
ประวัติศาสตร์นิพนธ์ เสียกรุงศรีครั้งที่สอง การเปรียบเทียบเอกสารประวัติศาสตร์ ในการศึกษาประวัติศาสตร์อยุธยาในช่วงการเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่สอง นักประวัติศาสตร์ไทยในภายหลังส่วนใหญ่มักจะอิงจากหลักฐานประเภทพงศาวดารไทยที่ถูกชำระขึ้นในสมัยธนบุรีและสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น
อันเป็นกรอบความคิดซึ่งเน้นกล่าวถึงความเสื่อมของอาณาจักรอยุธยาในราชวงศ์บ้านพลูหลวง แต่หลักฐานเหล่านี้ได้กล่าวถึงช่วงเวลาคราวเสียกรุงอย่างรวบรัด และยังมีความสับสนในความบางตอนอีกด้วย รวมทั้งมีอคติและกล่าวประณามพระเจ้าเอกทัศ
และเน้นกล่าวถึงความอ่อนแอทางทหารของอาณาจักรอยุธยามากกว่าอย่างอื่น ทั้งนี้ นักประวัติศาสตร์ไทยไม่ค่อยยึดถือจาก คำให้การชาวกรุงเก่า และ คำให้การขุนหลวงหาวัด มากนัก แต่กลับเน้น คำให้การชาวอังวะ ซึ่งกล่าวคลาดเคลื่อนและรวบรัดเช่นเดียวกับพงศาวดารไทยที่ถูกชำระขึ้นนั้น และถึงแม้ว่าจะมีการเลือกความจากหลักฐานต่างประเทศ ก็มักจะเลือกเอาแต่ความที่ไม่ขัดแย้งกับพงศาวดารนั้น
ประวัติศาสตร์นิพนธ์ เสียกรุงศรีครั้งที่สอง ตรงกันข้ามกับหลักฐานที่เป็นพงศาวดารพม่าและ คำให้การขุนหลวงหาวัด ซึ่งมีการกล่าวถึงช่วงเวลาเสียกรุงอย่างละเอียด รวมทั้งยุทธวิธีของพม่าที่ใช้เอาชนะอยุธยา นอกจากนี้ ในพงศาวดารพม่ากล่าวถึงความฉลาดทางยุทธวิธีที่แม่ทัพพม่าใช้เอาชนะแม่ทัพอยุธยา ซึ่งย่อมหมายถึง ความเข้มแข็งในระดับที่สามารถรบด้วยกับพม่าเช่นกัน อย่างไรก็ตาม ในพงศาวดารพม่าเองก็มีอคติและความคลาดเคลื่อน รวมทั้งกล่าวถึงชัยชนะของตนอย่างเกินจริง
ความแตกต่างในบันทึกของหลักฐานไทยและหลักฐานพม่า
หลักฐานไทย | หลักฐานพม่า | |
---|---|---|
ในตอนเริ่มการรุกราน เนเมียวสีหบดีและมังมหานรธาได้ส่งแม่ทัพในสังกัดของกองทัพตนล่วงเข้ามาปล้นชิงตามหัวเมืองต่าง ๆ ก่อนที่แม่ทัพทั้งสองนั้นยกตามมาภายหลัง | ทัพเนเมียวสีหบดีและมังมหานรธานำทัพใหญ่มาด้วยตนเองตั้งแต่เริ่มต้น | |
พระยาตากรับราชการในกรุงศรีอยุธยา | ในหลักฐานพม่ามีความขัดแย้งกันเอง · พระยาตากถูกจับตัวระหว่างการรบที่เมืองตาก · พระยาตากออกทำศึกในระหว่างการล้อมกรุงศรีอยุธยา | |
เจ้าเมืองสุโขทัยพาราษฎรหลบหนีเข้าป่า และรบกับพม่าร่วมกับทัพพิษณุโลก | เจ้าเมืองสุโขทัยยอมอ่อนน้อมต่อพม่า | |
