สาเหตุการเปลี่ยนแปลงการปกครองใน ปี2475 แม้ว่า “24 มิถุนายน” จะหมดความสำคัญไปแล้วในปฏิทินวันสำคัญของชาติภายหลังที่เคยเป็น “วันชาติ” ต่อเนื่องมาเป็นเวลา 25 ปี, หากในบริบทของประวัติศาสตร์, วันที่ 24 มิถุนายน 2475 ก็ยังเป็นปรากฏการณ์ทางการเมืองที่สำคัญที่สุดวันหนึ่งในประวัติศาสตร์ชาติไทย
ณ วันนั้น ประเทศไทยได้เปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองจาก “สมบูรณาญาสิทธิราชย์” มาเป็น “ราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญประชาธิปไตย” หรือระบอบ “ประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข”, ซึ่งเป็นระบอบการปกครองของประเทศไทยต่อเนื่องมาเป็นเวลา 84 ปี (2559) โดยปราศจากแนวโน้มที่จะเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่น.
กลุ่มบุคคลที่ “ก่อให้เกิด” การเปลี่ยนแปลงการปกครองแผ่นดินดังกล่าวข้างต้นคือ “คณะราษฎร” ซึ่งทำหน้าที่ในบทบาทของ “ผู้ก่อการ” ให้การเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นผลสำเร็จ และสามารถดำเนินการต่อไปได้. “คณะราษฎร” ตระหนักดีว่าการสร้างระบอบใหม่ให้สมบูรณ์นั้นย่อมต้องใช้เวลายาวนานเกินกว่า “อายุ” ของ “คณะราษฎร”, จึงต้องเป็นภาระของบุคคลรุ่นต่อๆ ไป

สาเหตุการเปลี่ยนแปลงการปกครองใน ปี2475 สำหรับเหตุการณ์ในวันที่ 24 มิถุนายน 2475 ซึ่งเป็นวันที่ “คณะราษฎร” ประสบความสำเร็จในการยึดอำนาจรัฐ ตามมาด้วยการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ และการปฏิรูประเบียบแบบแผนการบริหารประเทศในระบอบใหม่, ตลอดจนการก่อตั้ง “คณะราษฎร” ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส เมื่อ 5 ปีก่อนหน้านั้น, ได้รับการศึกษา ค้นคว้า และบันทึกไว้เป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์อย่างครบถ้วนโดยนักประวัติศาสตร์และนักรัฐศาสตร์ ซึ่งมีรายละเอียดที่ไม่แตกต่างกันมากนัก.
ความแตกต่าง, ซึ่งมีลักษณะเป็น “ความเห็นต่าง”, จะเป็นประเด็นว่าด้วย “สาเหตุ” ของการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ซึ่งมีบุคคลบางกลุ่มไม่ยอมรับ “ปรากฏการณ์ 24 มิถุนายน 2475” โดยมีความเห็นว่า เป็นปฏิบัติการแย่งอำนาจจากพระมหากษัตริย์ก่อนที่จะพระราชทานรัฐธรรมนูญโดยพระองค์เอง ทั้งๆ ที่ทราบเรื่องอยู่แล้ว ทั้งนี้เพื่อหวังความเป็นใหญ่ในแผ่นดิน. แม้ว่าจะเป็นความคิดเห็นที่ปราศจากเหตุผลและข้อเท็จจริง, หากก็สามารถทำให้สาธารณชนบางส่วนที่ขาด “วิจารณญาณ” หลงเชื่อได้, ซึ่งเป็นเรื่องธรรมดาในสังคมไทยมาทุกยุคสมัย.
การเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี 2475 เป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติของ “วิวัฒนาการสังคม”, กล่าวคือเมื่อกาลเวลาผ่านไป, สังคมก็ย่อมจะเปลี่ยนแปลงรูปแบบไป เมื่อสิ่งที่ปรากฏอยู่แต่เดิม, แม้ว่าจะทรงคุณค่าเพียงใด, ไม่สามารถตอบสนองความต้องการที่เปลี่ยนไปตามกาลเวลา, ก็ไม่อาจคงอยู่ในรูปแบบเดิมได้. เมื่อใดที่มีการขัดขืนการเปลี่ยนแปลงทางสังคม, ก็ย่อมจะมีความขัดแย้งปรากฏในลักษณะใดลักษณะหนึ่ง. เหตุการณ์เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475 สะท้อนภาพดังกล่าว.
