
ทรัมป์ ถูกยื่นถอดถอน ถึง 2 ครั้ง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ มีมติถอดถอนประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ จากตำแหน่งในข้อหายั่วยุให้ผู้ประท้วงบุกรัฐสภาสหรัฐฯ ทำให้นายทรัมป์เป็นประธานาธิบดีคนแรกในประวัติศาสตร์สหรัฐฯ ที่ถูกยื่นถอดถอนถึง 2 ครั้ง
ทรัมป์ ถูกยื่นถอดถอน ถึง 2 ครั้ง พรรคเดโมแครตเริ่มกระบวนการถอดถอนนายทรัมป์ เมื่อวันที่ 13 ม.ค.2021 โดยมีสมาชิกของพรรครีพับลิกันของนายทรัมป์เข้าร่วมจำนวน 10 คน พวกเขากล่าวหาประธานาธิบดีสหรัฐฯ ว่าเป็นผู้ยั่วยุให้เกิดการจลาจลโดยการปลุกปั่นให้ผู้สนับสนุนของเขาบุกอาคารรัฐสภาระหว่างที่สมาชิกรัฐสภากำลังประชุมเพื่อรับรองชัยชนะของนายโจ ไบเดน ว่าที่ผู้นำสหรัฐฯ คนใหม่เมื่อวันที่ 6 ม.ค. เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต 5 คน
ลิซ เชนีย์ หนึ่งใน ส.ส. พรรครีพับลิกันที่ประกาศร่วมยื่นถอดถอนประธานาธิบดีระบุว่านายทรัมป์ “ปลุกเร้าม็อบ ระดมม็อบ และจุดชนวนของการโจมตีนี้ขึ้น”
“ยังไม่เคยมีประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนไหนที่ทรยศต่อการทำหน้าที่และคำปฏิญาณต่อรัฐธรรมนูญมาก่อน” ส.ส. รัฐไวโอมิง ซึ่งเป็นบุตรสาวของอดีตรองประธานาธิบดีดิ๊ก เชนีย์ กล่าว
เหตุจลาจลเมื่อ 6 ม.ค. เกิดขึ้นหลังจากที่นายทรัมป์บอกกับผู้สนับสนุนในการประท้วงที่กรุงวอชิงตัน ดีซี ว่า “สู้เต็มที่” ต่อต้านผลการเลือกตั้งในเดือน พ.ย. ปีที่แล้ว อย่างไรก็ตาม ประธานาธิบดีทรัมป์ปฏิเสธความรับผิดชอบทุกอย่างต่อความรุนแรงที่เกิดขึ้น
หลังการอภิปรายผ่านไปหลายชั่วโมง ในที่สุดสภาผู้แทนฯ ก็มีมติ 232-197 ถอดถอนประธานาธิบดีทรัมป์
“เราถูกขอให้หลับตาข้างเดียวต่ออาชญากรรม การทุจริต และการไม่เคารพกฎหมายอย่างโจ่งแจ้งของประธานาธิบดีทรราชของเราในทำเนียบขาว” อิลฮาน โอมาร์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ของพรรคเดโมแครต กล่าวในการอภิปรายในสภาผู้แทนฯ
หลังจากสภาผู้แทนฯ ลงมติถอดถอนเสร็จสิ้น ประธานาธิบดีทรัมป์แถลงผ่านคลิปวิดีโอที่เผยแพร่ทางโซเชียลมีเดีย โดยประณามเหตุรุนแรงที่อาคารรัฐสภาเมื่อวันที่ 6 ม.ค. แต่ไม่ได้กล่าวถึงมติถอดถอนเขาเลย
ขั้นตอนหลังจากนี้
