Skip to content
Home » News » สงครามไครเมีย

สงครามไครเมีย

สงครามไครเมีย (อังกฤษ: Crimean War, ตุลาคม ค.ศ. 1853 – กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1856)เป็นสงครามระหว่างจักรวรรดิรัสเซียฝ่ายหนึ่ง กับพันธมิตรอันประกอบด้วยจักรวรรดิฝรั่งเศส จักรวรรดิอังกฤษ จักรวรรดิออตโตมัน และราชอาณาจักรซาร์ดิเนียอีกฝ่ายหนึ่ง สงครามนี้เป็นส่วนหนึ่งของการแข่งขันอันยาวนานระหว่างมหาอำนาจยุโรปเพื่อมีอิทธิพลเหนือดินแดนของออตโตมันที่เสื่อมอำนาจลง สงครามส่วนใหญ่เกิดขึ้นในคาบสมุทรไครเมีย แต่ยังมีการทัพขนาดเล็กในอนาโตเลียตะวันตก คอเคซัส ทะเลบอลติก มหาสมุทรแปซิฟิก และทะเลขาว

สงครามไครเมีย
https://www.silpa-mag.com/history/article_60985

สงครามไครเมีย เป็นที่รู้จักกันเนื่องด้วยข้อผิดพลาดทางพลาธิการและยุทธวิธีระหว่างการทัพทางบกของทั้งสองฝ่าย ส่วนกองทัพเรือนั้น การทัพฝ่ายสัมพันธมิตรประสบความสำเร็จในการทำลายเรือส่วนใหญ่ของกองทัพเรือรัสเซียในทะเลดำ แม้กระนั้น บางครั้งสงครามดังกล่าวถูกมองว่าเป็นหนึ่งในสงคราม “สมัยใหม่” ครั้งแรก ๆ เพราะมัน “ได้นำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงทางเทคนิคซึ่งส่งผลกระทบต่อเส้นทางสงครามในอนาคต” ซึ่งรวมไปถึงการใช้ทางรถไฟและโทรเลขในทางยุทธวิธีเป็นครั้งแรกด้วย นอกจากนี้ สงครามดังกล่าวยังมีชื่อเสียงจากผลงานของฟลอเรนซ์ ไนติงเกลและแมรี ซีโคล ผู้บุกเบิกการประกอบกิจพยาบาลขณะให้การดูแลทหารอังกฤษที่ได้รับบาดเจ็บ

สงครามไครเมียเป็นหนึ่งในสงครามครั้งแรก ๆ ที่มีการบันทึกอย่างกว้างขวาง ทั้งเป็นลายลักษณ์อักษรและภาพถ่าย ที่โดดเด่นเป็นผลงานของวิลเลียม รัสเซลล์ ผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์เดอะไทมส์ และโรเจอร์ เฟนตัน ตามลำดับ ข่าวส่งถึงอังกฤษจากไครเมียเป็นครั้งแรกที่สาธารณชนได้รับทราบข้อมูลเกี่ยวกับความเป็นไปของสงครามแบบวันต่อวัน

ด้วยเหตุที่ออตโตมันเป็น “คนป่วยแห่งยุโรป” จักรวรรดิที่อ่อนแอจึงตกเป็นเป้าหมายของชาติมหาอำนาจยุโรป ความอ่อนแอนี้นำมาสู่ความวุ่นวายตลอดช่วงศตวรรษที่ 18-19 ต้นเหตุของสงครามไครเมียก็เป็นผลสืบเนื่องมาจากความอ่อนแอของออตโตมัน จากการที่ออตโตมันถูกฝรั่งเศสบีบบังคับทำสนธิสัญญาใน ค.ศ. 1852 โดยให้สิทธิ์พิเศษแก่ฝรั่งเศสในการเข้าไปดูแลวิหารแห่งนครเยรูซาเล็ม และคุ้มครองคริสต์ศาสนิกชนโรมันคาทอลิกในดินแดนศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งเป็นพื้นที่ภายใต้การปกครองของออตโตมัน

