Skip to content
Home » News » อับราฮัม ลินคอล์น ประกาศเลิกทาส

อับราฮัม ลินคอล์น ประกาศเลิกทาส

อับราฮัม ลินคอล์น ประกาศเลิกทาส อับราฮัม ลินคอล์น เป็นประธานาธิบดีคนที่ 16 ของสหรัฐอเมริกา ลินคอล์นเข้าดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีแห่งสหรัฐอเมริกาตั้งแต่เดือนมีนาคม ค.ศ.1861 จนกระทั่งถูกลอบสังหารเมื่อเดือนเมษายน ค.ศ. 1865 ลินคอล์นประสบความสำเร็จในการนำพาประเทศผ่านพ้นสงครามกลางเมืองอเมริกา ซึ่งเป็นวิกฤตการณ์ทางรัฐธรรมนูญ ทางทหารและศีลธรรมครั้งใหญ่ที่สุดของประเทศ  นอกจากนี้เขายังนำทางไปสู่การเลิกทาส, สร้างความมั่งคงแข็งแกร่งให้กับรัฐบาลกลาง ตลอดจนส่งเสริมการเศรษฐกิจและการเงินให้ทันสมัย 

ลินคอล์นเกิดในครอบครัวยากจน ณ เมืองฮ็อดเจนวิลล์ รัฐเคนทักกี  และได้รับเลือกเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติรัฐอิลลินอยส์ระหว่างค.ศ. 1834 – 1842 และต่อมาถูกเลือกเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐอเมริกา ในปี 1846 โดยดำรงตำแหน่งอยู่หนึ่งสมัย ลินคอล์นเน้นการปฏิรูประบบเศรษฐกิจให้ทันสมัย และต่อต้าน สงครามเม็กซิโก-อเมริกา  ปี ค.ศ. 1854 ลินคอล์นกลายเป็นผู้นำก่อตั้งพรรคใหม่ คือ พรรคริพับลิกัน 

อับราฮัม ลินคอล์น ประกาศเลิกทาส ออกคำประกาศเลิกทาสเมื่อวันที่ 22 กันยายน ค.ศ.1862 ในระหว่างสงครามกลางเมือง (ค.ศ.1861-1865) ให้มีผลในวันที่ 1 มกราคมปีถัดมา

            ความเป็นทาสและการใช้แรงงานทาสในรัฐเทกซัสยังลากยาวต่อไปอีกถึง 2 ปีครึ่งกว่าความหมายในคำประกาศจะเกิดผล นั่นคือในวันที่ 19 มิถุนายน ค.ศ.1865

            วันสำคัญ “19 มิถุนายน” นี้ถูกเรียกขานมานานในชื่อ Juneteenth (จูนทีนท์) ซึ่งเป็นคำผสมระหว่าง June และ Nineteenth

อับราฮัม ลินคอล์น ประกาศเลิกทาส
https://twitter.com/krupmui/status/1175577853498294273?lang=bn

ในส่วนภาระกิจด้านการเลิกทาส ลินคอล์นไม่เพียงแต่ใช้สงครามเพื่อนำไปสู่เป้าหมาย แต่ยังดำเนินกิจกรรมทางนโยบายอื่นๆ เช่น การออกการประกาศเลิกทาสใน ค.ศ. 1863 (หลังได้รับชัยชนะในยุทธการที่แอนตีแทม), การเกลี้ยกล่อมให้รัฐชายแดนประกาศให้สถาบันทาสเป็นสิ่งผิดกฎหมาย, การออกกฎหมาย Confiscation Act เพื่อยึดและปลดปล่อยทาสจากผู้ที่ถูกศาลพิพากษาว่าให้การสนับสนุนฝ่ายสมาพันธรัฐ และช่วยผลักดันการแก้ไขรัฐธรรมนูญสหรัฐอเมริกาครั้งที่สิบสามจนผ่านสภาคองเกรส ในเดือนธันวาคม ค.ศ. 1865 ซึ่งห้ามการมีและซื้อขายทาสตลอดไป ในทุก ๆพื้นที่ที่อยู่ใต้การปกครองของสหรัฐอเมริกา

