
ซินแสโชกุน “ทัวร์ฉ้อโกง” เมื่อเวลา 10.00 น. 18 เม.ย.2560 ผู้สื่อข่าวรายงานจาก กองปราบปราม ว่า พล.ต.วิจารณ์ จดแตง หัวหน้าฝ่ายกฎหมายหน่วยเฉพาะกิจการข่าว คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) พ.อ.บุรินทร์ ทองประไพ เสนาธิการผู้บังคับบัญชาฝ่ายกฎหมาย คสช. พร้อมกำลังทหารจากมณฑลทหารบกที่ 11 (มทบ.11)
ควบคุมตัว นางมณฑญาณ์ นิรันดร อายุ 55 ปี มารดาของ น.ส.พสิษฐ์ อริญชย์ลาภิศ หรือ น.ส.ศรัณย์พัชร์ กิติขจรพัชร์ หรือ “ ซินแสโชกุน ” กรรมการบริหาร บริษัท เวลท์เอเวอร์ จำกัด ผู้ต้องหาตามหมายจับศาลอาญา ที่ 939/2560 ลงวันที่ 12เมษายน 2560 ข้อหาฉ้อโกงประชาชน, นายก้องศรัณย์ แสงประภา อายุ 22 ปี, น.ส.ทัศย์ดาว สมัครกสิกรรณ์ อายุ 35 ปี แฟนสาวของ “ ซินแสโชกุน ”, นางประนอม พลานุสนธิ์ อายุ 40 ปี เลขานุการส่วนตัวของ “ ซินแสโชกุน ”, นางณิชมน แสงประภา อายุ 64 ปี, นางพารินธญ์ หงษ์หิรัญ ดัคกอร์ อายุ 35 ปี, น.ส.สุดารัตน์ เอนกนวล อายุ 25 ปี และนายโกวิท ช่วยสัตว์ อายุ 30 ปี รวม 8 ราย
ผู้ต้องหาตามหมายจับศาลอาญา ที่ 951-958/2560 ลงวันที่ 17 เมษายน 2560 ตามลำดับ ในข้อหาร่วมกันฉ้อโกงประชาชน และกระทำการอันเป็นอั้งยี่ ซ่องโจร ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 210 และ 343 ประกอบมาตรา 83 ส่งมอบให้พนักงานสอบสวน บก.ป.
พล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล รอง ผบ.ตร. กล่าวว่า หลังจาก พนักงานสอบสวนได้รับตัวผู้ต้องหาจากฝ่ายทหารมาแล้ว จากการตรวจร่างกายแพทย์ยืนยันว่าไม่มีร่อยรอยถูกทำร้ายและผู้ต้องหาก็ยืนยันว่าตลอดระยะเวลาที่อยู่ในค่ายไม่มีการทำร้ายร่างกาย โดยจะดำเนินการตามขั้นตอนการสอบสวนซึ่งทางผู้ต้องหาทั้งหมดจะให้การอย่างไรก็เป็นสิทธิ โดยจะมีการจัดทนายความจากสภาทนายความให้ผู้ต้องหา อย่างไรก็ตาม ตนคงยังไม่ขอซักถามผู้ต้องหาในขณะนี้ว่าจะให้การรับสารภาพตามข้อกล่าวหาหรือไม่ โดยจะปล่อยให้พนักงานสอบสวนได้ดำเนินการหลังจากนี้ ก่อนนำส่งศาลฝากขังตามขั้นตอนต่อไป
สำหรับคดีดังกล่าวมีผู้เสียหายเข้าแจ้งความร้องทุกข์แล้ว 360 คน รวมมูลค่าความเสียหายประมาณ 15 ล้านบาท ขณะที่เจ้าหน้าที่สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ร่วมกับตำรวจ ทหาร สามารถติดตามยึดทรัพย์สินต่างๆ จากกลุ่มผู้ต้องหาในเบื้องต้น เช่น รถยนต์ เงินในบัญชีธนาคาร ทองรูปพรรณ คอนโดมิเนียม ฯลฯ รวมมูลค่ากว่า 15 ล้านบาท ส่วนการสอบสวนเบื้องต้นผู้ต้องหาทั้ง 8 รายให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา
กระทรวงการท่องเที่ยวฯ ร่วมภาคเอกชนเร่งหามาตรการกำราบบริษัททัวร์ฉ้อโกง กำหนด 7 แนวทางทำงานบูรณาการระหว่างรัฐกับเอกชน พร้อมเตรียมหารือเอกชนเพิ่มบทลงโทษบริษัททัวร์นอกระบบ 25 เม.ย. 2560 ฟากสมาคมไทยบริการท่องเที่ยวระบุชัดผู้ต้องหาใช้กลวิธีแยบคายหลอกสอบถามข้อมูลบริษัททัวร์ถูกกฎหมายก่อนนำไปดัดแปลงเพิ่มเติมความหวือหวา ย้ำชัด “ของดีราคาถูก” ไม่มีในโลก
นายพงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ ปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวถึงกรณีทัวร์ฉ้อโกงของ น.ส.พสิษฐ์ อริญชย์ลาภิศ หรือ น.ส.ศรัณย์พัชร์ กิติขจรพัชร์ หรือ “ ซินแสโชกุน ” ว่า กระทรวงการท่องเที่ยวฯ กำหนด 7 มาตรการเพื่อควบคุมป้องกันไม่ให้เกิดกรณีดังกล่าวอีก ดังนี้ 1. เข้มงวดการตรวจสอบบริษัทนำเที่ยวนอกระบบที่ไม่ได้มีการจดทะเบียนอย่างถูกต้องตามกฎหมาย 2. หากตรวจพบจะดำเนินการตามกฎหมายขั้นสูงสุด คือ โทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 5 แสนบาท หรือทั้งจำและปรับ
3. กระทรวงการท่องเที่ยวฯ จะดำเนินการเข้มงวดในการกำกับดูแลและให้ข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องแก่ประชาชนผ่านศูนย์บริการข้อมูลท่องเที่ยวทั้งทางโทรศัพท์และออนไลน์ตลอด 24 ชั่วโมง โดยในส่วนของออนไลน์จะมีการเร่งพัฒนาขีดความสามารถร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) 4. กระทรวงการท่องเที่ยวฯ จะออกข้อกำหนดเกี่ยวกับการโฆษณาทัวร์ท่องเที่ยวให้รัดกุมขึ้น โดยผู้ประกอบการต้องมีการเปิดเผยเลขที่ใบอนุญาตการประกอบธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ พร้อมวันหมดอายุของใบอนุญาต เพื่อให้ประชาชนตรวจสอบกับ กรมการท่องเที่ยว จากนั้นจะประกาศเป็นกฎกระทรวงฯ ต่อไป
5. ร่วมมือกับหน่วยงานภาคเอกชน เช่น สภาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) สมาคมไทยธุรกิจท่องเที่ยว (ATTA) สมาคมไทยบริการท่องเที่ยว (TTAA) และอื่นๆ ในการจัดตั้งทีมงานติดตามสถานการณ์ในตลาดท่องเที่ยวเพื่อร่วมกันสอดส่องเหตุพิรุธ หรือผิดปกติ เพื่อแจ้งข้อมูลให้กระทรวงฯ ทราบ 6. ร่วมหารือกับภาคเอกชนในการทำราคาอ้างอิงสำหรับการท่องเที่ยวในต่างประเทศ โดยภาครัฐจะไม่เข้าไปแทรกแซงแต่อย่างใด
และ 7. ร่วมหารือกับภาคเอกชนในการพิจารณาบทลงโทษและมาตรการต่างๆ ให้มีความรุนแรงเพิ่มขึ้นในวันที่ 25 เม.ย. ศกนี้ ก่อนจะเสนอ นางกอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวฯ พิจารณาความเห็นชอบก่อนดำเนินการในขั้นตอนต่อไป

