บาดแผลสงครามกลางเมืองอเมริกา สงครามกลางเมืองครั้งใหญ่ ที่ได้รับการขนานนามว่า “สงครามที่พี่น้องฆ่ากันเอง” นั่นคือสงครามกลางเมืองในประเทศสหรัฐอเมริการะหว่างฝ่ายเหนือกับฝ่ายใต้ ที่เกิดขึ้นในปีพ.ศ. 2404 เพราะญาติพี่น้อง มิตรสหายที่เป็นคนอเมริกันเหมือนกัน ต่างแบ่งเป็นสองฝ่าย จับอาวุธปืนเข้าประหัตประหารกันเอง
ประธานาธิบดีของทั้งสองฝ่ายก็เกิดในรัฐเคนทักกี้ด้วยกัน ประธานาธิบดีอับราฮัม ลินคอล์นที่อยู่ฝ่ายเหนือก็มีพี่เขยเป็นทหารของฝ่ายใต้ถึง 4 คน และ 1ใน4 ของทหารที่จบจากโรงเรียนนายร้อยเวสปอยต์ก็เป็นนายทหารของฝ่ายใต้
สงครามดำเนินไปประมาณสี่ปี คนอเมริกันฆ่ากันตายไปประมาณ 6 แสนคน ไม่นับรวมคนบาดเจ็บที่ต้องตัดแขน ตัดขาอีกหลายแสนคน กว่าฝ่ายใต้จะประกาศยอมแพ้ มากกว่าทหารสหรัฐอเมริกันที่เสียชีวิตในสงครามโลกทั้งสองครั้งและสงครามเวียดนามรวมกัน
และเป็นสัดส่วนการตายที่สูงมาก เมื่อคิดจากประชากรในประเทศสหรัฐอเมริกาขณะนั้นที่มีประมาณ 30 ล้านคน และค่าเสียหายทางเศรษฐกิจคิดเป็นมูลค่าประมาณ 3แสนล้านบาท (มูลค่าเมื่อร้อยกว่าปีก่อน)

บาดแผลสงครามกลางเมืองอเมริกา ถือเป็นโศกนาฏกรรมทางการเมืองครั้งร้ายแรงที่สุดของประเทศนี้ ซึ่งทั้งสองฝ่ายไม่มีใครคิดว่า เมื่อตอนเริ่มเกิดสงครามใหม่ ๆ เหตุการณ์จะลุกลามใหญ่โตและสร้างความย่อยยับให้กับประเทศถึงเพียงนี้
บรรยากาศทางการเมืองในสหรัฐอเมริกาก่อนหน้านี้เต็มไปด้วยความขัดแย้ง ระหว่างประชาชนของรัฐฝ่ายเหนือกับรัฐฝ่ายใต้ที่สะสมกันมานานหลายสิบปี
รัฐทางเหนือมีประชากรประมาณ 22 ล้านคน เป็นคน มีรายได้จากการประกอบอุตสาหกรรมเป็นหลัก ไม่จำเป็นต้องใช้แรงงานทาส ขณะที่รัฐทางใต้มีประชากรประมาณ 9 ล้านคน ส่วนใหญ่มีรายได้จากการทำเกษตรกรรม จึงต้องใช้แรงงานทาสเพื่อการเพาะปลูก
คนทางใต้มักเป็นผู้ดีเก่าที่อพยพมาจากยุโรป เป็นเจ้าของที่ดินมหาศาล มีความภูมิใจว่าเป็นผู้สร้างชาติมาตั้งแต่แรก และมักดูถูกพวกคนทางเหนือว่าเป็นพวกนายทุน พวกคนรวยรุ่นใหม่ แต่อดีตเคยเป็นชนชั้นต่ำมาก่อน
แต่รัฐธรรมนูญของสหรัฐอเมริกาที่ประกาศใช้ในปีพ.ศ. 2330 ได้ระบุว่าทุกคนเกิดมาเท่าเทียมกัน จึง ได้เขียนไว้ในบทเฉพาะกาลว่า “อเมริกาจะต้องเลิกการค้าทาสให้หมดไปภายในกำหนด 21 ปี” พอครบกำหนด รัฐบาลกลางได้ออกกฎหมายเลิกการค้าทาส แต่ผู้คนในรัฐทางใต้ยังเพิกเฉย
