Skip to content
Home » News » ประท้วงต้านรัฐประหาร

ประท้วงต้านรัฐประหาร

ประท้วงต้านรัฐประหาร 27 มี.ค. กลายเป็นวันที่มีผู้เสียชีวิตมากที่สุดนับตั้งแต่กองทัพเมียนมาก่อรัฐประหารยึดอำนาจจากรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง

ในวันดังกล่าว ซึ่งตรงกับวันกองทัพเมียนมา มีประชาชนที่ออกมาประท้วงต้านรัฐประหารถูกเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงสังหารกว่า 100 คนในวันเดียว ทำให้นับตั้งแต่วันที่ 1 ก.พ. มีผู้เสียชีวิตจากการประท้วงในเมียนมาแล้วอย่างน้อย 450 คน

ชาวเมียนมาเรียกผู้ประท้วงที่เสียชีวิตจากการลุกฮือขึ้นต่อต้านการยึดอำนาจของกองทัพเหล่านี้ว่า “ดาวที่ดับแสง”

หนึ่งในนั้นคือ เอ โก วัย 40 ปี

เอ โก เป็นพ่อลูกสี่ที่อาศัยอยู่ในเมืองมัณฑะเลย์ ชาวบ้านเล่าว่าเขามีอาชีพขายลอดช่องและขนมที่ทำจากมะพร้าว นอกจากนี้เขายังเป็นสมาชิกกลุ่มสอดส่องความปลอดภัยของชุมชนด้วย

รายงานหลายชิ้นระบุว่าชายผู้นี้ถูกยิงได้รับบาดเจ็บตอนที่ทหารบุกเข้าไปในชุมชนของเขา จากนั้นทหารได้ลากตัวเขาไปไว้บนกองยางรถยนต์ที่ถูกจุดไฟเผา ซึ่งกลุ่มผู้ประท้วงนำมาใช้ทำแนวกั้นทหารและตำรวจ

ชาวบ้านคนหนึ่งเล่าให้เว็บไซต์ข่าว “เมียนมานาว” (Myanmar Now) ฟังว่า “เขาส่งเสียงร้องว่า ‘แม่ช่วยผมด้วย'”

ครอบครัวและเพื่อนฝูงได้จัดงานรำลึกถึงเขาเมื่อวันที่ 28 มี.ค. ญาติคนหนึ่งบอกว่าการตายของ เอ โก เป็น “การสูญเสียครั้งใหญ่”

“เขาเป็นเสาหลักที่หาเลี้ยงครอบครัว” ญาติของเขาให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวเอเอฟพี

อีกด้านของเมืองมัณฑะเลย์ ก็มีผู้คนที่เศร้าโศกกับการจากไปของ อ่อง ซิน เพียว วัย 18 ปี

ประท้วงต้านรัฐประหาร
https://www.bbc.com/thai/international-56566702

ประท้วงต้านรัฐประหาร

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า ชายหนุ่มคนนี้เป็นผู้รักษาประตูของสโมสรฟุตซอลลินลัต อีกทั้งยังเป็นอาสาสมัครช่วยงานที่ศูนย์รักษาผู้ป่วยอาการวิกฤตในช่วงที่โควิด-19 ระบาดในเมียนมา

ครอบครัวของอ่อง ซิน เพียว ให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวว่า เขาอยู่ในแนวหน้าของกลุ่มผู้ประท้วง ตอนที่ถูกเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงยิงเสียชีวิตเมื่อวันเสาร์ที่ 27 มี.ค.

“ฉันเหลือเขาอยู่เพียงคนเดียว…ให้ฉันตายไปเสียเถิด ฉันจะได้ไปอยู่กับลูกชายฉัน” แม่ของเขาร้องคร่ำครวญอยู่ข้างโลงศพลูก

ในวันนั้นยังมีเด็กเสียชีวิตด้วยหลายคน

ร่างไร้วิญญาณของ เด็กหญิงเอ เมียต ตู วัย 11 ปี ถูกนำใส่โลงศพพร้อมกับของเล่น ดอกไม้ และภาพวาดเฮลโลคิตตี้ สื่อท้องถิ่นระบุว่าเธอถูกยิงระหว่างการสลายการชุมนุมในเมืองเมาะลำเลิง หรือ มะละแหม่ง ทางภาคตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศ

ส่วนในเมืองเมะทีลา ทางภาคกลางของเมียนมา แม่ของเด็กหญิงปัน อิ พยู เล่าให้บีบีซีแผนกภาษาเมียนมาฟังว่าเธอรีบวิ่งไปปิดประตูทุกบานตอนที่ได้ยินเสียงทหารกำลังเดินมาตามถนน แต่เธอยังไวไม่พอ

“ฉันเห็นลูกล้ม และตอนแรกคิดว่าลูกแค่ลื่นล้ม แต่จากนั้นก็มีเลือดไหลออกมาจากอกของลูก” เธอเล่า

ในนครย่างกุ้งเมืองใหญ่ที่สุดของประเทศ มีรายงานหลายชิ้นระบุว่า เด็กชายไซ ไว ยาน วัย 13 ปีกำลังเล่นอยู่ข้างนอกตอนที่เขาถูกยิงเสียชีวิต ในวันอาทิตย์ครอบครัวจัดงานศพของเขาด้วยความเศร้าโศก

“ฉันจะอยู่ต่อไปโดยไม่มีลูกชายของฉันได้อย่างไร” แม่ของเขาร่ำไห้อยู่ข้างโลงศพ

อีกด้านของนครย่างกุ้ง นายที ซาน วาน พี วัย 19 ปี เสียชีวิตจากการถูกยิงเข้าที่แก้ม ตอนที่เขาอยู่บริเวณแนวตั้งรับของกลุ่มผู้ประท้วง

เพื่อนบ้านเล่าให้รอยเตอร์ฟังว่าชายหนุ่มผู้นี้เป็นคนยิ้มแย้มแจ่มใส ขณะที่พ่อแม่ของเขาบอกเพื่อนฝูงของลูกชายว่าไม่ต้องร้องไห้ “ลูกชายของเราเป็นผู้พลีชีพ”

แม้จะเผชิญเสียงประณามจากทั่วโลก แต่ความรุนแรงยังคงดำเนินไปอย่างต่อเนื่องในวันที่ 28 มี.ค.

