พม่าฉลองวันเกิดมินอ่องหล่าย ชาวพม่าจัดงานศพ ในวันเกิดมินอ่องหล่าย รายงานเอเอฟพีและรอยเตอร์เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม กล่าวว่า การจัดพิธีศพหลอกๆ เพื่อล้อเลียนวันคล้ายวันเกิดของผู้นำทหารเมียนมาเกิดขึ้นในหลายเมือง ส่วนในโซเชียลมีเดีย ผู้ต่อต้านรัฐประหารบางคนโพสต์ภาพขนมจีนโมฮิงกา ที่เป็นอาหารท้องถิ่นของเมียนมาที่เจ้าภาพมักเลี้ยงแขกในงานศพ
“ฉันทำ (โมฮิงกา) ในวันเกิดของเขา เพราะอยากให้เขาตายเร็วๆ” ชาวย่างกุ้งคนหนึ่งบอก “คนบริสุทธิ์มากมายเสียชีวิตเพราะเขา ฉะนั้น ถ้าเขาตาย คนทั้งประเทศก็จะมีความสุข”
ที่มัณฑะเลย์ เมืองใหญ่อันดับสองของเมียนมา นักเคลื่อนไหวบางคนเผารูปภาพของนายพลอาวุโสและจุดไฟเผาโลงศพจำลอง “เพราะคนคนนี้ ประเทศเมียนมาของเราถึงมีปัญหามากมาย” ชาวมัณฑะเลย์คนหนึ่งกล่าวกับเอเอฟพี “ที่จริงเขาไม่ควรเกิดมาด้วยซ้ำ ดังนั้น เราจึงจัดงานศพให้เขาเพราะเราอยากบอกว่าเขาควรตาย”
“ขออย่าได้ไปสู่สุคติ” และ “ขอให้วันเกิดเหมือนกับวันตายของคุณ” ข้อความในพวงหรีดของผู้ประท้วงในรัฐมอญทางภาคตะวันออก และมีรายงานการประท้วงแบบนี้เกิดขึ้นในหลายพื้นที่ของเมียนมา

พลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย มีอายุครบ 65 ปีในวันนี้ ซึ่งตามรัฐธรรมนูญฉบับปี 2551 ของเมียนมา เป็นอายุที่ต้องเกษียณอายุราชการ แต่กฎหมายนี้ถูกยกเลิกแล้วหลังจากการรัฐประหารวันที่ 1 กุมภาพันธ์ นักวิเคราะห์บางคนเชื่อว่า ปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เขายึดอำนาจเพราะนายพลผู้นี้มองไม่เห็นหนทางที่จะครองอำนาจต่อไปได้ด้วยความช่วยเหลือของพรรคการเมืองที่หนุนหลังกองทัพ ซึ่งพ่ายแพ้การเลือกตั้งอย่างราบคาบเมื่อปลายปีที่ผ่านมา
ที่กรุงวอชิงตันเมื่อวันศุกร์ตามเวลาท้องถิ่น กระทรวงการคลังและกระทรวงพาณิชย์ของสหรัฐประกาศใช้มาตรการคว่ำบาตร 22 บุคคลและ 4 บริษัทในเมียนมา ฐานเกี่ยวข้องกับการรัฐประหารและการปราบปรามขบวนการเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตย โดยเป็นการคว่ำบาตรเพิ่มเติมจากการลงโทษของสหรัฐก่อนหน้านี้เมื่อเดือนกุมภาพันธ์, มีนาคม และพฤษภาคม
บุคคล 22 คนที่กระทรวงการคลังคว่ำบาตร รวมถึงรัฐมนตรี 4 คน ได้แก่ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสารสนเทศ, เพื่อการลงทุน, แรงงานและคนเข้าเมือง และสวัสดิการสังคม ที่เหลือคือสมาชิก 3 คนของสภาบริหารแห่งรัฐ ที่เป็นชื่อทางการของคณะรัฐบาลทหาร กับภรรยาและลูกวัยผู้ใหญ่ของเจ้าหน้าที่เหล่านี้อีก 15 ราย
ตามมาตรการแซงก์ชัน ทรัพย์สินทั้งหมดของบุคคลเหล่านี้ในสหรัฐจะถูกอายัดไว้ และชาวอเมริกันหรือผู้ที่อยู่ในสหรัฐจะไม่สามารถทำธุรกรรมหรือติดต่อธุรกิจกับพวกเขา
กระทรวงพาณิชย์สหรัฐยังได้คว่ำบาตรบริษัท 4 แห่ง ได้แก่ คิงรอยัลเทคโนโลยี ที่ให้บริการดาวเทียมสื่อสารสนับสนุนกองทัพ และบริษัท วันเปาไมนิง กับบริษัทในเครืออีก 2 แห่ง ที่มีข้อตกลงแบ่งปันรายได้กับบริษัทหนึ่งที่ช่วยสนับสนุนทางการเงินแก่กระทรวงกลาโหมเมียนมา.
