
กองกำลังของกลุ่ม ตาลีบันยึดเมืองหลวง เมืองสำคัญของอัฟกานิสถานได้อีกแห่งเมื่อวันศุกร์ที่ 13 ส.ค. 2564 ซึ่งเมืองนี้อยู่ไม่ห่างจากกรุงคาบูล ที่เป็นนครหลวงของประเทศมากนัก ในขณะที่นานาชาติกำลังเร่งอพยพคณะทูตของตนและชาวอัฟกานิสถานบางส่วนออกจากกรุงคาบูล เพื่อหลบหนีการโจมตีของตาลีบัน ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในอีกไม่กี่วันข้างหน้านี้
สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า กองกำลังของตาลีบันได้บุกยึดเมืองปุล-อี-อาลัม (Pul-e-Alam) เมืองเอกของจังหวัดโลการ์ (Loghar) ซึ่งอยู่ห่างจากกรุงคาบูลเพียง 80 กิโลเมตรเท่านั้น หลังสามารถยึดเมืองกันดาฮาร์และลาชคาร์กาห์ที่ตั้งอยู่ใกล้กันทางตอนใต้ รวมทั้งเมืองเฮรัตทางตะวันตกของประเทศ โดยเมืองกันดาฮาร์นั้นเป็นเมืองที่ใหญ่ที่สุดเป็นอันดับสองของอัฟกานิสถาน
กองกำลังชุดแรกของสหรัฐฯ จากจำนวนทั้งหมด 3,000 นาย ที่ถูกส่งมาช่วยอพยพคณะทูตและพลเรือนอัฟกานิสถานบางส่วน กำลังจะเดินทางมาถึงกรุงคาบูลภายในวันอาทิตย์นี้ โดยคาดว่ากองกำลังสหรัฐฯ จะนำคณะทูต พลเมืองอเมริกัน และผู้อพยพออกจากกรุงคาบูลทางอากาศวันละหลายพันคน
ก่อนหน้านี้นายจอห์น เคอร์บี โฆษกกระทรวงกลาโหมของสหรัฐฯ กล่าวว่า การรุกคืบของตาลีบันนั้นน่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง แต่กรุงคาบูลอาจจะยังไม่ตกเป็นเป้าโจมตีในทันที โดยการประเมินล่าสุดของหน่วยข่าวกรองสหรัฐฯ ชี้ว่า ตาลีบันอาจพยายามบุกยึดกรุงคาบูลภายในเวลา 30 วันนับจากนี้
หลายประเทศต่างกำลังเร่งทำงานแข่งกับเวลา เพื่ออพยพคณะทูตและผู้คนของตนเช่นเดียวกัน โดยสหราชอาณาจักรกำลังส่งกองทหาร 600 นายไปปฏิบัติภารกิจนี้ และจะลดจำนวนเจ้าหน้าที่ซึ่งอยู่ประจำการในสถานทูตอังกฤษประจำกรุงคาบูลลงให้มากที่สุด ส่วนเดนมาร์กและนอร์เวย์นั้นจะทำการปิดสถานทูตของตนลง
ทางการแคนาดาระบุว่า มีแผนจะอพยพชาวอัฟกานิสถานราว 20,000 คน ที่เสี่ยงจะตกอยู่ในอันตรายภายใต้การปกครองของตาลีบันออกนอกประเทศ ซึ่งในจำนวนนี้รวมถึงบรรดาสตรีที่เป็นผู้นำทางสังคม นักข่าว และนักสิทธิมนุษยชน
หลังกองกำลังสหรัฐฯ และนานาชาติ ถอนตัวออกจากอัฟกานิสถานไปเกือบทั้งหมดเมื่อเดือนที่แล้ว กลุ่มตาลีบันได้บุกยึดเมืองต่าง ๆ ให้กลับเข้ามาอยู่ภายใต้การปกครองของตนได้อย่างรวดเร็ว ทำให้มีพลเรือนผู้ต้องพลัดถิ่นที่อยู่อาศัยเพื่อหนีภัยสงครามแล้วกว่า 250,000 คน ในจำนวนนี้มีเด็กรวมอยู่ด้วยถึง 72,000 คน
นายอันโตนิโอ กูเตอร์เรส เลขาธิการใหญ่สหประชาชาติ ได้ออกมาเรียกร้องให้กลุ่มตาลีบันหยุดยิง และขอให้ประชาคมนานาชาติแสดงการต่อต้าน เพื่อทำให้ตาลีบันเห็นว่าการใช้กำลังทหารเข้ายึดอำนาจนั้นเป็นสิ่งที่ไม่อาจยอมรับได้
นายกูเตอร์เรสกล่าวว่าพลเรือนโดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้หญิงและเด็กนั้นต้องบาดเจ็บล้มตาย ทั้งเป็นผู้ได้รับความเดือดร้อนมากที่สุด โดยเมื่อเดือน ก.ค. ที่ผ่านมาเพียงเดือนเดียว มีผู้เสียชีวิตจากการสู้รบไปแล้วกว่า 1,000 คน
