
สนธิสัญญาแวร์ซาย (อังกฤษ: Treaty of Versailles) เป็นสนธิสัญญาสันติภาพฉบับสำคัญที่สุดที่ยุติสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง จัดทำขึ้นเมื่อวันที่ 28 มิถุนายน ค.ศ. 1919 ณ พระราชวังแวร์ซาย กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ซึ่งเป็นการยุติสถานะสงครามระหว่างฝ่ายสัมพันธมิตรและจักรวรรดิเยอรมัน
ซึ่งเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ในสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ส่วนกลุ่มประเทศฝ่ายมหาอำนาจกลางอื่น ๆ มีการตกลงยกเลิกสถานภาพสงครามด้วยสนธิสัญญาฉบับอื่น แม้จะได้ลงนามสงบศึกตั้งแต่วันที่ 11 พฤศจิกายน ค.ศ. 1918 แล้วก็ตาม การประชุมสันติภาพที่กรุงปารีสกินเวลานานกว่าหกเดือน จึงได้มีการสรุปสนธิสัญญาฯ
ผลจาก สนธิสัญญาแวร์ซาย กำหนดให้จักรวรรดิเยอรมันต้องยอมรับผิดในฐานะผู้ก่อสงครามแต่เพียงผู้เดียว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ภายใต้ข้อตกลงข้อ 231 (ภายหลังรู้จักกันว่า “อนุประโยคความรับผิดในอาชญากรรมสงคราม”) และในข้อ 232–248 เยอรมนีถูกปลดอาวุธ ยกดินแดนให้แก่ประเทศอื่น
ตลอดจนต้องชดใช้ค่าปฏิกรรมสงครามให้แก่กลุ่มประเทศฝ่ายไตรภาคีจำนวนมหาศาล เมื่อปี ค.ศ. 1921 ประเมินว่ามูลค่าของค่าปฏิกรรมสงครามที่เยอรมนีจะต้องจ่ายนั้นสูงถึง 132,000 ล้านมาร์ก (ราว 31,400 ล้านดอลล่าร์สหรัฐ หรือ 6,600 ล้านปอนด์)[1][a] นักเศรษฐศาสตร์ในขณะนั้น
รวมทั้งจอห์น เมย์นาร์ด เคนส์ ผู้แทนบริติช ณ การประชุมสันติภาพปารีส พยากรณ์ว่าสนธิสัญญาฯ โหดร้ายเกินไป เป็น “สันติภาพคาร์เธจ” และว่ายอดค่าปฏิกรรมนั้นสูงเกินและไม่สร้างสรรค์ ซึ่งเป็นทัศนะที่เป็นหัวข้อถกเถียงในหมู่นักประวัติศาสตร์และนักเศรษฐศาสตร์มานับแต่นั้น แต่ในขณะเดียวกัน ผู้นำฝ่ายสัมพันธมิตรบางคน เช่น จอมพลแฟร์ดีน็อง ฟ็อชชาวฝรั่งเศส วิจารณ์สนธิสัญญาฯ ว่าละมุนละม่อมกับเยอรมนีมากเกินไป
ผลของเป้าหมายซึ่งชิงชัยและบางทีก็ขัดแย้งกันในหมู่ผู้ชนะเกิดเป็นข้อประนีประนอมที่ทำให้ทุกฝ่ายไม่พอใจ และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง เยอรมนีซึ่งไม่ถูกกำราบให้ราบคาบ หรือปรองดอง หรือถูกทำให้อ่อนแออย่างถาวร ปัญหาที่เกิดจากสนธิสัญญาฯ จะนำไปสู่สนธิสัญญาโลคาร์โน ซึ่งปรับปรุงความสัมพันธ์ระหว่างเยอรมนีกับชาติยุโรปอื่น และการเจรจาระบบค่าปฏิกรรมสงครามจนเกิดเป็นแผนการดอวส์, แผนการยัง
