มติเอกฉันท์ ทิม-พิธา นั่งหัวหน้าพรรคก้าวไกล นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ อดีตพรรคอนาคตใหม่ (อนค.) ขึ้นเป็นหัวหน้าพรรคก้าวไกล (ก.ก.) คนใหม่ตามคาด หลังที่ประชุมใหญ่วิสามัญของพรรคมีมติเป็น “เอกฉันท์” เลือกเขาเป็นผู้นำพรรคคนใหม่ชนิดไร้คู่แข่งขัน ด้วยคะแนนเสียง 256 เสียง งดออกเสียง 4 จากองค์ประชุมทั้งหมด 260 คน
“…เราคือคนขีดเส้นทางนี้เอง เส้นทางของการเปลี่ยนแปลง…”
บทเพลงประจำพรรคจบลง เมื่อนายพิธานำเพื่อน ส.ส. สังกัดพรรคก้าวไกลจำนวน “ครึ่งร้อย” เดินทางถึงหน้าเวทีเพื่อพบปะสมาชิกพรรคและประชาชน พร้อมเปิดเผยโฉมหน้าคณะกรรมการบริหาร (กก.บห.) ชุดใหม่จำนวน 29 คนต่อสาธารณชน
นายชัยธวัช ตุลาธน อดีตรองเลขาธิการ อนค. ได้รับเลือกให้เป็นเลขาธิการพรรคก้าวไกล ทั้งนี้เมื่อ 2 ปีก่อน นายชัยธวัชเป็น 1 ใน 3 ผู้ก่อการหลักในคราวก่อตั้ง อนค. ร่วมกับนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ และนายปิยบุตร แสงกนกกุล
มติเอกฉันท์ ทิม-พิธา นั่งหัวหน้าพรรคก้าวไกล การประชุมใหญ่วิสามัญพรรคก้าวไกลวันนี้ (14 มี.ค.) เกิดขึ้นที่ศูนย์ประสานงานอดีต อนค. ฝั่งธนบุรี ซึ่งถูกแปรสภาพเป็นที่ทำการพรรคก้าวไกลเรียบร้อย และเกิดขึ้นในวันที่ 23 หลังศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบ อนค.
นายพิธาประกาศว่า พรรคก้าวไกลคือ “บทที่ 2 ของอดีต อนค.” คือพรรคที่สืบทอดเจตนารมณ์ อุดมการณ์ และจิตวิญญาณมาจากอดีต อนค. และจะยังเป็นความหวังให้กับคนที่สิ้นหวังในประเทศ เป็นปากเสียงให้กับคนตัวเล็กตัวน้อย พาประเทศไทยกลับไปสู่ประชาธิปไตย ยุติระบอบรัฐประหาร สถาปนานิติรัฐที่ทุกคนเสมอหน้ากันต่อหน้ากฎหมาย และยึดมั่นในนโยบายเดิมของ อนค.