เมืองพิษณุโลกมิได้เสียแก่พม่าตลอดการทัพ (คาดว่าน่าจะเป็นไปได้มากกว่า เพราะพม่าน่าจะเว้นหัวเมืองใหญ่ทางภาคเหนือ เพื่อให้ประหยัดเวลาในการทัพ) | เจ้าเมืองพิษณุโลกต่อรบด้วย แต่ปราชัยพม่า |
ความแตกต่างระหว่างเหตุการณ์คราวเสียกรุงทั้งสองครั้ง
ในการศึกษาสงครามคราวเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่สอง พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพได้ทรงเรียกกองทัพพม่าว่า “มาอย่างกองโจร” คือ เที่ยวปล้นอยู่โดยรอบเป็นเวลานานกว่าจะหักเอากรุงศรีอยุธยาได้ นอกจากนี้ สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพยังมิทรงเชื่อข้อความในพงศาวดารพม่า
ซึ่งกล่าวว่า การรุกรานดังกล่าวมีการวางแผนอย่างถูกต้อง ด้วยทรงเห็นว่าอาจเป็นความที่ถูกแต่งเติมขึ้นในภายหลัง อย่างไรก็ตาม นิธิ เอียวศรีวงศ์ มีความเห็นว่า ความแตกต่างระหว่างทัพที่มีกษัตริย์นำมาหรือไม่มีกษัตริย์นำมาดูจะไม่แตกต่างกันมากนัก เพราะแม่ทัพทั้งสองต่างก็ปฏิบัติตามพระราชโองการของกษัตริย์
มิได้กระทำการตามอำเภอใจ หรือล่วงเข้ามาในอาณาจักรอยุธยาเพราะเห็นว่าอ่อนแอเลย สำหรับที่มาของความเชื่อนี้ สุเนตร ชุตันธรานนท์ อธิบายว่า เป็น “แนวคิดที่รับกับการอธิบายถึงความเสื่อมของอาณาจักรอยุธยาในสมัยราชวงศ์บ้านพลูหลวง”
หากแต่ประเด็นที่โดดเด่นกว่า คือ ความแตกต่างในจุดประสงค์ของสงครามคราวเสียกรุงทั้งสองครั้งมากกว่า เพราะในสมัยพระเจ้าบุเรงนอง เมื่อปี พ.ศ. 2112 เป้าหมายในการทัพครั้งนั้นเป็นเพียงการสร้างความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของอาณาจักรตองอู
โดยประสงค์เพียงจะตีเอากรุงศรีอยุธยาเป็นประเทศราชเท่านั้น แต่เป้าหมายในการทัพครั้งนี้ เป็นการสร้างความแตกแยกให้กับกลุ่มการเมืองทั้งหลายในอาณาจักรอยุธยา หรือไม่ก็ทำลายลักษณะทางกายภาพ ทรัพยากรมนุษย์ ทรัพย์ทางคติความเชื่อศิลปะ และทรัพย์ทางปัญญาจนไม่อาจฟื้นฟูได้
การวิเคราะห์สาเหตุทางสังคม
การวิเคราะห์สาเหตุอันนำไปสู่การเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่สองได้มีการตีความในหลายประเด็น แต่การจะสรุปสาเหตุที่แท้จริงนั้นยังระบุลงไปแน่นอนมิได้
พงศาวดารไทยในอดีตส่วนใหญ่มักจะกล่าวถึงความอ่อนแอของกษัตริย์ ขุนนางและระบบราชการ ว่าเป็นประเด็นสำคัญประเด็นหนึ่งที่นำไปสู่การเสียกรุงศรีอยุธยา ประเด็นดังกล่าวนับว่าเป็นกรอบความคิดที่ส่งต่อกันมาผ่านทางจารีต การจดบันทึกและการบอกเล่า โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พระเจ้าเอกทัศ
