
หน่วยงานรัฐถกคดีโชกุน กระทรวงพาณิชย์ นำ 12 หน่วยงานรัฐร่วมถกล้อมคอกทัวร์ฉ้อโกง ต้มตุ๋นประชาชน เผยมีผู้แจ้งความร้องทุกข์แล้ว 360 คน รวมค่าความเสียหาย 15 ล้านบาท ส่วน 8 ผู้ต้องหาเครือข่ายปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา ยันไม่ได้หลอกลวง ย้ำเป็นบริษัทขายอาหารเสริมไม่ได้ขายทัวร์
ส่วนนำเที่ยวเป็นเพียงให้โอกาสคนไม่เคยไปต่างประเทศ ด้านอธิบดีดีเอสไอ สั่งเช็กความเชื่อมโยงกับคดีแชร์ลูกโซ่อื่น จ่อรับเป็นคดีพิเศษหากเป็นเครือข่ายเดียวกัน
เมื่อเวลา 10.00 น. วานนี้ (18 เม.ย.2560) ผู้สื่อข่าวรายงานจาก กองปราบปราม ว่า พล.ต.วิจารณ์ จดแตง หัวหน้าฝ่ายกฎหมายหน่วยเฉพาะกิจการข่าว คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) พ.อ.บุรินทร์ ทองประไพ เสนาธิการผู้บังคับบัญชาฝ่ายกฎหมาย คสช. พร้อมกำลังทหารจากมณฑลทหารบกที่ 11 (มทบ.11)
ควบคุมตัว นางมณฑญาณ์ นิรันดร อายุ 55 ปี มารดาของ น.ส.พสิษฐ์ อริญชย์ลาภิศ หรือ น.ส.ศรัณย์พัชร์ กิติขจรพัชร์ หรือ “ซินแสโชกุน” กรรมการบริหาร บริษัท เวลท์เอเวอร์ จำกัด ผู้ต้องหาตามหมายจับศาลอาญา ที่ 939/2560 ลงวันที่ 12เมษายน 2560 ข้อหาฉ้อโกงประชาชน,
นายก้องศรัณย์ แสงประภา อายุ 22 ปี, น.ส.ทัศย์ดาว สมัครกสิกรรณ์ อายุ 35 ปี แฟนสาวของ “ซินแสโชกุน”, นางประนอม พลานุสนธิ์ อายุ 40 ปี เลขานุการส่วนตัวของ “ซินแสโชกุน”, นางณิชมน แสงประภา อายุ 64 ปี, นางพารินธญ์ หงษ์หิรัญ ดัคกอร์ อายุ 35 ปี, น.ส.สุดารัตน์ เอนกนวล อายุ 25 ปี และนายโกวิท ช่วยสัตว์ อายุ 30 ปี รวม 8 ราย
ผู้ต้องหาตามหมายจับศาลอาญา ที่ 951-958/2560 ลงวันที่ 17 เมษายน 2560 ตามลำดับ ในข้อหาร่วมกันฉ้อโกงประชาชน และกระทำการอันเป็นอั้งยี่ ซ่องโจร ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 210 และ 343 ประกอบมาตรา 83 ส่งมอบให้พนักงานสอบสวน บก.ป.
