บิดาแห่งประวัติศาสตร์โลก นิโคลา เทสลา นิโคลา เทสลา (Nikola Tesla) เป็นนักประดิษฐ์ นักฟิสิกส์ และวิศวกรไฟฟ้าผู้สร้างนวัตกรรมล้ำยุคที่ยิ่งใหญ่ที่สุดคนหนึ่งในประวัติศาสตร์ เขาเป็นผู้พัฒนาระบบไฟฟ้ากระแสสลับอันเป็นระบบพลังงานพื้นฐานที่ใช้งานทั่วโลกในปัจจุบัน
เทสลาเป็นผู้ประดิษฐ์และค้นพบเทคโนโลยีใหม่ที่สำคัญมากมาย เช่น มอเตอร์ไฟฟ้า ขดลวดเทสลา รีโมตคอนโทรล และเทคโนโลยีไร้สาย แต่เนื่องจากเทสลามีแนวคิดล้ำยุคและจินตนาการก้าวไกลเกินกว่าผู้คนยุคเดียวกันมาก ทำให้เขาถูกมองว่าเป็นนักวิทยาศาสตร์สติเฟื่อง บั้นปลายชีวิตเทสลาต้องอยู่อย่างโดดเดี่ยวเดียวดายและจบชีวิตอย่างน่าเศร้าไร้คนเหลียวแล นี่คือนักวิทยาศาสตร์ผู้ยิ่งใหญ่แต่กลับไม่ค่อยเป็นที่รู้จักเท่ากับผลงานของเขา เขาคือ ‘อัจฉริยะที่โลกลืม’

บิดาแห่งประวัติศาสตร์โลก นิโคลา เทสลา
วิญญาณนักประดิษฐ์ถ่ายทอดมาจากแม่
เทสลาเป็นชาวเซอร์เบียน-อเมริกันเกิดเมื่อปี 1856 ที่หมู่บ้าน Smiljan ในจักรวรรดิออสเตรีย (ปัจจุบันคือโครเอเชีย) เทสลาผูกพันกับไฟฟ้าตั้งแต่เกิด เขาเกิดมาในคืนที่มีพายุสายฟ้าแลบแปลบปลาบ แม่ของเขาเรียกทารกน้อยแรกเกิดว่า “เด็กแห่งแสงสว่าง” (Child of Light) พ่อของเทสลาเป็นบาทหลวง แม่มีความสามารถพิเศษในการประดิษฐ์เครื่องมือเครื่องใช้ในบ้านและยังสามารถจำบทกวีมหากาพย์ของเซอร์เบียได้เป็นอย่างดีทั้งที่ไม่เคยได้เรียนหนังสือในโรงเรียน เทสลาบอกว่าความสำเร็จของเขาในฐานะนักประดิษฐ์และความสามารถในการจดจำสิ่งต่างๆได้เหมือนกับถ่ายภาพเก็บไว้ในสมอง (Eidetic memory) รวมทั้งความคิดสร้างสรรค์ของเขานั้นเป็นการถ่ายทอดผ่านทางสายเลือดและอิทธิพลที่ได้รับจากแม่ของเขาเอง
เก่งระดับอัจฉริยะแต่เรียนไม่จบ
ปี 1861 เทสลาเข้าเรียนชั้นประถมที่โรงเรียนใน Smiljan เรียนได้ปีเดียวก็ต้องย้ายตามครอบครัวไปอยู่ที่เมือง Gospić ที่อยู่ไม่ไกลกันและเรียนจบชั้นประถมที่นั่น ปี 1870 ย้ายไปเรียนชั้นมัธยมที่เมือง Karlovac ที่นี่เขาได้เริ่มสนใจ “ปรากฏการณ์ลึกลับ” ของไฟฟ้าและอยากเรียนรู้ในพลังอันมหัศจรรย์นี้ ที่โรงเรียนแห่งนี้เทสลาได้ฉายแววความอัจฉริยะด้วยการคิดแก้โจทย์แคลคูลัสยากๆในใจจนอาจารย์ทึ่ง เขาใช้เวลาเพียง 3 ปีเรียนจบหลักสูตร 4 ปีของที่นี่
