Skip to content
Home » News » อาณาจักรธนบุรี

อาณาจักรธนบุรี

อาณาจักรธนบุรี
https://krurumpai.wordpress.com/ม-2/อาณาจักรธนบุรี/

อาณาจักรธนบุรี เป็นอาณาจักรที่มีระยะเวลาสั้นที่สุดของไทย คือระหว่าง พ.ศ. 2310–2325 ระยะเวลา 15 ปี มีพระมหากษัตริย์ปกครองเพียงพระองค์เดียว คือ สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ภายหลังอาณาจักรอยุธยาล่มสลายไปพร้อมกับการเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่สอง ทว่า ในเวลาต่อมา สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกได้ปราบดาภิเษกขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์ และทรงย้ายเมืองหลวงไปยังฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา คือ กรุงเทพมหานครในปัจจุบัน

การสถาปนากรุงธนบุรี หลังจากสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชกอบกู้เอกราชสำเร็จในปี พ.ศ. 2310 ทรงมีพระราชดำริว่ากรุง ศรีอยุธยามีสภาพทรุดโทรมมาก ไม่สามารถซ่อมแซมฟื้นฟูให้กลับคืนสภาพเดิมได้ จึงทรงตัดสินพระทัยสร้าง ราชธานีใหม่ขึ้นที่เมืองธนบุรี เนื่องจากเมืองธนบุรีมีชัยภูมิที่ดี

เป็นเมืองหน้าด่านชายทะเล ควบคุมเส้นทางเดินเรือเข้าออก ประกอบกับเป็นเมืองที่มีป้อมปราการ และวัดวาอารามอยู่เป็นจำนวนมาก ไม่จำเป็นต้องเสียเวลาก่อสร้างขึ้นมาใหม่ เป็นเมืองขนาดย่อมซึ่งพอเหมาะกับกำลังที่จะรักษาไว้ได้ และอยู่ปากแม่น้ำ หากเพลี่ยงพล้ำไม่สามารถรักษาเมืองไว้ได้จริงๆ

ก็สามารถหลบหลีกศัตรูออกสู่ทะเล กลับไปตั้งมั่นที่จันทบุรีได้โดยสะดวก อีกทั้งตั้งอยู่บริเวณที่มีลำน้ำลึกใกล้ทะเล ถ้าข้าศึกไม่มีทัพเรือที่เข้มแข็งแล้วก็ยากที่จะตีเมืองธนบุรีได้

อาณาจักรธนบุรี การสถาปนากรุงธนบุรีเป็นราชธานีจำเป็นต้องขยายพื้นที่เพื่อรองรับประชาชนที่หนีภัยสงครามมา และปรับปรุงให้เหมาะสมทางยุทธศาสตร์มากขึ้น ดังนั้นสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชจึงโปรดเกล้าฯ ให้ขยายเมืองไปทางทิศเหนือจนจรดคลองบางกอกน้อย

พร้อมกับสร้างกำแพงเมืองตามแนวคลองขุดใหม่มีชื่อเรียกเป็นตอนๆ ว่า คลองบ้านขมิ้น คลองบ้านช่างหล่อ คลองบ้านหม้อ คลองวัดท้ายตลาด ส่วนทางทิศตะวันออกขยายไปจรดคลองคูเมืองที่ขุดขึ้นใหม่ (ปัจจุบันเรียกว่า”คลองหลอด”) ทำให้แม่น้ำเจ้าพระยาไหลผ่านกลางเมืองแล้วสร้างกำแพงเมืองขึ้นตามแนวคลองคูเมือง (กำแพงเมืองนี้ต่อมาได้ถูกรื้อลง โดยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทรงขยายแนวกำแพงเมืองออกไปตามแนวคลองโอ่งอ่าง และคลองบางลำภู)

ส่วนป้อมวิไชยเยนทร์ได้เปลี่ยนชื่อใหม่เป็น “ป้อมวิไชยประสิทธิ์” พร้อมทั้งให้ขุดที่สวนเดิมเปลี่ยนเป็นท้องนานอกคูเมืองทั้ง 2 ฟากซึ่งเรียกว่า “ทะเลตม” ไว้สำหรับเป็นที่นาใกล้พระนคร

