
ตาลีบันกับสหรัฐฯ ลงนามใน ‘ข้อตกลงนำสันติภาพ’ ผู้แทนของสหรัฐฯ อัฟกานิสถาน และตาลีบัน ต่างระมัดระวังที่จะเรียกข้อตกลงที่ลงนามกันในกรุงโดฮาของกาตาร์ว่า เป็น “ข้อตกลงสันติภาพ” ตาลีบันจะทำอะไรต่อไป หลังจากลงนามใน “ข้อตกลงนำสันติภาพ” มาสู่อัฟกานิสถานกับสหรัฐฯ เพื่อยุติความขัดแย้งที่ดำเนินมายาวนานกว่า 18 ปี
สหรัฐฯ และชาติพันธมิตรองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (North Atlantic Treaty Organization) หรือ นาโต เห็นชอบที่จะถอนทหารทั้งหมดออกจากอัฟกานิสถานภายในเวลา 14 เดือน ถ้าสมาชิกกลุ่มติดอาวุธตาลีบันยึดมั่นในข้อตกลง
ตาลีบันกับสหรัฐฯ ลงนามใน ‘ข้อตกลงนำสันติภาพ’ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ กล่าวว่า มันเป็น “การเดินทางที่ยากลำบากและยาวนาน” ในอัฟกานิสถาน “หลังจากผ่านพ้นมานานหลายปี ถึงเวลาที่จะพาคนของเรากลับบ้านแล้ว”
ขณะที่รัฐบาลอัฟกานิสถานและกลุ่มตาลีบันมีกำหนดจะเจรจากันต่อหลังจากนี้อีกหลายครั้ง เรามาถึงจุดนี้ได้อย่างไร แล้วทำไมถึงใช้เวลายาวนานมาก
ภายใต้ข้อตกลงนี้ กลุ่มติดอาวุธตาลีบัน เห็นชอบด้วยว่า จะไม่ยอมให้ กลุ่มอัลกออิดะห์ หรือกลุ่มสุดโต่งอื่น ๆ ปฏิบัติการในพื้นที่ที่พวกเขาควบคุมอยู่
นายทรัมป์ กล่าวที่ทำเนียบขาวว่า ตาลีบันพยายามที่จะบรรลุข้อตกลงกับสหรัฐฯ มาเป็นเวลานานแล้ว เขากล่าวว่า ทหารสหรัฐฯ ได้สังหารผู้ก่อการร้ายในอัฟกานิสถานไปแล้ว “หลายพันคน” และตอนนี้ “ถึงเวลาให้คนคนอื่นมาทำงานนี้ อาจจะเป็นตาลีบัน หรือประเทศโดยรอบ”
“ผมเชื่อว่า ตาลีบันต้องการทำอะไรบางอย่างที่แสดงให้เห็นว่า เราไม่ได้เสียเวลาเปล่า” นายทรัมป์ กล่าวเพิ่มเติม “ถ้าเกิดเรื่องเลวร้ายขึ้นอีก เราก็จะกลับไปใช้กำลังอย่างที่ไม่เคยมีใครเคยเห็นมาก่อน”
สหรัฐฯ บุกอัฟกานิสถาน ในช่วงไม่กี่สัปดาห์หลังจากกลุ่มอัลกออิดะห์ที่ตั้งอยู่ในอัฟกานิสถานโจมตีนครนิวยอร์กในเดือน ก.ย. 2001
ทหารสหรัฐฯ มากกว่า 2,400 นาย เสียชีวิต ระหว่างความขัดแย้งนี้ และมีทหารราว 12,000 นายยังคงประจำการอยู่ในอัฟกานิสถาน โดยประธานาธิบดีทรัมป์ รับปากว่าจะยุติความขัดแย้งนี้
เกิดอะไรขึ้นในโดฮา
ข้อตกลงนี้ลงนามโดยนายซัมไมย์ เคลิลซาด ทูตพิเศษสหรัฐฯ และนายมุลลาห์ อับดุล กานี บาราดาร์ โดยมีนายไมก์ ปอมเปโอ รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ เป็นพยาน
ในการกล่าวสุนทรพจน์ นายปอมเปโอ เรียกร้องให้กลุ่มติดอาวุธตาลีบัน “รักษาสัญญาในการตัดสัมพันธ์กับกลุ่มอัลกออิดะห์”
นายบาราดาร์ กล่าวว่า เขาหวังว่า อัฟกานิสถาน จะฟื้นกลับคืนมาได้ หลังจากเผชิญความขัดแย้งมานาน 4 ทศวรรษ
“ผมหวังว่า การถอนทหารต่างชาติทั้งหมดออกไปจากอัฟกานิสถาน ชาติอัฟกันภายใต้การปกครองอิสลามจะมีความสุขและเจริญรุ่งเรือง”
ตาลีบันกับสหรัฐฯ
ข้อตกลงนี้มีเงื่อนไขอะไรบ้าง
ภายในเวลา 135 วันแรกของการลงนามในข้อตกลง สหรัฐฯ จะลดกำลังทหารในอัฟกานิสถานเหลือ 8,600 นาย ขณะที่ชาติพันธมิตรก็จะถอนกำลังออกไปตามสัดส่วน
การถอนกำลังนี้ จะทำให้ประธานาธิบดีทรัมป์ กล่าวได้ว่า เขาได้นำทหารบางส่วนกลับบ้านแล้ว ก่อนหน้าที่จะถึงการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในเดือน พ.ย.
