
อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เป็นอนุสาวรีย์ในกรุงเทพมหานคร โดยรอบเป็นวงเวียนอยู่กึ่งกลางระหว่างถนนพหลโยธิน ถนนราชวิถี และถนนพญาไท โดยตั้งอยู่ที่ กม.4+700 ของทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 1 ซึ่ง กม.0+000 ได้เริ่มนับมาจากอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ถนนราชดำเนินกลาง โดยที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมินี้เป็นจุดเริ่มต้นของการเรียกชื่อถนนพหลโยธิน
คงจะมีน้อยคนนักในประเทศไทย ที่ไม่รู้จัก “ อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ” บางท่านเห็นและคุ้นชินด้วยตาทุกวัน บางท่านใช้เป็นจุดนัดพบ บางท่านเห็นผ่านสื่อประเภทต่างๆ แต่ก็คงจะลืมไปแล้วว่ามีความเป็นมาและความหมายอย่างไร และในวันที่ 3 กุมภาพันธ์ของทุกปี ทางราชการก็ได้กำหนดให้เป็นวันทหารผ่านศึก
มีการจัดกิจกรรมเพื่อทหารผ่านศึกที่ “อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ” อนุสาวรีย์ทุกแห่งล้วนมีความหมายและความทรงจำที่แฝงอยู่ ถือได้ว่าอนุสาวรีย์เป็นสิ่งก่อสร้างในลักษณะประติมากรรม ที่มีผลในแง่สัญลักษณ์อย่างใดอย่างหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นการสร้างเพื่อเป็นอนุสรณ์ระลึกถึงเหตุการณ์หรือคุณความดีของบุคคล
สำหรับอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมินั้น ตามระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการก่อสร้างอนุสาวรีย์แห่งชาติ และการจำลองพระพุทธรูปสำคัญ พ.ศ.2520 กำหนดให้อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิจัดอยู่ในประเภท “อนุสาวรีย์บุคคลสำคัญ” คือสิ่งก่อสร้างที่เป็นเครื่องหมาย น้อมนำให้ระลึกถึงวีรกรรมหรือคุณความดีของบุคคลที่ได้ประกอบกรณียกิจ
เป็นคุณประโยชน์อย่างยิ่งใหญ่ไว้แก่บ้านเมืองไทย เพื่อเป็นที่รวมพลังใจ ศรัทธา และความนิยมนับถือของประชาชน และเป็นแบบฉบับแก่อนุชนไทยสืบต่อไป
อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิที่อยู่คู่คนไทยมาหลายยุค หลายสมัย มีเรื่องราวที่น่าสนใจ ที่หลาย ๆ คนอาจจะยังไม่ทราบ รวบรวมเรื่องน่ารู้ เกี่ยวกับอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิมาให้ได้ติดตามกัน
อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิอยู่คู่คนไทยมาแล้วกว่า 76 ปี โดย พลเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา เป็นผู้วางศิลาฤกษ์ เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2484 และจอมพล ป.พิบูลสงคราม เป็นผู้ทำพิธีเปิดเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2485

ผู้ออกแบบอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ คือคนเดียวกันที่ออกแบบอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ซึ่งออกแบบโดย หม่อมหลวงปุ่ม มาลากุล สถาปนิกประจำกรมโยธาธิการ ผู้ออกแบบอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย และศาลท่านท้าวมหาพรหม โรงแรมเอราวัณ และตึกสันติไมตรีหลังนอก ภายในทำเนียบรัฐบาล
อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิสร้างขึ้นเพื่อเทิดทูนวีรกรรมของทหาร ตำรวจ และพลเรือนที่เสียชีวิตไปในกรณีพิพาทระหว่างไทยกับฝรั่งเศสเรื่องการปรับปรุงพรมแดนไทยกับอินโดจีนฝรั่งเศส ซึ่งในครั้งนั้นมีผู้เสียชีวิต 59 คน ทั้งทหาร ตำรวจ และพลเรือน และยังเป็นที่จารึกรายนามทหารที่เสียชีวิต ในกรณีพิพาทระหว่างไทยกับฝรั่งเศส สงครามโลกครั้งที่ 2 และสงครามเกาหลี
มีแผ่นทองแดงจารึกนามผู้เสียชีวิต รายนามผู้ที่ได้รับการจารึกไว้มีทั้งสิ้น 160 นาย จนถึงปัจจุบันแผ่นทองแดงจารึกรายนามผู้เสียชีวิต และผู้สละชีพเพื่อชาติจากสงครามต่าง ๆ ตั้งแต่ พ.ศ. 2483-พ.ศ. 2497 รวมทั้งสิ้น 801 นาย
อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ และ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ได้ทำพิธีเปิดในวันเดียวกัน ห่างกันแค่ 2 ปี โดย จอมพล ป.พิบูลสงคราม เป็นผู้ทำพิธีเปิดอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2485 และอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยนั้น

ทำพิธีเปิดเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2483 ซึ่งวันที่ 24 มิถุนายนนั้น ในสมัยนั้นถือว่ามีความสำคัญเนื่องจากใน วันที่ 24 มิถุนายน ปี 2475 ได้มีการเปลี่ยนแปลงจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ไปเป็น ราชาธิปไตย ภายใต้รัฐธรรมนูญ ทำให้รัฐบาลในขณะนั้น ยึดถือเอาเป็นวันสำคัญในการทำกิจกรรมต่างๆ รวมถึงทำพิธีเปิดอนุสาวรีย์ทั้ง 2 แห่งนี้อีกด้วย
รูปร่างของอนุสาวรีย์มาจากดาบปลายปืน 5 เล่มประกบกัน จัดตั้งเป็นกลีบแบบลูกมะเฟือง ปลายดาบชี้ขึ้นบน ส่วนคมของดาบหันออก ก่อสร้างด้วยคอนกรีตเสริมเหล็กประดับหินอ่อน มีความสูงประมาณ 50 เมตร ดาบปลายปืนส่วนด้ามตั้งเหนือเพดานห้องโถงใหญ่ ซึ่งใช้เก็บกระสุนปืนใหญ่บรรจุอัฐิทหารที่เสียชีวิตในกรณีพิพาทระหว่างไทยกับฝรั่งเศส
รูปปั้นทหาร 5 คน มีขนาดใหญ่เป็นสองเท่าคนธรรมดา เป็นตัวแทนของนักรบ 5 เหล่า คือ ทหารบก ทหารเรือ ทหารอากาศ ตำรวจ และพลเรือน ศิลปินผู้ปั้นรูปเหล่านี้เป็นลูกศิษย์ของ ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี เช่น สิทธิเดช แสงหิรัญ, อนุจิตร แสงเดือน, พิมาน มูลประสุข, แช่ม ขาวมีชื่อ ภายใต้การควบคุมของ ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี
อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ จะเปิดให้เข้าชมปีละครั้ง นั่นก็คือวันทหารผ่านศึก 3 กุมภาพันธ์ ของทุกปี องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก และครอบครัวของทหารผ่านศึก ทหารนอกประจำการ และผู้ที่ปฏิบัติหน้าที่รักษาความมั่นคงของชาติ จะจัดพิธีวางพวงมาลาที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ และเปิดโอกาสให้ทหาร และ ครอบครัวทหารผู้ล่วงลับ เข้าไปกราบไหว้ แสดงความรำลึกถึงทหารผู้ที่จากไป
อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ถือเป็นจุดเริ่มต้นของถนนพหลโยธิน ไปยังภาคเหนือ หากดูตามข้อมูลที่บันทึกเอาไว้ หลักกิโลเมตรที่ 0 ของไทย จะเริ่มต้นที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย และ จุดที่บริเวณอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิจะนับเป็นกิโลเมตรที่ 5 แต่ว่าเวลานับระยะทางของถนนพหลโยธิน ไปยังภาคเหนือ จะเริ่มนับที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เป็นกิโลเมตรที่ 0