เมื่อสภาผู้แทนฯ ลงมติยื่นถอดถอน เรื่องจะถูกส่งต่อไปยังวุฒิสภาเพื่อเริ่มกระบวนการไต่สวนเพื่อตัดสินว่าประธานาธิบดีสหรัฐฯ มีความผิดหรือไม่
กฎหมายระบุว่า ต้องมีเสียงอย่างน้อย 2 ใน 3 ของวุฒิสภาตัดสินว่านายทรัมป์มีความผิด นั่นหมายความว่า ต้องมีวุฒิสมาชิกพรรครีพับลิกันอย่างน้อย 17 คน ลงมติเอาผิดนายทรัมป์
นิวยอร์กไทมส์รายงานว่าขณะนี้มีวุฒิสมาชิกรีพับลิกันมากถึง 20 คน ที่มีโอกาสจะลงมติเอาผิดนายทรัมป์
ลำดับเวลาของการไต่สวนยังไม่ชัดเจน แต่ไม่น่าจะแล้วเสร็จทันก่อนที่นายทรัมป์จะก้าวลงจากตำแหน่งในวันที่ 20 ม.ค. นี้ ซึ่งนายโจ ไบเดน จะสาบานตนเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ
วุฒิสภาอาจใช้การไต่สวนกระบวนการถอดถอนในการปิดกั้นไม่ให้นายทรัมป์ลงสมัครเลือกตั้งอีกครั้งได้ โดยเขาได้ระบุว่า มีแผนที่จะสมัครรับเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในปี 2024
เมื่อ ธ.ค. 2019 เขากลายเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนที่ 3 ที่ถูกยื่นถอดถอน จากข้อหาละเมิดกฎหมายด้วยการขอให้ยูเครนตรวจสอบนายไบเดน เพื่อที่จะเพิ่มโอกาสที่ตัวเขาจะชนะเลือกตั้งได้เป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ ต่ออีกสมัย แต่ว่าวุฒิสภาเห็นว่าเขาไม่ผิดในเรื่องนี้
ทรัมป์ ถูกยื่นถอดถอน ถึง 2 ครั้ง กระบวนการถอดถอน : หลักการพื้นฐาน
- กระบวนการถอดถอนคืออะไรกระบวนการถอดถอนคือการที่ประธานาธิบดีที่ดำรงตำแหน่งอยู่ถูกตั้งข้อหาอาญา ในกรณีนี้ ประธานาธิบดีทรัมป์ ถูกกล่าวหาว่า ยั่วยุให้เกิดการจลาจลด้วยการส่งเสริมให้ผู้สนับสนุนของเขาบุกรัฐสภา
- นายทรัมป์จะถูกปลดจากตำแหน่งหรือไม่ เสียงข้างมากเกินกึ่งหนึ่งของสภาผู้แทนราษฎรเพียงพอในการเริ่มกระบวนการถอดถอนเขา แต่ในการจะปลดเขาออกจากตำแหน่งได้ วุฒิสภาจะต้องเห็นว่า เขามีความผิดตามข้อกล่าวหาเหล่านั้น ซึ่งจำเป็นต้องมีเสียงข้างมาก 2 ใน 3 แต่ขณะนี้ยังไม่มีความแน่นอนว่าจะเกิดขึ้น
- แล้วกระบวนการถอดนี้มีความหมายอย่างไร นี่คือครั้งที่สองที่นายทรัมป์จะถูกยื่นถอดถอน และแม้ว่าการไต่สวนอาจเริ่มขึ้นหลังจากที่เขาสิ้นสุดวาระการดำรงตำแหน่งไปแล้ว แต่หากเขาถูกตัดสินว่ามีความผิด นั่นหมายความว่า เขาอาจถูกห้ามรับตำแหน่งในหน่วยงานของรัฐอีก
