บทบาทพลเมืองสยาม ในการปราบกบฏบวรเดช “คนไทยยังไม่พร้อมสำหรับประชาธิปไตย” นี่เป็นคำพูด ความคิดเห็นที่เราท่านได้พบ ได้เห็น ตั้งแต่เมื่อแรกมีประชาธิปไตยในไทยใน พ.ศ. 2475 ถึงไม่บ่อยแต่ไม่เคยจางหาย และขยายแนวคิดไปว่า “ประชาธิปไตยไม่เหมาะกับประเทศไทย”
ท่านคิดเห็นอย่างไรเป็นเรื่องเฉพาะบุคคล ตามสถานะ ข้อมูล ฯลฯ หากวันนี้อยากจะชวนท่านมาดูบทความหนึ่ง ที่ทำให้เห็นภาพประชาชนที่ “ใส่ใจ” และ “เอาใจช่วย” ที่มีต่อ “ประชาธิปไตย”
บทบาทพลเมืองสยาม ในการปราบกบฏบวรเดช
เหตุการณ์กบฏบวรเดช 2476 เกิดจากการมิได้รับการยอมรับการปฏิวัติ 2475 จากกลุ่มผู้จงรักภักดีที่ประกอบด้วยเจ้านาย ขุนนาง และเหล่าผู้จงรักภักดี เนื่องจากคนกลุ่มนี้มีความคิดแบบอนุรักษนิยมที่เชื่อว่าความไม่เสมอภาคเป็นเรื่องธรรมชาติ และสังคมไทยมีจารีตการปกครองโดยชนชั้นสูงมาตลอดประวัติศาสตร์
ดังนั้น ไม่สมควรเปลี่ยนแปลงการปกครองให้กลับตาลปัตร พวกเขากระทำการปฏิปักษ์การปฏิวัติ (counter revolution) ด้วยใช้กำลังทางการทหารพร้อมอาวุธยุทโธปกรณ์จากหัวเมืองที่นำโดย นายพลเอก พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดช เข้ามาสู่พระนครเพื่อยื่นคำขาด เพื่อหมุนระบอบกลับสู่ที่เดิม คือระบอบราชาธิปไตย เมื่อกลางเดือนตุลาคม 2476 ดังที่นายทหารคนหนึ่งของฝ่ายกบฏบวรเดชบันทึกว่า “ทหารหัวเมืองรวมตัวกันเพื่อทำการเปลี่ยนแปลงแก้ไขระบบการปกครองให้เป็นไปตามเดิมโดยมี พลเอกฯ พระองค์เจ้าบวรเดชเป็นหัวหน้า”และข้อความนี้ย่อมสะท้อนให้เห็นถึงระบอบการปกครองที่อยู่ในพระประสงค์และความต้องการที่แท้จริงของเหล่าฝ่ายกบฏในครั้งนั้นเป็นอย่างดี
อย่างไรก็ตาม การศึกษาถึงเหตุการณ์กบฏบวรเดช ที่ผ่านมามักให้ความสำคัญกับเหตุการณ์มากกว่า บทบาทสามัญชน คนธรรมดา จนทำให้การรับรู้ถึงบทบาทของสามัญชนที่มีความกระตือรือร้นในการพิทักษ์ระบอบการปกครองของพวกเขาจากภยันตรายที่คุกคามถูกละเลยไป

ดังนั้น หากความมั่นคงและยั่งยืนของระบอบประชาธิปไตยไทยตั้งอยู่บนความรู้ความเข้าใจ ความภูมิใจและการตระหนักในความสำคัญของคนทุกคนในฐานะผู้ที่ทรงไว้ซึ่งอำนาจอธิปไตย ที่มีสิทธิและหน้าที่แล้วไซร้ หน้าที่ประการหนึ่งที่พลเมืองในสังคมประชาธิปไตยซึ่งทุกคนพึงมีคือ การพิทักษ์ปกป้องระบอบประชาธิปไตย ด้วยเหตุนี้ หนึ่งในหนทางในการธำรงความมั่นคงให้กับระบอบการปกครองดังกล่าว คือ การส่งเสริมการสร้างความรู้ความเข้าใจในที่มาแห่งตน อันจะก่อให้เกิดความภูมิใจว่า ความเป็นพลเมืองหาได้เกิดขึ้นจากการหยิบยื่นให้ แต่เกิดขึ้นจากความตระหนักและร่วมกันพิทักษ์ปกป้องสภาพการณ์ที่เอื้ออำนวยให้มีเสรีภาพและความเสมอภาคของพลเมืองด้วย