สำหรับขอบเขตของราชธานีแห่งใหม่นี้ ครอบคลุมสองฝั่งน้ำ โดยมีแม่น้ำเจ้าพระยาตัดผ่านกลางเมือง พื้นที่ในกำแพงเมือง ฝั่งตะวันตกเริ่มตั้งแต่เขตเมืองธนบุรี เดิมริมคลองบางกอกใหญ่ ไปจนถึงบริเวณหลังวัดบางหว้าน้อย (วัดอินทาราม) ริมคลองบางกอกน้อย ส่วนฝั่งตะวันออกเริ่มตั้งแต่ศาลเทพารักษ์หัวโชค (เชิงสะพานพระปิ่นเกล้าฝั่งพระนคร) เลียบตามแนวคูเมือง (คลองคูเมืองบริเวณหลังกระทรวงมหาดไทย) ไปจรดแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณปากคลองตลาด โดยภายในกำแพงเมืองธนบุรีเดิม เป็นที่ตั้งของพระราชวังกรุงธนบุรี

กรุงธนบุรีเป็นราชธานีเพียง 15 ปี หลังจากที่สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช สวรรคต พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงปราบดาภิเษก ขึ้นเป็นปฐมบรมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี และทรงย้ายราชธานีจากฝั่งตะวันตก มายังฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา ทำให้พระราชวังกรุงธนบุรีว่างลง

กรุงธนบุรีจึงถูกลดความสำคัญ และกลายเป็นส่วนหนึ่งของกรุงรัตนโกสินทร์ สำหรับพระราชวังกรุงธนบุรี ได้กลายเป็นที่ประทับของพระบรมวงศานุวงศ์ จนถึงในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานให้กองทัพเรือ ใช้เป็นที่ตั้งของโรงเรียนนายเรือ และภายหลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้เป็นที่ตั้งของกองบัญชาการกองทัพเรือจนถึงปัจจุบัน

อาณาจักรธนบุรี
https://sites.google.com/site/kjppsoy/smay-thnburi

การสถาปนากรุงธนบุรี ภายหลังการสูญเสียกรุงศรีอยุธยา แก่พม่าแล้ว บ้านเมืองอยู่ในสภาพระส่ำระสาย ขาดพระเจ้าแผ่นดินปกครอง ประชาชนพากันหลบหนีไปอยู่ตามป่า และหัวเมืองห่างไกล  อย่างไรก็ตาม การเสียกรุงครั้งที่ 2  นี้ยังมีหัวเมืองอีกหลายแห่ง ที่รอดพ้นจากการทำลายของพม่า จึงได้มีผู้นำคนไทยตั้งตัวเป็นเจ้าชุมนุมขึ้น  เพื่อรวบรวมกำลังเข้ากอบกู้อิสรภาพต่อไป

ชุมนุมคนไทยทั้ง  5 ชุมนุม ได้แก่

1.ชุมนุมเจ้าพิมาย

2.ชุมนุมเจ้าพระฝาง

3.ชุมนุมเจ้าพระยาพิษณุโลก

4.ชุมนุมเจ้านครศรีธรรมราช

5.ชุมนุมเจ้าตาก  หรือพระยาตาก (สิน)  ซึ่งสามารถกอบกู้เอกราชกลับคืนมาได้  ภายในปีเดียวกันนั้นโดยใช้เวลาเพียง 7  เดือน

                   พระราชประวัติพระเจ้าตากสินมหาราช  และการกอบกู้อิสรภาพ พระเจ้าตากสินมหาราช มีพระนามเดิมว่า สิน มีชาติกำเนิดเป็นสามัญชน บิดาชื่อขุนพิพัฒน์ (ไหฮอง-เชื้อชาติจีน) มารดาชื่อนางนกเอี้ยง ได้รับการศึกษาอบ รมจนได้้รับราชการเป็นขุนนางในตำแหน่ง เจ้าเมืองตาก พระยาตาก มีฝีมือในการรบเข้มแข็งจึงถูกเกณฑ์มาช่วยรักษากรุงศรีอยุธยา แต่เกิดความท้อใจจึงนำพรรคพวกประมาณ 500 คน ตีฝ่ากองทัพพม่าออกไป พระยาตากได้รวบรวมหัวเมืองทะเลตะวันออก แล้วตั้งที่มั่นที่เมืองจันทบุรี เพราะเป็นเมืองที่อุดมสมบูรณ์ด้วยข้าวปลา อาหาร เมื่อต่อเรือและรวบรวมผู้คนได้พร้อมแล้ว พระยาตากจึงได้เคลื่อนทัพเรือ มุ่งเข้าตีกองทัพพม่า ที่ค่ายโพธิ์สามต้น  สุกี้พระนายกองได้ต่อสู้จนตายในที่รบ