นิวยอร์กไทมส์ รายงานว่า นายมิตช์ แม็กคอนเนลล์ ผู้นำฝ่ายรีพับลิกันในวุฒิสภากล่าวกับคนสนิทว่า เขารู้สึกพอใจที่ฝ่ายเดโมแครตต้องการจะยื่นถอดถอนประธานาธิบดีสหรัฐฯ เพราะเขาเชื่อว่า นี่จะเป็นการช่วยกำจัดนายทรัมป์ให้พ้นไปจากพรรครีพับลิกัน
เมื่อวันที่ 12 ม.ค. สภาผู้แทนฯ ได้ผ่านมติที่เรียกร้องให้รองประธานาธิบดีไมก์ เพนซ์ ช่วยปลดนายทรัมป์ออกจากตำแหน่งโดยใช้บทบัญญัติแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ 25 แต่นายเพนซ์ปฏิเสธที่จะทำตามแผนการนี้
ทรัมป์เริ่มสูญเสียอำนาจ
ขณะนี้นายโดนัลด์ ทรัมป์เหลือเวลาอยู่ในตำแหน่งอีกเพียง 1 สัปดาห์
การยื่นถอดถอนครั้งนี้ต่างจากกระบวนการครั้งแรกเนื่องจากการลงมติครั้งนี้มีสมาชิกจากพรรครีพับลิกันสนับสนุนด้วยจำนวนหนึ่ง รวมถึง ลิซ เชนีย์ ซึ่งอยู่ในกลุ่มแกนนำ ส.ส. ของพรรค นอกจากนี้ยังมีโอกาสที่จะได้รับเสียงสนับสนุนที่เพียงพอจากวุฒิสภาในการเอาผิดประธานาธิบดีสหรัฐฯ ต่างไปจากการลงมติเมื่อเดือน ม.ค. 2020 เห็นได้จากการส่งสัญญาณที่จะรับรองของนายมิตช์ แม็กคอนเนลล์ ผู้นำเสียงข้างมากในวุฒิสภา
แน่นอนว่า ผลที่ตามมาลำดับแรกของการที่วุฒิสภาลงมติเห็นว่านายทรัมป์มีความผิดจริง คือ การปลดเขาออกจากตำแหน่ง ดูเหมือนจะไม่ได้มีผลอะไรเนื่องจากขณะนี้เวลาการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีของนายทรัมห์เหลือน้อยเต็มที แต่ฝ่ายเดโมแครตเห็นว่ากระบวนการยื่นถอดถอนนี้ เป็นวิธีแสดงออกถึงความไม่พอใจอย่างเป็นทางการต่อพฤติกรรมของประธานาธิบดีสหรัฐฯ ไม่ใช่เพียงแค่เรื่องที่เกิดขึ้นในสัปดาห์ที่แล้ว แต่รวมถึงช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา ที่เขาท้าทายและทำลายผลการเลือกตั้งในเดือน พ.ย. ด้วย

การตัดสินว่ามีความผิด อาจจะส่งผลให้นายทรัมป์ถูกห้ามรับตำแหน่งทางการในหน่วยงานของรัฐบาลกลางอีกต่อไป และถูกตัดสิทธิพิเศษต่าง ๆ ที่จะได้รับในฐานะอดีตประธานาธิบดีด้วย
โอกาสที่จะเกิดเหตุการณ์เช่นนั้นเพียงลำพัง ก็ทำให้ฝ่ายเดโมแครต (และอาจจะมีสมาชิกพรรครีพับลิกันบางส่วนที่พร้อมจะละเมิดระบอบทรัมป์) เห็นว่าความพยายามยื่นกระบวนการถอดถอนนี้มีความคุ้มค่า
ประเด็นที่ถูกยื่นถอดถอน