อย่างไรก็ตาม สนธิสัญญานี้ทับซ้อนกับ “สนธิสัญญาชุกไกนาร์จี” ที่ออตโตมันให้สิทธิ์พิเศษแก่รัสเซียในการปกครองคริสต์ศาสนิกชนกรีกออร์ธอด็อกซ์ในดินแดนออตโตมัน ซึ่งทำสนธิสัญญากันมาตั้งแต่ ค.ศ. 1774 รัสเซียไม่พอใจอย่างมาก พยายามบีบบังคับให้ออตโตมันยกเลิกสนธิสัญญากับฝรั่งเศส แต่ออตโตมันปฏิเสธ เพราะถือว่าเป็นการล่วงละเมิดอำนาจอธิปไตย ซึ่งออตโตมันสามารถทำข้อตกลงกับประเทศใดก็ได้

รัสเซียจึงส่งกองทัพเข้าไปยึดมอลเดเวียและวัลเลเคีย (ปัจจุบันอยู่ในประเทศโรมาเนีย) ดินแดนภายใต้การปกครองของออตโตมัน พร้อมส่งกองทัพเรือประชิดช่องแคบบอสฟอรัส ซึ่งเป็นบริเวณที่ตั้งกรุงอิสตันบูล เมืองหลวงของออตโตมัน หวังบีบบังคับให้ยอมรับข้อเรียกร้องของรัสเซีย ออตโตมันจึงขอความช่วยเหลือไปยังอังกฤษและฝรั่งเศส อังกฤษเองต้องการรักษาเสถียรภาพของออตโตมันไม่ให้ล่มสลาย นอกจากนี้ ออตโตมันยังมีประโยชน์กับอังกฤษในด้านการค้า และการปกป้องผลประโยชน์ในอัฟกานิสถานและอินเดีย ซึ่งเป็นดินแดนภายใต้การปกครองของอังกฤษ ขณะที่ฝรั่งเศสต้องการเพิ่มบทบาทการเมืองระหว่างประเทศ จักรพรรดินโปเลียนที่ 3 ซึ่งเพิ่งครองราชย์ก็ต้องการเสียงสนับสนุนจากพวกคาทอลิกในประเทศ จากการทำสนธิสัญญากับออตโตมัน

จากประเด็นความขัดแย้งทางศาสนาระหว่างคริสต์ศาสนาต่างนิกายกันนี้ ทำให้ชาวคริสต์ในอังกฤษและฝรั่งเศสได้ประณามโจมตีคริสตจักรกรีกออร์ธอด็อกซ์ของรัสเซียผ่านสื่อสิ่งพิมพ์ ขณะที่ชาวรัสเซียและชาวเติร์กหลายคนมองว่าความขัดแย้งครั้งนี้เป็นสงครามศักดิ์สิทธิ์ระหว่างศาสนาคริสต์ตะวันออก คือคริสต์ศาสนานิกายกรีกออร์ธอด็อกซ์ กับศาสนาอิสลาม

แม้จะมีความพยายามเจรจาระหว่างสทั้งองฝ่ายแต่ก็ไม่เป็นผล ในที่สุดออตโตมันประกาศสงครามต่อรัสเซียในวันที่ 4 ตุลาคม ค.ศ. 1853 ออตโตมันส่งเรือพิฆาตขนาดเล็ก 7 ลำ เรือลาดตระเวณขนาดเล็ก 3 ลำ และเรือปืนขับเคลื่อนไอน้ำ 2 ลำ ไปโจมตีเมืองชายฝั่งของรัสเซียในบริเวณทะเลดำ เรือของออตโตมันซึ่งทำจากไม้ ถูกกองเรือรัสเซียทำลายอย่างรวดเร็วภายในเวลาเพียง 4 ชั่วโมง ทหารเรือตุรกีเสียชีวิต 4,000 คน ความพ่ายแพ้นี้ทำให้อังกฤษและฝรั่งเศสต้องรีบให้ความช่วยเหลือออตโตมันอย่างเร่งด่วน กระทั่งประกาศสงครามต่อรัสเซียเมื่อวันที่ 28 มีนาคม ค.ศ. 1854

