิยมทางเพศ แต่สก็อต บลอช

ผู้ที่บุชได้แต่งตั้งให้เป็นที่ปรึกษาพิเศษในปี 2003 รู้สึกว่าเขาไม่มีอำนาจทางกฎหมายในการบังคับใช้แนวนโยบายดังกล่าว ระหว่างการพิจารณาคดีเกี่ยวกับการรณรงค์หาเสียงชิงตำแหน่งประธานาธิบดีของเขาในปี 2000 เขาได้พบกับกลุ่มล็อกเคบินของพรรครีพับลิกัน

ซึ่งทำให้เขาเป็นผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีจากพรรครีพับลิกันคนแรกที่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับล็อกเคบิน องค์กรนี้ได้สนับสนุนเขาในการเลือกตั้งประธานาธิบดีปี 2000 แต่ก็ไม่ได้สนับสนุนต่อเนื่องมาถึงการเลือกตั้งประธานาธิบดีปี 2004

คะแนนเสียงสนับสนุนบุชจากชาวอเมริกันเชื้อสายแอฟริกันเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญทางสถิติ เมื่อเทียบกับผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐจากพรรครีพับลิกันคนอื่นๆได้รับในช่วงที่เขารณรงค์หาเสียง แม้ว่าเขาจะได้คะแนนเสียงจากคนผิวดำเพียง 9% ในปี 2000 แต่ก็กลับเพิ่มขึ้นเป็น 12 % ในปี 2004 โดยเฉพาะอย่างยิ่งคะแนนจากคนผิวดำที่เพิ่มขึ้นในรัฐโอไฮโอ ทำให้บุชมีชัยเหนือจอห์น แครี ในที่สุด

แม้ว่าบุชจะแสดงความเห็นชอบต่อการที่ศาลฎีกาสหรัฐสนับสนุนให้สถานศึกษาในระดับอุดมศึกษา ได้คัดเลือกนักศึกษาเพื่อความหลากหลายทางเชื้อชาติ คณะบริหารราชการแผ่นดินของเขากลับคัดค้านแนวคิดดังกล่าว บุชยังได้กล่าวว่าเขาคัดค้านการแทรกแซงของรัฐที่บังคับโควตานักศึกษาและการลำเอียงเชื้อชาติ แต่เห็นว่าหน่วยงานภาครัฐและเอกชนควรให้โอกาสแก่ชนกลุ่มน้อยที่มีความสามารถเพื่อให้เกิดการจ้างงานที่มีความหลากหลายทางเชื้อชาติ

รายงานของคณะกรรมาธิการสหรัฐว่าด้วยสิทธิพลเมือง เมื่อเดือนสิงหาคม ค.ศ. 2005 ระบุว่า “รัฐบาลล้มเหลวที่จะรักษาความเป็นกลางทางเชื้อชาติอย่างจริงจัง ตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ” นายเจอรัลด์ เอ. เรย์โนลด์ ประธานคณะกรรมาธิการ อธิบายว่า “หน่วยงานของรัฐบาลกลางไม่ได้ประเมิน ทำวิจัย เก็บรวบรวมข้อมูล หรือทบทวนโครงการต่างๆอย่างสม่ำเสมอและเป็นเอกเทศ

เพื่อที่จะตัดสินว่ายุทธวิธีเป็นกลางทางเชื้อชาติจะเป็นทางเลือกที่เหมาะสมสำหรับโครงการรณรงค์ให้เกิดความตระหนักทางเชื้อชาติ” กลุ่มรณรงค์สิทธิพลเมืองได้แสดงความห่วงใยว่ารายงานฉบับนี้ เป็นการโจมตีการสนับสนุนให้เกิดความหลากหลายทางเชื้อชาติที่สวนทางกับคำวินิจฉัยของศาลฎีกาสหรัฐในคดีกรัทเทอร์ ปะทะ โบลลินเจอร์

ในช่วงที่บุชดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐสมัยแรก เขาได้แต่งตั้งโคลิน พาวเวลล์ ให้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ พาวเวลล์เป็นชาวสหรัฐเชื้อสายอัฟริกาคนแรกที่ได้รับตำแหน่งนี้ ซึ่งก็ตามมาด้วยดร.คอนโดลีซซา ไรซ์ ที่เป็นสตรีสหรัฐเชื้อสายอัฟริกาคนแรกที่ได้รับตำแหน่งนี้ ในปี 2005

