Skip to content
Home » News » นีล อาร์มสตรอง มาเมืองไทย

นีล อาร์มสตรอง มาเมืองไทย

นีล อาร์มสตรอง มาเมืองไทย
https://www.thairath.co.th/lifestyle/life/2144837

นีล อาร์มสตรอง มาเมืองไทย นีล อาร์มสตรอง (Neil Armstrong) นักบินอวกาศสัญชาติอเมริกัน ถูกบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์ว่า เป็นมนุษย์คนแรกที่เหยียบดวงจันทร์ เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2512 โดยเดินทางไปปฏิบัติภารกิจพร้อมยานอวกาศอะพอลโล 11 ร่วมกับเพื่อนนักบินอีก 2 คน ได้แก่ เอ็ดวิน บัซ อัลดริน และไมเคิล คอลลินส์

เรื่องราวที่คนไทยหลายคนอาจไม่ทราบมาก่อนก็คือ ‘นีล อาร์มสตรอง‘ และทีมนักบินอวกาศอะพอลโล 11 เคยเดินทางมาเยือนประเทศไทย โดยมีกลุ่มนักเรียนชมรมภาษาอังกฤษใน จ.สุรินทร์ เขียนจดหมายเชิญมาเที่ยวชมโรงเรียน ไทยรัฐออนไลน์ได้พูดคุยกับคุณอรนุช ภาชื่น หนึ่งในตัวแทนนักเรียนที่ได้เข้าพบนีล อาร์มสตรอง เพื่อย้อนรำลึกถึงความทรงจำสุดพิเศษในครั้งนั้น

โลกต้อนรับ “นีล อาร์มสตรอง” แห่งยาน Apollo 11 ในฐานะฮีโร่ผู้พิชิตดวงจันทร์

“นี่คือก้าวเล็กๆ ของมนุษย์คนหนึ่ง แต่เป็นก้าวกระโดดที่ยิ่งใหญ่ของมวลมนุษยชาติ” คำกล่าวอันลือลั่นของ นีล อาร์มสตรอง ผู้บัญชาการแห่งยานอะพอลโล 11 ถูกนำไปเผยแพร่ผ่านข่าวโทรทัศน์ และตีพิมพ์บนหนังสือพิมพ์ทั่วโลก หลังจากเขาประทับรอยเท้าลงบนพื้นผิวดวงจันทร์ได้สำเร็จ นับเป็นจุดเริ่มต้นของการบุกเบิกด้านสำรวจอวกาศครั้งสำคัญที่ถูกจารึกไว้ในประวัติศาสตร์โลก

ยานอวกาศอะพอลโล 11 เดินทางกลับสู่พื้นโลกอย่างปลอดภัยในวันที่ 24 กรกฎาคม 2512 นีล อาร์มสตรองได้รับยกย่องให้เป็นวีรบุรุษของโลก และส่งผลให้สหรัฐอเมริกากลายเป็นผู้นำด้านการแข่งขันอวกาศ ท่ามกลางบรรยากาศคุกรุ่นของสงครามเย็น (Cold War) เรื่องราวภารกิจพิชิตดวงจันทร์ของเหล่านักบินอวกาศ กลายเป็นข่าวโด่งดังที่สร้างความตื่นเต้นให้ผู้คนทั่วโลกในแทบทุกวงการ 

ไม่เว้นแม้แต่ในวงการดนตรี เมื่อ David Bowie ศิลปินระดับตำนานชาวอังกฤษ ปล่อยเพลงที่มีชื่อว่า “Space Oddity” ในวันที่ 11 กรกฎาคม 2512 ซึ่งเป็นช่วงก่อนที่ยานอะพอลโล 11 จะเดินทางไปดวงจันทร์ ทว่ากลับถูกสถานีวิทยุ BBC สั่งห้ามเปิดเพลงดังกล่าว

โดยมีเงื่อนไขว่า จะเผยแพร่ได้ก็ต่อเมื่อนักบินอวกาศทั้งหมดจะกลับสู่พื้นโลกอย่างปลอดภัย สาเหตุมาจากเนื้อหาในเพลงกล่าวถึง ‘ผู้พันทอม‘ นักบินอวกาศที่เดินทางไปปฏิบัติภารกิจด้านอวกาศ แต่ระหว่างนั้นสัญญาณสูญหายและขาดการติดต่อกับภาคพื้นดิน 

แน่นอนว่าหลังจากทีมของ นีล อาร์มสตรอง กลับสู่โลกได้อย่างปลอดภัย เพลงดังกล่าวก็ได้รับอนุญาตให้เผยแพร่ผ่านสถานีวิทยุ สะท้อนให้เห็นถึงกระแสความโด่งดังของภารกิจพิชิตดวงจันทร์ของสหรัฐอเมริกาในครั้งนั้น ที่ทั่วโลกให้ความสนใจและจับตามองอย่างใกล้ชิด แต่ทั้งนี้ก็มีการตีความว่า “Space Oddity” เป็นบทเพลงแฝงนัยวิจารณ์ความล้มเหลวด้านอวกาศของอังกฤษ ที่ไม่สามารถแข่งขันทัดเทียมสหรัฐอเมริกาในขณะนั้นได้