มติเอกฉันท์ ทิม-พิธา นั่งหัวหน้าพรรคก้าวไกล
พิธาประกาศพา ปท.ออกจากวิกฤต-หวนคืนสู่ประชาธิปไตย
หัวหน้าพรรควัย 40 ปี กล่าวแสดงวิสัยทัศน์ต่อไปว่า ไทยอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญที่สุด เต็มไปด้วยวิกฤตรอบด้านที่แสดงให้เห็นว่า “รัฐบาลปัจจุบันไม่มีศักยภาพในการนำพาประเทศไปต่อได้ และจะทำให้คนทั้งประเทศลงเหว” ตลอดเวลาที่ผ่านมา ชีวิตของประชาชนไทยถูกกำหนดโดยอภิสิทธิ์ชน กองทัพ ข้าราชการ และกลุ่มทุนผูกขาด เสียงของประชาชนไม่เคยดังพอที่รัฐบาลจะได้ยิน หรือได้ยินก็ทำหูทวนลม
นายพิธาอ้างคำกล่าวของนักรัฐศาสตร์ที่ว่าขณะนี้สภาพการบริหารประเทศของรัฐบาลอยู่ใน “สภาวะรัฐบาลล้มเหลว” ไม่สามารถรับมือกับสารพัดวิกฤต ทั้งการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ หรือโควิด-19, ฝุ่นพิษ, เศรษฐกิจที่ตกต่ำที่สุดในประวัติการณ์ รวมถึงวิกฤตการเมืองที่เกิดจากรัฐธรรมนูญ ที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ใช้ ส.ว. 250 คนเป็น “เครื่องมือสืบทอดอำนาจ”
หัวหน้าพรรคการเมืองคนล่าสุดประกาศเดินหน้าผลักดันการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ให้ประชาชนที่เป็นเจ้าของประเทศมีอำนาจอย่างแท้จริง ยกเลิก ส.ว.แต่งตั้ง, ยกเลิกยุทธศาสตร์ 20 ปี และแก้ไขที่มาขององค์กรอิสระให้ยึดโยงกับประชาชน
นายพิธายังกล่าวถึงการลุกขึ้นสู้ของนักเรียน นิสิต นักศึกษาในสถานศึกษากว่า 40 แห่ง หรือที่รู้จักในชื่อกิจกรรม “แฟลชม็อบ” ว่า ทำให้เขาได้เห็นประกายไฟแห่งความหวังถูกปลุกขึ้น เป็นประกายไฟที่จุดให้ ส.ส.พรรคก้าวไกล ก้าวต่อไป ยืนหยัดในรัฐสภาเพื่อเปลี่ยนแปลงสังคม ทำให้ประเทศนี้ก้าวไปได้ไกลกว่านี้
ก่อนการประชุมจะเริ่มต้นขึ้น ส.ส. สังกัดอดีต อนค. จำนวน 50 คนได้สมัครเป็นสมาชิกพรรคก้าวไกลเพื่อรักษาสมาชิกภาพตามกฎหมาย ในจำนวนนี้มีนายคารม พลพรกลาง ส.ส.บัญชีรายชื่อ รวมอยู่ด้วย แม้ก่อนหน้านี้ 2 วัน เขาเพิ่งออกมาเปิดเผยกับผู้สื่อข่าวว่าจะไม่ไปร่วมงานกับพรรคก้าวไกลเพราะ “ละเลยคนอีสาน” จนถูกเพื่อนร่วมพรรคบางส่วนรุมวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง
“คนอย่างผมถ้าไม่รู้จักบุญคุณคน คงไม่เดินกลับมา” นายคารมกล่าว ก่อนขยายความว่า “ผู้มีบุญคุณ” กับเขาหมายถึงนายธนาธรและนายปิยบุตรที่ร่วมกันหาเสียงและทุ่มเทกันมาในคราวสังกัด อนค.