เขาได้แต่งตั้งนายอัลแบร์โต กอนซาเลส ให้เป็นอัยการกลางสหรัฐ ทำให้เขาเป็นชาวสหรัฐเชื้อสายสเปนคนแรกที่ดำรงตำแหน่งนี้ โดยรวมแล้ว บุชได้แต่งตั้งสตรีและชนกลุ่มน้อยให้ดำรงตำแหน่งสำคัญทางการเมือง มากกว่าประธาธิบดีสหรัฐทุกคนที่ผ่านมา

เศรษฐกิจ

ระหว่างช่วงที่เขาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสมัยแรก บุชได้ดำเนินความพยายามและประสบผลสำเร็จในการเรียกร้องให้สภาคองเกรสรับรองการลดภาษีสำคัญๆสามอย่างด้วยกัน อันได้แก่การเก็บภาษีเงินได้ทั่วไปสำหรับคู่สมรสน้อยลง ยกเลิกภาษีมรดก และลดอัตราภาษีหน่วยสุดท้าย

การลดอัตราภาษีดังกล่าวกำหนดให้มีอันสิ้นสุดภายหลังบังคับใช้เป็นเวลา 10 ปี ซึ่งบุชก็ได้ขอให้สภาคองเกรสอนุมัติการลดอัตราภาษีเป็นการถาวร จากรายงานของสำนักงานวิจัยเศรษฐกิจแห่งชาติ เศรษฐกิจสหรัฐได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจถดถอยช่วงต้นคริสต์ทศวรรษที่ 2000 หรือระหว่างเดือนมีนาคม จนกระทั่งถึงเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 2001

รัฐบาลกลางใช้จ่ายงบประมาณประจำปีเพิ่มขึ้น 26% ตลอดช่วงสี่ปีครึ่งแรกภายใต้การบริหารของบุช อีกทั้งเงินงบประมาณที่ไม่ได้ถูกใช้เพื่อการป้องกันประเทศเพิ่มขึ้น 18%

การลดอัตราภาษี ภาวะเศรษฐกิจถดถอย และการปลดคนงานเพิ่มขึ้น ต่างมีส่วนทำให้เกิดการขาดดุลงบประมาณในช่วงที่บุชดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี การขาดดุลประจำปีเพิ่มสูงขึ้นจาก 374,000,000,000 ดอลลาร์สหรัฐในปี 2003 เป็น 413,000,000,000 ดอลลาร์สหรัฐในปี 2004 หนี้สินแห่งชาติ

ซึ่งเป็นยอดที่สะสมจากการขาดดุลงบประมาณในแต่ละปี เพิ่มขึ้นจาก 5.7 ล้านล้านดอลลาร์ (58 % ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ) เป็น (68% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ) ภายใต้การนำของบุช ซึ่งนับว่าสูงมาก เมื่อเทียบกับหนี้สิน 2.7 ล้านล้านดอลลาร์เมื่อเรแกนพ้นจากตำแหน่ง หรือเท่ากับ 52% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ

จากการคาดคะเน”ข้อมูลฐาน” รายรับรายจ่ายของรัฐบาลกลางโดยสำนักงบประมาณสภาคองเกรส (การคาดคะเนงบประมาณเมื่อเดือนมกราคม ค.ศ. 2005 ระบุว่า อัตราการขาดดุลงบประมาณจะลดลงในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า ซึ่งการขาดดุลจะลดลงเหลือ 368,000,000,000 (ดอลลาร์สหรัฐ) ในปี 2005 เป็น 261,000,000,000 (ดอลลาร์สหรัฐ)

ในปี 2007 และ 207,000,000,000 (ดอลลาร์สหรัฐ) ในปี 2009 จนกระทั่งเกินดุลเล็กน้อยในปี 2012 สำนักงานงบประมาณกลางยังระบุด้วยว่า อย่างไรก็ดี “การประมาณการครั้งนี้ไม่ได้คำนึงถึงงบประมาณรายจ่ายจำนวนมหาศาลในปีนั้นๆ สำหรับปฏิบัติการทางทหารในอิรัก และอัฟกานิสถาน และปฏิบัติการต่อต้านการก่อการร้ายทั่วโลก”

