Skip to content
Home » News » รัฐประหาร พ.ศ.2500

รัฐประหาร พ.ศ.2500

รัฐประหาร พ.ศ.2500
https://th.wikipedia.org/wiki/รัฐประหารในประเทศไทย_พ.ศ._2500

รัฐประหาร พ.ศ.2500 รัฐประหาร 16 กันยายน พ.ศ. 2500 เป็นการรัฐประหารครั้งสำคัญ ที่ทำให้กลุ่มผู้นำรัฐบาลที่เคยมาจากคณะราษฎรสิ้นสุดลงอย่างสิ้นเชิงพร้อมกับเจตนารมย์ของการปฏิวัติ 2475 การรัฐประหารครั้งนี้ เป็นจุดเริ่มต้นของการฟื้นฟูสถานภาพของพระมหากษัตริย์ภายหลังการปฏิวัติทั้งทางการเมือง เศรษฐกิจและสังคมวัฒนธรรมให้กลับมาสูงเด่นจนสามารถกลายเป็นอุดมการณ์ทางการเมืองที่สำคัญในการเมืองไทยในปัจจุบัน

รัฐประหารโดยมีจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นหัวหน้าเพื่อโค่นรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงครามสมัยที่สอง เป็นการยุติยุคการเมืองสามเส้า (พ.ศ. 2490–2500) และเข้าสู่ยุคพ่อขุนอุปถัมถ์แบบเผด็จการและเผด็จการทหารที่ครองอำนาจจนถึงปี 2516 และการฟื้นฟูพระราชอำนาจที่เสื่อมลงตั้งแต่การปฏิวัติสยาม พ.ศ. 2475

รัฐประหาร พ.ศ.2500 สาเหตุเกิดจากขั้วอำนาจของจอมพล ป. และพลตำรวจเอกเผ่า พ่ายแพ้ต่ออิทธิพลของขั้วอำนาจกลุ่มเจ้าและอนุรักษนิยมที่เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยอาจมีชนวนเหตุมาจากความพยายามของ จอมพล ป. ในการนำตัว ปรีดี พนมยงค์ กลับประเทศเพื่อช่วยค้ำจุนอำนาจของตน ความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลกับสถาบันพระมหากษัตริย์และความเสื่อมนิยมอันเนื่องจากการเลือกตั้งสกปรกเมื่อต้นปีทำให้จอมพลสฤษดิ์ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นด้วย

ภูมิหลังและสาเหตุ

หลังจากรัฐประหารในประเทศไทย พ.ศ. 2490 ได้ทำให้อำนาจของคณะราษฎรหมดสิ้นลงไปอย่างสิ้นเชิง คณะรัฐประหารได้ชู จอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นผู้นำและนายกรัฐมนตรีสืบต่อมา อย่างไรก็ดี เขาไม่เหลือฐานอำนาจใด และการเมืองหลังจากนั้นอยู่ในการปกครองแบบสามเส้า ซึ่งมีการคานอำนาจกันระหว่าง จอมพล ป. กับฝ่ายกองทัพของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ และฝ่ายตำรวจของพลตำรวจเอก เผ่า ศรียานนท์

สถานการณ์ก่อนการรัฐประหาร

สถานการณ์การเมืองไทยในช่วงปลายทศวรรษที่ 2490 นั้นเป็นห้วงเวลาที่ความขัดแย้งระหว่าง การเมืองสามเส้า ระหว่างรัฐบาล ตำรวจและกองทัพ หรือการเมือง 3 เส้า(The Triumvirate) ซึ่งจอมพล ป. พิบูลสงคราม-นายกรัฐมนตรี ได้ใช้ทั้ง 2 กลุ่มคานอำนาจระหว่างกันตลอดมาในรอบหลายปีเพื่อรักษาเสถียรภาพของรัฐบาล

ดังนั้น ทางออกจากปัญหาการเมืองสามเส้า ในความคิดของจอมพล ป. คือการทำให้คู่แข่งขันทั้งหมด คือ จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ และพลตำรวจเอก เผ่า ศรียานนท์ เดินไปบนเส้นทางการแข่งขันทางการเมืองด้วยกระบวนการเลือกตั้งให้ประชาชนตัดสินใจและลดการใช้กำลังรัฐประหารลง