ท่าทีกลับไปกลับมาของนักการเมืองรายนี้ทำให้เกิดข้อกล่าวหาว่าเขาอาจเป็น “งูเห่าฝากเลี้ยง” ให้อยู่ในพรรคก้าวไกลหรือไม่ เจ้าตัวปฏิเสธทันควันโดยบอกว่า “คนอย่างผมใครฝากไม่ได้ ถ้ายังอยู่ก็อยู่ ถ้าจะไปก็คือไป”
บีบีซีไทยตรวจสอบสถานะการเข้าสังกัดพรรคการเมืองของอดีต ส.ส.อนค. ทั้ง 65 คน พบว่าทุกคนมีสังกัดใหม่เรียบร้อยแล้ว แม้มี ส.ส. อยู่ 4 คนไม่ได้เดินทางมายังที่ทำการพรรคก้าวไกลวันนี้ก็ตาม แต่ได้แจ้งเหตุผลความจำเป็นส่วนตัวต่อ กก.บห. พร้อมประสานงานส่งเอกสารต่าง ๆ และฝากเงินมาชำระค่าสมาชิกพรรคเรียบร้อย
- พรรคก้าวไกล : 54 คน
- พรรคภูมิใจไทย : 9 คน
- พรรคชาติไทยพัฒนา : 1 คน
- พรรคชาติพัฒนา : 1 คน
นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร โฆษกพรรคก้าวไกล ขึ้นประกาศต่อหน้าสมาชิกพรรคว่า อดีต ส.ส.อนค. ได้สมัครเป็นสมาชิกพรรคก้าวไกล 54 คน พร้อมเดินหน้าหาสมาชิกพรรคให้ได้ตามเป้าหมาย 1 แสนคน
ลูกศรสีส้มพุ่งไปทางขวา คือตราสัญลักษณ์ (โลโก) ใหม่ของพรรคก้าวไกล สื่อถึง “การขับเคลื่อนไปข้างหน้าสู่อนาคต” ในยุคหลังปรับโครงสร้างพรรคโดยมีคนการเมืองสังกัด อนค. เดิมเข้ามาเป็น “ผู้ปกครอง” คณะใหม่
ก่อนกลายเป็นพรรคก้าวไกลในวันนี้ ผู้ก่อตั้งและหัวหน้าพรรคคนเดิมได้แจ้งเปลี่ยนชื่อพรรคการเมืองแห่งนี้ถึง 3 ครั้งในรอบ 6 ปี
- 2557 ยื่นขอจดจัดตั้งพรรคและได้รับการรับรองจาก กกต. ให้ใช้ชื่อ “พรรคร่วมพัฒนาชาติไทย” มีนายธนพล พลเยี่ยม เป็นหัวหน้าพรรค
- ก่อนเลือกตั้ง 2562 เปลี่ยนชื่อเป็น “พรรคผึ้งหลวง” มี ดร.ก้องภพ วังสุนทร เป็นหัวหน้าพรรค
- หลังเลือกตั้ง 2562 เปลี่ยนกลับไปใช้ชื่อ “พรรคร่วมพัฒนาชาติไทย” อีกครั้ง มีนายธนพล พลเยี่ยม กลับมาเป็นหัวหน้าพรรครอบ 2
- 2563 เปลี่ยนชื่อเป็น “พรรคก้าวไกล” มีนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เป็นหัวหน้าพรรคคนใหม่
ดร.ก้องภพ วังสุนทร อดีตหัวหน้าพรรคผึ้งหลวง และอดีตประธานที่ปรึกษายุทธศาสตร์พรรคร่วมพัฒนาชาติไทย กล่าวกับบีบีซีไทยว่า เขาได้อำนวยความสะดวกในการประสานให้ตัวแทนสาขาพรรคและตัวแทนพรรคประจำจังหวัด เข้าร่วมประชุมใหญ่วิสามัญฯ เพื่อให้ครบองค์ประกอบตามกฎหมาย แต่ขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการตัดสินใจว่าจะร่วมงานกับพรรคก้าวไกลต่อไปหรือไม่ แม้ชื่นชอบการทำงานการเมืองรูปแบบใหม่ในสภาของอดีต อนค. แต่สิ่งที่กังวลใจคือ “กระแสในอดีต” ของพรรคการเมืองนี้
“การทำงานการเมืองของผม เน้นพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากและเทิดทูนสถาบัน นี่ก็เป็นสิ่งที่เราต้องคิดหนัก” ดร.ก้องภพกล่าว