ประมาณการดังกล่าวยังยึดข้อมูลที่ว่าการตัดลดอัตราภาษีของบุช “จะไม่มีผลบังคับตั้งแต่วันที่ 31 ธันวาคม ค.ศ. 2010 เป็นต้นไป” และถ้าหากว่ามีการขยายระยะเวลาลดอัตราภาษีต่อไปอีก ตามที่บุชเรียกร้อง ประมาณการงบประมาณสำหรับปีค.ศ. 2015 จะเปลี่ยนจากเกินดุลอยู่ 141,000,000,000 (ดอลลาร์สหรัฐ) ไปเป็นขาดดุล 282,000,000,000 (ดอลลาร์สหรัฐ) ในทันที”

อัตราเงินเฟ้อภายใต้การนำของบุช นับว่าต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ เหลือเพียงแค่ปีละ 2-3% เท่านั้น เศรษฐกิจถดถอยและราคาสินค้าที่ลดลงนั้น มีผลสืบเนื่องมาจากการชะลอตัวของราคา ตั้งแต่ช่วงกลางปี 2001 ถึง 2003 เมื่อไม่นานมานี้ ราคาน้ำมันที่พุ่งสูงขึ้นทำให้เกิดความกังวลเกี่ยวกับการเพิ่มของอัตราเงินเฟ้อ

การจ้างงานภาคเอกชน (ที่มีการเปลี่ยนแปลงตามฤดูกาล) ได้ลดลงอย่างมากภายใต้การบริหารราชการของบุช จากอัตราจ้างงาน 111,680,000 ตำแหน่งในเดือนธันวาคม ค.ศ. 2000 เหลือเพียง 108,250,000 ตำแหน่งในช่วงกลางปี 2003 นับว่าการจ้างงานนั้นได้ลดลงมากเป็นประวัติการณ์ นับตั้งแต่ปี 1981 – 1983

แต่จากนั้นมา อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจก็ได้เพิ่มงานในภาคเอกชนตลอดช่วง 25 เดือนต่อมา (ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม ค.ศ. 2003 ถึงเดือนสิงหาคม ค.ศ. 2005) แต่อัตราการจ้างงานภาคเอกชนยังคงต่ำกว่าอัตราก่อนที่บุชจะเข้ามาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี จนกระทั่งถึงเดือนมิถุนายน ค.ศ. 2005 ที่อัตราการจ้างงานเพิ่มขึ้นเป็น 111,828,000 ตำแหน่ง

เมื่อเราคำนึงถึงอัตราการเพิ่มของประชากรด้วยแล้ว ก็นับได้ว่า อัตราการจ้างงานได้ลดลงถึง 4.6% ตั้งแต่บุชเข้ามาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี คณะผู้บริหารงานราชการและนักเศรษฐศาสตร์หลายคนได้แสดงความเห็นว่า อัตราการจ้างงานที่เพิ่มขึ้นในภายหลังนั้น

เป็นผลมาจากกฎหมายประนีประนอมการจ้างงานและการลดอัตราภาษี (Jobs and Growth Tax Relief Reconciliation Act – JGTRRA) ที่ประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู. บุช ได้ลงนามไว้เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม ค.ศ. 2003 [62]

การสำรวจความยากจนทั่วประเทศครั้งล่าสุด (หรือที่เรียกอีกอย่างว่า การสำรวจครัวเรือน) เป็นการวัดร้อยละของประชากรที่มีงานทำกับไม่มีงานทำโดยการสุ่มตัวอย่าง ผลการสำรวจจะถูกคูณด้วยจำนวนประชากรเพื่อหาค่าประมาณการของอัตราการจ้างงาน การสำรวจแบบนี้ได้เปรียบกว่าการสำรวจการจ่ายเงินค่าจ้าง

และคนทำงานที่ลาหยุดโดยไม่ได้รับค่าจ้าง การสำรวจครัวเรือนระบุว่าอัตราร้อยละของประชากรที่มีงานทำ ลดลงจาก 64.4% ในเดือน ธันวาคม ค.ศ. 2000 และเดือนมกราคม ค.ศ. 2001 เป็น 62.1% ในเดือนสิงหาคม และกันยายน ค.ศ. 2003 และในเดือนสิงหาคม ค.ศ. 2005 ได้มีการปรับเพิ่มขึ้นเป็น 62.9% เท่านั้น ตัวเลขต่างๆระบุว่าอัตราการมีงานทำลดลงนั้นสอดคล้องกับตำแหน่งงานที่ลดลง หนึ่งล้านหกแสนตำแหน่ง และได้เพิ่มขึ้นอีก สี่ล้านเจ็ดแสนตำแหน่งภายใต้การบริหารประเทศของบุช [63]