ความขัดแย้งในสังคมจึงได้เกิดขึ้นอย่างรุนแรง คนทางใต้ยิ่งนำเข้าทาสจากทวีปแอฟริกาเพิ่มขึ้นจาก 6 แสนคนเป็น 4 ล้านคนภายในเวลาอันรวดเร็ว คนทางเหนือพากันประณามความไร้มนุษยธรรม ขณะที่คนทางใต้ ซึ่งเป็นคนเคร่งศาสนาก็ตอบโต้ว่า ไม่มีข้อห้ามในศาสนา และพวกเขาปฏิบัติต่อทาสเหล่านี้ด้วยความเมตตา
นักการเมืองทางใต้ก็พากันต่อต้านกฎหมายเลิกทาส เพราะรู้แน่ว่าจะส่งผลสะเทือนต่อระบบเศรษฐกิจของฝ่ายใต้ บรรดาสส.ในสภาต่างฝ่ายต่างก็โหวตให้กับผลประโยชน์ของฝ่ายตัวเอง
สื่อมวลชนก็เริ่มเลือกข้าง หนังสือพิมพ์จากรัฐทางเหนือ ไม่สามารถมาขายรัฐทางใต้ได้ เช่นเดียวกับหนังสือพิมพ์จากรัฐทางใต้ก็ไม่สามารถมาขายในรัฐทางเหนือได้อีกต่อไป
แม้กระทั่งตราชั่งแห่งความยุติธรรมก็เอียง ศาลสูงสหรัฐที่เป็นคนใต้ หรือคนเหนือบางคนก็เริ่มตัดสินคดีความตามผลประโยชน์ของฝ่ายตัวเองเป็นหลัก
ในที่สุดเมื่อลินคอล์น แห่งพรรครีพับลิกันชนะการเลือกตั้งขึ้นดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี ฝ่ายใต้ที่ประกอบด้วย 11 รัฐก็ประกาศแยกประเทศ ไม่ขึ้นต่อรัฐบาลกลางอีกต่อไป และบุกโจมตีป้อมทหารแห่งหนึ่งของทหารฝ่ายเหนือ จนลุกลามเป็นสงครามกลางเมือง ประธานาธิบดีลินคอล์นประกาศระดมทหารเข้าสมรภูมิ 2 ล้านกว่าคน ขณะที่ทหารฝ่ายใต้มีกำลังเพียง 1 ล้านคนเศษ
สงครามครั้งนี้มีการผลิตอาวุธที่ใช้สังหารผู้คนทีละมาก ๆ อาทิปืนกล ระเบิด เรือดำน้ำ รวมไปถึงปืนโคลต์ .45 ปืนสั้นที่มีชื่อเสียง มีการรบกันแทบทุกวัน นับรวมได้สองพันกว่าครั้ง และครั้งที่โหดร้ายที่สุดคือสมรภูมิเกเตสเบิร์ก มีคนตายรวดเดียว 4 หมื่นกว่าคน ประธานาธิบดีลินคอล์นได้เดินฝ่ากระสุนมาเยี่ยมผู้บาดเจ็บ และกล่าวสุนทรพจน์ด้วยความสะเทือนใจที่เห็นพี่น้องชาติเดียวกันต้องมาฆ่ากันตาย
“ เราได้ตั้งปณิธานอย่างแน่วแน่ว่า ทหารทั้งหลายที่เสียชีวิตนี้จะไม่ตายอย่างไร้ค่า เพราะประเทศชาตินี้ภายใต้พระหัตถ์ของพระเจ้าจะได้ก่อกำเนิดเสรีภาพครั้งใหม่ และรัฐบาลของประชาชน โดยประชาชน เพื่อประชาชน จะไม่สูญสลายไปจากโลก”
