ยุคเอโดะในญี่ปุ่น หรือยุคที่เรียกว่ายุคโทกูงาวะ ค.ศ. 1603 – ค.ศ. 1868 คือยุคที่มีไดเมียวตระกูลโทกูงาวะเป็นโชกุน เริ่มเมื่อโทกูงาวะ อิเอยาซุ ได้รวบอำนาจและตั้งรัฐบาลโชกุนขึ้นที่เอโดะ (ปัจจุบันคือโตเกียว) ใน ค.ศ. 1603 และหลังจากนั้นอีก 260 ปี การปกครองทั้งหลายก็ตกอยู่ในอำนาจของตระกูลโทกูงาวะ รัฐบาลเอโดะได้ลิดรอนอำนาจจากจักรพรรดิ เชื้อพระวงศ์ และพระสงฆ์จนหมดสิ้น และปกครองเกษตรกรไปทีละเล็กละน้อย เมื่อเกษตรกรอันเป็นฐานอำนาจของรัฐบาลเอโดะยากจนลงจนเดือดร้อน การปกครองของตระกูลโทกูงาวะก็เริ่มสั่นคลอนลงตั้งแต่เข้าศตวรรษที่ 19

ยุคเอโดะในญี่ปุ่น ยุคนี้เป็นยุคที่วัฒนธรรมของราษฎรสามัญเจริญจนถึงที่สุด ตั้งแต่ปลายศตวรรษที่ 17 จนถึงต้นศตวรรษที่ 18 เป็นยุคของวัฒนธรรมเก็นโรกุ (元禄文化 Genroku-bunka) ซึ่งเป็นของนักรบผสมกับราษฎรสามัญ มีศูนย์กลางอยู่ที่เมืองใหญ่ ๆ อย่างเกียวโตหรือโอซากะ เอกลักษณ์คือละครหุ่น ละครคาบูกิ และหัตถกรรมต่าง ๆ มีศิลปินกำเนิดจากราษฎรสามัญมากมาย เช่น นักเขียนอย่างอิฮาระ ไซกากุ (井原西鶴 Ihara Saikaku) นักกลอนไฮกุอย่างมัตสึโอะ บาโช (松尾芭蕉 Matsuo Bashou) นักแต่งบทละครหุ่น ละครคาบูกิอย่างชิกามัตสึ มนซาเอมง (近松門左衛門 Chikamatsu Monzaemon) จนเมื่อศตวรรษที่ 19 ศูนย์กลางของวัฒนธรรมได้ย้ายไปอยู่เอโดะ เป็นยุคของวัฒนธรรม คะเซ (化政文化 Kasei-bunka) ซึ่งเป็นวัฒนธรรมของชนชาวเมือง อันได้แก่ นวนิยาย ละครคาบูกิ ภาพอูกิโยะ บุนจิงงะ เป็นต้น
การศึกษาและวิชาการก็เจริญรุ่งเรือง ชนชั้นนักรบเล่าเรียนปรัชญาของขงจื๊อและหลักคำสอนจูจื่อ (朱子学 Shushi-gaku) ซึ่งเป็นปรัชญาพื้นฐานที่ค้ำจุนการปกครองของรัฐบาลเอโดะ การศึกษาเกี่ยวกับญี่ปุ่นและดัตช์ (ฮอลันดา) (蘭学 Ran-gaku) เจริญรุ่งเรืองตั้งแต่ศตวรรษที่ 18 เป็นต้นมา มีการเปิดโรงเรียนตามหัวเมืองต่าง ๆ เพื่อลูกหลานของชนชั้นนักรบ ราษฎรสามัญเองก็นิยมส่งลูกหลานเรียนหนังสือเช่นกัน
ใน ค.ศ. 1600 ยุทธการที่เซกิงาฮาระ ทำให้โทกูงาวะ อิเอยาซุ ไดเมียวผู้มีอำนาจหลังจากการอสัญกรรมของไทโกโทโยโตมิ ฮิเดโยชิกลายเป็นผู้ปกครองญี่ปุ่นโดยเบ็ดเสร็จปราศจากไดเมียวที่จะท้าทายอำนาจ และอิเอยาซุยังสามารถอ้างการสืบเชื้อสายจากตระกูลมินาโมโตะโบราณได้ จึงได้รับการแต่งตั้งจากราชสำนักเกียวโตให้เป็นเซอิไทโชกุน ใน ค.ศ. 1603 เป็นจุดเริ่มต้นของรัฐบาลเอโดะหรือ เอโดบากูฟุ ที่ปกครองโดยตระกูลโทกูงาวะเป็นระยะเวลาประมาณสองร้อยห้าสิบปี
การติดต่อกับชาวตะวันตกและการปิดประเทศ
ในช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่สิบเจ็ด ชาวฮอลันดาและชาวอังกฤษได้เข้ามาติดต่อค้าขายที่เมืองนางาซากิ ซึ่งโชกุนอิเอยาซุก็ได้ให้การต้อนรับอย่างดี ด้วยเหตุที่ชาวฮอลันดาและชาวอังกฤษเข้ามาทำการค้าขายเพียงอย่างเดียวไม่เผยแผ่ศาสนา ในค.ศ. 1604 โชกุนอิเอยาซุมีคำสั่งให้วิลเลียม อดัมส์ (William Adams) ต่อเรือแบบตะวันตกให้แก่ญี่ปุ่นครั้งแรก และอนุญาตให้ชนชั้นพ่อค้าล่องเรือออกไปค้าขายยังอาณาจักรต่างๆในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้ เรียกว่าเรือตราแดงหรือชูอินเซ็ง (ญี่ปุ่น: 朱印船 โรมาจิ: Shuinsen) ทำให้พ่อค้าชาวญี่ปุ่นเป็นคู่แข่งรายสำคัญของชาวฮอลันดาในภูมิภาค และใน ค.