ภายใต้การบริหารประเทศของบุช อัตราการว่างงานที่เปลี่ยนไปตามฤดูกาล ตามผลการสำรวจครัวเรือนเริ่มต้นที่ 4.7% ในเดือนมกราคม ค.ศ. 2001 และได้เพิ่มขึ้นเป็น 6.2% ในเดือนมิถุนายน ค.ศ. 2003 จนกระทั่งลดลงเหลือ 4.9% ในเดือนสิงหาคม ปี 2005

จากการสำรวจการจ่ายค่าจ้างในเดือนกันยายน ค.ศ. 2005 รายได้เฉลี่ยรวมรายสัปดาห์ของภาคเอกชน คิดเป็นอัตราแลกเปลี่ยนดอลลาร์คงที่ ได้ลดลงต่ำสุดเป็นประวัติการณ์นับตั้งแต่เดือนกรกฎาคม ค.ศ. 1998 แม้ว่าพายุเฮอร์ริเคนแคทรีนาและการเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าอาจจะเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เกิดภาวะนี้ขึ้น แต่รายได้เฉลี่ยรวมรายสัปดาห์ก็ลดลงตลอดแปดเดือนที่ผ่านมา สรุปได้ว่า ตลอดช่วงปี 2002-2004 หรือก่อนที่บุชเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีนั้น ประชากรสหรัฐมีรายรับมากกว่านี้เล็กน้อย

การเพิ่มขึ้นของผลผลิตมวลรวมประชาชาตินับตั้งแต่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย ได้รับแรงส่งจากผลผลิตภาคแรงงานที่เพิ่มขึ้นอย่างมาก ซึ่งส่วนหนึ่งก็เกิดจากการปลดคนงานที่ไม่ได้ถูกใช้งานเต็มที่ ปัญหาระยะยาวส่วนหนึ่งที่บุชต้องแก้ไขได้แก่การขาดแคลนการลงทุนทางสาธารณูปโภคทางเศรษฐกิจ อัตราการเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลและเงินบำนาญของประชากรผู้สูงอายุ การขาดดุลการค้าและงบประมาณ และการชะลอตัวของรายรับต่อครัวเรือนในหมู่ประชากรผู้มีรายได้น้อย

ในขณะที่บางกลุ่มอ้างว่าการฟื้นตัวของผลิตผลมวลรวมประชาชาติในช่วงที่บุชดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีนั้น นั้นได้อานิสงค์จากรัฐบาลชุดก่อนๆ รายงานจากสำนักงานสำรวจสำมะโนประชากรสหรัฐกลับระบุว่าปัญหาความยากจนเลวร้ายขึ้นกว่าเดิม ร้อยละของประชากรที่อยู่ใต้ขีดความยากจนเพิ่มขึ้นในช่วงสี่ปีแรกที่บุชเข้ามาบริหารประเทศ

ประกันสังคม

บุชเรียกร้องให้มีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในเรื่องประกันสังคม ตั้งแต่ช่วงต้นของการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีเป็นสมัยที่ 2 เขาระบุว่าต้องให้ความสำคัญกับการคาดการณ์หนี้สินของระบบที่ไม่มีงบประมาณพอจ่ายเป็นอันดับแรก ตั้งแต่เดือนมกราคม ถึงเมษายน ค.ศ. 2005 เขาได้ออกเดินสายทั่วประเทศ และหยุดแวะในเมืองสำคัญๆ ถึง 50 เมือง

เพื่อเตือนให้ประชาชนตระหนักถึง”วิกฤตการณ์”ที่กำลังคืบคลานเข้ามา โดยแรกเริ่มเดิมที ประธานาธิบดีบุชได้ย้ำถึงข้อเสนอของเขาให้มีบัญชีส่วนบุคคล ที่จะส่งเสริมให้ผู้ใช้แรงงานแต่ละคนสามารถเอาเงินภาษีประกันสังคม (FICA) ส่วนหนึ่ง มาลงทุนได้อย่างมีหลักประกัน ข้อดีประการสำคัญของบัญชีส่วนบุคคลในการประกันสังคมนั้น อนุญาตให้ผู้ใช้แรงงานเป็นเจ้าของเงินที่ตนเองได้จ่ายไปเพื่อการเกษียณอายุ โดยไม่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง

พรรคฝ่ายซ้ายได้ตอบโต้นโยบายดังกล่าว โดยระบุว่าแนวทางนี้อาจจะทำให้การเสียสมดุลระหว่างรายรับกับรายจ่ายของงบประมาณแผ่นดินแย่ขึ้นไปกว่าเดิม โดยที่บุชได้ให้ความสำคัญกับปัญหานี้มากเกินไป ยิ่งไปกว่านั้น สมาชิกพรรคเดโมแครตหลายคนได้คัดค้านการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว

โดยเห็นว่าบุชเปลี่ยนการประกันสังคมให้เป็นโครงการสังคมสงเคราะห์ ซึ่งค่อนข้างสุ่มเสี่ยงในทางการเมือง ส่วนหนึ่งของกฎหมายที่บุชผลักดันให้บริษัทเอกชนได้รับยกเว้นการจ่ายเงินประกันสังคมได้รับการร้องเรียนว่า แผนการของบุชนั้นเอื้อประโยชน์ต่อบริษัทเอกชน และได้เปลี่ยนแนวคิดของการประกันสังคมให้กลายเป็นโครงการประกันแบบทั่วๆ ไป

การสาธารณสุข

ในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 2002 บุชได้ระงับเงินทุนจากสหรัฐที่ให้แก่กองทุนเพื่อกิจกรรมประชากรแห่งสหประชาติ โดยเขาอ้างว่ากองทุนดังกล่าวได้สนับสนุนการบังคับทำแท้งและการผ่าตัดทำหมันในสาธารณรัฐประชาชนจีน[67]

บุชได้ลงนามในกฎหมายปรับปรุงและพัฒนาการจ่ายยารักษาโรคให้ทันสมัย สำหรับปี 2003 ซึ่งได้เพิ่มรายการยาที่จะสามารถเบิกกับเมดิแคร์ของสหรัฐ ให้เงินสนับสนุนบริษัทผู้ผลิตยา และห้ามรัฐบาลกลางเจรจาต่อรองราคากับบริษัทยา บุชกล่าวว่ากฎหมายดังกล่าว ที่คาดว่าจะใช้งบประมาณถึง 400,000,000,000 ดอลลาร์สหรัฐในช่วง 10 ปีแรก

จะทำให้ผู้สูงอายุ “มีทางเลือกมากขึ้น และสามารถควบคุมการดูแลรักษาสุขภาพของตนได้มากขึ้น” ผู้สูงอายุสามารถซื้อบัตรลดราคายาที่ผ่านการรับรองของเมดิแคร์ ได้ในราคา 30 ดอลลาร์หรือน้อยกว่านั้นเพื่อช่วยค่าใช้จ่ายอันเนื่องมาจากราคายาที่สูงขึ้น กฎหมายดังกล่าวยังเพิ่มการเบิกยาในโปรแกรมการประกันสุขภาพสำหรับผู้สูงอายุของรัฐบาลกลาง

นับตั้งแต่ปี 2006 เป็นต้นมา และกฎหมายยังสนับสนุนให้บริษัทประกันเสนอแผนการประกันสุขภาพส่วนบุคคลให้แก่ผู้สูงอายุชาวอเมริกันหลายล้านคน ที่ขณะนี้ได้รับผลประโยชน์ทางด้านสาธารณสุขภายใต้ข้อตกลงที่รัฐบาลกำหนด อันเป็นแนวคิดที่ถูกต่อต้านและโจมตีอย่างหนักจากสมาชิกพรรคเดโมแครตหลายคน

บุชได้ลงนามในกฎหมายต่อต้านการทำแท้งในช่วงแรกเริ่มของการตั้งครรภ์ เมื่อปี 2003 โดยประกาศว่าเขามีวัตถุประสงค์เพื่อ “สนับสนุนให้เกิดวัฒนธรรมแห่งชีวิต” แต่กฎหมายดังกล่าวก็ไม่เคยนำมาบังคับใช้

เนื่องจากศาลแขวงสามแห่งได้วินิจฉัยว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญ ศาลอุธรณ์เก้าแห่งได้รับรองกฎหมายหนึ่งบท กฎหมายของรัฐบาลกลางสามารถที่จะห้ามกระบวนการทำให้มดลูก”ขยับและหดตัวโดยไม่ก่อให้เกิดความเสียหาย”