เนื่องจากอาจเป็นทางเลือกเดียวที่ดีที่สุด สำหรับจอมพล ป. นายกรัฐมนตรีที่ไม่มีอำนาจในการสั่งการกองทัพหรือตำรวจอย่างเต็มที่ ในขณะที่การต่อสู้ระหว่างการเมืองสามเส้าดำเนินไป กลุ่มอนุรักษ์-กษัตริย์นิยมเริ่มทวีบทบาทมากขึ้นอีกจนสามารถก้าวขึ้นมาเป็นกลุ่มการเมืองสำคัญได้

ภายหลังการเดินทางกลับจากการเยือนต่างประเทศในปี 2498 จอมพล ป. ได้เริ่มต้นโครงการพัฒนาประชาธิปไตยขึ้น ด้วยการอนุญาตให้มีการเปิดการปราศรัยหรือ “การไฮด์ปาร์ค” ที่ท้องสนามหลวงและตามจังหวัดต่างๆทั่วประเทศ จากนั้นได้มีการตราพระราชบัญญัติพรรคการเมือง 2498 ขึ้นเพื่อให้มีการจัดตั้งพรรคการเมืองแข่งขันกัน

พรรคการเมืองสำคัญๆ เช่น พรรคเสรีมนังคศิลา พรรคประชาธิปัตย์ พรรคเศรษฐกร พรรคเสรีประชาธิปไตย พรรคขบวนการไฮด์ปาร์ค พรรคชาตินิยม ฯลฯ จากนั้น รัฐบาลได้จัดการเลือกตั้ง 26 กุมภาพันธ์ 2500 การเลือกตั้งครั้งนี้ จอมพล ป. ได้ลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นครั้งแรกด้วย

ผลการเลือกตั้งปรากฎว่า จำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในกรุงเทพฯ จำนวน 9 ที่นั่ง นั้น

พรรคเสรีมนังคศิลา ประสบชัยชนะ 7 ที่นั่ง คือ
1.จอมพล ป. พิบูลสงคราม 5.พระยาลัดพลีธรรมประคัลภ์
2.พลเอก เภา เพียรเลิศ บริภัณฑ์ยุทธกิจ 6.พลเอก มังกร พรหมโยธี
3.พลอากาศโท มุนี มหาสันทนะ เวชยันต์รังสฤษดิ์ 7. พลเอก หลวงสวัสดิ์สรยุทธ์
4.พลโท บัญญัติ เทพหัสดิน ณ อยุทธยา

ส่วนพรรคประชาธิปัตย์ได้ 2 ที่นั่ง คือ
1.นายควง อภัยวงศ์ 2.นาวาโท พระประยุทธชลธี

ผลการเลือกตั้งรวมทั้งประเทศ ปรากฏว่า

พรรคเสรีมนังคศิลา ได้รับการสนับสนุนมากที่สุดถึง 83 ที่นั่ง
พรรคประชาธิปัตย์ 28 ที่นั่ง
พรรคเสรีประชาธิปไตย 11 ที่นั่ง
พรรคธรรมาธิปัตย์ 10 ที่นั่ง
พรรคเศรษฐกร 8 ที่นั่ง
พรรคชาตินิยม 3 ที่นั่ง
พรรคขบวนการไฮด์ปาร์ค 2 ที่นั่ง
พรรคอิสระ 2 ที่นั่ง และ
ผู้สมัครอิสระไม่สังกัดพรรค 13 ที่นั่ง รวม 160 ที่นั่ง

ภายหลังการเลือกตั้งสิ้นสุดลง การประท้วงการเลือกตั้งได้เริ่มต้นขึ้น อย่างกว้างขวาง โดยเริ่มจากนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ชักธงชาติลงครึ่งเสาเพื่อไว้อาลัยการเลือกตั้ง ได้เริ่มต้นขึ้น จากนั้นนิสิตนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยาลัยการศึกษา ฯลฯ

และประชาชนได้รวมตัวกันประท้วงการเลือกตั้งที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ต่อมา รัฐบาลได้ประกาศภาวะฉุกเฉิน ในวันที่ 2 มีนาคม 2500 จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้เดินทางมาที่จุฬาลงกรณ์เพื่อกล่าวปราศรัยและรับทราบความไม่พอใจของนิสิตนักศึกษาและประชาชน

นิสิตได้ขออนุญาตจอมพลสฤษดิ์เดินขบวนประท้วง ซึ่งจอมพลสฤษดิ์อนุญาต ทำให้จอมพลสฤษดิ์เริ่มได้รับความนิยมจากนิสิตนักศึกษาและประชาชนมากขึ้น ในขณะที่ความนิยมของจอมพล ป.และพลตำรวจเอก เผ่า นั้นเริ่มเสื่อมความนิยมตกลงอย่างรวดเร็ว