พล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล รอง ผบ.ตร. กล่าวว่า หลังจาก พนักงานสอบสวนได้รับตัวผู้ต้องหาจากฝ่ายทหารมาแล้ว จากการตรวจร่างกายแพทย์ยืนยันว่าไม่มีร่อยรอยถูกทำร้ายและผู้ต้องหาก็ยืนยันว่าตลอดระยะเวลาที่อยู่ในค่ายไม่มีการทำร้ายร่างกาย
โดยจะดำเนินการตามขั้นตอนการสอบสวนซึ่งทางผู้ต้องหาทั้งหมดจะให้การอย่างไรก็เป็นสิทธิ โดยจะมีการจัดทนายความจากสภาทนายความให้ผู้ต้องหา อย่างไรก็ตาม ตนคงยังไม่ขอซักถามผู้ต้องหาในขณะนี้ว่าจะให้การรับสารภาพตามข้อกล่าวหาหรือไม่ โดยจะปล่อยให้พนักงานสอบสวนได้ดำเนินการหลังจากนี้ ก่อนนำส่งศาลฝากขังตามขั้นตอนต่อไป
สำหรับคดีดังกล่าวมีผู้เสียหายเข้าแจ้งความร้องทุกข์แล้ว 360 คน รวมมูลค่าความเสียหายประมาณ 15 ล้านบาท ขณะที่เจ้าหน้าที่สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ร่วมกับตำรวจ ทหาร สามารถติดตามยึดทรัพย์สินต่างๆ จากกลุ่มผู้ต้องหาในเบื้องต้น เช่น รถยนต์ เงินในบัญชีธนาคาร ทองรูปพรรณ คอนโดมิเนียม ฯลฯ รวมมูลค่ากว่า 15 ล้านบาท ส่วนการสอบสวนเบื้องต้นผู้ต้องหาทั้ง 8 รายให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา
แม่ “ทอมโชกุน” เชื่อลูกไม่เคยหลอกใคร
ด้าน นางมณฑญาณ์ นิรันดร มารดาของ “ทอมโชกุน” กล่าวว่า ตนขอปฏิเสธข้อกล่าวหาและตนไม่ได้เชิญชวนใคร ถ้าไปดูในเฟซบุ๊กส่วนตัวจะเห็นว่าตนอยากจะช่วยเหลือคนที่ฐานะยากไร้ ประสบความเดือดร้อน ถ้าคุณเข้ามาเป็นสมาชิกของบริษัท เวลท์เอเวอร์ จำกัด แล้วก็จะได้รับผลตอบแทนที่ดี เพียงแต่ว่าคุณต้องเป็นคนที่ตั้งใจทำงาน และเป็นคนดี ไม่ใช้อำนาจทำให้ใครเดือดร้อน
ส่วนกรณีที่มีการชักชวนให้ผู้เสียหายสมัครเป็นสมาชิกบริษัทนั้นตนไม่เกี่ยวข้อง เพราะไม่ได้มีหน้าที่ตรงนี้ ตนเป็นแค่มารดาของ “ซินแสโชกุน” เท่านั้น และขอยืนยันว่าบริษัท เวลท์เอเวอร์ จำกัด ไม่ได้ขายทัวร์สำหรับการนำไปเที่ยว เพียงแค่ต้องการให้โอกาสแก่คนที่ไม่เคยเดินทางไปต่างประเทศเลย
นางมณฑญาณ์ กล่าวอีกว่า กรณีที่มีภาพตนปรากฏอยู่บนเครื่องบินเช่าเหมาลำนั้น เป็นเพราะบุตรสาวอ้างว่าทำธุรกิจรับส่งนักธุรกิจโดยมีเครื่องบินเช่าเหมาลำทั้งหมด 8 ลำ เส้นทางระหว่างมาเก๊า-ฮ่องกง แต่ไม่รู้ว่าบุตรสาวเป็นเจ้าของเอง หรือเป็นเพียงแค่หุ้นส่วนเท่านั้น ส่วนคนที่ตนเคยเชิญชวนให้ร่วมเดินทางท่องเที่ยวมีอยู่ 2 คน คือ “อุ๊-มิณทร์ลดา เจริญทวีรัตน์” ดาราและพิธีกร อดีตรองมิสทีนไทยแลนด์ 2010