มีรายงานว่า มา อา คู นักกิจกรรมเพื่อสิทธิสตรีวัย 37 ปี ถูกยิงเข้าที่หน้าอกจนเสียชีวิตที่เมืองคะแล ทางภาคตะวันตกของประเทศ

สันนิบาตสตรีแห่งพม่า บรรยายว่าเธอเป็น “ผู้หญิงที่มีจิตใจเต็มเปี่ยมไปด้วยความหวังและความต้องการช่วยเหลือผู้อื่น”

“เราขอสดุดีในความกล้าหาญ ความยึดมั่น และอุดมการณ์ของเธอ”

https://www.bbc.com/thai/international-56566702

ผู้ประท้วงต้องการได้รัฐบาลพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยกลับคืนมา หลังจากที่กองทัพยึดอำนาจเมื่อวันที่ 1 ก.พ. โดยอ้างว่า มีการทุจริตอย่างกว้างขวางในการเลือกตั้งเมื่อปีที่แล้ว

สหประชาชาติระบุว่า มีผู้เสียชีวิตจากการทำอารยะขัดขืนตั้งแต่วันที่ 1 ก.พ. แล้วอย่างน้อย 149 คน แต่ตัวเลขที่แท้จริงอาจจะสูงกว่านี้มาก

รัฐมนตรีกลาโหมจาก 12 ชาติเอเชียแปซิฟิกและยุโรป ออกแถลงการณ์เมื่อ 28 มี.ค. ประณามกองทัพเมียนมา หลังสังหารผู้ประท้วงการรัฐประหารเมื่อวันเสาร์. ไปกว่า 90 คน ส่วนประชาชนที่อาศัยตามแนวชายแดนในรัฐกะเหรี่ยง อพยพหนีการโจมตีทางอากาศเข้ามาที่ฝั่งไทย

“กองทัพที่มีความเป็นมืออาชีพ ย่อมต้องปฏิบัติตามมาตรฐานสากล และมีความรับผิดชอบในการปกป้อง, ไม่ใช่ทำร้าย, ประชาชนที่พวกเขาป้องดูแล” แถลงการณ์ระบุพร้อมเรียกร้องให้ กองกำลังของเมียนมายุติการใช้ความรุนแรง พร้อมทั้งนำ “ความนับถือและความเชื่อถือที่สูญไปในหมู่ประชาชนให้กลับมา”

รัฐมนตรีจาก 12 ชาติที่ร่วมลงชื่อได้แก่ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร แคนาดา เดนมาร์ก เยอรมนี กรีซ อิตาลี และเนเธอร์แลนด์

กองกำลังฝ่ายความมั่นคงของเมียนมาสังหารผู้ประท้วงต่อต้านการรัฐประหารกว่า 90 ราย ในวันกองทัพเมียนมา เมื่อ 27 มี.ค. ซึ่งนักเคลื่อนไหวระบุว่า วันที่มีผู้เสียชีวิตมากที่สุดในวันเดียว นับตั้งแต่เกิดการรัฐประหารเมื่อ 1 ก.พ.

สมาคมช่วยเหลือนักโทษการเมือง (Assistance Association for Political Prisoners–AAPP) ระบุเมื่อช่วงหัวค่ำวันที่ 27 มี.ค. ตามเวลาท้องถิ่น ว่า มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 89 คน รวมถึงเด็กหลายคน

การปราบปรามอย่างโหดร้ายเกิดขึ้นขณะที่ผู้ประท้วงจำนวนมากฝ่าฝืนคำเตือนและออกมาประท้วงบนท้องถนนในวันกองทัพในหลายเมืองทั่วประเทศ

เจ้าหน้าที่ทางการสหรัฐฯ, สหราชอาณาจักร และสหภาพยุโรปต่างประณามความรุนแรง

“กองกำลังความมั่นคงได้ทำลายเกียรติภูมิของตัวเองด้วยการยิงพลเรือนที่ไร้อาวุธ” แดน ชุกก์ ทูตอังกฤษ ระบุในแถลงการณ์

จำนวนผู้เสียชีวิตล่าสุดทำให้ยอดรวมผู้เสียชีวิตนับตั้งแต่มีการปราบปรามการประท้วงหลังเกิดรัฐประหารเมื่อ 1 ก.พ. เพิ่มเป็นมากกว่า 400 คนแล้ว

พิธีสวนสนามเนื่องในวันกองทัพเมียนมา 27 มี.ค. ถูกจัดขึ้นอย่างยิ่งใหญ่ที่กรุงเนปิดอว์ เพื่อแสดงความแข็งแกร่งของกองทัพท่ามกลางสถานการณ์ตึงเครียดภายในประเทศ โดยมีการถ่ายทอดสดผ่านสถานีโทรทัศน์ของทางการเมียนมา