Skip to content
Home » News » ระหว่างเหตุการณ์ กบฏเมษาฮาวาย

ระหว่างเหตุการณ์ กบฏเมษาฮาวาย

ระหว่างเหตุการณ์ กบฏเมษาฮาวาย
https://mgronline.com/onlinesection/detail/9630000040057

ระหว่างเหตุการณ์ กบฏเมษาฮาวาย คณะปฏิวัติพยายามดิ้นเฮือกสุดท้ายโดยจะอาศัยกำลังประชาชน นัดชุมนุมที่ท้องสนามหลวงในเวลา ๑๕.๓๐ น.ของวันที่ ๒ เมษายน ซึ่งนับเป็นวิธีการแปลกอีกอย่างของการทำรัฐประหารที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน มีประชาชนมาร่วมชุมนุมเป็นจำนวนหมื่น

พ.อ.ประจักษ์ สว่างจิตร ขึ้นปราศรัยเป็นคนแรก กล่าวว่าพลเอกเปรมเป็นคนดี ซื่อสัตย์ แต่ว่ามีลักษณะหลีกหนีการแก้ปัญหา และเผยที่ต้องทำปฏิวัติ คือการต่ออายุผู้บัญชาการทหารบก ซึ่งตนได้เข้าไปคัดค้านแล้ว แต่พล.อ.เปรมไม่ฟัง และบรรดาคณะรัฐมนตรีได้อาศัยความซื่อสัตย์ของ พล.อ.เปรมเป็นเกราะกำบังหาผลประโยชน์ใส่ตัว ทั้งยังเอาคนที่ไม่เหมาะสมมาร่วมรัฐบาล

ระหว่างเหตุการณ์ กบฏเมษาฮาวาย พ.อ.ประจักษ์เผยด้วยว่า ในวันเกิดเหตุปฏิวัติได้ไปบอก พล.อ.เปรมว่าจะทำปฏิวัติ พล.อ.เปรมจึงเดินไปโทรศัพท์กราบบังคมทูลสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ซึ่งสมเด็จพระราชินีได้รับสั่งขอพูดกับตน ตนก็ได้กราบบังคมทูลให้ทรงทราบเนื่องจากความจงรักภักดี แต่ระหว่างที่ตนกราบบังคมทูลทางโทรศัพท์อยู่นั้น พล.อ.เปรมถือโอกาสหนีออกจากบ้านเข้าไปในพระราชวัง กราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและทูลกระหม่อมทุกพระองค์ให้เสด็จพระราชดำเนินไปที่โคราช

พ.อ.ประจักษ์กล่าวว่า ตนขอยอมต่อสถาบันพระมหากษัตริย์เพียงสถาบันเดียว แต่สิ่งใดที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนจะต้องเอาประชาชนเป็นหลัก การปฏิวัติครั้งนี้ตนไม่ต้องการอำนาจ ขอเวลาเพียง ๓๐ วันเท่านั้น ๑๕ วันแรกจะตั้งรัฐบาลให้ได้ อีก ๑๕ วันจะประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับปี ๒๕๒๑

โดยตัดบทเฉพาะกาลออกเพื่อเป็นของขวัญประชาชน จากนั้นก็จะสลายจากการเป็นคณะปฏิวัติ และใน ๓๐ วันนี้ ถ้าหากพ่อค้าขายสินค้าเกินราคา นักธุรกิจไม่หวังดีต่อบ้านเมือง และข้าราชการที่ทุจริตคดโกง หากตักเตือนแล้วไม่ปฏิบัติตาม ต้องตายสถานเดียว

ขณะนั้นคณะปฏิวัติรู้ว่าฝ่าย พล.อ.เปรมเตรียมสู้เต็มที่ โดยกำหนดจะเปิดยุทธการยึดกรุงในคืนวันที่ ๒ จึงได้ออกแถลงการณ์เตือนว่า

“…คณะปฏิวัติไม่มีความประสงค์จะนองเลือด ขอให้ผู้คิดกระทำการแบบจนตรอกอย่างนั้นได้ระงับความคิดอันนั้น ถ้าท่านมีความบริสุทธิ์ใจที่แท้จริงต่อประชาชนชาวไทยแล้ว ขอให้มาสู้กันด้วยวิถีทางที่ถูกต้อง พิสูจน์ให้ประชาชนชาวไทยได้ทราบกันว่าใครถูกใครผิด ถ้าท่านเป็นนักประชาธิปไตยที่แท้จริง