ไม่นานนัก ทหารฝ่ายเหนือก็เอาชนะทหารฝ่ายใต้ได้อย่างเด็ดขาด เพราะพลังทางเศรษฐกิจของฝ่ายเหนือที่แข็งแรงกว่า ประชากรที่มากกว่า และอาวุธเทคโนโลยีอันทันสมัยกว่า ทิ้งความย่อยยับของสงครามให้คนในประเทศได้เยียวยากันอีกหลายสิบปี เพราะไม่มีใครคาดคิดตอนเริ่มสงครามว่า จะมีผู้คนล้มตายมากมาย และประเทศพังพินาศถึงเพียงนี้
ผลกระทบในด้านต่าง ๆ ของสงครามกลางเมืองอเมริกายังเป็นที่ถกเถียงกัน แต่ผลทางเศรษฐกิจนั้นค่อนข้างชัด เกษตรกรรมฝ้ายของรัฐทางใต้พังพินาศ ภาคใต้ของสหรัฐกลายเป็นพื้นที่ยากจนไปอีกเกือบร้อยปี จากที่เคยร่ำรวยมาก่อน ในขณะที่ภาคเหนือและตะวันตกร่ำรวยขึ้น อำนาจทางการเมืองของนายทาส และเศรษฐีจากภาคใต้ยุติลง อาจจะกล่าวได้ว่า สหรัฐในช่วงก่อนสงคราม เป็นประเทศที่ฝ่ายเหนือและใต้แข่งขันกันเอาวิสัยทัศน์ และความเชื่อของตนเข้ากำหนดทิศทางของประเทศ แต่ผลของสงครามกลางเมืองทำให้การแข่งขันในทางวิสัยทัศน์ยุติลง นักประวัติศาสตร์ เจมส์ แม็คเฟอร์สันกล่าวว่า “ชัยชนะของสหภาพทำลายวิสัยทัศน์ชาวใต้เกี่ยวกับอเมริกา และเป็นการรับประกันว่าวิสัยทัศน์ของฝ่ายเหนือ จะกลายมาเป็นวิสัยทัศน์ของคนอเมริกัน [ทั้งประเทศ]” ด้วยเหตุนี้จึงไม่เป็นการเกินไปที่จะกล่าวว่า ประเทศสหรัฐในปัจจุบันเป็นผลผลิตของสงครามกลางเมือง

นักประวัติศาสตร์บางท่านเชื่อว่าชัยชนะของลินคอล์นในการเลือกตั้งประธานาธิบดี ปี 1864 เหนือแม็คเคลแลน (อดีตนายพลแห่งกองทัพโพโทแม็ค ซึ่งถูกถอดออกจากหน้าที่หลังยุทธการที่แอนตีแทม แล้วหันมาเล่นการเมือง) เป็นเหตุการณ์ที่ยุติความไม่แน่นอนทางการเมืองของฝ่ายสหภาพ และดับความหวังของฝ่ายใต้ที่คิดว่าจะได้เอกราชหากลินคอล์นไม่ได้เป็น ปธน. สมัยที่สอง ณ จุดนั้นลินคอล์นได้รับการสนับสนุนเต็มที่จากทั้งฝ่ายรีพับลิกัน, ฝ่ายเดโมแครตสายสงคราม, รัฐแนวตะเข็บชายแดน, ทาสที่ได้รับการปลดปล่อย และ การไม่เข้าแทรกแทรงของฝ่ายบริเตน และฝรั่งเศส