เมื่อเด็กนักเรียนไทย เขียนจดหมายเชิญ “นีล อาร์มสตรอง” ให้มาเยือนเมืองไทยครั้งแรก

เชื่อว่าคนไทยส่วนใหญ่รู้จักชื่อของ นีล อาร์มสตรอง ในฐานะนักบินอวกาศผู้เหยียบดวงจันทร์ แต่อีกหลายคนอาจไม่ทราบว่า นีล อาร์มสตรอง เคยเดินทางมาเยือนประเทศไทยด้วย โดยมีเด็กนักเรียนชมรมภาษาอังกฤษ โรงเรียนสิรินธร จ.สุรินทร์ เป็นผู้เขียนจดหมายเชิญมาเที่ยวชมงานนิทรรศการสัปดาห์อวกาศ ซึ่งในขณะนั้นกระแสข่าวการเดินทางไปสำรวจดวงจันทร์กำลังอยู่ในความสนใจของเด็กๆ 

สำหรับเนื้อหาในจดหมายฉบับดังกล่าวระบุว่า นักเรียนโรงเรียนสิรินธรได้ติดตามข่าวภารกิจพิชิตดวงจันทร์ และอยากจะเชิญชวนนักบินอวกาศยานอะพอลโล 11 มาเยี่ยมชมโรงเรียน เพื่อที่จะได้เล่าเรื่องราวการเดินทางสุดพิเศษให้ฟัง

ส่วนผู้ที่ทำหน้าที่ช่วยนำส่งจดหมายของเด็กๆ ก็คือ ‘มิสมาร์กาเร็ต โวลฟ์’ (Marguerite Wolf) ครูสอนภาษาอังกฤษของโรงเรียนสิรินธร โดยประสานงานไปยังสำนักงานข่าวสารอเมริกันประจำประเทศไทย (USIS) ให้เป็นสื่อกลางในการติดต่อทีมนักบินอวกาศยานอะพอลโล 11

นีล อาร์มสตรอง มาเมืองไทย ในที่สุดความฝันของเด็กๆ ก็เป็นจริง ในวันที่ 28 ตุลาคม พ.ศ.2512 หรือระยะเวลา 3 เดือนหลังภารกิจพิชิตดวงจันทร์ ทีมนักบินอวกาศที่โด่งดังที่สุดในโลก

นำโดย ‘นีล อาร์มสตรอง’ ได้เดินทางมาเยือนประเทศไทยเป็นครั้งแรก เข้าเฝ้าฯ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช (รัชกาลที่ 9) ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน นักเรียนชมรมภาษาอังกฤษจากโรงเรียนสิรินธรได้รับเชิญให้เดินทางไปต้อนรับทีมนักบินอวกาศด้วย

นีล อาร์มสตรอง มาเมืองไทย
https://www.thairath.co.th/lifestyle/life/2144837

ประวัติศาสตร์ นีล อาร์มสตรอง มาเมืองไทย เยี่ยมโรงเรียนสิรินธร จ.สุรินทร์

ในอีก 2 เดือนต่อมา วันที่ 20 ธันวาคม 2512 ‘นีล อาร์มสตรอง‘ ก็กลับมาเยือนประเทศไทยอีกครั้ง โดยในครั้งนี้เขาได้เดินทางไปยังโรงเรียนสิรินธร จ.สุรินทร์ ตามจดหมายคำเชิญของเด็กๆ ชมรมภาษาอังกฤษ สำหรับ ‘อรนุช ภาชื่น‘ แม้จะไม่ได้เป็นผู้เขียนจดหมายร่วมกับเพื่อนๆ

แต่ก็เป็นสมาชิกชมรมภาษาอังกฤษที่ได้มีโอกาสได้เข้าไปต้อนรับในฐานะตัวแทนนักเรียน พร้อมทั้งมีครู อาจารย์ และชาวสุรินทร์ มาร่วมคล้องพวงมาลัยต้อนรับอย่างอบอุ่น

จากเด็กหญิงอรนุช ภาชื่น ในวันนั้น ปัจจุบันดำรงตำแหน่ง รศ.ดร.อรนุช ภาชื่น ข้าราชการบำนาญ อดีตอาจารย์คณะสาธารณสุข มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เผยกับไทยรัฐออนไลน์ว่า แม้เวลาจะผ่านไปนานกว่า 50 ปี แต่ยังคงจดจำความรู้สึกตื่นเต้นเมื่อครั้งที่ได้พบกับนักบินอวกาศผู้พิชิตดวงจันทร์ ทั้งครั้งแรกที่กรุงเทพฯ และครั้งที่ 2 ณ โรงเรียนสิรินธร จ.สุรินทร์ ได้ดี 