ซึ่งผู้ทำแท้งทำให้ตัวอ่อนมนุษย์หลุดออกมาก่อนจะฆ่าทิ้ง ผู้สนับสนุนฝ่ายเสรีและฝ่ายอนุรักษนิยมหลายคนมองว่ากฎหมายดังกล่าวเป็นเพียงการเคลื่อนไหวทางการเมือง เนื่องจากในทางเทคนิคแล้ว เราสามารถฆ่าตัวอ่อนตั้งแต่อยู่ในมดลูกแล้วนำออกมาภายหลังได้

การศึกษา

ในเดือนมกราคม ค.ศ. 2002 บุชได้ลงนามในกฎหมายดูแลเอาใจใส่เด็กและเยาวชน โดยมีวุฒิสมาชิกเท็ด เคเนดี เป็นผู้สนับสนุนรายใหญ่ ที่ต้องการลดช่องว่าในการประสบความสำเร็จของเด็ก วัดประสิทธิภาพในการทำงาน ให้ทางเลือกแก่พ่อแม่ที่มีลูกเรียนด้อย และให้เงินสนับสนุนจากรัฐบาลกลางเพิ่มขึ้นแก่โรงเรียนที่มีรายได้น้อย

ผู้วิพากษ์วิจารณ์ (ซึ่งรวมถึงจอห์น แครี และสมาคมการศึกษาแห่งชาติสหรัฐ) ได้แสดงความเห็นว่าโรงเรียนไม่ได้รับทรัพยากรที่เพียงพอเพื่อให้สอดคล้องกับมาตรฐานการศึกษาใหม่ แม้ว่าคำวิจารณ์ดังกล่าวจะอ้างอิงกับข้อมูลที่สัณนิษฐานเอาว่า บุคคลระดับผู้บริหารได้ให้คำมั่นสัญญาไว้มากกว่าให้งบประมาณ

รัฐบาลประจำรัฐบาลแห่งได้ปฏิเสธที่จะใช้เงินตามที่ระบุไว้ในกฎหมายตราบใดที่ไม่ได้รับเงินสนับสนุนอย่างเพียงพอ ในเดือนมกราคม ค.ศ. 2005 หนังสือพิมพ์ยู.เอส.เอ. ทูเดย์ ได้รายงานว่า กระทรวงศึกษาธิการของสหรัฐได้จ่ายเงิน 240,000 ดอลลาร์สหรัฐ

ให้แก่ นายอาร์มสตรอง วิลเลียมส์ นักวิจารณ์การเมืองชาวอเมริกันเชื้อสายอัฟริกันหัวอนุรักษนิยม “เพื่อให้เขาประชาสัมพันธ์กฎหมายใหม่ในรายการของสหภาพโทรทัศน์อเมริกัน และให้เขาบอกให้นักข่าวผิวดำทำอย่างเดียวกัน

คณะกรรมาธิการการศึกษาและแรงงานสหรัฐได้ระบุไว้ว่า “สืบเนื่องจากกฎหมายดูแลเอาใจใส่เด็กและเยาวชน ที่ประธานาธิบดีบุชได้ลงนามไว้เมื่อวันที่ 8 มกราคม ค.ศ. 2002

รัฐบาลกลางสหรัฐได้ใช้จ่ายงบประมาณเพื่อการศึกษาระดับประถมและมัธยมศึกษา (ภาคบังคับ 12 ปี) มากกว่าช่วงไหนๆในประวัติศาสตร์สหรัฐ”. ความต้องการเงินทุนสนับสนุนที่เพิ่มขึ้นส่งผลกระทบระดับรัฐ เช่นค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้นจากใช้กฎหมายดูแลเอาใจใส่เด็กและเยาวชน รวมทั้งผลกระทบทางเศรษฐกิจในแง่ลบที่ส่งผลต่องบประมาณเพื่อการศึกษา

โทษประหาร

บุชเป็นผู้สนับสนุนตัวยงในการทำโทษประหารมาใช้ ในระหว่างที่เขาดำรงตำแหน่งผู้ว่าการรัฐเท็กซัส มีผู้ถูกประหารชีวิตในรัฐนี้ถึง 152 คน นับว่าสูงสุดเป็นประวัติการณ์นำหน้ารัฐอื่นๆ เมื่อเข้ามาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐ เขาได้สนับสนุนโทษประหารอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งเป็นประธานในการประหารนายทิโมธี แมคเวห์ ผู้ก่อการร้ายที่ถูกรัฐบาลกลางตัดสินประหารชีวิตเป็นรายแรกในรอบทศวรรษ

วันที่ในข่าวนี้ 1 พฤศจิกายน 2004 วันที่ประมาณการ