และการเลื่อนการชำระค่าปฏิกรรมสงครามออกไปอย่างไม่มีกำหนดที่การประชุมโลซาน ค.ศ. 1932 บางทีอ้างว่าสนธิสัญญาฯ เป็นสาเหตุของสงครามโลกครั้งที่สอง แม้ว่าผลกระทบแท้จริงไม่ได้รุนแรงอย่างที่หวาดกลัวกัน แต่ข้อกำหนดยังทำให้เกิดความเดียดฉันท์ใหญ่หลวงในเยอรมนีจนขับเคลื่อนความเจริญของพรรคนาซี
ภายหลังจากการลงนาม เยอรมนีก็ประสบปัญหาทั้งทางด้านเศรษฐกิจและสังคม และจุดประกายให้ในเวลาต่อมา “อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ (Adolf Hitler)” และพรรคนาซี (Nazi) เรืองอำนาจ และเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 ในอีก 20 ปีต่อมาเมื่อพูดถึงความเป็นมาของสนธิสัญญาแวร์ซาย
ก็ต้องย้อนไปตั้งแต่ปีค.ศ.1918 (พ.ศ.2461)“วูดโรว วิลสัน (Woodrow Wilson)” ประธานาธิบดีแห่งสหรัฐอเมริกาในเวลานั้น ได้กล่าวสุนทรพจน์ต่อสภา ในเดือนมกราคม ค.ศ.1918 (พ.ศ.2461) โดยแสดงวิสัยทัศน์ ชี้ให้เห็นว่าเขาวางแผนไว้ยังไงหลังสงครามจบลง
“หลักการ 14 ข้อ (14 Points)” ของวิลสัน ได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของการอยู่ร่วมกัน ท่ามกลางความแตกต่างทางชาติพันธุ์ของชาติต่างๆ ในยุโรป
วิลสันได้เสนอให้มีการจัดตั้งความร่วมมือระหว่างชาติต่างๆ ที่จะทำหน้าที่ไกล่เกลี่ยเมื่อเกิดความขัดแย้งระหว่างประเทศ รวมทั้งให้ความร่วมมือแก่ชาติต่างๆ โดยมีจุดประสงค์เพื่อป้องกันการเกิดสงครามใหญ่เช่นนี้อีกในอนาคตต่อมา ความร่วมมือนี้ได้กลายเป็นที่รู้จักในนามของ “องค์การสันนิบาตชาติ (League of Nations)”สำหรับหลักการทั้ง 14 ข้อ ได้แก่
1.การทูตต้องกระทำอย่างเปิดเผย ไม่มีความลับ
2.ทุกชาติควรมีสิทธิที่จะสำรวจท้องทะเลได้ตามต้องการ
3.ทุกชาติควรมีการค้าเสรี ทำให้กำแพงเศรษฐกิจระหว่างชาติต่างๆ หมดไป
4.ทุกชาติควรจะต้องลดอาวุธ เพื่อความปลอดภัยของสาธารณชน
5.ชาติอาณานิคม ควรได้รับการปกครองอย่างยุติธรรม
6.ฟื้นฟูดินแดนและอิสรภาพของรัสเซีย
7.เบลเยี่ยมควรได้รับอิสรภาพ
8.แคว้นอาลซัส-ลอแรน ควรกลับคืนสู่ฝรั่งเศส และฝรั่งเศสควรได้รับเสรีภาพอย่างสมบูรณ์
9.ควรมีการแบ่งเขตชายแดนอิตาลีให้ชัดเจน
10.ผู้คนที่อาศัยอยู่ในจักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการี ควรมีสิทธิในการกำหนดอนาคตของตนเอง
11.รัฐบอลข่านควรได้สิทธิในการกำหนดอนาคตของตนเอง รวมทั้งเสรีภาพ
12.ชาวเติร์กและผู้ที่อยู่ใต้การปกครองของตุรกี ควรได้สิทธิในการกำหนดอนาคตของตนเอง
13.โปแลนด์ควรจะเป็นเอกราช
14.ต้องมีการจัดตั้งความร่วมมือระหว่างประเทศ เพื่อไกล่เกลี่ยเวลาเกิดข้อพิพาทระหว่างประเทศ