ข้อหาในการถูกถอดถอนครั้งนี้เป็นข้อหาทางการเมือง ยังไม่ใช่ความผิดอาญา โดยทรัมป์ถูกกล่าวหาว่าใช้เวทีปราศรัยนอกทำเนียบขาวปลุกปั่นให้กลุ่มผู้สนับสนุนบุกไปยังอาคารรัฐสภาในระหว่างที่ ส.ส. และ ส.ว. กำลังประชุมเพื่อลงมติในวันที่ 6 มกราคม เพื่อขัดขวางกระบวนการรับรองผลการเลือกตั้งที่ โจ ไบเดน เป็นผู้ชนะ โดยเหตุจลาจลครั้งนี้ทำให้มีผู้เสียชีวิต 5 คน ซึ่งหนึ่งในนั้นคือตำรวจรัฐสภา
ในญัตติถอดถอนระบุว่า ทรัมป์กล่าวเท็จซ้ำแล้วซ้ำอีกเกี่ยวกับผลการเลือกตั้งที่เขาอ้างว่าถูกโกง นอกจากนี้เขายังกล่าวอ้างเช่นนั้นในระหว่างการปราศรัยและใช้ถ้อยคำปลุกเร้าและยุยงจนนำไปสู่การทำผิดกฎหมายที่อาคารรัฐสภา และนำไปสู่ความรุนแรงและการสูญเสียชีวิต
“ประธานาธิบดีทรัมป์เป็นอันตรายต่อความมั่นคงของสหรัฐอเมริกาและสถาบันรัฐบาล คุกคามความสมบูรณ์ของระบบประชาธิปไตย และขัดขวางกระบวนการเปลี่ยนถ่ายอำนาจอย่างสันติ” สภาผู้แทนฯ ระบุในญัตติ
ใครโหวตถอดถอนบ้าง
สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ลงมติเห็นชอบให้ถอดถอนทรัมป์ด้วยคะแนนเสียง 232-197 คะแนน
นอกจากเดโมแครตแล้ว มี ส.ส. รีพับลิกัน 10 คนที่ร่วมโหวตถอดถอนทรัมป์ในครั้งนี้ด้วย ประกอบด้วย อดัม คินซิงเกอร์ (อิลลินอยส์), ลิซ เชนีย์ (ไวโอมิง), จอห์น แคตโค (นิวยอร์ก), เฟรด อัปตัน (มิชิแกน), ปีเตอร์ ไมเจอร์ (มิชิแกน), เจมี เฮอร์เรนา บิวต์เลอร์ (วอชิงตัน), แดน นิวเฮาส์ (วอชิงตัน), แอนโธนี กอนซาเลซ (โอไฮโอ), ทอม ไรซ์ (เซาท์แคโรไลนา) และ เดวิด วาลาเดา (แคลิฟอร์เนีย)
การถอดถอนครั้งนี้ไม่เกี่ยวกับ 25th Amendment
มีความพยายามในการเรียกร้องให้ ไมค์ เพนซ์ รองประธานาธิบดีใช้บทบัญญัติแก้ไขรัฐธรรมนูญเพิ่มเติมครั้งที่ 25 (25th Amendment) ในการปลดทรัมป์ออกจากตำแหน่ง แต่เพนซ์ไม่ทำเช่นนั้น โดยบทบัญญัติดังกล่าวเปิดทางรองประธานาธิบดีสหรัฐฯ และคณะรัฐมนตรีเกินครึ่งหนึ่งเขียนหนังสือแจ้งต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร และประธานวุฒิสภา (รักษาการ) ว่าประธานาธิบดีได้กลายเป็นบุคคลไร้ความสามารถในการบริหารประเทศ ซึ่งจะส่งผลให้รองประธานาธิบดีขึ้นรักษาการในตำแหน่งประธานาธิบดีชั่วคราวได้ ในระหว่างรอสมาชิกสภาคองเกรสลงมติ
