ประหารชีวิตซีอุย ปัจฉิมบท….บทสุดท้าย ของนายซีอุย
เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2501 ศาลอุทธรณ์ตัดสิน ประหารชีวิตซีอุย เมื่อวันที่ 16 กันยายน 2501 และมีการประหารชีวิตด้วยการยิงเป้าเมื่อวันที่ 17 กันยายน 2502
ในระหว่างที่ซีอุยถูกจำคุกอยู่ในเรือนจำบางขวาง คณะแพทย์ได้ทำการตรวจสอบหาความผิดปกติของร่างกายและจิตใจ เพื่อตรวจดูว่าการกระทำความผิดนี้จะได้รับการยกเว้นโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๖๕ หรือไม่ซึ่งผลการตรวจไม่ปรากฏว่าซีอุยเป็นผู้มีความวิปริตทางจิต ชนิดทารุณผู้อื่น ไม่เป็นโรคอยากกินเนื้อมนุษย์(Cannibalism) และมีความหลงผิดว่ากินหัวใจเด็กแล้วแข็งแรง ความผิดที่ซีอุยได้กระทำทั้งหมดจึงมิได้รับการยกเว้นโทษแต่อย่างใด
ซีอุยถูกพิพากษาให้ประหารชีวิตตามกฎหมายเมื่อวันที่๑๖ กันยายน พ.ศ. ๒๕๐๒
ต่อมา ศ. นพ.สงกรานต์ นิยมเสนหัวหน้าหน่วยนิติเวชวิทยา ในแผนกพยาธิวิทยาเป็นผู้ดำเนินการติดต่อขอรับศพซีอุยจากกรมราชทัณฑ์มาศึกษาผ่าตรวจสมอง จากนั้นจึงเก็บรักษาศพโดยฉีดฟอร์มาลีนเข้าหลอดเลือด นำไปแช่น้ำยารักษาศพอีก 1 ปีโดยมิได้นำอวัยวะภายในออกจากศพ แล้วจึงใส่ไว้ในตู้กระจกปัจจุบันศพของซีอุย จัดแสดงไว้ในพิพิธภัณฑ์นิติเวชศาสตร์สงกรานต์นิยมเสนทั้งนี้ ภาควิชานิติเวชศาสตร์ได้จัดให้มีการทำบุญ ณ พิพิธภัณฑ์ฯ ในวันที่ ๕ ตุลาคม เป็นประจำทุกปีและดูแลรักษาสภาพศพด้วยการทาขี้ผึ้งทุก 2 ปีเพื่อป้องกันเชื้อรา พิพิธภัณฑ์ดังกล่าว เป็นที่เก็บหลักฐานทางคดีสำคัญๆ อีกมากมาย

ประจานซ้ำ – ตอกย้ำ ภาพจำ “มนุษย์กินคน”
เรื่องราวความสยดสยอง ของ ซีอุย ถูกทำมาสร้างเป็นละครโทรทัศน์และภาพยนตร์ อยู่หลายครั้ง เริ่มตั้งแต่ปี 2527 เมื่อ กันตนานำมาสร้างละครโทรทัศน์ชื่อเรื่องว่า “ซีอุย” ออกอากาศ ทางช่อง 5 โดย เทอดพร มโนไพบูลย์ เป็นผู้รับบท “ซีอุย” เป็นการรื้อฟื้นความทรงจำของสังคม และ เทิดพร ถูกมองว่าเป็นตัวแทนของซีอุยในฐานะฆาตกรโรคจิต
ต่อมาราวปี 2547 แมทชิง โมชัน พิกเจอส์ นำมาสร้างภาพยนตร์เรื่อง ซีอุย ซึ่งได้ฉายในต่างประเทศด้วย มีโฆษณาในโปสเตอร์ว่า “ผีหรือคน” เป็นการเน้นย้ำการกินมนุษย์ของซีอุย รวมถึงในวงการมวยไทย มีนักมวยไทยใช้ชื่อ ซีอุย ส.สุนันท์ชัย ในการขึ้นชก
ไม่เพียงแค่นี้ ทุกครั้งที่เด็กมีความประพฤติไม่ดี ผู้ใหญ่มักจะขู่ด้วยคำพูดที่ว่า “เดี๋ยวให้ซีอุยมากินตับ” ยิ่งนับเป็นการตอกย้ำภาพของฆาตกรโรคจิต และถูกฝังในหัวคนไทยจากรุ่นสู่รุ่น