ลินคอล์นเป็นนักการเมืองที่ฉลาดหลักแหลม มีความเข้าใจอย่างลึกซึ้งในสถานการณ์อำนาจในแต่ละมลรัฐ เขาพยายามเกลี้ยกล่อมระหว่างสมาชิกพรรคเดโมแครตสายสงครามซึ่งต้องการให้มีการประนีประนอมในประเด็นเรื่องสถาบันทาส และสมาชิกริพับลิกันหัวก้าวร้าว ซึ่งต้องการกำจัดกบฏฝ่ายใต้และสถาบันทาสให้สิ้นซากโดยเร็วที่สุด ยิ่งไปกว่านั้น เขายังบริหารแคมเปญจ์การลงเลือกตั้งใหม่ ในการเลือกตั้งประธานาธิบดี ค.ศ. 1864 ด้วยตนเอง

การเลิกทาสอันแสนยากเย็น

            กองทัพสมาพันธรัฐ (Confederacy) หรือ “ฝ่ายใต้”  รวมกัน 11 รัฐ ต้านทานการบุกของกองทัพสหภาพ (Union) หรือ “ฝ่ายเหนือ” ต่อไปอีก 2 ปีครึ่ง หลังมีคำประกาศเลิกทาส (Emancipation Proclamation) ออกมา

            ทาสที่ไม่สามารถหลบหนีข้ามเขตจากฝ่ายใต้ไปทางฝ่ายเหนือได้ยังคงไม่ได้รับอิสรภาพ ชีวิตยังอยู่ในกำมือของกองทัพและนายทาสฝ่ายใต้

            เพื่อหลบเลี่ยงสงครามที่กำลังรบพุ่ง นายทาสผิวขาวจำนวนมากจัดการลำเลียงทาสของตนไปยังรัฐเทกซัสซึ่งอยู่ทางใต้และห่างไกลจากฝ่ายเหนือ จากก่อนนั้นที่เคยมีทาสอยู่ในรัฐเทกซัสหลักหมื่น ในเมืองใหญ่อย่างฮิวสตันเองมีอยู่เพียงหลักพัน แต่พอถึงปี 1865 ในรัฐเทกซัสมีทาสรวมกันถึงราว 250,000 คน

            “นายพลโรเบิร์ต เอ็ดเวิร์ด ลี” ผู้บัญชาการกองทัพฝ่ายใต้ยอมแพ้แก่ฝ่ายเหนือที่รัฐเวอร์จิเนียในวันที่ 9 เมษายน 1865 แต่ยังมีหน่วยรบทรานส์-มิสซิสซิปปี (ครอบคลุมเทกซัส, ลุยเซียนา และอาร์คันซอ) ต่อสู้ต่อไปจนถึงปลายเดือนพฤษภาคม และศิโรราบอย่างเป็นทางการในวันที่ 2 มิถุนายน

            ตอนเช้าวันที่ 19 มิถุนายน “พันเอกกอร์ดอน แกรนเจอร์” ของฝ่ายเหนือเดินทางมาถึงเมืองกัลเวสตัน รัฐเทกซัส เพื่อบัญชาการทหารฝ่ายเหนือ 1,800 นายที่คุมสถานการณ์ไว้ได้แล้ว“พันเอกแกรนเจอร์” และกองทหารพาเหรดไปตามย่านต่างๆ กลางเมือง แวะหลายสถานที่สำคัญเพื่ออ่านประกาศ General Order No.3

“ชาวเทกซัสโปรดจงทราบว่า เพื่อให้เป็นไปตามคำประกาศเลิกทาสซึ่งเป็นคำสั่งจากฝ่ายบริหารของสหรัฐอเมริกา ทาสทุกคนเป็นอิสระแล้ว นี่ยังรวมถึงความเสมอภาคในทางสิทธิส่วนบุคคลและสิทธิในทรัพย์สินระหว่างอดีตนายทาสและทาส และความเกี่ยวข้องระหว่างทั้งฝ่ายต่อจากนี้ไปเป็นความสัมพันธ์ระหว่างนายจ้างและลูกจ้าง ขอแนะนำให้ทาสที่เป็นอิสระจงอยู่อย่างเงียบสงบในนิวาสสถานเดิม และทำงานเพื่อค่าแรง นอกจากนี้จะไม่ได้รับอนุญาตให้รวมตัวกันในบริเวณหน่วยทหาร และไม่ได้รับการสนับสนุนให้เป็นคนเกียจคร้าน ไม่ว่าจะอยู่ที่ใดก็ตาม”