ก็จงให้ประชามติเป็นเครื่องตัดสิน แต่ถ้าท่านเป็นผู้อ้างประชาธิปไตยเพื่อบังหน้า แล้วจะเคลื่อนกำลังเพื่อปะทะกัน ก็จงอย่าได้คิดว่าคณะปฏิวัติจะเลิกล้มความตั้งใจจริงที่มีต่อประชาชนชาวไทย ขอให้ พล.อ.เปรมและคณะโปรดคำนึงด้วยว่า อาวุธยุทโธปกรณ์ที่ซื้อมาด้วยทรัพย์สินของประชาชนนั้นจุดประสงค์ของประชาชนต้องการให้มีไว้เพื่อทำลายศัตรูภายนอกประเทศ หากท่านจะนำมาใช้กับคนไทยด้วยกัน ก็ขอโปรดระวัง ท่านจะไม่มีแผ่นดินให้ล้มตัวลงนอน”

ตอนเขียนแถลงการณ์นี้คงลืมไปว่า กำลังถืออะไรไปยึดอำนาจเขา

ตลอดคืนนั้นฝ่ายรัฐบาลได้ส่งกำลังทหารเสือราชินีจากกรมทหารราบที่ ๒๑ ร.อ.ชลบุรี กับกำลังจากพิษณุโลก แต่งกายเป็นพลเรือนกระจายกันเข้ากรุง พอเช้าก็เข้าเปลี่ยนชุดทหารขอรับอาวุธและพาหนะจากกรมกองที่ไม่ได้เข้ากับฝ่ายปฏิวัติ ลงมือเข้ายึดตึกกระทรวงต่างประเทศที่ถนนศรีอยุธยาเป็นอันดับแรก และใช้เป็นกองบัญชาการ

ขณะเดียวกันทหารนาวิกโยธินก็ยกมาทางสายบางนา-ตราด ตามที่พลเรือเอกสมุทร สหนาวิน ผู้บัญชาการทหารเรือได้ประกาศทางวิทยุ สทร.แล้วว่าไม่ได้ร่วมกับฝ่ายปฏิวัติ

ทหารฝ่ายรัฐบาลยึดกระทรวงการต่างประเทศและย่านนั้นไว้แล้ว ฝ่ายปฏิวัติก็ยังไม่ทราบ ฉะนั้นเมื่อ พล.ต.ทองเติม พบสุข พ.อ.ประจักษ์ สว่างจิตร และ พ.อ.สาคร กิจวิริยะ นั่งรถจิ๊ปออกตรวจแนวทหารฝ่ายปฏิวัติ มาถึงไฟแดงสี่แยกตรงมุมพระราชวังสวนจิตรฯ กับสนามม้าด้านทางรถไฟ

จึงเข้าตรวจแนวทหารที่รักษาการณ์อยู่แถวนั้นด้วยโดยคิดว่าเป็นทหารฝ่ายตน ร.อ.พงษ์เทพ กษิษฐานนท์ ผู้บังคับกองร้อยทหารเสือราชินีจึงควบคุมตัวได้อย่างคาดไม่ถึง ร.ท.นิพัทธ์ ทองเล็ก ทหารเสือราชินีในชุดปฏิบัติการอีกคนหนึ่งจึงเข้ามัดมือและถอดแว่นดำออก ร.ท.นิพัทธ์ ทองเล็ก ท่านนี้ ต่อมาก็คือ พลเอก นิพัทธ์ ทองเล็ก ปลัดกระทรวงกลาโหม

คงจะเป็นข่าวนี้เองที่ทำให้ พ.อ.มนูญ รูปขจรนำทหารใต้บังคับบัญชากลับเข้ากรมกอง และ พล.ท.วศิน อิศรางกูร ณ อยุธยา แม่ทัพภาคที่ ๑ รองหัวหน้าคณะปฏิวัติได้โทรศัพท์ติดต่อ พล.อ.เปรมขอมอบตัว โดยเดินทางไปถึงโคราชด้วยเฮลิคอปเตอร์เมื่อเวลา ๑๓.๕๓ น.ในสภาพอิดโรยหม่นหมอง พร้อมด้วยภรรยาคู่ชีวิต ซึ่งกองอำนวยการฝ่ายรัฐบาลได้จัดบ้านในค่ายสุรนารีให้เป็นที่พัก