เมื่อผู้นำเยอรมนีได้ลงนามในสัญญาสงบศึกเมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน ค.ศ.1918 (พ.ศ.2461) ทำให้สงครามโลกครั้งที่ 1 จบลง ผู้นำเยอรมนีก็เชื่อว่าหลักการ 14 ข้อของวิลสัน จะเป็นรากฐานของสนธิสัญญาสันติภาพในอนาคตแต่พวกเขาคิดผิดต่อมา ได้มีการจัดการประชุมสันติภาพปารีส (Paris Peace Conference)
ในวันที่ 18 มกราคม ค.ศ.1919 (พ.ศ.2462) ซึ่งตรงกับวันที่ “จักรพรรดิวิลเฮ็ล์มที่ 1 แห่งเยอรมนี (Wilhelm I, German Emperor)” ขึ้นครองบัลลังก์ ภายหลังจากที่สงครามฝรั่งเศส-ปรัสเซีย (Franco-Prussian War) จบลงในปีค.ศ.1871 (พ.ศ.2414)ชัยชนะของปรัสเซียในครั้งนี้
ทำให้เยอรมนีกลายเป็นปึกแผ่น และทำให้เยอรมนียึดแคว้นอาลซัส-ลอแรน จากฝรั่งเศสในปีค.ศ.1919 (พ.ศ.2462) นี้เอง ฝรั่งเศสยังคงไม่ลืมความพ่ายแพ้ในครั้งนั้น และตั้งใจจะแก้แค้นในรูปแบบของสนธิสัญญาสันติภาพ
สำหรับสี่ผู้นำจากชาติที่ชนะสงคราม นั่นคือ “วูดโรว วิลสัน (Woodrow Wilson)” จากสหรัฐอเมริกา “เดวิด ลอยด์ จอร์จ (David Lloyd George)” จากสหราชอาณาจักร “ฌอร์ฌ เกลม็องโซ (Georges Clemenceau)” แห่งฝรั่งเศส
และ “วิตตอริโอ ออร์ลันโด (Vittorio Orlando)” แห่งอิตาลี คือสี่ผู้นำที่มีอำนาจที่สุดในการเจรจาสันติภาพที่ปารีสสำหรับเยอรมนีและจักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการี รวมทั้งบัลแกเรียและตุรกี ซึ่งแพ้ในสงคราม ไม่ได้ส่งตัวแทนมาในการประชุมนี้ รวมทั้งรัสเซียเองก็ไม่ได้ส่งตัวแทนมาเช่นกัน
สี่ผู้นำในชาติที่ชนะสงครามนี้ ต่างก็แข่งขันกันเอง โดยเกลม็องโซจากฝรั่งเศส ต้องการจะปกป้องฝรั่งเศสจากการถูกเยอรมนีรุกรานในอนาคต จึงเรียกร้องเงินค่าปฏิกรณ์สงครามเป็นจำนวนสูงลิบ เพื่อทำให้เศรษฐกิจของเยอรมนีนั้นตกต่ำ โอกาสที่เยอรมนีจะมารุกรานจะได้น้อยลงไปด้วย
ส่วนจอร์จจากสหราชอาณาจักร กลับอยากให้ฟื้นฟูเยอรมนี โดยมองว่าเยอรมนีจะเป็นคู่ค้าที่แข็งแกร่งต่อสหราชอาณาจักรทางด้านออร์ลันโดจากอิตาลี ก็ต้องการจะขยายอำนาจของอิตาลีออกไป ให้เป็นหนึ่งในมหาอำนาจ และมีบทบาทเคียงคู่กับชาติมหาอำนาจอื่นๆส่วนวิลสัน เขาต้องการที่จะให้โลกเปลี่ยนแปลงตามหลักการทั้ง 14 ข้อ
ในขณะที่ชาติอื่นๆ มองว่าวิลสันนั้นไร้เดียงสาและเพ้อฝันเกินไป อีกทั้งหลักการทั้ง 14 ข้อนี้ก็ยากที่จะแปลงเป็นนโยบายท้ายที่สุด เหล่าพันธมิตรยุโรปก็ได้ตกลงที่จะใช้ไม้แข็งกับเยอรมนี โดยบังคับให้เยอรมนีต้องสละดินแดนราว 10% รวมทั้งดินแดนต่างชาติอื่นๆ ที่เยอรมนีครอบครอง