ดังที่ ธรรมจริยา–ประชาคม(2481) ได้เรียกร้องให้พลเมืองทุกคนช่วยกันปกป้องระบอบประชาธิปไตยจากภัยคุกคามว่า “ประชาธิปไตยจะถาวรได้ ก็ต้องอาศัยปวงชนพลเมืองช่วยกันป้องกันและส่งเสริม…เรามีหน้าที่ทางศีลธรรมและชุมชนที่จะต้องคอยป้องกันประชาธิปไตย แม้ด้วยชีวิตและเลือดเนื้อ และไม่เพียงแต่ป้องกัน ยังต้องคอยส่งเสริมให้วัฒนาถาวร เพราะว่าการแตกดับของประชาธิปไตย ย่อมหมายถึงการแตกดับแห่งสิทธิเสรีภาพและความยุติธรรม ในปัจจุบันนี้ เราจะไปหารูปการปกครองอันใดที่นำพาในประโยชน์สุขของพลเมืองยิ่งไปกว่าประชาธิปไตยเป็นอันหาไม่ได้แล้ว
พลเมืองอาสาสมัครปราบกบฏบวรเดช 2476
ทันทีที่ชาวพระนครทราบการยกทัพมาประชิดพระนครของกองทัพกบฏ ในวันที่ 12 ตุลาคม 2476 ได้ปรากฏพลเมืองของระบอบใหม่มาชุมนุมกันช่วยเหลืองานฝ่ายรัฐบาลเป็นจำนวนมาก พวกเขามีความประสงค์เข้าร่วมพิทักษ์ระบอบใหม่ ด้วยการเป็น “ทหารอาสาสมัครปราบกบฏ” ทำหน้าที่ “รบพุ่งปราบปรามจลาจลเพื่อรักษารัฐธรรมนูญและความสงบแห่งชาติ” นอกจากนี้ ในช่วงเวลาคับขันนั้น ทหารกองหนุนจำนวนมากได้เข้ามารายงานตัวกับรัฐบาล ทั้งๆ ที่รัฐบาลยังไม่มีหมายเรียกระดมพลทหารกองหนุนแต่ประการใด
ไม่แต่เพียงพลเมืองที่มีความรู้ทางกฎหมาย เช่น คณะนักเรียนกฎหมาย ได้เข้าช่วยเหลืองานตำรวจหลายด้าน เช่น การสืบสวนตัวพวกกบฏและผู้เกี่ยวข้องกับการกบฏแต่ยังรวมถึงกรรมกรหลากหลายกลุ่ม ได้แก่กรรมกรในโรงช่างแสง กรรมกรโรงงานอากาศยาน กรรมกรโรงงานมักกะสัน กรรมกรเรือจ้าง กรรมกรของบริษัทปูนซิเมนต์สยาม กรรมกรรถยนต์รับจ้าง ล้วนแสดงความจำนงเข้าร่วมงานกับฝ่ายรัฐบาล รวมทั้งเหล่าลูกเสือ ซึ่งเป็นเพียงนักเรียนได้อาสาสมัครฯ เข้าช่วยเหลือรัฐบาลในการต่อต้านฝ่ายกบฏเช่นกัน