เลขาธิการใหญ่สหประชาชาติยังขอให้ประเทศเพื่อนบ้านของอัฟกานิสถานเปิดแนวพรมแดนเพื่อรองรับผู้อพยพจำนวนมาก เนื่องจากในเมืองหลายแห่งโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ รวมทั้งโรงเรียนและสถานพยาบาลถูกทำลาย ส่วนเสบียงอาหารและยารักษาโรคก็กำลังจะหมดลง
กลุ่มตาลีบันยึดครอง กรุงคาบูล อัฟกานิสถาน สำเร็จ ประธานาธิบดีอัฟกาฯ ทิ้งประชาชนเผ่นหนีออกนอกประเทศ
วันที่ 16 สิงหาคม 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานอ้างอิงจากมติชนว่า กองกำลัง ตาลีบันยึดเมืองหลวง กรุงคาบูล สำเร็จ เมืองหลวงของอัฟกานิสถานไว้ได้แล้ว หลังเพิ่งรุกคืบปิดล้อมเมืองในวันที่ 16 สิงหาคม โดยนักรบตาลีบันจำนวนมากกระจายตัวไปทั่วเมืองหลวง และยังได้บุกเข้ายึดยังทำเนียบประธานาธิบดีอัฟกานิสถานที่ถูกทิ้งไว้โดยไม่มีการป้องกันใด ๆ แล้วเช่นกัน
กรุง‘คาบูลแตก’ เมืองหลวงอัฟกานิสถานแตก กองกำลังติดอาวุธกลุ่มตาลีบันใกล้ควบคุมอัฟกานิสถานได้อย่างสมบูรณ์ ขณะประธานาธิบดี นักการทูตหนีออกนอกประเทศ
เว็บไซต์ข่าวรอยเตอร์ รายงานว่า กลุ่มตาลีบันติดอาวุธสามารถเข้ายึดครองกรุงคาบูล เมืองหลวงของอัฟกานิสถานได้แล้ว หลังจากเข้ายึดครองเมืองจาลาลาบัด ซึ่งเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญทางตะวันออก ที่มีถนนเชื่อมกับปากีสถานได้สำเร็จ
ขณะที่สื่อต่างประเทศหลายแห่ง รวมถึงสำนักข่าวซีเอ็นเอ็น ได้เผยแพร่ภาพฟุตเทจที่แสดงให้เห็นว่า นักรบชาวตาลีบันได้เข้ายึดทำเนียบประธานาธิบดีอัฟกานิสถานได้แล้ว และกลุ่มตาลีบันยังประกาศว่าจะจัดตั้ง “Islamic Emirate of Afghanistan” ในเร็วๆนี้
นายมูฮัมหมัด นาอิม โฆษกของกลุ่มตาลีบันได้ทวีตข้อความเพื่อประกาศเจตนารมณ์ว่า กลุ่มตาลีบันจะไม่ทำอันตรายต่อสถานทูต นักการทูต และชาวต่างชาติในกรุงคาบูล พร้อมกับให้คำมั่นว่า จะรักษาความปลอดภัยทั่วทั้งอัฟกานิสถาน โดยย้ำว่าภารกิจของกลุ่มตาลีบันคือการรักษาความปลอดภัยในกรุงคาบูลและเมืองอื่นๆของประเทศ
ด้านประธานาธิบดีอัชราฟ กานี ของอัฟกานิสถานเดินทางออกจากประเทศโดยอ้างว่าต้องการหลีกเลี่ยงเหตุนองเลือด ส่งผลให้กลุ่มตาลีบันใกล้จะควบคุมประเทศนี้ได้อย่างสมบูรณ์ ประธานาธิบดีอัฟกานิสถานก็ได้เดินทางหลบหนีออกนอกประเทศไปแล้ว แต่ยังคงไม่มีความชัดเจนว่าเขาเดินทางไปยังอุซเบกิสถาน หรือทาจิกิสถาน เช่นเดียวกับชาวต่างชาติ และชาวอัฟกานิสถานที่พากันเร่งรีบอพยพออกจากกรุงคาบูลไปตาม ๆ กัน
ด้านสหรัฐอเมริกาและอังกฤษต่างก็เร่งอพยพเจ้าหน้าที่ของตนที่ประจำการอยู่ในสถานเอกอัครราชทูตในกรุงคาบูลเป็นการด่วน โดยมีผู้เห็นเหตุการณ์ระบุว่าเกิดความปั่นป่วนวุ่นวายอย่างหนักที่สนามบินในกรุงคาบูลจนเกิดการเหยียบกันบนลานบินทำให้มีพลเรือนได้รับบาดเจ็บ

ก่อนหน้าที่ตาลีบันจะบุกยึดกรุงคาบูลได้ ผู้นำตาลีบันออกมาระบุว่าจะหลีกเลี่ยงการใช้ความรุนแรง และเปิดให้ทุกคนที่ต้องการจะเดินทางออกจากอัฟกานิสถานสามารถเดินทางออกไปได้อย่างปลอดภัย