และอีกคนซึ่งตนจำชื่อไม่ได้ ส่วนนักธุรกิจชาวฮ่องกงนั้นตนก็ได้ข้อมูลมาจากบุตรสาวว่าจะเป็นผู้ดูแล จองเครื่องบิน และดำเนินการต่างๆ ให้ แต่ไม่เคยเจอตัวจริงและไม่เคยได้พูดคุยกัน ส่วนรายละเอียดเกี่ยวกับธุรกิจต่างๆ นั้นตนไม่ทราบเรื่องและไม่เคยเข้าไปยุ่งเกี่ยว แต่ยังเชื่อว่าลูกของตนไม่เคยหลอกลวงใครแน่นอน
เลขาฯ ส่วนตัว ยันไม่เคยพบนายทุนฮ่องกง
ขณะที่นางประนอม พลานุสนธิ์ เลขานุการของ “ซินแสโชกุน” กล่าวว่า ตนไม่เคยเชิญชวนใครให้ไปท่องเที่ยวที่ประเทศญี่ปุ่น มีแต่เพียงให้มาสมัครเป็นสมาชิกของบริษัท อลิเชี่ยน จำกัด เท่านั้น ส่วนโปรโมชันต่างๆ นั้น “ซินแสโชกุน” เป็นผู้กำหนด โดยตนไม่ทราบว่าส่วนต่างของเงินค่าสมัครสมาชิกนั้นไม่เพียงพอต่อการพาสมาชิกไปเที่ยวต่างประเทศได้ เพราะที่ผ่านมาตนเคยถาม “ซินแสโชกุน” ว่าได้เงินส่วนต่างมาจากไหน โดย “ซินแสโชกุน”
ตอบว่ามีงบจากนายทุนในต่างประเทศเป็นผู้ออกโฆษณาให้ ทุกครั้งที่สมาชิกสอบถามก็จะบอกรายละเอียดให้ทราบ ส่วนเรื่องรายได้ต่างๆ ตนไม่สามารถตอบได้ เพราะจะรับรู้ข้อมูลผ่านทาง “ซินแสโชกุน” เท่านั้น ทั้งนี้ ตนและสมาชิกของบริษัทก็ไม่เคยได้พบตัวนายทุนชาวต่างประเทศ มีเพียง “ซินแสโชกุน” เพียงคนเดียวที่ได้พบ ส่วนตัวเคยไปท่องเที่ยวที่ฮ่องกงมาครั้งเดียว ครั้งนั้นก็เป็นเพียงการไปท่องเที่ยวธรรมดา ไม่ได้ใช้ชักชวนอวดอ้างต่อสมาชิกเพื่อสร้างความน่าเชื่อถือแต่อย่างใด
แฟนสาวแจงเหตุใช้บ้านเป็นที่ตั้งบริษัท
ด้าน น.ส.ทัศย์ดาว สมัครกสิกรรณ์ แฟนสาวของ “ซินแสโชกุน” กล่าวว่า บริษัท เวลท์เอเวอร์ จำกัด ตั้งมาได้ประมาณ 3 เดือน โดยสาเหตุที่ใช้บ้านตนที่ จ.นครสวรรค์ เป็นสถานที่จดตั้งสำนักงานนั้น เพราะ “ซินแสโชกุน” บอกว่าให้ใช้สถานที่เป็นบ้านของคนที่มีชื่อเป็นเจ้าของบ้านดังกล่าว ทั้งนี้ ยืนยันว่าบริษัทฯ ดังกล่าวเป็นบริษัทขายอาหารเสริม ไม่ใช่ขายทัวร์
ลูกทีมที่สมัครสมาชิกจะโอนเงินค่าสมัครเข้าบัญชีตน และตนเองก็เคยได้ค่าคอมมิชชันจากการขายอาหารเสริมแล้วประมาณ 2.8 แสนบาท ทั้งยังมีผู้เคยได้เงินค่าคอมมิชชันสูงสุดถึง 2.4 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม ตนเคยได้เดินทางไปเที่ยวกับทริปของบริษัทแล้ว 2 ครั้งที่ฮ่องกงและญี่ปุ่น ส่วนรายละเอียดอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นการจองตั๋วเครื่องบิน ติดต่อประสานงาน รวมถึงการทำบัญชีของบริษัทนั้น “ซินแสโชกุน” เป็นผู้จัดการเองทั้งหมด
สนธิกำลังบุกค้น บจก.อลิเชี่ยน