ไม่แต่เพียงปัญหาทางการเมืองเท่านั้น ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลกับพระมหากษัตริย์ยังคงไม่ราบรื่น นับแต่ การรัฐประหาร 2494 และการร่างรัฐธรรมนูญ 2495 ที่ไม่ถวายอำนาจให้พระมหากษัตริย์เข้ามามีบทบาทการเมืองตามรัฐธรรมนูญเท่านั้น แต่ในปี 2496 พระมหากษัตริย์และรัฐบาลยังขัดแย้งกันเรื่องกฎหมายการปฏิรูปที่ดิน

โดยรัฐบาลมุ่งจำกัดการถือครองที่ดินขนาดใหญ่และช่วยเหลือเกษตรกรรายย่อย แต่ทว่าการปฏิรูปที่ดินนี้ องคมนตรีไม่เห็นด้วยโดยให้เหตุผลว่าไทยไม่ได้ขาดแคลนที่ดินถึงขนาดต้องปฏิรูปที่ดิน พระมหากษัตริย์ทรงเห็นด้วยกับองคมนตรีและทรงชะลอการการลงพระนามประกาศใช้กฎหมาย อย่างไรก็ตาม

รัฐบาลยังคงยืนยันความจำเป็นของกฎหมายฉบับนี้ ท้ายสุดพระองค์ก็ยอมลงพระนามประกาศใช้กฎหมาย อีกทั้ง ในปี 2500 ทรงไม่เสด็จเข้าร่วมงานการฉลอง 25 พุทธศตวรรษ เนื่องจากพระองค์ไม่พอพระทัยการจัดการที่ทำให้รัฐบาลกลายเป็นศูนย์กลางของงานแทนที่จะเป็นพระองค์ ทรงเห็นว่า จอมพล ป. “เมาอำนาจ” และมีความประสงค์จะเป็น “พระมหากษัตริย์องค์ที่สอง”

รัฐประหาร พ.ศ.2500 จอมพล ป. เป็นกลุ่มที่อยู่ในฐานะลำบากที่สุด

รัฐประหาร พ.ศ. 2500 อย่างไรก็ตาม ในกลุ่มผู้มีอำนาจทั้งสามนั้น จอมพล ป. เป็นกลุ่มที่อยู่ในฐานะลำบากที่สุด เนื่องจากไม่มีฐานกำลังเป็นของตนเอง แต่สิ่งที่จอมพล ป.ทำคือ การใช้สองกลุ่มคานอำนาจกันเอง และอีกด้านหนึ่ง คือ การแสวงหาแรงสนับสนุนจากประชาชนด้วยการเปิดให้มีบรรยากาศแบบ[ระบอบประชาธิปไตย|[ประชาธิปไตย]]

เช่น มีการไฮด์ปาร์ค ให้มีพรรคการเมือง มีการเลือกตั้ง และการพยายามดึงนายปรีดี พนมยงค์ซึ่งได้หลบหนีออกนอกประเทศไปภายหลังการรัฐประหาร 2494และต่อมาถูกโจมตีว่าอยู่เบื้องหลังการสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลให้กลับมาประเทศไทยเพื่อรื้อฟื้นคดีการสวรรคตขึ้นมาใหม่ ความคิดที่จะกลับไปคืนดีกับนายปรีดีนี้มาจากความรู้สึกว่า รัฐบาลมีแนวโน้มไม่มีเสถียรภาพ เพราะจอมพล ป. เห็นว่า จอมพลสฤษดิ์ มีแนวโน้มที่จะร่วมมือกับกลุ่มอนุรักษ์-กษัตริย์นิยม

ความคิดของจอมพล ป.การหาทางให้นายปรีดีเดินทางกลับมาไทยนี้ ในช่วงแรกพล.ต.อ.เผ่าไม่สู้จะเห็นด้วยนักกับความคิดนี้ แต่จอมพล ป. สามารถหว่านล้อมจนพล.ต.อ.เผ่าเห็นด้วยกับความคิดดังกล่าว[6] ต่อมา จอมพล ป.ได้เคยกล่าวกับนายปาล พนมยงค์ บุตรชายคนโตของนายปรีดี