ซินแสโชกุน “ทัวร์ฉ้อโกง”
สมาคมไทยบริการท่องเที่ยวแฉเกมโกงอย่างแยบยล
นายศุภฤกษ์ ศูรางกูร นายกสมาคมไทยบริการท่องเที่ยว (TTAA) ให้ความเห็นต่อกรณีธุรกิจขายตรงภายใต้ชื่อ “Wealth Ever” หลอกลวงให้ผู้บริโภคจำนวนนับพันรายซื้อโปรแกรมท่องเที่ยวประเทศญี่ปุ่นในช่วงวันที่ 11-16 เม.ย. 60 ด้วยราคาประมาณ 1 หมื่นบาทว่า เบื้องต้นต้องชี้แจงให้ประชาชนทั่วไปทราบว่าบริษัทดังกล่าวไม่ได้จดทะเบียนและได้รับใบอนุญาตให้ประกอบการด้านธุรกิจท่องเที่ยวแต่อย่างใด
แต่มีการวางแผนอย่างแยบยลในการเชิญชวนให้ผู้หลงเชื่อตกเป็นเหยื่อในการสมัครสมาชิก ดังจะเห็นได้จากคำเชิญชวนว่าโปรแกรมทัวร์ดังกล่าวเป็นโปรโมชันให้แก่สมาชิกเท่านั้น
สิ่งสำคัญคือบริษัทดังกล่าวใช้กลวิธีการนำเสนอโปรแกรมทัวร์อย่างน่าเชื่อถือ เพราะได้ข้อมูลมาจากบริษัทผู้ประกอบการนำเที่ยวต่างประเทศ (Out Bound) ให้นำเสนอโปรแกรมดังกล่าวด้วยการหลอกลวงขั้นต้นว่าสนใจและต้องการซื้อโปรแกรมทัวร์ดังกล่าว
แล้วนำข้อมูลดังกล่าวมาใช้ประกอบกับข้อความที่เขียนขึ้นใหม่ให้มีความหวือหวาและดึงดูดความสนใจเพิ่มขึ้น โดยขณะนี้สมาคมฯ กำลังเร่งดำเนินการตรวจสอบว่าบริษัทนำเที่ยวดังกล่าวที่ถูกหลอกลวงเป็นสมาชิกสมาคมฯ หรือไม่ เนื่องจากสมาคมฯ มีสมาชิกซึ่งเป็นผู้ประกอบการนำเที่ยวต่างประเทศโดยตรงมากกว่า 800 บริษัท
“โดยส่วนตัวเชื่อว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นครั้งนี้ส่วนหนึ่งมีสาเหตุมาจากโซเชียลมีเดียที่มักมีผู้เดินทางไปท่องเที่ยวตามสถานที่ต่างๆ แล้วนำข้อมูลและภาพมาโพสต์และแชร์ ทำให้เป็นช่องทางของมิจฉาชีพในการนำข้อมูลและภาพดังกล่าวมาใช้ประโยชน์ในทางที่ผิด จึงเชื่อว่าการหลอกลวงในลักษณะนี้จะยังคงเกิดขึ้นอีกหากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องขาดการตรวจสอบและป้องปรามอย่างจริงจัง”
นายศุภฤกษ์ กล่าวด้วยว่า กรณีนี้แม้จะไม่เกี่ยวข้องกับสมาคมฯ โดยตรง แต่ถือเป็นหน้าที่ในการปกป้องภาพลักษณ์ผู้ประกอบการนำเที่ยวต่างประเทศโดยตรง ดังนั้นเมื่อสมาคมฯ ทราบเรื่องของสายการบินคาเธ่ย์ แปซิฟิค ซึ่งเป็นผู้เสียหายว่าถูกรับการว่าจ้างเช่าเหมาลำนำผู้ตกเป็นเหยื่อเดินทางไปประเทศญี่ปุ่น ได้มีการแจ้งความต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ
ตั้งแต่วันที่ 29 มี.ค.ที่ผ่านมา สมาคมฯ จึงมีการส่งหนังสือเวียนไปยังสมาชิกให้ร่วมมือกันตรวจสอบเพื่อพยายามป้องกันไม่ให้ประชาชนตกเป็นเหยื่อและป้องกันไม่ให้ผู้ประกอบการได้รับความเสียหาย แต่ปรากฏว่าไม่สามารถตรวจสอบที่มาของการหลอกลวงครั้งนี้ได้จนกระทั่งวันเกิดเหตุ แต่มีข้อมูลในระดับหนึ่งว่าบริษัทขายตรงดังกล่าวเคยถูกแจ้งความในลักษณะดังกล่าวมาแล้วอย่างน้อยหนึ่งครั้ง
“ในช่วงที่ผ่านมาสมาคมฯ มีการทำงานร่วมกับกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ในการตรวจสอบความโปร่งใสในการดำเนินงานของผู้ประกอบการมาโดยตลอด แต่กระทรวงการท่องเที่ยวฯ มักตรวจสอบผู้ประกอบการที่จดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมายเท่านั้น ในขณะที่สมาคมฯ เคยเสนอให้ตรวจสอบผู้ประกอบการที่ไม่ได้จดทะเบียนอย่างถูกต้อง แต่กลับได้รับคำตอบว่าหากผู้ประกอบการรายใดยังไม่กระทำผิดก็ไม่สามารถดำเนินการใดๆ ได้ สมาคมฯ จึงเห็นว่ากระทรวงการท่องเที่ยวฯ ควรมีการทำงานเชิงรุกเพิ่มขึ้นเพื่อไม่ให้ความเสียหายเกิดขึ้น”
นายศุกฤกษ์กล่าวด้วยว่า จากเหตุการณ์ครั้งนี้จึงอยากเตือนประชาชนทั่วไปที่สนใจและต้องการเดินทางไปท่องเที่ยวต่างประเทศ หรือซื้อสินค้าและบริการอื่นๆ ว่าจำเป็นต้องใช้วิจารณญาณในการตัดสินใจอย่างละเอียดรอบคอบ ไม่เช่นนั้นความเสียหายที่จะตามมาย่อมมีมากหลายด้าน โดยเฉพาะการเดินทางท่องเที่ยวต่างประเทศซึ่งจำเป็นต้องมีการวางแผนหลายด้าน ตั้งแต่การเก็บออม การจัดสรรเวลา การลางาน และอื่นๆ
“กรณีการเดินทางไปประเทศญี่ปุ่นในช่วงเทศกาลสงกรานต์ซึ่งถือเป็นช่วงไฮซีซัน ราคาตั๋วเครื่องบินต่อเที่ยวย่อมขยับสูงขึ้นถึง 1.8-2 หมื่นบาท ยิ่งเมื่อรวมกับโปรแกรมการท่องเที่ยว ที่พัก อาหาร และอื่นๆ ที่มีการนำเสนอดังกล่าวแล้ว ในฐานะที่ประกอบธุรกิจด้านท่องเที่ยวคาดคะเนว่านักท่องเที่ยวต่อรายต้องใช้งบประมาณไม่ต่ำกว่า 5 หมื่นบาท จึงอยากให้เหตุการณ์ครั้งนี้เป็นข้อคิดให้ประชาชนทั่วไปว่า ของดีราคาถูกไม่มีในโลก” นายศุกฤกษ์กล่าวในที่สุด
กระทรวงพาณิชย์ นำ 12 หน่วยงานรัฐร่วมถกล้อมคอกทัวร์ฉ้อโกง ต้มตุ๋นประชาชน เผยมีผู้แจ้งความร้องทุกข์แล้ว 360 คน รวมค่าความเสียหาย 15 ล้านบาท ส่วน 8 ผู้ต้องหาเครือข่ายปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา ยันไม่ได้หลอกลวง ย้ำเป็นบริษัทขายอาหารเสริมไม่ได้ขายทัวร์ ส่วนนำเที่ยวเป็นเพียงให้โอกาสคนไม่เคยไปต่างประเทศ ด้านอธิบดีดีเอสไอ สั่งเช็กความเชื่อมโยงกับคดีแชร์ลูกโซ่อื่น จ่อรับเป็นคดีพิเศษหากเป็นเครือข่ายเดียวกัน