สำหรับบทบาทของสมาคมกรรมกรรถรางแห่งสยามในช่วงแห่งการเกิดกบฏนั้น พวกเขาแสดงความต้องการอาสาสมัครไปประจำแนวหน้าเพื่อการเข้าประจัญบานกับฝ่ายกบฏถึง 2 ครั้ง แต่รัฐบาลได้กล่าวตอบขอบใจในความกล้าหาญของกรรมกร และแจ้งว่าขณะนั้นรัฐบาลยังคงมีกำลังทหารเพียงพอในการรับมือกับกบฏได้ ต่อมา สมาคมกรรมกรรถรางแห่งสยาม อันมี นายถวัติ ฤทธิเดช เป็นนายกสมาคมฯ ได้มอบหมายแบ่งภารกิจให้เหล่ากรรมกรอาสาสมัครปราบกบฏทำหน้าที่หาข่าวและดูแลความสงบเรียบร้อยในพระนครแทนการไปรบที่แนวหน้า บทบาทกรรมกรอาสาสมัครปราบกบฏนั้น นายปรีดี พนมยงค์ พยานร่วมได้เล่าถึงวีรกรรมในครั้งนั้นว่า “เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองก็ดีหรือกรณีกบฏบวรเดชก็ดี กรรมกรรถรางก็ได้เข้าช่วยไม่น้อย กรรมกรรถรางตื่นตัวดี…”
กระนั้นก็ดี การที่รัฐบาลคณะราษฎรเปิดโอกาสให้กรรมกรเป็นอาสาสมัครปราบกบฏ อีกทั้งบทบาทของนายถวัติ ฤทธิเดช ที่ได้เคยยื่นฟ้องหมิ่นประมาทพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ทำให้พระปกเกล้าฯ มีพระราชกระแสผ่านหม่อมเจ้าวิบูลย์สวัสดิ์วงศ์ถึงรัฐบาล ความว่า พระองค์ทรงไม่เห็นด้วยกับการเปิดโอกาสให้กลุ่มกรรมกรทำหน้าที่เป็นอาสาสมัครสืบหาข่าวความเคลื่อนไหวของพวกกบฏในกรุงเทพฯ เนื่องจากพระองค์ทรงเห็นว่ากรรมกรมีฐานะไม่เหมือนกับลูกเสือ และกรรมกรอาจไม่สามารถแยกแยะเรื่องส่วนตัวออกจากหน้าที่ได้ พระองค์ทรงเกรงว่าพวกกรรมกรจะกล่าวหาความผิดให้พวกเจ้านายได้
นอกจากความตื่นตัวของพลเมืองในพระนครภายหลังทราบข่าวการก่อกบฏต่อต้านระบอบประชาธิปไตยแล้ว ชาวสมุทรสาครมีความตื่นตัวมากด้วยเช่นกันโดยชาวสมุทรสาครได้ชุมนุมพลเมืองอาสาสมัครฯ ขึ้น ดังความต้องการของเขาที่ถูกรายงานกลับมายังรัฐบาลว่า “ชายฉกรรจ์พวกนี้เป็นพวกที่สนับสนุนรัฐบาลและรักรัฐธรรมนูญ” พวกเขาเรียกร้องให้รัฐบาลส่งอาวุธมาให้อาสาสมัครฯ เพื่อใช้ต่อสู้กับพวกกบฏ หรือแม้แต่ พลเมืองบางคนได้ขอลางานเพื่อเข้าร่วมการปราบกบฏ ดังจดหมายของ นายพร้อม ทัพประพนท์ เสมียนอำเภอพานทอง ชลบุรี ได้แจ้งว่า เขาได้ขอลาหยุดงาน 7 วัน เพื่อเข้ามาร่วมกับฝ่ายรัฐบาลปราบกบฏหรือกรณีการอาสาของนายเทียบ เวชปาณ ชาวชุมพร ผู้ขอสมัครเป็น “ทหารอาสาปราบกบฏ” เป็นต้น
สำหรับบทบาทของลูกเสืออาสาสมัครฯ ในเหตุการณ์ครั้งนี้ ได้ทำหน้าที่ลำเลียงเครื่องมือ เครื่องใช้ กระสุนปืน จัดทำและจัดวางอาหาร เป็นเวรยามตามสถานที่สำคัญทางราชการทั้งในเวลากลางวัน–กลางคืน รวมถึงการเดินหนังสือราชการให้รัฐบาลด้วยรถจักรยานในแนวหน้าของการสู้รบ เป็นเวรยามประจำช่องทางสำคัญ และแจกจ่ายแถลงการณ์ของรัฐบาลท่ามกลางสงครามกลางเมือง ด้วยความกล้าหาญและความเสียสละของพวกเขาที่ได้ช่วยเหลือกิจการปราบกบฏของรัฐบาลเป็นอันมาก