ขณะที่โฆษกของตาลีบันเผยกับสำนักข่าวเอพีว่า ตาลีบันจะจัดการหารือในอีกไม่กี่วันข้างหน้า เพื่อตั้งรัฐบาลอิสลามที่เปิดกว้างและรวมทุกฝ่ายเข้าไว้ด้วยกัน
นอกจากนี้ ประธานาธิบดีกานียังโพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊คว่า การที่เขาตัดสินใจเดินทางออกนอกประเทศนั้น เพราะต้องการหลีกเลี่ยงการนองเลือดและการปะทะกับกลุ่มตาลีบัน ซึ่งอาจเป็นอันตรายต่อประชาชนหลายล้านคนในกรุงคาบูล
ทั้งนี้ สถานีโทรทัศน์ท้องถิ่น 1 ทีวี รายงานว่า ท่ามกลางความมืดมิดที่เข้าปกคลุมได้มีเสียงระเบิดดังขึ้นหลายระลอกในกรุงคาบูล ซึ่งก่อนหน้านี้บรรยากาศส่วนใหญ่เป็นไปอย่างสงบ ทั้งยังมีเสียงปืนดังขึ้นใกล้สนามบิน จุดที่บรรดาผู้แทนทูตต่างชาติ เจ้าหน้าที่และชาวอัฟกานิสถานบางส่วนพยายามหาทางหลบหนีออกนอกประเทศ
อีเมอร์เจนซี ซึ่งเป็นกลุ่มช่วยเหลือนานาชาติ ระบุว่ามีผู้ได้รับบาดเจ็บ 80 คนถูกพาตัวส่งสถานพยาบาลในกรุงคาบูล ที่แออัดไปด้วยผู้ได้รับบาดเจ็บ
ชาวอัฟกันจำนวนมากกำลังพยายามหลบหนีออกจากอัฟกานิสถานเมื่อกลุ่มติดอาวุธตาลีบันกลับเข้ายึดอำนาจการปกครอง หลังจากถูกกองกำลังพันธมิตรที่นำโดยสหรัฐฯ ขับออกจากอำนาจมานานเกือบ 2 ทศวรรษ
ผู้พยายามลี้ภัยครั้งล่าสุดนี้จะไปสะสมรวมกับยอดชาวอัฟกันที่ได้ลี้ภัยไปอยู่ตามประเทศเพื่อนบ้านแล้วราว 2.2 ล้านคน และอีก 3.5 ล้านคนที่ต้องพลัดถิ่นฐานไปอยู่ตามพื้นที่ต่าง ๆ ภายในประเทศ อันเป็นผลมาจากปัญหาความรุนแรง และความไร้เสถียรภาพทางการเมืองที่ยาวนานของอัฟกานิสถาน
คนอัฟกันออกจากประเทศไปแล้วกี่คน

ขณะนี้ยังไม่มีใครทราบชัดเจน
ตาลีบันได้ควบคุมจุดผ่านแดนหลักทั้งหมดของอัฟกานิสถานกับประเทศเพื่อนบ้าน โดยระบุว่าไม่ต้องการให้ชาวอัฟกันเดินทางออกนอกประเทศ ยกเว้นคนที่ต้องเดินทางเพื่อไปทำการค้าหรือธุรกิจ และผู้ที่มีเอกสารการเดินทางที่ถูกต้อง
โฆษกสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) ระบุเมื่อวันที่ 20 ส.ค. ที่ผ่านมาว่า “ชาวอัฟกันส่วนใหญ่ไม่สามารถเดินทางออกนอกประเทศได้ตามช่องทางปกติ…ณ ปัจจุบัน กลุ่มผู้ที่อาจตกอยู่ในอันตรายยังไม่มีทางออกที่ชัดเจน”
อย่างไรก็ตาม ชาวอัฟกันหลายคนสามารถหลบหนีออกมาได้
มีรายงานว่าคนอัฟกันหลายพันคนได้ข้ามแดนเข้าไปในปากีสถานหลังจากตาลีบันเข้ายึดอำนาจได้ไม่นาน ขณะเดียวกันมีข่าวว่าชาวอัฟกันราว 1,500 คนหนีเข้าไปในอุซเบกิสถาน และอาศัยอยู่ในเต็นท์ใกล้ชายแดน
ที่กรุงคาบูล ประชาชนหลายพันคนต่างมุ่งหน้าไปยังท่าอากาศยานนานาชาติ ซึ่งปัจจุบันเป็นสนามบินเพียงแห่งเดียวที่ยังเปิดทำการในประเทศ ด้วยความหวังที่จะหนีออกนอกประเทศ
เมื่อวันที่ 20 ส.ค. เจ้าหน้าที่องค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือหรือนาโตระบุว่า มีคนกว่า 18,000 คนได้เดินทางออกนอกประเทศผ่านทางสนามบินแห่งนี้นับตั้งแต่ตาลีบันเข้ายึดอำนาจ แต่ไม่ชัดเจนว่าในจำนวนนี้มีพลเมืองอัฟกานิสถานอยู่กี่คน