ซึ่งถูกมองว่า “เป็นผู้ปกครองที่มีความอ่อนแอเหลวไหล…พร้อมกับแสวงหาความฟุ้งเฟ้อสนุกสนานส่วนตัวแม้ในยามศึก” จากมุมมองเดียวกัน ในสงครามสยาม-ฝรั่งเศส ร.ศ. 112 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงตรอมพระทัยจนประชวรหนัก เพราะทรงเห็นว่าพระองค์ไม่สามารถปกป้องแผ่นดินสยามจากฝรั่งเศสได้ และทรงเกรงว่าจะถูกติฉินนินทาสืบไป
นอกจากนี้ ต้นกรุงรัตนโกสินทร์ สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท พระราชภาตาในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ยังได้ทรงพระราชนิพนธ์เพลงยาวสะท้อนความรู้สึกคับแค้นพระทัยในพระเจ้าเอกทัศด้วย ความตอนหนึ่งว่า
“ทั้งนี้เป็นต้นด้วยผลเหตุ จะอาเพศกษัตริย์ผู้เป็นใหญ่
มิได้พิจารณาพวกข้าไท เคยใช้ก็เลี้ยงด้วยเมตตา
ไม่รู้รอบประกอบในราชกิจ ประพฤติการแต่ที่ผิดด้วยอิจฉา
สุภาษิตท่านกล่าวเป็นราวมา จะแต่งตั้งเสนาธิบดี
ไม่ควรอย่าให้อัครฐาน จะเสียการแผ่นดินกรุงศรี
เพราะไม่ฟังตำนานโบราณมี จึงเสียทีเสียวงศ์กษัตรา
เสียยศเสียศักดิ์นคเรศ เสียทั้งพระนิเวศน์วงศา
เสียทั้งตระกูลนานา เสียทั้งไพร่ฟ้าประชากร
สารพัดจะเสียสิ้นสุด ทั้งการยุทธก็ไม่เตรียมฝึกสอน
จึงไม่รู้กู้แก้พระนคร เหมือนหนอนเบียนให้ประจำกรรม”
อย่างไรก็ตาม แนวคิดซึ่งปรากฏในงานเขียนทางประวัติศาสตร์สมัยใหม่ได้พยายามมองประเด็นที่ต่างออกไปว่า พระองค์มิใช่กษัตริย์ที่อ่อนแอ หากแต่เป็นกษัตริย์ชาตินักรบพระองค์หนึ่ง และมองว่าประวัติศาสตร์ซึ่งยึดถือกันมานี้ถูกครอบงำจากเงื่อนไขทางการเมืองของชนชั้นผู้ปกครองในภายหลัง
แต่ก็มีข้อเท็จจริงปรากฏว่า ผู้ปกครองในสมัยอยุธยาตอนปลายต่างก็แย่งชิงความเป็นใหญ่กันเอง บ้านเมืองสูญเสียกำลังพลและขุนนางเป็นจำนวนมากในสงครามกลางเมือง ดังที่สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงสรุปว่า “ไทยอ่อนกำลังลงด้วยการจลาจลในประเทศ ไทยด้วยกันมุ่งหมายกำจัดพวกเดียวกันเอง เนื่องจากการชิงราชสมบัติมาหลายซับซ้อนนับตั้งแต่สิ้นสมัยสมเด็จพระเอกาทศรถเป็นต้นมา กรุงศรีอยุธยาจึงทรุดโทรมลงเป็นลำดับ”