“ตื่นเต้นแบบหาคำบรรยายไม่ได้ค่ะ ตอนได้เจอครั้งแรก อรนุชถูกกำหนดบทบาทให้เป็นผู้สื่อข่าว ถือกล้องถ่ายรูป ทางสำนักงานข่าวสารอเมริกันประจำประเทศไทย (USIS)

แนะนำว่าให้ทำอะไรบ้าง มีคนไปรอต้อนรับ ‘นีล อาร์มสตรอง’ เยอะมาก ส่วนอีกครั้งที่ได้เจอกันที่โรงเรียนสิรินธร จำได้ว่าในภาพนี้ นีลพูดประมาณว่า ‘เจอกันอีกแล้วนะ สบายดีไหม’ ประทับใจมากค่ะ” รศ.ดร.อรนุช กล่าว

“นีล อาร์มสตรอง” เป็นแรงบันดาลใจให้ชีวิตไม่ยอมแพ้อุปสรรค

จากจดหมายธรรมดาๆ ของกลุ่มเด็กนักเรียนใน จ.สุรินทร์ ที่มีส่วนสำคัญให้ ‘นีล อาร์มสตรอง‘ ได้เดินทางมาเยี่ยมโรงเรียนของพวกเขา ที่สำคัญเหตุการณ์ในครั้งนั้นถือเป็นจุดเปลี่ยนชีวิตครั้งใหญ่ของ รศ.ดร.อรนุช ภาชื่น โดยเฉพาะแรงบันดาลใจด้านการศึกษาเล่าเรียนที่ได้รับจากนักบินอวกาศชื่อดังแห่งยานอะพอลโล 11

“หลังจากเหตุการณ์ในครั้งนั้นก็เปลี่ยนชีวิตมากเลยทีเดียว เด็กหญิงอรนุชกลายเป็นนางเอกหนังกลางแปลงที่ทางสำนักงานข่าวสารอเมริกันประจำประเทศไทย (USIS) ถ่ายทำ แล้วนำไปฉายในสถานที่ต่างๆ หนังเป็นสารคดีชื่อว่า The Long Jouney 1969 

มีเนื้อหาเกี่ยวกับการไปดวงจันทร์และการมาเมืองไทย แต่สิ่งที่สำคัญคือ การได้รับแรงบันดาลใจ ทำให้เชื่อมั่นว่า หากเรามีความตั้งใจและพยายามในสิ่งที่มุ่งมั่น ก็จะทำให้เราสามารถไปถึงจุดหมายนั้นได้ บางทีอาจจะช้ากว่าที่คิด แต่ต้องเดินต่อ เชื่อในศักยภาพของตัวเอง เหมือนอย่างที่สมัยนั้นไม่เคยมีใครคิดว่ามนุษย์จะไปดวงจันทร์ได้สำเร็จ แต่สุดท้ายก็ทำได้”

รศ.ดร.อรนุช เผยว่า ได้มุ่งมั่นด้านการศึกษามาโดยตลอด พยายามขวนขวายสอบชิงทุนการศึกษามาตั้งแต่ชั้นมัธยมปลาย จนได้ทุนไปเรียนระดับปริญญาตรี คณะพยาบาลศาสตร์ (เกียรตินิยมอันดับ 2) มหาวิทยาลัยขอนแก่น ต่อมาได้รับทุนของบัณฑิตวิทยาลัย

ศึกษาระดับปริญญาโท ด้านสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล รวมถึงได้รับทุน SEAMEO TROPMED ไปศึกษาต่อระดับปริญญาเอกที่ University of the Philippines Manila ประเทศฟิลิปปินส์ โดยได้ทำงานเป็นอาจารย์ประจำที่มหาวิทยาลัยมหิดล และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ตามลำดับ 

ปัจจุบัน รศ.ดร.อรนุช เป็นข้าราชการบำนาญ แต่ยังมีบทบาทในการทำงานอาสาสมัครด้านการศึกษาและสาธารณสุข โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กชายแดนเขมร ทุกความมุ่งมั่นและพยายามล้วนมาจากแรงบันดาลใจครั้งสำคัญในอดีต ที่ผลักดันให้เด็กหญิงอรนุช หนึ่งในกลุ่มนักเรียนไทยที่เขียนจดหมายถึง นีล อาร์มสตรอง เมื่อ 50 กว่าปีก่อน เติบโตเป็นแม่พิมพ์ของชาติ รศ.ดร.อรนุช ภาชื่น ถือเป็นเรื่องราวที่อาจมอบแรงบันดาลใจสำคัญให้ใครหลายคนได้.