            ใช่ว่าทาสทุกคนจะเป็นไทตามคำประกาศโดยทันที นายทาสตามไร่ตามนายังคงลังเลที่จะประกาศความเปลี่ยนแปลงนี้ให้ทาสของตนทราบ บางแห่งเจ้าหน้าที่ต้องเดินทางไปบอกคำสั่งเอง และนายทาสส่วนมากก็โชคดีที่สามารถประวิงเวลาไปจนถึงการเก็บเกี่ยว ใช้แรงงานฟรีต่อไปได้อีกฤดูกาล

            ที่เมืองกัลเวสตัน ซึ่งอยู่ติดชายฝั่งอ่าวเม็กซิโก อดีตนายกเทศมนตรีของฝ่ายสหพันธรัฐเยาะเย้ยกฎหมายด้วยการบังคับชาวผิวสีที่เป็นอิสระแล้วกลับไปทำงานอีกครั้ง

                “ซูซาน เมอร์ริตต์” อดีตทาสผิวสี ได้ให้สัมภาษณ์ไว้ในหนังสือของ “ลีออน ลิตแวค” นักประวัติศาสตร์ชื่อดังว่า “…คุณจะเห็นนิโกรจำนวนมากถูกแขวนคออยู่บนต้นไม้ใกล้แม่น้ำซาไบน์ เพราะว่าพวกนั้นถูกจับขณะว่ายน้ำข้ามฝั่ง แล้วก็โดนยิง”

            “เคที ดาร์ลิง” กล่าวในหนังสือของนักประวัติศาสตร์ “เอลิซาเบธ เฮนส์ เทอร์เนอร์” ว่า หลังจากทำงานให้กับนายหญิงของเธอเป็นเวลา 6 ปี จนมีคำประกาศเลิกทาส แต่นายหญิงของเธอก็ยังฟาดเธอด้วยแส้ต่อไปเหมือนกับว่าไม่มีอะไรเกิดขึ้นเลย

            ในเวลานั้นยังมีอีก 2 รัฐ ได้แก่ เดลาแวร์ และเคนตักกี ที่การใช้แรงงานทาสยังดำเนินอยู่จนกระทั่งวันที่ 18 ธันวาคม 1865 เมื่อ “การแก้ไขรัฐธรรมนูญสหรัฐอเมริกาครั้งที่ 13” ได้รับการประกาศใช้ ยกเลิกการใช้แรงงานทาสและการใช้แรงงานที่ไม่สมัครใจทั่วประเทศ

ช่วงปลายสงคราม ลินคอล์นถือมุมมองการฟื้นฟูบูรณะ (Reconstruction) แบบผ่อนผัน โดยแสวงการรวมและบูรณะประเทศอย่างรวดเร็ว ผ่านนโยบายการปรองดองที่ไม่มีเงื่อนไขยุ่งยาก ในสภาวะที่ความแตกแยกอย่างขมขื่นยังไม่ลดลงไป อย่างไรก็ดี เพียงห้าวันหลังการยอมจำนนของโรเบิร์ต อี. ลี ผู้บัญชาการกองทัพของฝ่ายสมาพันธรัฐ ลินคอล์นถูกลอบยิงในโรงละคร โดยนักแสดงผู้ฝักใฝ่สมาพันธรัฐ จอห์น วิลค์ส บูธ (John Wilkes Booth) และเสียชีวิตในวันต่อมา การลอบสังหารลินคอล์นเป็นการลอบสังหารประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาเป็นครั้งแรก และเป็นเหตุการณ์ทำให้ทั้งประเทศตกอยู่ในความโศกเศร้า นักวิชาการและสาธารณชนชาวอเมริกันจัดให้ลินคอล์นเป็นหนึ่งในประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาที่ยิ่งใหญ่ที่สุดมาจวบจนปัจจุบัน

https://www.thaipost.net/main/detail/106908