หลังนายปาลได้รับนิรโทษกรรมความผิด และได้มาขอลาบวชกับจอมพล ป. ในเดือนมิถุนายน 2500 ที่ วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฏิ์ โดยจอมพล ป.ฝากข้อความไปยังนายปรีดีว่า “บอกคุณพ่อของหลานด้วยนะว่า ลุงอยากให้กลับมาช่วยลุงทำงานให้ชาติ ลุงคนเดียวสู้ศักดินาไม่ไหวแล้ว” จนกระทั่งน่าจะถึงฟางเส้นสุดท้ายระหว่างรัฐบาลกับพระมหากษัตริย์และกลุ่มอนุรักษ์-กษัตริย์นิยม

คือ การรื้อฟื้นคดีสวรรคตด้วยการนำนายปรีดี กลับจากจีนมาไทย ต่อมาหลักฐานจากสถานทูตสหรัฐฯได้รายงานถึงความพยายามของกลุ่มอนุรักษ์-กษัตริย์นิยมในการแทรกแซงการเมืองและมุ่งโค่นล้มรัฐบาลจอมพล ป.

ในปีเดือนเมษายน 2500 กลุ่มอนุรักษ์-กษัตริย์นิยมและกองทัพภายใต้การนำของจอมพลสฤษดิ์ได้เคลื่อนไหวเตรียมแผนรัฐประหาร โดยมีแกนนำสำคัญของกลุ่มอนุรักษ์-กษัตริย์นิยมเข้าประชุมร่วมกับกองทัพ เช่น กรมหมื่นพิทยาลาภพฤฒิยากร(พระองค์เจ้าธานี)-ประธานองคมนตรี ม.ร.ว.เสนีย์ และ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช

ต่อมาแผนการดังกล่าวได้ดำเนินการผ่านการโจมตีรัฐบาลผ่านหนังสือพิมพ์ของกลุ่มอนุรักษ์-กษัตริย์นิยม(สยามรัฐ) และพรรคฝ่ายค้าน เช่น พรรคประชาธิปัตย์และพรรคสหภูมิ ทั้งนี้ การอภิปรายในสภาผู้แทนฯ ก่อนรัฐบาลถูกรัฐประหาร ได้มีการเปิดเผยในสภาผู้แทนฯว่า พระมหากษัตริย์ทรงให้เงินสนับสนุนเงินจำนวน 700,000บาท ให้กับ ม.ร.ว.เสนีย์ และพรรคประชาธิปัตย์ใช้เคลื่อนไหวทางการเมือง

ไม่แต่เพียงกลุ่มอนุรักษ์-กษัตริย์นิยมเท่านั้นที่เคลื่อนไหว จากรายงานของหน่วยข่าวกรองสหรัฐฯรายงานว่า พระมหากษัตริย์ได้ทรงเสด็จมามาพบ ม.ร.ว.เสนีย์ ที่บ้านส่วนพระองค์เป็นการลับในยามค่ำคืนเสมอๆ ด้วย

ในเวลาเดียวกันช่วงปลายเดือนสิงหาคม การเมืองไทยได้ร้อนระอุขึ้นเมื่อมีการอภิปรายทั่วไปโดยมี พรรคฝ่ายค้านนำโดยพรรคประชาธิปัตย์ สหภูมิ ฯลฯ เป็นผู้เสนอญัตติ ข้อหนึ่งกล่าวหารัฐบาลว่า รัฐบาลนี้ไม่สามารถรักษากฎหมายบ้านเมือง เป็นเหตุให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยและได้มีการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพขึ้นในประเทศ

โดยการอภิปรายทั่วไปได้เริ่มต้นในวันที่ 26-27 สิงหาคม 2500 การอภิปรายในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับข้อกล่าวหานี้ ได้มีการกล่าวถึงเนื้อความในหนังสือพิมพ์ว่า

“ หนังสือพิมพ์ ไทยเสรี ฉบับวันที่ 17 พฤษภาคม 2500 กล่าวว่า มีเจ้ากลุ่มหนึ่งมีกิเลสทราม ถือเอาวันมงคลยี่สิบห้าพุทธศตวรรษมาเป็นเครื่องนำโฆษณามุ่งโจมตีรัฐบาล… สำหรับ ฉบับ 15 มิถุนายน ภายใต้หัวข้อว่าถือเอาวันฉัตรมงคลแจกเหรียญศักดินามโหฬาร คนด่าทั่วเมืองให้เหรียญแข่งไข้หวัดทั้งฝ่ายล่างฝ่ายบน ”