เดิม ดร.ก้องภพเป็นรองหัวหน้าพรรคพลังปวงชนไทย ก่อนออกมาลุยทำพรรคการเมืองของตัวเองเมื่อ 19 ม.ค. 2562 หลังทราบว่านายธนพลไม่ประสงค์จะทำพรรคร่วมพัฒนาชาติไทยต่อ จึงขอรับมาดูแลโดยเปลี่ยนชื่อใหม่เป็น “พรรคผึ้งหลวง” หวังสร้างความแปลกใหม่-การจดจำในทางการเมือง เนื่องจากมีระยะเวลาหาเสียงเพียงเดือนเศษ โดยที่เขาเห็นว่าผึ้งสื่อสัญลักษณ์ความสามัคคี ซึ่งเป็นสิ่งที่สังคมไทยต้องการมากที่สุดในขณะนั้น และไม่ต้องการใช้ชื่อพรรคที่ฟังคล้าย “คอมมิวนิสต์กลับใจ” ในช่วงทศวรรษ 2520 ลงสู่สนามเลือกตั้ง
“คุณธนพลเล่าให้ฟังว่าเดิมได้ยื่นขอจดจัดตั้งพรรค ‘ผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย’ เพราะแนวร่วมของแกเป็นประเภทนี้ แต่ กกต. ไม่อนุมัติ ก็เลยตัดคำว่า ‘ผู้’ ออก” ดร.ก้องภพระบุ
ในการเลือกตั้ง 24 มี.ค. 2562 พรรคผึ้งหลวงส่งผู้สมัคร ส.ส. ทั้ง 2 ระบบ รวม 100 คน แบ่งเป็น ส.ส.เขต 92 คน ส.ส.บัญชีรายชื่อ 18 คน
กก.บห. พรรคผึ้งหลวง 9 คน ต้องระดมขัน-ควักทุนรอนไปราว 1.1 ล้านบาท แบ่งเป็น ทุนประเดิมทำพรรค 1 ล้านบาท และค่าใช้จ่ายในการส่งผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.เขตหัวละ 10,000 บาท แม้ตั้งเป้าเก็บคะแนนเสียงตกน้ำของผู้สมัคร ส.ส.เขต มาแปรเป็นแต้มหิ้ว ส.ส. บัญชีรายชื่อเข้าสภา 10 คน แต่สิ่งที่ได้กลับไม่เป็นไปตามคาด เขาจึงคืนพรรคให้เจ้าของเดิม หลังได้รับ “ข้อมูลใหม่”
“ช่วงเดือน ธ.ค. 2562 คุณธนพลแจ้งว่ามีคนจะมาสนับสนุนพรรค ตอนนั้นผมยอมรับว่าหนัก หากต้องเป็นหัวหน้าพรรคต่อรอการเลือกตั้งครั้งต่อไปซึ่งไม่รู้จะมีขึ้นเมื่อไร จึงถอยออกมา โดยที่คุณธนพลให้ผมเป็นประธานที่ปรึกษายุทธศาสตร์พรรค โดยที่ผมก็ไม่รู้ว่าเป็น อนค. ที่เข้ามาเป็นพันธมิตรกับเราในเวลาต่อมา แต่ตอนนั้นเขาก็ถูกตั้งคดียุบพรรคแล้ว” ดร.ก้องภพกล่าว
ในระหว่างการเปิด-ปิดดีลภายใน 3 เดือนนี้ ดร.ก้องภพอ้างว่า ไม่มีส่วนรู้เห็น เป็นเรื่องที่นายธนพลดำเนินการ ส่วนตัวไม่รู้จักกับ กก.บห.อนค. และ กก.บห.พรรคก้าวไกลชุดใหม่
กับประวัติศาสตร์การเมืองไทยที่ว่ามีการตั้ง “พรรคจิ๋ว” รอให้ “พรรคใหญ่” มา “เซ้งพรรค” ในกรณีเกิดอุบัติเหตุการเมือง อดีตหัวหน้าพรรคจิ๋วชี้ว่า ไม่ได้เป็นเช่นนั้นเสมอไป พร้อมยืนยันว่า พรรคเล็กพรรคนน้อยก็มีอุดมการณ์ แต่มีข้อจำกัดเรื่องทุน
“เราอยากทำงานการเมือง แต่พอทำไม่ไหว มีพรรคใหญ่เข้ามา เราก็ต้องยอม อย่าเรียกว่าเซ้ง ให้เรียกว่าเป็นพันธมิตรครับ” ดร.ก้องภพกล่าว