ในช่วงเวลาที่อังกฤษและฝรั่งเศสกำลังเตรียมทำสงคราม ได้มีความพยายามเจรจาทางการทูตเพื่อโน้มน้าวให้ออสเตรียซึ่งเป็นพันธมิตรกับรัสเซียเข้าร่วมกับฝ่ายตน อย่างไรก็ตาม ออสเตรียลังเลที่จะให้ความช่วยเหลือหรือเข้าร่วมกับฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง เพราะการที่รัสเซียยึดครองมอลเดเวียและวัลเลเคียนั้น ส่งกระทบต่อเศรษฐกิจของออสเตรียและดินแดนแถบแม่น้ำดานูบ

ในเดือนสิงหาคม ค.ศ. 1854 รัสเซียจึงยอมถอยทัพออกจากมอลเดเวียและวัลเลเคีย เพราะเกรงว่าออสเตรียจะเข้าร่วมกับออตโตมันและฝ่ายพันธมิตร ซึ่งรัสเซียไม่ต้องการทำสงครามเพิ่มอีกด้านหนึ่ง ต่อมา ออสเตรียได้ประกาศวางตัวเป็นกลาง ซึ่งสร้างความผิดหวังให้กับทั้งสองฝ่าย เพราะต่างฝ่ายต่างต้องการดึงออสเตรียมมาเข้าร่วมกับฝ่ายตน

เมื่ออังกฤษและฝรั่งเศสเตรียมกองทัพเสร็จสิ้น ในเดือนกันยายน ค.ศ. 1854 จึงเริ่มบุกจุดยุทธศาสตร์สำคัญ ๆ ของรัสเซีย ทั้งที่เทือกเขาคอเคซัส, ทะเลบอลติก, ทะเลขาว ซึ่งอยู่ในทางตะวันตกเฉียงเหนือของรัสเซีย และโจมตีข่มขวัญรัสเซียที่เมืองท่า Petropavlovsk บริเวณคาบสมุทรคัมชัตคาในมหาสมุทรแปรซิฟิกอีกทางหนึ่ง เพื่อบีบบังคับให้รัสเซียยอมแพ้ ขณะที่บริเวณโดยรอบทะเลดำ อังกฤษและฝรั่งเศสยกกองทัพที่มีทหาร 50,000 คน ขึ้นบกที่คาบสมุทรไครเมีย เพื่อมุ่งยึดเมืองเซวัสโตปอล (Sevastopol) อันเป็นฐานทัพเรือที่สำคัญของรัสเซีย

ต้น ค.ศ. 1855 อาณาจักรปีมอนต์-ซาร์ดิเนีย (อิตาลีตอนเหนือ) หวังได้รับแรงสนับสนุนในการรวมชาติอิตาลีจากอังกฤษและฝรั่งเศส จึงได้เข้าร่วมสงครามต่อสู้กับรัสเซีย โดยส่งทหารราว 17,000 คน เข้าร่วมรบ

การสู้รบดำเนินไปอย่างดุเดือดกินเวลายาวนาน กองทัพพันธมิตรปิดล้อมเมืองเซวัสโตปอลนานกว่า 11 เดือน ซึ่งสร้างความเสียหายอย่างหนักต่อทั้งสองฝ่าย ทหารที่อยู่ในสนามเพลาะท่ามกลางอากาศหนาวเหน็บได้รับความทุกข์ทรมานอย่างมาก และอาการ “Shell Shock” ซึ่งเกิดจากการระดมยิงปืนใหญ่อย่างหนัก จนทำให้เกิดความเครียดสะสมและกลัวจนสติแตก จนกระทั่งในเดือนกันยายน ค.ศ. 1855 ฝ่ายพันธมิตรจึงสามารถยึดเมืองได้สำเร็จ

https://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%AA%E0%B8%87%E0%B8%84%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%A1%E0%B9%84%E0%B8%84%E0%B8%A3%E0%B9%80%E0%B8%A1%E0%B8%B5%E0%B8%A2

1ต.ค.1853(วันที่ประมาณการ)