มีรายงานว่า พล.ต.ต.ประเสริฐ พัฒนาดี พ.ต.อ.บัณฑิต ทิศาภาค รอง ผบก.ปคบ. มอบหมายสั่งการให้ พ.ต.อ.อิทธิพล พงษ์ธร ผกก.1 บก.ปคบ. สนธิกำลังเจ้าหน้าที่ บก.ปคบ., บก.ปอศ., บก.ปอท. และสคบ. นำหมายค้นศาลอาญากรุงเทพใต้ ที่ ค 71/2560 ลงวันที่ 18 เม.ย. 2560 เข้าตรวจค้น บริษัท อลิเชี่ยน จำกัด เลขที่ 219 ชั้น 18 อาคารอโศกทาวเวอร์ ถนนอโศก แขวงคลองเตยเหนือ เขตวัฒนา กรุงเทพฯ จากการตรวจค้นและตรวจสอบพบว่าบริษัทฯ ดังกล่าวได้จดทะเบียนถูกต้อง พร้อมกันนี้ได้ทำการตรวจยึดคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊ก ผลิตภัณฑ์อาคารเสริม 300 กระปุก รวมทั้งเอกสารการทำธุรกรรมทั้งหมดมาทำการตรวจสอบ
อย่างไรก็ตามในการเข้าตรวจสอบบริษัทฯ ดังกล่าว เจ้าหน้าที่จะทำการตรวจสอบอย่างละเอียดถึงที่มาของผลิตภัณฑ์อาหารว่ามีการนำเข้าและเสียภาษีอย่างถูกต้องหรือไม่ ในส่วนของตัวอาหารเสริมจะต้องตรวจสอบตัวเม็ดยาว่าได้รับอนุญาตจาก สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) หรือไม่
เนื่องจากตัวเม็ดยาของแท้ต้องเป็นสีน้ำตาลล แต่ที่ตรวจสอบพบว่าเม็ดยาเป็นสีขาว ซึ่งต้องตรวจสอบอย่างละเอียดว่ามีการปลอมแปลงหรือไม่ รวมทั้ง สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) จะพิจารณาว่าเข้าข่ายธุรกิจขายตรงหรือไม่ ส่วนคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊กให้ บก.ปอท. ตรวจสอบหาความเชื่อมโยง
DSI เช็กความเชื่อมโยงคดีแชร์ลูกโซ่อื่น
พ.ต.อ.ไพสิฐ วงศ์เมือง อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) กล่าวว่า ดีเอสไอกำลังให้สำนักคดีอาญาพิเศษ 1 ตรวจสอบความเชื่อมโยงของกรณี น.ส.พสิษฐ์ อริญชย์ลาภิศ หรือซินแสโชกุน ผู้ต้องหาคดีร่วมกันฉ้อโกงประชาชน กับคดีที่ดีเอสไอรับไว้ดำเนินการก่อนหน้านี้หรือไม่ หากพบข้อมูลว่ามีความเชื่อมโยงก็จะสามารถรับโอนมาเป็นคดีพิเศษได้ ทั้งนี้จะเรียกประชุมพนักงานสอบสวนเพื่อตรวจสอบความชัดเจนในเรื่องของความเชื่อมโยงของขบวนการแชร์ลูกโซ่ ตอนนี้ยังคงเป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจ
13 หน่วยงาน วางกรอบป้องกันบริษัทหลอกลวงประชาชน หน่วยงานรัฐถกคดีโชกุน

เมื่อวันที่ 18 เมษายน 2560 ที่กระทรวงพาณิชย์ มีการประชุมร่วมกันของ 13 หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับกรณี “ซินแสโชกุน” หรือน.ส.พสิษฐ์ อริญชย์ลาภิศ กรรมการบริหาร บริษัท เวลท์ เอเวอร์ ผู้ต้องหาคดีร่วมกันฉ้อโกงประชาชน ภายหลังมีผู้เสียหายนับพันถูกลอยแพที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิเมื่อวันที่ 12 เมษายนที่ผ่านมา ไม่ได้ไปเที่ยวญี่ปุ่นตามที่มีการโฆษณาไว้