หลวงอรรถพิศาล(ตราด) อภิปรายเสริมว่า

“ หนังสือพิมพ์ ไทยเสรี ที่ลงข่าว จั่วหัวว่า เจ้าผยองนัก เจ้าล้างศาสนา เจ้าจะตายโหง เจ้าวางแผนคว่ำรัฐประหาร … และมีใจความว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวนั้นไม่ได้เสร็จไปร่วมพิธีงานฉลอง 25 พุทธศตวรรษ เพราะเหตุว่า ประชวรเป็นไข้ ส่วนจอมพลสฤษดิ์ฯ เป็นไข้หวัดอย่างหนัก แต่อุตส่าห์ไปร่วมงานพิธีฉลอง 25 พุทธศตวรรษ แล้วยังลงต่อไปว่า ฝ่ายเจ้า พวกเจ้าอัปรีย์ พวกเจ้านายชั้นผู้ใหญ่อัปรีย์ ซึ่งไม่ไปร่วมในงานนี้ให้ตายโหงตายห่า ”

นายพีร์ บุนนาค (สุพรรณบุรี )อภิปรายต่อไปว่า

“…สงสัยว่า หนังสือพิมพ์ไทยเสรี จะมีเบื้องหลังในทางการเมืองเพื่อที่จะคิดล้มล้างอำนาจกษัตริย์เป็นแน่แท้…” และ “ มีข่าวลืออย่างนี้ครับ… นี้เกี่ยวกับอธิบดี(ตำรวจ)โดยตรงเลย เกี่ยวกับฯ พณฯ รัฐมนตรีมหาดไทย ในการประชุมพรรคเสรีมนังคศิลา ณ ทำเนียบรัฐบาล เมื่อเวลาบ่ายโมง วันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2498 นี้

ผมได้มาจากในพรรคของท่านนั้นเอง ซึ่งประชุมเฉพาะ ก่อนที่ประชุมเฉพาะส.ส. มนังคศิลา ประเภท 1 เขาบอกว่า ฯพณฯ นายพลตำรวจเอกเผ่า ศรียานนท์ นี้ รัฐมนตรีมหาดไทย ได้ชี้แจงให้ที่ประชุมทราบต่อหน้าฯฯ พณฯ จอมพลป.พิบูลสงครามว่า ได้มีหลักฐาน แน่นอนว่า ประทานโทษครับ ในหลวงทรงมอบเงิน 7 แสนบาทให้ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช และนายควง อภัยวงศ์ มาเล่นการเมืองในพรรคประชาธิปัตย์ ”

นายพีร์ กล่าวต่อไปว่า

“…บอกว่า มีการประชุมวางแผนการประกาศภาวะฉุกเฉิน เมื่อที่แล้วมาครับ เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2500 นี้ ได้มีการประชุมในที่หนึ่ง ได้มีบุคคลชั้นจอมพลไปนั่งในที่ประชุมนั้น เว้นไว้แต่ฯพณฯจอมพลแปลก พิบูลสงคราม นี้เป็นข้อเท็จจริง เขาว่าอย่างนี้ ถ้าไม่มีอะไร แถลงออกมาเสีย ตอบมาแล้วประชาชนจะมั่นใจว่า รัฐบาลนี้และโดยเฉพาะนายพลตำรวจเอกเผ่า ศรียานนท์ ยังเคารพสักการะองค์พระเจ้าอยู่หัวอยู่ ”

จอมพลอากาศฟื้น รณนภากาศฯ(รองนายกรัฐมนตรี) ประท้วง

นายพีร์ กล่าวแทรกว่า “… เขาบอกอย่างนี้ครับ บอกว่า ฯพณฯ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย นายพลตำรวจเอกเผ่า ศรียานนท์ โปรดเสนอให้มีการจับกุมองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและรัฐมนตรีบางคนและนักการเมืองบางคน ว่าอย่างนี้ครับ”

ประธานสภาฯ ให้นายพีร์ถอนคำพูด

นายพีร์ “เมื่อไม่มีอะไร ก็บอกว่าไม่มี กระผมไม่ว่าอะไรหรอก จะให้เป็นประวัติศาสตร์รอยจารึก”
(ประท้วงกันวุ่นวาย)

ประธานฯ ผมบอกให้ถอนเสีย

นายพีร์ “ถอนก็ได้ ผมไม่อยากเห็นการนองเลือดในเมืองไทย…”