การที่รัฐบาลกลางของอยุธยามีการควบคุมอำนาจท้องถิ่นอย่างหละหลวม ทำให้กรุงศรีอยุธยามีอำนาจและความสามารถในการป้องกันตนเองที่จำกัด เพราะไม่ได้รับการช่วยเหลือจากกองทัพหัวเมือง ที่ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของรัฐบาลกลาง[113] ซึ่งแนวคิดดังกล่าว นิธิ เอียวศรีวงศ์ ได้เน้นเป็นพิเศษ และกล่าวว่าการเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่สอง “เป็นความล้มเหลวของระบบป้องกันตนเองของอาณาจักรมากกว่าความผิดของบุคคลหรือกลุ่มบุคคลหนึ่งเท่านั้น”
ความเสื่อมโทรมของระบบการป้องกันตนเองของอาณาจักรอยุธยาอีกประการหนึ่ง คือ จำนวนไพร่ที่สามารถเรียกเกณฑ์เข้าสู่กองทัพมีน้อย เพราะรัฐบาลได้สูญเสียไพร่ให้กับเจ้านายและขุนนางไปเป็นอันมาก และอีกจำนวนหนึ่งก็หลีกเลี่ยงการขึ้นทะเบียน เช่น ชาวบ้านบางระจัน[114] นอกจากนี้ หากจะใช้วิธีการกวาดต้อนไพร่มายังภาคกลางเพื่อตั้งกองทัพขนาดใหญ่อย่างสมัยสมเด็จพระนเรศวรก็จะก่อให้เกิดจลาจลขึ้นอีก
สุเนตร ชุตินธรานนท์ได้เสนอแนวคิดว่า จำนวนประชากรที่เติบโตหลังจากการค้าขายกับต่างชาติในสมัยอยุธยาตอนปลาย ซึ่งมีการขัดกับจารีตการปกครองเดิมจนทำให้เกิดความปั่นป่วน อันทำให้การจัดระเบียบและควบคุมเกิดความยุ่งยาก[116]
การวิเคราะห์สาเหตุทางทหาร
สงครามครั้งนี้เกิดในช่วงที่อำนาจทางทหารของราชวงศ์โกนบองรุ่งเรืองเกือบถึงขีดสุด โดยนักประวัติศาสตร์ถือว่าชัยชนะเหนือจีนเป็นช่วงที่อำนาจทางทหารของราชวงศ์โกนบองรุ่งเรืองถึงขีดสุด สาเหตุหลักที่พม่ารบชนะอยุธยาและจีนนั้น มิใช่เพราะกำลังพลหรืออาวุธที่เหนือกว่า แต่ทหารพม่ากรำศึก และมีผู้บังคับบัญชาทหารที่มีความมั่นใจและได้พิสูจน์ความสามารถมาแล้ว ขณะที่ฝ่ายผู้นำอยุธยามีประสบการณ์สงครามเพียงเล็กน้อยในสงครามพระเจ้าอลองพญาเท่านั้น ซ้ำแม้ว่าจะมีการเตรียมการสงครามอย่างกว้างขวาง แต่เมื่อสงครามมาถึง ผู้บังคับบัญชาอยุธยากลับล่าช้าและไม่ประสานงานกัน
ในสงครามคราวนี้ ฝ่ายอยุธยาประสบกับความพ่ายแพ้ทางยุทธศาสตร์อย่างเห็นได้ชัด เพราะยุทธวิธีของฝ่ายพม่าสามารถรับมือกับยุทธวิธีน้ำหลากที่ฝ่ายอยุธยามักใช้ได้เป็นผลสำเร็จหลายครั้งในประวัติศาสตร์การสงคราม นอกจากนี้ พม่ายังได้โจมตีหัวเมืองทางเหนือเพื่อป้องกันการตีกระหนาบ
ก่อนกองทัพเหนือและใต้เข้าปิดล้อมพระนครพร้อมกัน ซึ่งช่วยแก้ปัญหาการขาดแคลนเสบียงได้อีกด้วย ดังนั้น ฝ่ายอยุธยาจึงไม่เหลือยุทธศาสตร์อื่นใดที่จะสู้กับพม่าได้อีก ส่วนการที่ฝ่ายอยุธยาพยายามป้องกันมิให้ข้าศึกเข้าประชิดพระนคร แต่ได้มีการจัดวางกำลังกระจัดกระจายกันเกินไป อันแสดงให้เห็นถึงข้อผิดพลาดทางด้านการข่าวอีกด้วย เพราะมีที่ตั้งทัพหลายแห่งที่พม่ามิได้ยกเข้ามาเลย ส่วนทางที่พบกับพม่านั้นก็ปราชัยทุกทิศทาง