ด้าน นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า กระทรวงพาณิชย์ โดย กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ได้มีการหารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 12 หน่วยงาน เช่น สำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) กรมการปกครอง
กรมสอบสวนคดีพิเศษ กรมบังคับคดี กรมการท่องเที่ยว และกรมที่ดิน เป็นต้น เพื่อกำหนดมาตรการ แนวทาง และวิธีป้องกันผู้ประกอบธุรกิจประเภทต่างๆ สวมรอยบริษัทที่จดทะเบียนนิติบุคคล ทำการหลอกลวงประชาชน โดยจะร่วมกันจัดทำมาตรการเฝ้าระวัง และจับตาธุรกิจที่มีความเสี่ยงในการหลอกลวงประชาชน เพื่อเตือนภัยให้ประชาชนได้ระมัดระวัง
นับจากนี้ไปหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะมีการเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างกันเพิ่มมากขึ้น เพราะ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า มีหน้าที่ในการรับจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทใหม่
แต่ธุรกิจบางประเภทต้องไปขออนุญาตจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและต้องได้รับอนุญาตก่อน ถึงจะมาแจ้งจดวัตถุประสงค์ในการทำธุรกิจกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้าได้ เช่น ธุรกิจขายตรง ต้องขออนุญาตจาก สคบ. และธุรกิจท่องเที่ยว ต้องขออนุญาตจาก กรมการท่องเที่ยว เป็นต้น
ส่วนมาตรการดูแลและเฝ้าระวังในส่วนของ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า นอกจากจะมีการเชื่อมโยงข้อมูลกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้ว จะมีการตรวจสอบในขั้นตอนการจดทะเบียนนิติบุคคล เช่น การเปลี่ยนชื่อและนามสกุลของผู้จดทะเบียนจัดตั้งบริษัท หากมีการเปลี่ยนแปลงบ่อยก็จะต้องเฝ้าระวัง โดยจะมีการเชื่อมโยงข้อมูลกับ กรมการปกครอง เพื่อตรวจสอบในเรื่องนี้
รายงานข่าวแจ้งว่า ในการหารือร่วมระหว่าง 13 หน่วยงาน ได้มีการเสนอให้มีการเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างกันให้มากขึ้น โดยเฉพาะหน่วยงานที่กำกับดูแลการประกอบธุรกิจเฉพาะอย่าง เช่น ธุรกิจขายตรง และท่องเที่ยว โดยต่อไปหากมีปัญหาเรื่องการร้องเรียนจากประชาชนว่าบริษัทใดทำธุรกิจไม่โปร่งใส สคบ.
