สโมสรเลสเตอร์ซิตี ด้วยจุดเริ่มต้นเป็นผู้สนับสนุนโฆษณาบนเสื้อนักฟุตบอล ก้าวสู่การเป็นเจ้าของสโมสร และแชมป์แชมเปี้ยนลีกกับทีมที่ก่อตั้งมายาวนานกว่า 132 ปีจนชนะลีกสูงสุด ทั้งหมดเริ่มต้นในปี ค.ศ. 2010/2011 โดยเข้าถือหุ้นสโมสรฟุตบอลเลสเตอร์ซิตี ร้อยละ 51
โดยขณะนั้น อัยยวัฒน์ ศรีวัฒนประภา อายุได้เพียง 25 ปี เท่านั้น และครอบครัวศรีวัฒนประภาได้ตัดสินใจซื้อหุ้นที่เหลือในปีเดียวกัน ต่อมาในฤดูกาลปี ค.ศ. 2013/2014 สโมสรฟุตบอลเลสเตอร์ซิตีได้คว้าแชมป์แชมเปียนชิพ และได้เลื่อนขั้นสู่พรีเมียร์ลีก มีรายงานว่า 7 สิงหาคม พ.ศ. 2559 นายวิชัยซื้อรถบีเอ็มดับเบิ้ลยู i8 ให้กับนักเตะทั้งหมด รวมมูลค่ากว่า 91 ล้านบาท
หลังจากทีมคว้าแชมป์เป็นครั้งแรกในระดับพรีเมียร์ลีก หนึ่งในคำพูดที่กล่าวถึงวิชัยจากหนึ่งในสมาชิกของทีมที่ได้กล่าวไว้คือ แคสเปอร์ ชไมเคิล ที่กล่าวถึงวิชัยไว้ว่า “วิชัยให้ความหวัง และสอนให้ทุกคนรู้ว่าไม่มีคำว่าเป็นไปไม่ได้”

สโมสรเลสเตอร์ซิตี ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับสโมสรเลสเตอร์ นับตั้งแต่ครอบครัวชาวไทยครอบครัวนี้เข้าไปบริหาร ที่เห็นเป็นรูปธรรมคือการทุ่มเงินปรับปรุงสนามแข่ง ขยายความจุสนาม พร้อมเปลี่ยนชื่อเป็น คิง เพาเวอร์ สเตเดี้ยม (King Power Stadium) ขยายปรับปรุงสนามซ้อม เติมสิ่งอำนวยความสะดวก อุปกรณ์ เครื่องไม้เครื่องมือล้ำ ๆ ราคาสูง ๆ แบบที่สโมสรใหญ่ ๆ มี เรียกว่าเป็นการยกระดับทุกอย่างให้เพื่อพัฒนาศักยภาพของเลสเตอร์ ให้ขึ้นไปสู้กับสโมสรใหญ่และกลางได้ และที่สำคัญคือการอนุมัติเงินซื้อตัวนักเตะปีละหลายคน
…เป็นการทุ่มเพื่ออนาคตที่ยังคาดหวังไม่ได้ในเวลาอันสั้น แต่ถ้าไม่ทำความสำเร็จก็จะไม่เกิด
“คุยกับคุณพ่อ ท่านบอกว่าทำทีมให้เหมือนเป็นทีมพรีเมียร์ลีกที่อยู่ในแชมเปี้ยนชิพสิ ถ้าวันหนึ่งได้ขึ้นพรีเมียร์ลีกจะไปได้ยาว เราก็เห็นด้วย แต่ตอนนั้นจะได้ขึ้นเมื่อไหร่ก็ยังไม่รู้นะ” อัยยวัฒน์เล่าวิสัยทัศน์ของคุณพ่อไว้ในหนังสือ
เมื่อเห็นความตั้งใจของผู้บริหารคนใหม่ แฟนบอลก็ลดการต่อต้านและเปิดใจยอมรับ และเมื่อเห็นพัฒนาการของสโมสร เจ้าของทีมคนใหม่จึงเป็นที่รักของแฟนบอลในที่สุด
จากทีมในลีกรอง เลสเตอร์ได้เลื่อนชั้นขึ้นมาเล่นในลีกสูงสุดในเวลา 4 ปี หลังจากที่มีเจ้าของใหม่
พอได้เลื่อนชั้นขึ้นพรีเมียร์ลีกในฤดูกาล 2014 เจ้าสัววิชัยบอกในการแถลงข่าวว่า “เรามีแผนจะขึ้นไปอยู่อันดับ 1 ใน 4 ของพรีเมียร์ลีก และไปเล่นแชมเปี้ยนส์ลีกให้ได้ภายใน 3 ปี” ทำเอานักข่าวฝรั่งขำก๊าก

แต่เพียงแค่ในฤดูกาลที่ 2 ที่เลื่อนชั้นขึ้นมา เลสเตอร์ก็สร้างปาฏิหาริย์คว้าแชมป์พรีเมียร์ลีก แบบที่ไม่มีใครคาดคิดในปี 2016 เป็นหนึ่งฤดูกาลในประวัติศาสตร์พรีเมียร์ลีกที่เหนือคาดที่สุดที่เคยมีมา และสำหรับเลสเตอร์ นี่คือแชมป์แรกของสโมสรนับตั้งแต่ก่อตั้งสโมสรมา 132 ปี
เป็นเวลา 6 ปี จากปี 2010 ที่เจ้าสัววิชัยเข้าซื้อสโมสรเลสเตอร์ จนถึงปี 2016 ที่ทีมคว้าแชมป์พรีเมียร์ลีกถือว่าเป็นเวลาที่น้อยมากในการพัฒนาและสร้างความสำเร็จให้ทีมฟุตบอลทีมหนึ่ง สื่อทุกสำนักและคนทั่วโลกต่างเรียกปรากฏการณ์ความสำเร็จของเลสเตอร์ในครั้งนั้นว่า “fairy tale” หรือ “เทพนิยาย”