สมเด็จพระเจ้าเอกทัศไม่แสดงความสามารถด้านการบัญชาการรบ เนื่องจากทรงมอบหมายการป้องกันบ้านเมืองแก่คณะลูกขุน ณ ศาลา
ตาม คำให้การของชาวกรุงเก่า ได้ระบุว่ามีคนไทยทรยศ ชื่อว่า พระยาพลเทพ ความว่า “…มีคนไทยชื่อ พระยาพลเทพ ข้าราชการในกรุงศรีอยุธยาเอาใจออกห่าง ลอบส่งศาสตราวุธเสบียงอาหารให้แก่พม่า สัญญาว่าจะเปิดประตู [ด้านทิศตะวันออก] คอยรับเมื่อพม่าเข้าโจมตี เข้าใจว่าเป็นบริเวณหัวรอหรือใกล้เคียง ซึ่งพม่าก็ได้ระดมเข้าตีกรุงศรีอยุธยาทางด้านนี้ ตามที่พระยาพลเทพนัดหมายไว้…
ขัดแย้งกับ มหาราชวงษ์พงษาวดารพม่า มาจากบางตอนของพงศาวดารพม่า “มานนาน มหายาสะวินดอจี” หรือที่นักวิชาการทั่วไปรู้จักกันในนาม “พงศาวดารฉบับหอแก้ว” ไม่มีการกล่าวถึงพระยาพลเทพในฐานะไส้ศึกเลย กล่าวว่า พระยาพลเทพเป็นหนึ่งในเสนาบดีอยุธยาที่ถูกกวาดต้อนไปพม่า (ต้นฉบับภาษาพม่าสะกด ‘ภยาภลเทป’ ဘယာဘလဒေပ)
ประวัติศาสตร์นิพนธ์ เสียกรุงศรีครั้งที่สอง ความสำคัญ

อิทธิพลของไทยต่อวัฒนธรรมพม่า
เชลยศึกอยุธยาที่ถูกกวาดต้อนไปกรุงอังวะนั้นได้เข้าไปมีอิทธิพลอย่างมากต่อการละครและการเต้นของพม่า ในปี พ.ศ. 2332 ข้าหลวงพม่าอันประกอบด้วยเจ้าชายและรัฐมนตรีได้รับมอบหมายให้แปลละครไทยและชวาจากภาษาไทยเป็นภาษาพม่า ด้วยความช่วยเหลือจากศิลปินอยุธยาที่ถูกกวาดต้อนไปนั้น ข้าหลวงจึงสามารถแปลวรรณคดีเรื่องสำคัญได้ถึงสองเรื่อง ได้แก่ รามเกียรติ์และ อิเหนา
ผลกระทบต่อความสัมพันธ์ไทย-พม่า
มุมมองฝ่ายไทย
ในปี พ.ศ. 2460 กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงตีพิมพ์ประวัติศาสตร์ความขัดแย้งอันยาวนานหลายศตวรรษระหว่างสองประเทศที่มีความเป็นชาตินิยมสูง ชื่อว่า ไทยรบพม่า ซึ่งได้มีอิทธิพลสำคัญต่อการพัฒนามุมมองประวัติศาสตร์ชาติไทย ซึ่งมักพบปรากฏในหนังสือเรียนและวัฒนธรรมสมัยนิยม
ในมุมมองนี้ ไม่เพียงแต่ชาวพม่าจะถูกมองว่าเป็นพวกป่าเถื่อนและก้าวร้าว แต่ว่าอยุธยาพ่ายแพ้ในสงครามเพราะว่าขาดการเตรียมตัวและเกิดการแตกแยกภายในอีกด้วย พระมหากษัตริย์ผู้ทรงนำประชาชน อย่างเช่น สมเด็จพระนเรศวรมหาราชและพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงทำสงครามปลดปล่อยชาติจากการครอบงำของข้าศึก และการศึกสมัยโบราณระหว่างผู้ปกครองสองฝ่ายได้กลายมาเป็นสงครามระหว่างชาติไป