หรือ กรมการท่องเที่ยว ที่เป็นหน่วยงานกำกับดูแลและได้รับเรื่องร้องเรียนเข้ามาต้องรีบแจ้งไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทันที เพื่อให้รับทราบและติดตามการประกอบธุรกิจ เพื่อป้องกันผลกระทบที่อาจจะขยายวงกว้าง โดยในส่วนของตำรวจหากมีการรับแจ้งความร้องทุกข์เกี่ยวกับกรณีฉ้อโกง หรือหลอกลวงประชาชนก็ให้แจ้งประสานข้อมูลไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการตรวจสอบในทันที
“ขณะเดียวกัน ได้ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สคบ. กรมการท่องเที่ยว แนะวิธีการตรวจสอบบริษัทที่ได้รับอนุญาตว่าต้องตรวจสอบอย่างไร ใบอนุญาตเป็นแบบไหน เหมือนกับที่ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า แนะนำให้ตรวจสอบบริษัทที่ได้รับการการอนุญาตให้จดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์
รวมทั้งจะมีการจัดทำระบบการเตือนภัย โดยในส่วนของ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ได้มีการจัดทำหมายเหตุบริษัทที่มีความเสี่ยงในการทำธุรกิจเอาไว้ในหมายเหตุนิติบุคคลแล้ว ซึ่งสามารถตรวจสอบได้ทั้งผ่านเว็บไซต์ของกรมฯ สายด่วน 1570 และผ่านแอปพลิเคชั่น DBD e-Service ส่วนหน่วยงานอื่นๆ ก็ต้องมีระบบเตือนภัย หากบริษัทไหนถูกร้องเรียนบ่อยๆ ก็ต้องประกาศเตือนให้ประชาชนได้รับรู้ผ่านช่องทางที่หน่วยงานมีอยู่” นายสนธิรัตน์ กล่าว
หน่วยงานรัฐถกคดีโชกุน ก.ท่องเที่ยวฯกำหนด 7 มาตรการคุมทัวร์ฉ้อโกง
ด้าน นายพงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ ปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวถึงกรณีทัวร์ฉ้อโกงดังกล่าวว่า กระทรวงการท่องเที่ยวฯ กำหนด 7 มาตรการเพื่อควบคุมป้องกันไม่ให้เกิดกรณีดังกล่าวอีก ดังนี้
1.เข้มงวดการตรวจสอบบริษัทนำเที่ยวนอกระบบที่ไม่ได้มีการจดทะเบียนอย่างถูกต้องตามกฎหมาย
2.หากตรวจพบจะดำเนินการตามกฎหมายขั้นสูงสุดคือ โทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 5 แสนบาท หรือทั้งจำและปรับ
3.กระทรวงการท่องเที่ยวฯ จะดำเนินการเข้มงวดในการกำกับดูแลและให้ข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องแก่ประชาชนผ่านศูนย์บริการข้อมูลท่องเที่ยวทั้งทางโทรศัพท์และออนไลน์ตลอด 24 ชั่วโมง โดยในส่วนของออนไลน์จะมีการเร่งพัฒนาขีดความสามารถร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี)
4.กระทรวงการท่องเที่ยวฯ จะออกข้อกำหนดเกี่ยวกับการโฆษณาทัวร์ท่องเที่ยวให้รัดกุมขึ้น โดยผู้ประกอบการต้องมีการเปิดเผยเลขที่ใบอนุญาตการประกอบธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ พร้อมวันหมดอายุของใบอนุญาต เพื่อให้ประชาชนตรวจสอบกับ กรมการท่องเที่ยว จากนั้นจะประกาศเป็นกฎกระทรวงฯ ต่อไป
5.ร่วมมือกับหน่วยงานภาคเอกชน เช่น สภาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) สมาคมไทยธุรกิจท่องเที่ยว (ATTA) สมาคมไทยบริการท่องเที่ยว (TTAA) และอื่นๆ ในการจัดตั้งทีมงานติดตามสถานการณ์ในตลาดท่องเที่ยวเพื่อร่วมกันสอดส่งเหตุพิรุธ หรือผิดปกติ เพื่อแจ้งข้อมูลให้กระทรวงฯ ทราบ
6.ร่วมหารือกับภาคเอกชนในการทำราคาอ้างอิงสำหรับการท่องเที่ยวในต่างประเทศ โดยภาครัฐจะไม่เข้าไปแทรกแซงแต่อย่างใด
7.ร่วมหารือกับภาคเอกชนในการพิจารณาบทลงโทษและมาตรการต่างๆ ให้มีความรุนแรงเพิ่มขึ้นในวันที่ 25 เม.ย.ศกนี้ ก่อนจะเสนอ นางกอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวฯ พิจารณาความเห็นชอบก่อนดำเนินการในขั้นตอนต่อไป