พม่าฉลองวันเกิดมินอ่องหล่าย
ชาวพม่าจัดงานศพ ในวันเกิดมินอ่องหล่าย วันเสาร์ที่ผ่านมา (3 ก.ค.) เป็นวันคล้ายวันเกิดครบรอบ 65 ปี ของพลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย ผู้บัญชาการทหารสูงสุดและผู้นำในการก่อรัฐประหารเมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา กลุ่มผู้ประท้วงจึงไม่พลาดที่จะร่วมกันเฉลิมฉลองโอกาสพิเศษนี้
โดยหลายพื้นที่ทั่วประเทศ อาทิ เมืองมันฑะเลย์ มีภาพกลุ่มประท้วงออกมาจุดไฟเผารูปของเขา และร่วมกันด่าทอสาบแช่ง
บ้างก็ทำพิธีเผาโลงศพจำลอง พร้อมวางพวงหรีดพร้อมข้อความสาปแช่งให้พลเอกมิน อ่อง หล่าย ตายไวๆ เพราะเชื่อว่าประชาชนในประเทศจะมีความสุขขึ้น
สำหรับ พลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย จะครบวาระเกษียณอายุจากกองทัพในปีนี้ แต่กำหนดอายุครบเกษียณของเขาถูกยกเลิกไป หลังการยึดอำนาจของกองทัพ
โดยนับตั้งแต่การยึดอำนาจเมื่อวันที่ 1 ก.พ.เป็นต้นมา มีรายงานพลเมืองเมียนมาเสียชีวิตจากการถูกปราบปรามเกือบ 890 คน และอีกเกือบ 6,500 คนถูกจับกุม

ย้อนไปในวัยหนุ่มนั้นแทบไม่มีใครคิดว่าเขาจะก้าวขึ้นมาถึงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารสูงสุด มินอ่องหล่ายไม่ยุ่งเกี่ยวกับการเรียกร้องทางการเมืองที่แผ่กระจายเป็นวงกว้างในเมียนมาในขณะที่เขากำลังศึกษากฎหมายในย่างกุ้งช่วงปี 1972-1974 ขณะที่เพื่อนๆ ออกไปประท้วง ตัวเขากลับยื่นใบสมัครเข้าเรียนในวิทยาลัยป้องกันชาติแห่งประเทศพม่า (DSA) และพยายามอยู่ 3 ครั้งจึงได้เข้าเรียนในปี 1947
เรื่องราวในวัยรุ่นของเขาถูกบอกเล่าในหลากหลายมุมมอง เพื่อนร่วมชั้นคนหนึ่งบอกกับรอยเตอร์สในปี 2016 ว่าเขาเป็นคนพูดน้อย ทำตัวติดดิน ส่วนคำบอกเล่าในนิวยอร์กไทม์สระบุว่าเขาเป็นอันธพาลที่ชอบระรานเพื่อนร่วมชั้นให้อับอายขายหน้า