เทสลากลับบ้านที่ Smiljan ในปี 1873 แล้วเขาติดเชื้ออหิวาตกโรค นอนป่วยอยู่นาน 9 เดือนเกือบตายไปหลายครั้ง พ่อของเขาซึ่งเดิมอยากให้เทสลาบวชเป็นพระได้ให้สัญญากับเขาว่าหากเขาหายดีจะส่งเขาเข้าเรียนในโรงเรียนวิศวกรรมที่ดีที่สุด ปีถัดมาเขาเลี่ยงการถูกเกณฑ์ทหารด้วยการหนีไปอยู่ที่เมือง Tomingaj แต่งชุดนายพรานสำรวจป่าตามแถบภูเขา การได้อยู่ใกล้ชิดกับธรรมชาติทำให้เขาแข็งแรงขึ้นทั้้งร่างกายและจิตใจ ระหว่างนี้เขาอ่านหนังสือจำนวนมาก เทสลาบอกในภายหลังว่างานของ Mark Twain นักเขียนผู้มีอารมณขันชาวอเมริกันช่วยทำให้เขาฟื้นตัวจากโรคร้ายได้อย่างน่าอัศจรรย์
ปี 1875 เทสลาได้ทุนไปเรียนที่วิทยาลัยโพลีเทคนิคออสเตรียในเมือง Graz ประเทศออสเตรเลีย ปีแรกเขาไม่เคยขาดเรียน ได้เกรดสูงที่สุดเป็นดาวรุ่งของมหาวิทยาลัย ปีที่ 2 เทสลาขัดแย้งกับอาจารย์ในเรื่องเครื่องกำเนิดไฟฟ้า Gramme dynamo ที่เขาเห็นว่าไม่จำเป็นต้องมีคอมมิวเตเตอร์ (Commutator) ปีเดียวกันเขาต้องสูญเสียทุนการศึกษาไปและกลายเป็นเด็กติดการพนัน ปีที่ 3 เขายังติดการพนันเล่นเสียจนหมดตัวแต่ก็ได้กลับคืนมาในภายหลัง พอถึงเวลาสอบจึงไม่ได้เตรียมตัวสอบ ขอเลื่อนก็ไม่ได้ เขาไม่ได้รับเกรดเทอมสุดท้ายของปีที่ 3 และเรียนไม่จบมหาวิทยาลัย
ทำงานให้ ‘เอดิสัน’ คู่ปรับในอนาคต
ปี 1881 เทสลาไปทำงานกับ Tivadar Puskás นักประดิษฐ์ชาวฮังการี ในเมืองบูดาเปสต์ ประเทศฮังการี เป็นหัวหน้าช่างไฟฟ้าที่ชุมสายโทรศัพท์ในเมืองบูดาเปสต์ ที่นี่เขาได้ปรับปรุงอุปกรณ์ที่สถานีจนทำงานได้อย่างดีเยี่ยมแต่ไม่เคยจดสิทธิบัตรหรือได้รับการเผยแพร่ ปีถัดมาเจ้านายส่งเขาไปทำงานที่กรุงปารีสกับ Continental Edison Company บริษัทของโทมัส เอดิสัน นักประดิษฐ์ชาวอเมริกันผู้โด่งดัง เขาทำงานในแผนกติดตั้งไฟฟ้าแสงสว่างซึ่งทำให้เขาได้รับประสบการณ์ด้านวิศวกรรมไฟฟ้าอย่างมาก ด้วยความเก่งทั้งด้านวิศวกรรมและฟิสิกส์ เขาจึงได้รับมอบหมายให้ออกแบบและปรับปรุงเจนเนอเรเตอร์ (เครื่องกำเนิดไฟฟ้า) และมอเตอร์ รวมทั้งส่งเขาไปแก้ปัญหาตามสาขาต่างๆของบริษัททั่วทั้งฝรั่งเศสและเยอรมัน
ปี 1884 เจ้านายที่กำกับดูแลงานที่ปารีสต้องกลับไปบริหารงานที่บริษัท Edison Machine Works ซึ่งกำลังทำงานสร้างระบบไฟฟ้าขนาดใหญ่ในกรุงนิวยอร์ก เขาชวนเทสลาไปทำงานด้วย เทสลาจึงย้ายไปอยู่ที่อเมริกาตอนกลางปี และได้ทำงานแก้ปัญหาการติดตั้งระบบไฟฟ้าและปรับปรุงเจนเนอเรเตอร์เหมือนตอนอยู่ที่ปารีส แต่ทำงานได้แค่ 6 เดือนก็ลาออกไปด้วยสาเหตุที่ยังคลุมเครือ ว่ากันว่าสาเหตุสำคัญเป็นเพราะเอดิสันให้เทสลาปรับปรุงเจนเนอเรเตอร์และมอเตอร์ของเขาที่ประสิทธิภาพต่ำ และบอกว่าจะจ่ายโบนัสให้ 50,000 ดอลลาร์ (มูลค่าปัจจุบันเกิน 1 ล้านดอลลาร์) ถ้าเทสลาทำได้สำเร็จ เมื่อเทสลาทำสำเร็จจริงเอดิสันกลับ ‘เบี้ยว’ ไม่ยอมจ่าย อ้างว่าแค่พูดเล่นขำๆ