ล่าสุด นักวิชาการจำนวนมากขึ้นได้เตือนการมองประวัติศาสตร์คริสต์ศตวรรษที่ 16 และ 18 ในกรอบความคิดของคริสต์ศตวรรษที่ 20 นักประวัติศาสตร์ แดเนียล ซีคินส์ เขียนว่า “สงครามไทย-พม่าทั้ง 24 ครั้ง ที่กรมพระยาดำรงราชานุภาพอธิบายนั้น เป็นสงครามระหว่างพระมหากษัตริย์มากกว่าสงครามระหว่างชาติ” และ “ชาวสยามคนสำคัญในสมัยนั้น รวมทั้งพระราชบิดาของสมเด็จพระนเรศวร สมัครพระทัยยอมรับอำนาจเหนือกว่าของพม่า”
นักประวัติศาสตร์อีกคนหนึ่ง เฮเลน เจมส์ เขียนว่า “โดยพื้นฐาน สงครามเหล่านี้เป็นการต่อสู้ช่วงชิงความเป็นใหญ่ในภูมิภาคและในหมู่ราชวงศ์ และไม่ใช่ทั้งความขัดแย้งระหว่างชาติหรือชาติพันธุ์เลย” สุดท้าย ทหารเกณฑ์สยามจำนวนมากมีส่วนในการโจมตีกรุงศรีอยุธยา มุมมองนี้ถูกสะท้อนในวิชาการไทยสมัยใหม่ อย่างเช่น นิธิ เอียวศรีวงศ์ และสุเนตร ชุติธรานนท์ สุเนตร เขียนว่า “ทัศนคติแง่ลบที่มีต่อชาวพม่านั้นเกิดขึ้นไม่เพียงแต่เฉพาะผลจากความสัมพันธ์ในอดีตเท่านั้น แต่เป็นผลจากอุบายทางการเมืองของรัฐบาลชาตินิยมมากกว่า โดยเฉพาะอย่างยิ่ง รัฐบาลทหาร”
อย่างไรก็ตาม มุมมองทางวิชาการสมัยใหม่ยังมิได้แทนที่มุมมองของกรมพระยาดำรงราชานุภาพในหนังสือเรียนหรือวัฒนธรรมสมัยนิยม ซึ่งเป็นการส่งเสริมความรู้สึกเป็นปรปักษ์ในหมู่ประชาชนชาวไทยต่อพม่า ความเป็นปรปักษ์นี้อย่างน้อยผู้นำทางการเมืองของไทยได้แสดงออกมาในนโยบาย “พื้นที่กันชน” ของไทย ซึ่งได้จัดหาที่พัก ซึ่งในหลายโอกาสได้กระตุ้นอย่างแข็งขันและ “ให้การสนับสนุน” กลุ่มเชื้อชาติต่อต้านรัฐบาลพม่าหลายกลุ่มแนวชายแดน
มุมมองฝ่ายพม่า
เมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. 2497 อู นุ นายกรัฐมนตรีคนแรกของสหภาพพม่า ได้กล่าวขอโทษต่อสาธารณะถึงการกระทำผิดศีลธรรมในอดีตของพม่าระหว่างการเดินทางเยือนกรุงเทพมหานครอย่างเป็นทางการ อย่างไรก็ตาม ชาวพม่าส่วนใหญ่ในปัจจุบันทราบถึงรายละเอียดการขยายอาณาเขตของพระมหากษัตริย์ในอดีตเพียงผิวเผิน
ทำให้หลายคนไม่ทราบถึงเหตุผลทางประวัติศาสตร์เบื้องหลังความเป็นปรปักษ์ของไทย และนโยบายพื้นที่กันชนของไทย ชาวพม่าจำนวนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในหมู่ทหาร ไม่เชื่อในการรับประกันของรัฐบาลไทยที่ว่าไทยจะไม่ยินยอมให้มีกิจกรรมใด ๆ อัน “บั่นทอนเสถียรภาพของประเทศเพื่อนบ้าน”
วันที่ในข่าวนี้ 1 มกราคม 1789 วันที่ประมาณการ