ศ. 1609 โอโงโชอิเอยาซุได้ออกประกาศอนุญาตให้บริษัทอินเดียตะวันออกของดัตช์เข้ามาตั้งสถานีการค้าที่เมืองฮิราโดะ ใกล้กับเมืองนางาซากิ และใน ค.ศ. 1613 ไดเมียวดาเตะ มาซามูเนะฃฃได้ส่งฮาเซกูระ สึเนนางะ ไปเจริญสัมพันธไมตรีกับชาติต่าง ๆ ในทวีปยุโรป เรียกว่า คณะทูตปีเคโจ
ใน ค.ศ. 1605 โชกุนอิเอยาซุได้สละตำแหน่งโชกุนให้แก่บุตรชายคือโทกูงาวะ ฮิเดตาดะแต่อำนาจการปกครองยังคงอยู่ที่อิเอยาซุซึ่งดำรงตำแหน่งโอโงโช หรือโชกุนผู้สละตำแหน่ง โอโงโชอิเอยาซุถึงแก่อสัญกรรมในค.ศ. 1616 เมื่อโชกุนฮิเดตาดะขึ้นมามีอำนาจ ได้ดำเนินการปราบปรามชาวคริสเตียนอย่างรุนแรง ในค.ศ. 1622 ได้ทำการสังหารชาวคริสเตียนจำนวนห้าสิบคนที่เมืองนางาซากิ (Great Martyrdom of Nagasaki) เรียกว่า การปราบปรามชาวคริสเตียนปีเง็นนะ ใน ค.ศ. 1615 โชกุนฮิเดตาดะได้ออกกฎหมายซามูไรหรือบูเกชูฮัตโตะ ออกมาเป็นฉบับแรกของสมัยเอโดะ ในค.ศ. 1623 โชกุนฮิเดตาดะได้สละตำแหน่งให้แก่บุตรชายคือโชกุนโทกูงาวะ อิเอมิตสึ แล้วลงมาดำรงตำแหน่งเป็นโอโงโช การปราบปรามชาวคริสต์ระลอกใหญ่เกิดขึ้นอีกครั้งใน ค.ศ. 1629 ที่เมืองนางาซากิ โดยทางบากูฟุได้บังคับให้ชาวเมืองกระทำการฟูมิเอะ คือการเหยียบย่ำลงบนรูปของพระเยซูเพื่อพิสูจน์ว่าตนไม่ได้เป็นคริสเตียน
โอโงโชฮิเดตาดะถึงแก่อสัญกรรมใน ค.ศ. 1632 ทำให้โชกุนอิเอมิตสึมีอำนาจเต็มในการปกครองญี่ปุ่น โชกุนอิเอมิตสึเป็นโชกุนคนแรกที่เติบโตมาอย่างนักปราชญ์และไม่เคยผ่านประสบการณ์สงครามมาก่อน ใน ค.ศ. 1635 โชกุนอิเอมิตสึได้ออกกฎหมายซังกิงโกไต บังคับให้ไดเมียวของทุกแคว้นต้องพำนักอยู่ในเมืองเอโดะหนึ่งปีสลับกับอยู่ในแคว้นของตนอีกหนึ่งปี เป็นการลดทอนอำนาจของไดเมียวไม่ให้มีการซ่องสุมอำนาจหรือกำลังทหารในแคว้นของตนได้ การกดขี่ชาวคริสเตียนอย่างหนักและภาวะอดอยากทำให้ชาวคริสเตียนบนแหลมชิมาบาระและเกาะอามากูซะ อันเป็นส่วนหนึ่งของเกาะคีวชู ได้ก่อกบฏขึ้นในค.ศ. 1637 เรียกว่า กบฏชิมาบาระ ทัพของบากูฟุใช้เวลาถึงหนึ่งปีจนกระทั่งเข้ายึดปราสาทฮาระอันเป็นฐานที่มั่นของกบฏได้ใน ค.ศ. 1638
โชกุนอิเอมิตสึได้รับอิทธิพลจากที่ปรึกษาที่เป็นปราชญ์ขงจื๊อ โดยเฉพาะฮายาชิ ราซัง ให้ดำเนินนโยบายการปิดประเทศหรือไคกิง ซึ่งต่อมาภายหลังเรียกว่าซาโกกุ โดยการเลิกการค้าขายของเรือตราแดง เลิกการค้ากับชาวโปรตุเกส อนุญาตให้มีการค้าขายกับชาวจีนและฮอลันดาที่เมืองนางาซากิเท่านั้น และย้ายสถานีการค้าของฮอลันดาออกไปยังเกาะเดจิมะ รวมทั้งการห้ามชาวญี่ปุ่นออกนอกประเทศโดยระวางโทษถึงประหารชีวิต นโยบายปิดประเทศของโชกุนอิเอมิตสึส่งผลต่อการต่างประเทศของญี่ปุ่นไปเป็นเวลาอีกสองร้อยปี โดยที่มีชาวฮอลันดาเป็นชาวตะวันตกเพียงชาติเดียวที่ทำการค้ากับญี่ปุ่นอย่างเปิดเผย โดยมีไดเมียว 3 แคว้นเท่านั้นที่ได้รับการปิดตาข้างเดียวในการติดต่อกับต่างชาติ ได้แก่ ไดเมียวแคว้นเอโซ, เกาะสึชิมะ และแคว้นซัตสึมะ

1ม.ค1603(วันที่ประมาณการ)