ขณะที่ Hla Oo นักเขียนชาวเมียนมาที่ลี้ภัยไปอยู่ออสเตรเลียซึ่งรู้จักมินอ่องหล่ายตอนเด็กๆ บอกว่า เขาเป็นคนขยัน ตั้งใจเรียน ที่พาตัวเองไต่เต้าจนขึ้นมาอยู่ในตำแหน่งสูงสุดของกองทัพ ส่วนอดีตนายทหารในโรงเรียนเตรียมทหารบอกกับรอยเตอร์สว่า “เขาค่อยๆ ไต่เต้าขึ้นสู่ตำแหน่งอย่างมั่นคง” และเนกินเปา คิปเกน จากศูนย์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษาแห่งมหาวิทยาลัยการต่างประเทศจินดาลของอินเดียบอกว่า “เขาไม่ใช่คนที่โดดเด่นในกองทัพเมียนมา”
จุดเปลี่ยนชีวิตของมินอ่องหล่ายเริ่มหลังจากเขาเข้าร่วมกองพลทหารราบเบาที่ 88 ซึ่งตานฉ่วยอดีตผู้นำประเทศและผู้บัญชาการทหารสูงสุดของเมียนมาเป็นผู้บังคับบัญชา
มินอ่องหล่ายได้รับความไว้วางใจจากตานฉ่วยและช่วยงานตานฉ่วยเรื่อยมาจนกระทั่งตานฉ่วยนั่งเก้าอี้ผู้นำรัฐบาลทหารในปี 1992
ปี 2011 ตานฉ่วยแต่งตั้งมินอ่องหล่ายเป็นทายาททางการททหารและผู้บัญชาการทหารสูงสุดคนแรกของเมียนมาในยุคหลังจากรัฐบาลทหารปกครองประเทศและการเปลี่ยนผ่านเมียนมาสู่ประชาธิปไตยค่อยๆ เริ่มต้น
นักการทูตในเมืองย่างกุ้งเผยว่า ในช่วงที่อองซานซูจีเป็นรัฐบาลในปี 2016 มินอ่องหล่ายเริ่มปรับเปลี่ยนบทบาทจากทหารเงียบขรึมมาเป็นนักการเมืองและบุคคลสาธารณะ ทั้งการใช้เฟซบุ๊คทำการประชาสัมพันธ์กิจกรรมต่างๆ การพบปะกับบุคคลที่มีตำแหน่งสูง และการเข้าวัด
นอกจากนี้ ยังพยายามทำทุกอย่างเพื่อแสดงให้เห็นว่ากองทัพคือคนคุมเกมทางการเมืองตัวจริง ด้วยการเข้าร่วมการพบปะหารืออย่างเป็นทางการหลายครั้งโดยเฉพาะในจีนและญี่ปุ่น และยังได้ต้อนรับบุคคลสำคัญ อาทิ สมเด็จพระสันตะปาปาฟรังซิส ในปี 2017 โดยการพบปะหารือเหล่านี้ล้วนถูกบันทึกภาพและนำมาแชร์ในโลกโซเชียลเพื่อสร้างภาพลักษณ์
ต่อมาในปี 2016 มินอ่องหล่ายได้สร้างความประหลาดใจให้กับบรรดานักสังเกตการณ์ด้วยการต่ออายุราชการทหารของตัวเองออกไปอีก 5 ปี ซึ่งขณะนั้นใครๆ ต่างก็คาดว่าเขาจะลงจากตำแหน่งระหว่างที่มีการปรับตำแหน่งผู้นำในกองทัพ
ปี 2017 ชื่อเสียงของกองทัพเมียนมาเสื่อมเสียอย่างหนักในสายตาชาวโลก เมื่อกองทัพลงมือกวาดล้างชาวโรฮีนจาในรัฐยะไข่อย่างหนักจนชาวโรฮีนจากว่า 730,000 คนต้องเข้าบังกลาเทศซึ่งมีพรมแดนติดกัน