จนกระทั่งวันที่ 14 ตุลาคม รัฐบาลได้ประกาศชมเชยน้ำใจลูกเสืออาสาสมัครฯ ความว่า ลูกเสืออาสาสมัครฯ “ช่วยลำเลียงสรรพาวุธ ช่วยลำเลียงอาหาร ช่วยในการสื่อสาร และกิจการเบ็ดเตล็ดอื่นๆ นอกจากนี้ยังหาญเข้ากระทำการต่างๆ เหล่านี้ในแนวน่าในระยะกระสุนของกองทหารฝ่ายกบฏ โดยมิได้คิดเห็นแก่อันตรายและความเหน็ดเหนื่อย ทั้งๆ ที่ลูกเสือเหล่านี้เป็นเพียงยุวชนอายุน้อยๆ…” ทั้งนี้ ลูกเสืออาสาสมัครฯ เหล่านี้ ปฏิบัติงานอยู่ในหลายจังหวัด เช่น จังหวัดลำปาง เชียงใหม่ ปราจีนบุรี ฉะเชิงเทรา ราชบุรี และพระนคร เป็นต้น
การปฏิบัติงานด้วยความเข้มแข็งของเหล่าพลเมืองอาสาสมัครฯ ของคณะนักเรียนกฎหมาย ทหารอาสาฯ กรรมกร และประชาชนทั่วไปในการช่วยงานการปราบกบฏครั้งนี้ ทำให้นายกรัฐมนตรีได้ประกาศชมเชยพลเมืองผู้แข็งขันในการพิทักษ์ระบอบประชาธิปไตย ดังนี้ “รัฐบาลจึ่งขอประกาศชมเชย เพื่อเป็นตัวอย่างอันดีงามแก่ประชาชนทั้งหลาย ในความจงรักภักดีของคณะนักเรียนกฎหมาย ทหารอาสา กรรมกร และราษฎรทั้งหลายเหล่านี้ ต่อรัฐธรรมนูญ ต่อประเทศสยาม และต่อชาติไทย อันเป็นที่รักยิ่งของชาวเรา”
ไม่แต่เพียงเหตุการณ์กบฏบวรเดชจะก่อให้เกิดทหารอาสาสมัครฯ ที่จะทำหน้าที่สู้รบเท่านั้น แต่ยังปรากฏอาสาสมัครฯ ทำหน้าที่รายงานข่าวให้รัฐบาลทราบด้วย เช่น ผู้แทนตำบลหินมูล จังหวัดสุพรรณบุรี ได้รายงานต่อรัฐบาลว่า มีพระภิกษุที่หนีภัยสงครามจากอยุธยาได้แจ้งสถานการณ์ที่อยุธยาว่า ฝ่ายกบฏประกาศให้ชาวอยุธยาจับตัวนายกรัฐมนตรี และกล่าวหาว่ารัฐบาลเป็นกบฏ ขณะนั้นชาวอยุธยาสนับสนุนฝ่ายกบฏมากหรือบทบาทของนายแพทย์หวล ชื่นจิตร์ แพทย์ประจำโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ พลเมืองอาสามัครฯ ได้รายงานสถานการณ์ในแถบจังหวัดสมุทรสาครในช่วงวันที่ 16-17 ตุลาคม ว่า ประชาชนและข้าราชการในจังหวัด เชื่อว่าเหตุการณ์นี้คือ
“ความขัดแย้งกันระหว่าง ‘คณะราษฎร’ กับ ‘คณะจ้าว’ และ ‘คณะจ้าว’ ทำเพื่อพระปกเกล้าฯ พวกเขาเห็นว่า พระปกเกล้าฯ รู้เห็นเป็นใจกับการกบฏด้วย” นอกจากนี้ข้าราชการที่จังหวัดสมุทรสาครวิเคราะห์ว่า “พระยาสุรพันธเสนีเป็นคนโปรดของในหลวง มักติดสรอยห้อยตามในหลวงอยู่เสมอๆ ถ้าหากในหลวงไม่ทรงฝักไฝ่อยู่ด้วย เหตุไฉน พระยาสุรพันธเสนีจึงจะไปกล้าเข้ากับพวกกบฏเล่า”