แต่เมื่อเพนซ์ไม่ใช้ 25th Amendment สภาผู้แทนราษฎรนำโดย แนนซี เพโลซี ส.ส. เดโมแครตและประธานสภาล่างจึงผลักดันให้มีการถอดถอนในกระบวนการตามปกติต่อไป
การถอดถอนจะสำเร็จหรือไม่
แม้ว่าสมาชิกเดโมแครตในสภาคองเกรสจะผลักดันเรื่องนี้อย่างหนัก แต่กระบวนการถอดถอนยังต้องใช้เวลาในการพิจารณาไต่สวนเพื่อพิสูจน์ความผิดทรัมป์ในวุฒิสภา ซึ่งน่าจะทำให้ทรัมป์ยังได้อยู่ในตำแหน่งจนครบวาระ ก่อนที่ โจ ไบเดน จะสาบานตนรับตำแหน่งประธานาธิบดีคนใหม่ในวันที่ 20 มกราคม โดยจากนี้ไปเหลือเวลาอีกเพียง 7 วัน หรือ 1 สัปดาห์เท่านั้น ซึ่งวุฒิสภาไม่น่าจะกลับมาประชุมได้ทันเวลา
สำหรับการถอดถอนทรัมป์ในสภาสูงนั้นต้องใช้เสียงสนับสนุน 2 ใน 3 ของสภาในการโหวตตัดสินความผิดของทรัมป์ ซึ่งหมายความว่าจะต้องมี ส.ว. รีพับลิกันอย่างน้อย 17 คนที่โหวตเห็นชอบด้วย ในกรณีที่ ส.ว. เดโมแครตโหวตเป็นเสียงเดียวกัน
ท่าทีของ มิตช์ แม็กคอนเนลล์ ผู้นำเสียงข้างมากของรีพับลิกันในวุฒิสภา ถือว่าเป็นกุญแจสำคัญสำหรับกระบวนการถอดถอนทรัมป์ ซึ่งที่ผ่านมาเขายังไม่แสดงจุดยืนที่ชัดเจนหรือตัดสินใจต่อเรื่องนี้ อย่างไรก็ตาม The New York Times รายงานว่า มี ส.ว. รีพับลิกัน มากถึง 20 คนที่ยังเปิดกว้างกับการโหวตชี้ความผิดของทรัมป์ในวุฒิสภา ซึ่งรวมถึงแม็กคอนเนลล์ที่เปรยว่าอาจพิจารณาโหวตถอดถอนทรัมป์ด้วย แต่เขายืนยันชัดเจนว่ากระบวนการไต่สวนในวุฒิสภาจะไม่เริ่มจนกว่าไบเดนจะเสร็จสิ้นพิธีสาบานตนแล้ว
มีประธานาธิบดีคนไหนบ้างที่เคยถูกยื่นถอดถอน
ในอดีตมีประธานาธิบดีบิล คลินตัน และแอนดรูว์ จอห์นสัน ที่เคยถูกยื่นถอดถอนโดยสภาผู้แทนราษฏรในปี 1998 และ 1868 ตามลำดับ แต่ทั้งคู่รอดพ้นจากการถูกโหวตในวุฒิสภา เช่นเดียวกับทรัมป์ที่รอดจากการถูกถอดถอนรอบแรกในปี 2019 สืบเนื่องจากข้อหาที่เขากดดันให้ผู้นำยูเครนสอบสวนการทำธุรกิจของลูกชายไบเดนในยูเครน ซึ่งทรัมป์ถูกมองว่าใช้อำนาจในทางมิชอบและพยายามแทรกแซงการเลือกตั้ง
นัยสำคัญของการโหวตตัดสินความผิดในวุฒิสภา
แม้ว่าการถอดถอนอาจไม่เกิดขึ้นก่อนที่ทรัมป์จะหมดวาระ แต่กระบวนการไต่สวนจะดำเนินต่อไป แม้ว่าทรัมป์จะก้าวลงจากตำแหน่งไปแล้ว ซึ่งหากวุฒิสภาลงมติว่าทรัมป์มีความผิดจริงตามข้อกล่าวหา เขาอาจถูกห้ามไม่ให้ลงสมัครรับเลือกตั้งประธานาธิบดีสมัยที่ 2 ในขณะที่ทรัมป์มีแผนจะลงสมัครต่ออีกในปี 2024