เมื่อผู้สื่อข่าวถาม พล.ต.อาทิตย์ กำลังเอก ถึงเรื่องที่รองหัวหน้าคณะปฏิวัติบินมามอบตัว พล.ต.อาทิตย์ก็บอกว่า
“ผมถามท่านว่าอาบน้ำมาหรือยัง ท่านบอกว่ายัง ผมก็ให้เจ้าหน้าที่หาผ้าเช็ดตัวให้ท่าน ก็แค่นั้น ยังไม่ได้คุยอะไรกันมากกว่านี้”

ส่วน พล.อ.สัณห์ หัวหน้าคณะปฏิวัติ ได้ใช้ความพยายามขั้นสุดท้าย ทำหนังสือกราบบังคมทูลให้นายบัญญัติ สุชีวะ ประธานศาลฎีกา เป็นผู้ถือไป แต่ทว่าหนังสือฉบับนี้มาล่าอย่างมาก คณะปฏิวัติได้ถึงจุดอับเข้าตาจนเสียก่อน พล.อ.สัณห์ จิตรปฏิมา จึงหลบขึ้นเฮลิคอปเตอร์ให้ไปส่งกลางป่า เพื่อเดินเท้าเข้าพม่าทางด้านกาญจนบุรี ขณะเดียวกันก็ปล่อยข่าวว่าลงใต้ถิ่นที่เคยรับราชการเพื่อเข้ามาเลเซีย

เด็กร้านขายของชำเล็กๆ ที่หมู่บ้านคลิตี้ ปากทางเข้าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านอำเภอศรีสวัสดิ์ จังหวัดกาญจนบุรีเล่าว่า ในบ่ายของวันที่ ๓ เมษายนหลังฝนตกหนักเพิ่งจางเม็ด มีชายกลุ่มหนึ่งเปียกฝนลุยโคลนขะมุกขะมอมมาขอน้ำล้างเท้า จึงถามชายสูงอายุรูปร่างท้วมที่นำขบวนมาว่า
“มาเที่ยวป่าหรือลุง?”

ชายผู้นั้นก็พยักหน้ารับ และเมื่อล้างเท้ากันหมดทุกคนแล้วก็ออกเดินทางต่อไป แต่เมื่อได้ดูข่าวทีวีภาคค่ำจึงจำได้ว่า ชายที่รับว่าไปเที่ยวป่ามานั้น ก็คือ พลเอกสัณห์ จิตรปฏิมา หัวหน้าคณะปฏิวัติผู้พ่ายแพ้นั่นเอง

เนื่องจากการปฏิวัติครั้งนี้จบลงอย่างแฮปปี้เอนดิ้ง และเกิดขึ้นในเดือนเมษายนซึ่งเป็นเดือนที่มีงานรื่นเริงสโมสรที่เวทีลีลาศสวนลุมพินีในชื่อ “เมษาฮาวาย” เป็นประจำ หนังสือพิมพ์ทั้งหลายจึงให้ฉายากบฏครั้งนี้ด้วยอารมณ์ขันว่า “เมษาฮาวาย”

กลุ่มนายทหารยังเติร์กที่ถูกปลดประจำการและได้รับอภัยโทษในภายหลัง บางคนก็ได้กลับเข้ารับราชการ และไต่เต้าจนเกษียณในยศพลเอก อย่าง พันเอกพัลลภ ปิ่นมณี เกษียณราชการในยศพลเอก

และเป็นที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี พันเอกประจักษ์ สว่างจิตร หันไปทางทำธุรกิจจนประสบความสำเร็จอย่างมาก พันเอกมนูญ รูปขจร ลงสมัครรับเลือกตั้งได้รับความสำเร็จสูงถึงตำแหน่งประธานวุฒิสภา แม้แต่พันโทวินัย สมพงษ์ ก็เป็นรัฐมนตรีว่าการคมนาคม

ตอนจับอาวุธจะยึดอำนาจเขา ตกม้าตายกันเป็นแถว