ข้อตกลงนี้ยังเปิดโอกาสให้มีการแลกเปลี่ยนตัวนักโทษระหว่างกันด้วย โดยอาจจะมีการแลกเปลี่ยนตัวนักโทษของตาลีบันราว 5,000 คน กับกองกำลังความมั่นคงของอัฟกานิสถานราว 1,000 นายที่ถูกจับเป็นเชลย ในวันที่ 10 มี.ค. นี้ ซึ่งเป็นวันเดียวกับที่การเจรจาระหว่างกลุ่มตาลีบันและรัฐบาลอัฟกานิสถานมีกำหนดจะเริ่มขึ้น
นอกจากนี้สหรัฐฯ จะยกเลิกการคว่ำบาตรต่อกลุ่มตาลีบัน และประสานงานกับสหประชาชาติในการยกเลิกการคว่ำบาตรของสหประชาชาติต่อกลุ่มตาลีบันด้วย
ขณะที่ ซาห์รา ฮุสเซนี นักเคลื่อนไหวในกรุงคาบูล กล่าวว่า เธอเกรงว่า ข้อตกลงนี้อาจทำให้สถานการณ์สำหรับผู้หญิงในอัฟกานิสถานเลวร้ายลง
“ฉันไม่ไว้ใจตาลีบัน และจำได้ว่า พวกเขากดขี่ผู้หญิงมากแค่ไหนตอนที่ปกครองอัฟกานิสถาน” นักเคลื่อนไหว วัย 28 ปี กล่าวกับ เอเอฟพี
“วันนี้ เป็นวันที่มืดมน และฉันกำลังชมพิธีลงนามข้อตกลง ฉันมีความรู้สึกในทางที่ไม่ค่อยดีว่า มันจะลงเอยด้ยการทำให้พวกเขากลับมาครองอำนาจ มากกว่าการทำให้เกิดสันติภาพขึ้น”
ตาลีบันกับสหรัฐฯ
ปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นมีอะไรบ้าง
- นายอันโตนิอู กุแตร์เรช เลขาธิการใหญ่สหประชาชาติ เน้นย้ำถึง “ความสำคัญของการลดความรุนแรงทั่วประเทศอย่างยั่งยืน เพื่อผลประโยชน์ของชาวอัฟกันทุกคน”
- นายเยนส์ สโตลเตนแบร์ก เลขาธิการนาโต กล่าวว่า “เราเข้าไปด้วยกันในปี 2001 เรากำลังจะปรับ [ระดับกำลังทหาร] ด้วยกัน แล้วเมื่อถึงเวลาที่เหมาะสม เราก็จะออกมาด้วยกัน แต่เราจะออกมาก็ต่อเมื่อเงื่อนไขทุกอย่างถูกต้องเท่านั้น”
- นายเบน วอลลิซ รัฐมนตรีกลาโหมของสหราชอาณาจักร กล่าวว่า “ผมยินดีในก้าวเล็ก ๆ แต่เป็นก้าวที่มีความสำคัญยิ่งในการก้าวสู่โอกาสที่ชาวอัฟกันจะได้ใช้ชีวิตอย่างมีสันติภาพ ปราศจากการก่อการร้าย… เรายังคงยึดมั่นในการสร้างอัฟกานิสถานที่จะเป็นพันธมิตรที่แข็งแกร่งในอีกหลายทศวรรษข้างหน้า”
การเจรจาระหว่าง สหรัฐฯ-ตาลีบัน ผ่านอะไรมาบ้าง

นับตั้งแต่ปี 2011 กาตาร์ ได้ต้อนรับผู้นำตาลีบันหลายคนที่ย้ายไปอยู่ที่นั่นเพื่อหารือเกี่ยวกับสันติภาพในอัฟกานิสถาน มีการเปิดสำนักงานของตาลีบันในปี 2013 และปิดลงในปีเดียวกันจากปัญหาเรื่องธง ทำให้ความพยายามต่าง ๆ ที่อยู่ระหว่างการเจรจาหยุดชะงัก
ในเดือน ธ.ค. 2018 กลุ่มติดอาวุธตาลีบัน ประกาศว่า จะพบกับเจ้าหน้าที่ทางการสหรัฐฯ เพื่อพยายามหา “แผนการสู่สันติภาพ” แต่กลุ่มอิสลามสุดโต่งกลุ่มนี้ยังคงปฏิเสธไม่ยอมเจรจากับรัฐบาลอัฟกานิสถาน ซึ่งพวกเขาเห็นว่า เป็น “หุ่นเชิด” ของสหรัฐฯ
หลังการเจรจาระหว่างสหรัฐฯ-ตาลีบัน ในกาตาร์ ผ่านไป 9 รอบ ทั้งสองฝ่ายดูเหมือนจะเข้าใกล้การบรรลุข้อตกลง
หัวหน้าผู้เจรจาจากรัฐบาลสหรัฐฯ ประกาศเมื่อเดือน ก.ย. ปีที่แล้วว่า สหรัฐฯ จะถอนกำลังทหาร 5,400 นาย ออกจากอัฟกานิสถานภายในเวลา 20 สัปดาห์ ตามข้อตกลง ที่มีการยอมรับ “ในหลักการ” กับกลุ่มติดอาวุธตาลีบัน
แต่ไม่กี่วันต่อมา นายทรัมป์ ก็ระบุว่า การเจรจานี้ “จบสิ้นแล้ว” หลังจากที่ทางกลุ่มตาลีบันสังหารทหารสหรัฐฯ นายหนึ่ง แต่ในเวลาไม่กี่สัปดาห์ ทั้งสองฝ่ายก็กลับมาหารือกันต่อโดยไม่เปิดเผย
เมื่อ 1 สัปดาห์ก่อน ทางตาลีบัน ยอมที่จะ “ลดความรุนแรง” แม้ว่า เจ้าหน้าที่ทางการอัฟกานิสถานระบุว่า มีทหารอย่างน้อย 22 นาย และพลเรือน 14 คน เสียชีวิตจากการโจมตีของตาลีบันในช่วงเวลานั้น