วันที่ 31 พฤษภาคม 2562 มีข่าวว่าโรงพยาบาลศิริราชปลดป้าย “มนุษย์กินคน” ออกไปแล้ว พร้อมทั้งเตรียมจัดทำบอร์ดให้ความรู้แก่สาธาณะเกี่ยวกับคดี ด้านฟาโรห์ จักรภัทรานน เจ้าของเว็บไซต์ Change.org ที่รณรงค์เรื่องซีอุย ให้สัมภาษณ์ว่า อยากให้ฌาปณกิจร่าง แล้วอาจจะนำหุ่นขี้ผึ้งมาจัดแสดงแทน และมีความเห็นว่า “ไม่ได้ตัดสินว่าซีอุยไม่ได้เป็นมนุษย์กินคน แต่อยากให้ประชาชนที่มาอ่านข้อมูลได้ตัดสินเองว่าซีอุยเป็นมนุษย์กินคนหรือไม่”
ในวันที่ 20 กรกฎาคม 2563 ผู้บัญชาการเรือนจำบางขวาง ได้ทำหนังสือถึง คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล เรื่อง กำหนดการฌาปนกิจศพ น.ช.ลีอุย หรือ ซีอุย แซ่อึ้ง โดยกำหนดให้ฌาปนกิจในวันพฤหัสบดีที่ 23 กรกฎาคม 2563 วัดบางแพรกใต้ จังหวัดนนทบุรี เป็นการปิดตำนานซีอุยที่ถูกนำร่างเก็บรักษาภายในพิพิธภัณฑ์มานาน 60 ปี

ฌาปนกิจร่าง “ซีอุย แซ่อึ้ง” ปิดตำนานผู้ที่ถูกสังคมตั้งฉายา “มนุษย์กินคน”
แม้บรรยากาศการส่งร่างของนายลีอุย หรือ ซีอุย แซ่อึ้ง ที่สังคมตราหน้าว่าเขาคือ “มนุษย์กินคน” จะไม่ปรากฏรายชื่อญาติมาร่วมงาน แต่ชาวบ้านทับสะแกจำนวนหนึ่งก็เดินทางมาร่วมไว้อาลัยเป็นครั้งสุดท้ายให้กับชายผู้นี้
เวลาประมาณ 08.00 น. วันนี้ (23 ก.ค.) เจ้าหน้าที่กรมราชทัณฑ์และมูลนิธิร่วมกตัญญูนำร่างของ น.ช.ลีอุย หรือซีอุย จากศิริราชพยาบาลมาถึงวัดบางแพรกใต้ จ.นนทบุรี เพื่อตั้งศพบำเพ็ญกุศลก่อนที่จะมีการฌาปนกิจในเวลา 12.30 น. และเก็บอัฐิในเวลา 16.00 น.
นอกจากเจ้าหน้าที่กรมราชทัณฑ์และสื่อมวลชนเดินทางมาร่วมพิธีแล้ว ยังมีนางอังคณา นีละไพจิตร อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ซึ่งระบุว่าการจัดพิธีในวันนี้เป็นการคืนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ให้กับนักโทษชายซีอุย และกรณีเช่นนี้ถือเป็นครั้งแรกในเอเชีย นางอังคณากล่าวว่า กรณีนี้น่าจะเป็นกรณีศึกษาในเรื่องสิทธิพลเมืองเพราะนักโทษชายซีอุยได้รับโทษตามความผิดแล้วคือถูกพิพากษาประหารชีวิต แต่หลังจากนั้นกลับมีการนำร่างมาจัดแสดงและเขียนอธิบายว่าเป็น “มนุษย์กินคน” ซึ่งถือว่าเป็นการลิดรอนความเป็นมนุษย์
ชาวทับสะแกขอจดจำเพียงแต่ภาพดี ๆ
วรรณภา ทองฉิม ชาวทับสะแก จ.ประจวบคีรีขันธ์ วัย 68 ปี หนึ่งในคณะที่เดินทางมาร่วมงานฌาปนกิจนายซีอุยบอกกับบีบีซีไทยว่า นี่ถือวันแห่งความสำเร็จที่ชาวทับสะแกได้เคลื่อนไหวมาอย่างต่อเนื่องเพื่อทวงคืนความยุติธรรมให้กับซีอุย
เธอบอกว่า ซีอุยไม่มีญาติพี่น้อง ครอบครัวของเธอมีความใกล้ชิดกับครอบครัวของนายซีอุย ที่ผ่านมาแม่และพ่อเล่าให้ฟังเกี่ยวกับเรื่องของเขา ทำให้เรารู้สึกสงสาร ว่าเขาเป็นผู้ถูกกระทำ
“ซีอุยมาจากซัวเถาที่เมืองจีนพร้อมกับคนในหมู่บ้านของเขา เพราะว่าที่นี่มีที่ทำกินเยอะ ตอนนั้นแม่ของดิฉันทำลานมันสำปะหลัง เขาก็เลยเริ่มทำงานที่นี่ด้วย”