หลายคนอาจคิดว่าผู้บริหารก็แค่มีเงินแล้วทุ่มเงินลงไป ไม่ได้มีส่วนในการทำให้ทีมประสบความสำเร็จมากเท่าผู้จัดการทีมและสตาฟโค้ช ที่มีส่วนกับการแข่งขันโดยตรง หรือถ้ามองว่าผู้บริหารมีส่วนในการสร้างความสำเร็จ ก็จะให้เครดิตไปที่ “ตัวเงิน” ของผู้บริหารคนนั้น ไม่ได้ให้เครดิตที่ “การบริหารของผู้บริหาร” ภาพในหัวของหลาย ๆ คนคิดว่า ผู้บริหารแค่นั่งเซ็นอนุมัติเงิน อนุมัติโครงการ และเข้าไปชมเกมในสนามบ้างในนัดสำคัญ ๆ แต่เราต้องไม่ลืมว่า ถ้าผู้บริหารไม่เห็นด้วยกับสิ่งที่ทีมงานเสนอ แล้วไม่เซ็นอนุมัติ สิ่งนั้นมันจะเกิดขึ้นได้หรือไม่ เพราะฉะนั้น ในความเป็นจริงแล้ว วิสัยทัศน์และแนวทางของผู้บริหารจึงสำคัญมากเช่นกัน โดยเฉพาะกับทีมเล็ก ๆ ที่ทุกอย่างยังไม่พร้อม เกือบต้องยกเครื่องใหม่ทั้งหมด
ยิ่งไปกว่านั้น สิ่งที่พ่อ-ลูกศรีวัฒนประภาทำกับเลสเตอร์ ไม่ใช่แค่การอนุมัติโปรเจ็กต์หรือทุ่มเงินลงไป แต่สิ่งสำคัญที่ต้องทำ คือ การแก้ปัญหาเดิมที่มีให้หายไป แน่ล่ะ หลายปัญหาใช้เงินแก้ได้ แต่หลายปัญหาเงินแก้ไม่ได้ ต้องแก้ด้วยใจ ยกตัวอย่างปัญหาเรื่องคน ที่สโมสรเลสเตอร์ ซิตี้ มีปัญหาคนต่อกันไม่ติด ระหว่างฝ่ายที่ดูแลเรื่องฟุตบอล ซึ่งทำงานอยู่ที่สนามซ้อมเป็นหลัก กับฝ่าย operation ที่ทำงานที่สนามแข่ง ซึ่งมีปัญหาฝังรากมานาน ผู้บริหารต้องไปแก้ปมปัญหานั้นให้คลี่คลาย ให้สองฝั่งไม่แยกฝักฝ่าย ทำงานประสานกันได้อย่างราบรื่น ซึ่งเจ้าของคนใหม่ก็ทำได้
ความสำเร็จของทีมจิ้งจอกสีน้ำเงิน จึงไม่ควรมองข้ามการทำงานของผู้บริหารชาวไทยพ่อ-ลูกคู่นี้
ข้อมูลการประเมินมูลค่าสโมสรเลเสเตอร์ ซิตี้ โดย Forbes เมื่อเดือนมิถุนายน 2561 ซึ่งประเมินจากผลประกอบการฤดูกาล 2016-2017 พบว่า สโมสรเลสเตอร์ ซิตี้มีรายรับรวมก่อนหักค่าใช้จ่ายและภาษี 408 ดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 14,431 ล้านบาท แบ่งเป็นสัดส่วนรายได้จาก
- ค่าลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสด (Broadcasting) 341 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 11,253 ล้านบาท คิดเป็น 68.2% ของรายรับทั้งหมด
- ขายสินค้า สปอนเซอร์ และโฆษณา (Commercial) 38 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 1,254 ล้านบาท คิดเป็น 7.6% ของรายรับทั้งหมด
- ค่าตั๋วเข้าชมและบริการต่าง ๆ ในวันแข่งขัน (Match Day) 29 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 957 ล้านบาท คิดเป็น 5.8% ของรายรับทั้งหมด
จากตัวเลขรายรับ 408 ล้านดอลลาร์สหรัฐบวกกับมูลค่าแบรนด์ “Leicester City Football Club” ตามการประเมินของ Forbes คือ 92 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สรุปออกมาเป็นมูลค่าสโมสรเลสเตอร์ ซิตี้ มูลค่า 500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 16,500 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 21 % จากปีก่อนหน้า