เปิดบริษัทเองครั้งแรกก็เจอนายทุนเจ้าเล่ห์
หลังออกจากบริษัทของเอดิสัน เทสลาได้ดำเนินการจดสิทธิบัตรเรื่องระบบไฟอาร์ก (Arc lighting) ที่เป็นระบบไฟแสงสว่างที่นิยมใช้ภายนอกอาคารหรือเป็นไฟถนน ทนายที่เขาจ้างมาช่วยในเรื่องการยื่นขอจดสิทธิบัตรได้แนะนำกลุ่มนักลงทุนที่สนใจและยินดีลงทุนเปิดบริษัทผลิตอุปกรณ์และสร้างระบบไฟอาร์กในชื่อของเทสลา Tesla Electric Light & Manufacturing จึงถือกำเนิดขึ้น เทสลาได้ออกแบบหลอดไฟอาร์ก สวิทช์ และปรับปรุงเจนเนอเรเตอร์กระแสตรงซึ่งทำให้เขาได้รับสิทธิบัตรเป็นครั้งแรกในสหรัฐอเมริกา เทสลาได้สร้างและติดตั้งระบบที่เมือง Rahway ในรัฐนิวเจอร์ซีย์ ระบบใหม่ของเทสลาได้รับคำชมจากสื่อมวลชนว่าเป็นระบบที่ก้าวหน้าทันสมัยมาก
กลุ่มนายทุนของบริษัทไม่ค่อยสนใจไอเดียของเทสลาเรื่องมอเตอร์และระบบจ่ายไฟฟ้ากระแสสลับ หลังจากที่ระบบติดตั้งเสร็จและเดินเครื่องแล้วในปี 1866 พวกเขาเห็นว่าธุรกิจด้านการผลิตอุปกรณ์มีการแข่งขันมากและเลือกที่จะทำบริษัทผลิตไฟฟ้าอย่างเดียว จึงไปเปิดบริษัทใหม่และปิดบริษัทของเทสลาโดยไม่เหลือเงินไว้เขาเลย เทสลาเสียสิทธิ์การเป็นเจ้าของสิทธิบัตรเนื่องจากเขามอบให้กับบริษัทแลกกับการถือหุ้นไปแล้ว หลังจากนั้นจึงเป็นช่วงเวลาที่ยากลำบากของเทสลา เขาต้องไปรับงานซ่อมไฟฟ้าต่างๆและงานขุดร่องน้ำค่าแรงวันละ 2 ดอลลาร์เพื่อประทังชีวิต
สุดยอดนักประดิษฐ์แห่งศตวรรษ
ปลายปี 1886 เทสลาได้พบกับ Charles Peck และ Alfred Brown ผู้ซึ่งเชี่ยวชาญในการจัดตั้งบริษัทและหาประโยชน์ทางการเงินจากสิ่งประดิษฐ์และสิทธิบัตร ทั้งสองตกลงสนับสนุนด้านการเงินแก่เทสลาและดูแลเรื่องผลประโยชน์ในสิทธิบัตร พวกเขาได้จัดตั้ง Tesla Electric Company ขึ้นในปี 1887 แบ่งผลกำไรกันลงตัว เทสลาได้ไปหนึ่งในสาม อีกหนึ่งในสามเป็นของ Peck และ Brown ส่วนที่เหลือเป็นกองทุนสำหรับการพัฒนา พวกเขาได้สร้างห้องแล็บให้กับเทสลาในนิวยอร์กซึ่งเป็นที่ที่เทสลาได้ประดิษฐ์และพัฒนาอุปกรณ์ชนิดใหม่มากมาย ผลงานการประดิษฐ์และการพัฒนาที่สำคัญของเทสลา ได้แก่
ระบบไฟฟ้ากระแสสลับ (Alternating Current System) – แม้ว่าเทสลาจะไม่ใช่คนแรกที่คิดค้นหรือพัฒนาไฟฟ้ากระแสสลับ แต่ระบบที่เขาออกแบบและพัฒนาขึ้นซึ่งประกอบด้วยเจนเนอเรเตอร์ หม้อแปลงไฟฟ้า สายส่ง และระบบจ่ายไฟมีประสิทธิภาพสูงและราคาถูก จึงเป็นที่นิยมใช้แพร่หลายทั่วโลก