นักประวัติศาสตร์อีกฝ่ายโต้เถียงว่าฝ่ายใต้ไม่มีหวังจะชนะมาตั้งแต่ต้น เพราะศักยภาพในการทำสงครามต่างกันมาก โดยเฉพาะความได้เปรียบของฝ่ายเหนือในระยะยาว กล่าวคือยิ่งสงครามยิ่งยืดเยื้อ ความได้เปรียบของฝ่ายเหนือยิ่งแสดงออกมาชัด นักประวัติศาสตร์สงคราม เชลบี ฟุท (Shelby Foote) เปรียบเทียบว่า ฝ่ายเหนือเหมือนคนที่สู้โดยเอามือหนึ่งไพล่หลังไว้ และจะเอาจริงเมื่อไหร่ก็ได้ หากถูกฝ่ายสมาพันธรัฐกดดันจนถึงจุดหนึ่ง (ซึ่งอยู่อีกไกลมาก) และตลอดสงครามนี้ ฝ่ายใต้ไม่เคยบังคับให้ฝ่ายเหนือเอาจริงได้ด้วยซ้ำ ตนจึงแน่ใจว่าฝ่ายใต้ไม่เคยมีโอกาสที่จะชนะในสงครามนี้
ราคาของสงคราม
สงครามกลางเมืองทำให้มีผู้บาดเจ็บล้มตายไม่น้อยกว่า 1,030,000 ราย (คิดเป็นร้อยละสามของประชากรทั้งหมด) รวมเป็นทหารที่เสียชีวิต 620,000 นาย โดยสองในสามเป็นเพราะโรคระบาดและการติดเชื้อ และมีพลเรือย 50,000 คนเสียชีวิต นักประวัติศาสตร์บางรายเชื่อว่าตัวเลขดังกล่าวเป็นการประเมินที่ต่ำเกินไป และความเป็นจริงยอดทหารเสียชีวิตอาจสูงถึง 750,000 – 850,000 นาย หรือกว่าสองเท่าของทหารอเมริกันที่ตายในสงครามโลกครั้งที่สอง สงครามกลางเมืองจึงนับว่าพร่าชีวิตคนอเมริกันไปมากกว่าจำนวนผู้เสียชีวิตในสงครามครั้งอื่นๆรวมกัน
การสำรวจสำมะโนครัวปี 1860 พบว่าร้อยละ 6 ของชายอเมริกันผิวขาวในรัฐทางเหนือ อายุระหว่าง 13 – 43 ปี ตายในสงคราม ในภาคใต้อัตรานี้สูงถึงร้อยละ 18 ทหารประมาณ 56,000 คนตายในค่ายนักโทษระหว่างสงคราม และผู้ที่พิการสูญเสียแขนขามีประมาณ 60,000 คน
จากการสำรวจบันทึกโดย นักประวัติศาสตร์ ฟ็อกซ์ วิลเลียม ฝ่ายเหนือมีทหารตายรวม 359,528 นาย คิดเป็นร้อยละ 15 ของทหารกว่า 2 ล้านนายที่เข้ารับใช้ชาติ โดยในจำนวนนี้:
- 110,070 ตายในสนามรบ (67,000) หรือเนื่อจากพิษบาดแผล (43,000)
- 199,790 ตายเพราะโรคภัยไข้เจ็บ (ร้อยละ 75 เกี่ยวข้องกับสงคราม)
- 24,866 ตายในค่ายกักกันนักโทษของฝ่ายสมาพันธรัฐ
- 15,741 ตายเพราะสาเหตุอื่นๆ
อย่างไรก็ดีนี่เป็นจำนวนที่ต่ำกว่าจำนวนผู้บาดเจ็บ-เสียชีวิตอย่างเป็นทางการที่ประเมินโดย United States Nation Park Service:
สหภาพ: 853,838
- 110,100 ตายในสนามรบ
- 224,580 ตายเพราะโรค
- 275,154 บาดเจ็บในการปฏิบัติหน้าที่
- 211,411 ถูกจับ (รวมถึง 30,192 นาย ที่ตายในฐานะเชลยสงคราม)
สมาพันธรัฐอเมริกา: 914,660
- 94,000 ตายในสนามรบ
- 164,000 ตายเพราะโรค
- 194,026 บาดเจ็บในการปฏิบัติหน้าที่
- 462,634 ถูกจับ (รวมถึง 31,000 นาย ที่ตายในฐานะเชลยสงคราม)