แต่เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อ 24 มิถุนายน 2475 เป็นการกระทำของกลุ่มบุคคล, ดังนั้นคำอธิบาย “สาเหตุ” ก็จะต้องมาจากผู้ที่เป็นหัวหน้าของกลุ่มบุคคลนั้นๆ, ซึ่งก็หมายถึงบรรดาสมาชิก “คณะราษฎร” ชั้นหัวหน้า. ส่วนหนึ่งของท่านเหล่านี้ก็คือผู้ที่ได้ร่วมกันก่อตั้ง “คณะราษฎร” ที่กรุงปารีส, และอีกส่วนหนึ่งก็คือนายทหารอาวุโส ผู้ซึ่งวางแผนและดำเนินการยึดอำนาจ ซึ่งเป็นปฏิบัติการทางทหาร.
ในกลุ่มผู้ก่อตั้ง “คณะราษฎร” ที่กรุงปารีส ซึ่งมีอยู่ด้วยกัน 7 ท่านนั้น, มีเพียง 2 ท่านที่ภายหลังได้มีโอกาสแสดงความในใจของตนอันเกี่ยวกับ “สาเหตุ” ในการคิดเปลี่ยนแปลงการปกครอง. ท่านหนึ่งก็คือ ท่านปรีดี พนมยงค์ ผู้ซึ่งได้รับมอบหมายเป็นเอกฉันท์ให้เป็นประธานที่ประชุม และหัวหน้า “คณะราษฎร” จนกว่าจะมีบุคคลที่เหมาะสมในกาลต่อไป. ท่านปรีดี พนมยงค์ ได้เรียบเรียงเรื่อง “บางเรื่องเกี่ยวกับการก่อตั้งคณะราษฎรและระบบประชาธิปไตย” ขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2515, หลังเหตุการณ์ 24 มิถุนายน 2475 ถึง 40 ปี.
อีกท่านหนึ่งของกลุ่มบุคคลผู้ก่อตั้ง “คณะราษฎร” ที่ได้อธิบายถึง “สาเหตุ” ของการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ก็คือ ท่านพลโท ประยูร ภมรมนตรี. เช่นเดียวกับ ท่านปรีดี พนมยงค์, พลโท ประยูร ภมรมนตรี มีโอกาสอรรถาธิบายเรื่องดังกล่าวในเวลาไล่ๆ กับท่านปรีดี พนมยงค์.
ทาง “ผู้ก่อการ” ฝ่ายทหาร, ท่านพลเอก พจน์ พหลโยธิน หรือพระยาพหลพลพยุหเสนา ผู้เป็นหัวหน้า “คณะราษฎร” ยึดอำนาจเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475 และดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีและผู้บัญชาการทหารบกระหว่างปี 2476-81 ได้ให้สัมภาษณ์ถึง “สาเหตุ” ที่ท่านตัดสินใจกระทำการใหญ่ ภายหลังที่พ้นจากตำแหน่งไปแล้ว เมื่อก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2.
สำหรับนายทหาร “ผู้ก่อการ” อาวุโสอีกท่านหนึ่งคือ พันเอก พระยาทรงสุรเดช ผู้ซึ่งได้เขียนบันทึกเรื่องการยึดอำนาจรัฐในวันที่ 24 มิถุนายน 2475 ไว้เมื่อปี 2482 ขณะที่ลี้ภัยการเมืองไปพำนักที่กรุงพนมเปญ กัมพูชา. นอกจากนั้นก็มีการให้สัมภาษณ์ของนายทหารอาวุโสท่านอื่นๆ บ้าง หากไม่มีความชัดเจนเรื่อง “สาเหตุ”. สำหรับสมาชิก “คณะราษฎร” ท่านอื่นๆ นั้น หากจะได้มีการกล่าวถึงเรื่องนี้บ้าง ก็เป็นการพูดถึงว่าได้รับการชักชวนจากผู้ที่เคารพและไว้วางใจ และตนเองก็มีความเห็นด้วย
