สหรัฐฯ เฝ้าระวังก่อการร้าย บอสตัน มาราธอน หน่วยงานด้านความมั่นคงของสหรัฐอเมริการะดมกำลังเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังภัยก่อการร้ายที่อาจจะเกิดขึ้นในการแข่งขันบอสตัน มาราธอน เพื่อไม่ให้ซ้ำรอยเหตุระเบิดที่เกิดขึ้นเมื่อ 3 ปีก่อน
นายแฮงค์ ชอว์ รักษาการณ์หัวหน้าสำนักงานหน่วยสืบสวนสอบสวนกลาง (เอฟบีไอ) ในเมืองบอสตัน แถลงตรียมความพร้อมในการดูแลความปลอดภัยในการแข่งขันรายการบอสตัน มาราธอน ที่จะมีขึ้นในวันที่ 18 เม.ย.นี้ โดยระบุว่าจนถึงตอนนี้ทั้งเอฟบีไอ และหน่วยงานด้านข่าวอื่นๆ ยังไม่มีข้อมูลถึงภัยคุกคามที่อาจจะเกิดขึ้นในงานนี้
นับตั้งแต่เกิดเหตุระเบิดในงานบอสตัน มาราธอน เมื่อ 3 ปีก่อน ได้มีการก่อการร้ายครั้งรุนแรงเกิดขึ้นในโลกตะวันตก ทั้งที่กรุงปารีสของฝรั่งเศส เหตุกราดยิงในเมืองซานเบอร์นาดิโนของสหรัฐอเมริกา รวมถึงเหตุโจมตีที่กรุงบรัสเซลส์ของเบลเยียม เอฟบีไอได้เสาะหาและแลกเปลี่ยนข้อมูลกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงประเทศในเครือจักรภพอังกฤษ เพื่อเฝ้าระวังภัยก่อการร้ายที่อาจจะมีการเปลี่ยนแปลงเทคนิคการก่อเหตุ
สหรัฐฯ เฝ้าระวังก่อการร้าย บอสตัน มาราธอน สำหรับเหตุระเบิดในการแข่งขันบอสตัน มาราธอน เมื่อปี 2556 ทำให้มีผู้เสียชีวิต 3 คน บาดเจ็บ 264 คน โดยผู้ก่อเหตุเป็น 2 พี่น้องตระกูลซาร์นาเยฟ โดยนายโชการ์ วัย 22 ปีซึ่งเป็นน้องชายถูกตำรวจจับกุมได้ ขณะที่พี่ชายของเขาเสียชีวิตจากการยิงปะทะกับตำรวจ

เมื่อวันที่ 16 เมษายน 2556 เว็บไซต์ยาฮูนิวส์ รายงานว่าสำนักงานสืบสวนและสอบสวนกลางสหรัฐฯ (FBI), หน่วยข่าวสืบราชการลับ (CIA) และหน่วยต่อต้านการก่อการร้าย ระดมกำลังช่วยกันหาเบาะแสคนร้ายที่อยู่เบื้องหลังก่อเหตุระเบิดกลางนครบอสตัน รัฐแมสซาชูเซตส์จนเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต 3 ราย ซึ่งเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ถือว่าเป็นการโจมตีครั้งรุนแรงที่สุดในสหรัฐฯ นับตั้งแต่เหตุวินาศกรรม 11 กันยายน 2001 (พ.ศ. 2544)
รายงานระบุว่า จากเหตุระเบิดที่เกิดขึ้นได้ปลุกความทรงจำเกี่ยวกับการก่อวินาศกรรมครั้งเลวร้ายที่สุดในแผ่นดินใหญ่สหรัฐฯ เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2544 ขึ้นมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แม้ว่าโศกนาฏกรรมครั้งนี้จะไม่ก่อให้เกิดความสูญเสียมากเท่าเหตุการณ์ 9/11 ที่มีผู้เสียชีวิตกว่า 3,000 ราย แต่ก็ทำให้คำว่า “การก่อการร้าย” กลับกลายมาเป็นคำที่สร้างความหวาดกลัวให้แก่ชาวอเมริกันอีกครั้ง
อย่างไรก็ตาม จนถึงขณะนี้ยังไม่มีกลุ่มใดออกมาอ้างว่าเป็นผู้อยู่เบื้องหลัง แต่ประธานาธิบดีบารัค โอบามา ให้คำมั่นสัญญาว่าจะนำตัวผู้ที่อยู่เบื้องหลังมาลงโทษตามกระบวนการยุติธรรมให้ได้ แต่ยังย้ำว่าในขณะนี้ไม่ควรด่วนสรุปว่าเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดจากอะไร และ “ใคร” เป็นผู้อยู่เบื้องหลังเหตุการณ์ เนื่องจากยังไม่มีหลักฐานชัดเจนเพียงพอ และที่สำคัญนายโอบามาหลีกเลี่ยงที่จะใช้คำว่า “การก่อการร้าย” กับเหตุการณ์นี้ แม้ว่าทำเนียบขาวจะแถลงชัดเจนว่าเหตุระเบิดในงานบอสตันมาราธอนเข้าข่ายก่อการร้ายอย่างแน่นอนก็ตาม
ทั้งนี้ นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่มองว่า ถ้อยแถลงของนายโอบามาเป็นการรับมือกับวิกฤติการณ์ได้อย่างเหมาะสม โดยการจงใจหลีกเลี่ยงคำว่าการก่อการร้าย เพื่อไม่ให้มีการด่วนสรุปว่าเหตุการณ์ครั้งนี้เป็นฝีมือของชาวต่างชาติ เนื่องจากความเข้าใจของคนส่วนใหญ่มักโยงคำว่าก่อการร้ายเข้ากับคนต่างเชื้อชาติและศาสนา โดยเฉพาะชาวมุสลิม ซึ่งเป็นทัศนคติที่มีมาตั้งแต่หลังเหตุการณ์ 9/11
ขณะที่หลายฝ่ายก็ตั้งข้อสังเกตว่า การแบ่งรับแบ่งสู้และไม่เปิดเผยรายละเอียดใด ๆ เกี่ยวกับเหตุระเบิดของประธานาธิบดี โอบามา กลับทำให้รัฐบาลดูอ่อนด้อยประสิทธิภาพเนื่องจากจนถึงขณะนี้ก็ยังคงไม่มีเบาะแสใด ๆ เกี่ยวกับผู้ก่อเหตุวางระเบิด ทั้ง ๆ ที่บริเวณที่เกิดเหตุมีการถ่ายทอดสด จึงเต็มไปด้วยนักข่าวและกล้องทั้งของมืออาชีพและมือสมัครเล่นรวมถึงตั้งคำถามว่าทำไมหน่วยงานของรัฐบาล โดยเฉพาะ CIA ไม่ทราบล่วงหน้าว่าจะมีการก่อการร้าย และไม่ได้แจ้งเตือนเจ้าหน้าที่ตำรวจบอสตัน ทั้ง ๆ ที่มาตรการเฝ้าระวังการก่อการร้ายของสหรัฐฯ ถือว่าเข้มงวดยิ่งกว่าทุกประเทศในโลก