                    หลังจากกอบกู้เอกราชได้แล้ว  เจ้านายและข้าราชการ ได้พร้อมใจกันอัญเชิญให้พระยาตาก ขึ้นเป็นพระเจ้าแผ่นดิน  ทรงพระนามว่า  สมเด็จพระรามาธิบดีที่  4  แต่ประชาชนทั่วไปนิยมเรียกว่า  พระเจ้าตากสิน  หรือพระเจ้ากรุงธนบุรี หลังจากสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชสามารถกู้เอกราชคืนมาจากพม่าแล้ว สภาพบ้านเมืองของกรุงศรีอยุธยาทุดโทรมมาก ไม่เหมาะสมที่จะใช้เป็นเมืองหลวงอีกต่อไป เพราะ

1. กรุงศรีอยุธยาถูกทำลายชำรุดทรุดโทรมมาก ยากแก่การบูรณะให้ดีดังเดิมได้

2. กรุงศรีอยุธยามีบริเวณกว้างขวางมาก เกินกว่ากำลังของพระองค์ที่มีอยู่ เพราะผู้คนอาศัยอยู่ตามเมืองน้อย ส่วนมากหลบหนีพม่าไปอยู่ตามป่า จึงยากแก่การรักษาบ้านเมืองได้สะดวกและปลอดภัย

3. ข้าศึกโดยเฉพาะพม่ารู้ลู่ทางภูมิประเทศและจุดอ่อนของกรุงศรีอยุธยาเป็นอย่างดี ทำให้ไทยเสียเปรียบในด้านการรบ

4. ที่ตั้งของกรุงศรีอยุธยาเป็นอันตรายทั้งทางบกและทางน้ำ ข้าศึกสามารถโจมตีได้สะดวก

5. กรุงศรีอยุธยาตั้งอยู่ห่างจากปากแม่น้ำมากเกินไป ทำให้ไม่สะดวกในการติดต่อค้าขายกับต่างประเทศ ซึ่งนับวันจะเจริญขึ้นเรื่อยๆ

ดังนั้นสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช จึงทรงตัดสินใจเลือกเอากรุงธนบุรีเป็นราชธานีด้วยสาเหตุสำคัญต่อไปนี้

1. กรุงธนบุรีเป็นเมืองขนาดเล็ก เหมาะสมกับกำลังป้องกันทั้งทางบกและทางน้ำ

2. กรุงธนบุรีตั้งอยู่ปากแม่น้ำเจ้าพระยา สะดวกในการติดต่อค้าขายกับต่างประเทศ

3. สะดวกในการควบคุมการลำเลียงอาวุธและเสบียงต่างๆ ไปตามหัวเมืองหรือจากหัวเมืองเข้ามาช่วย เมื่อเกิดศึกสงคราม

4. ถ้าหากข้าศึกยกกำลังมามากเกินกว่ากำลังของทางกรุงธนบุรีจะต้านทานได้ก็สามารถย้ายไปตั้งมั่นที่จันทบุรีได้ โดยอาศัยทางเรือได้อย่างปลอดภัย

5.กรุงธนบุรีมีป้อมปราการอยู่ทั้งสองฟากแม่น้ำ ที่สร้างไว้ตั้งแต่สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชหลงเหลืออยู่ สามารถใช้ในการป้องกันข้าศึกได้บ้างที่จะเข้ามารุกรานโดยยกกำลังมาทางเรือ  คือ ป้อมวิไชยประสิทธิ์ และป้อมวิไชเยนทร์

             การรวบรวมไทยให้เป็นปึกแผ่น และการขยายอาณาจักร พระเจ้าตากสินมหาราช ทรงกอบกู้เอกราช และรวบรวมไทยให้เป็นปึกแผ่น โดยใช้เวลาเพียง 3 ปี สาเหตุที่ พระเจ้าตากสินมหาราช สามารถกอบกู้เอกราชและรวบรวมไทยให้เป็นปึกแผ่นได้ เนื่องจาก

1. พระปรีชาสามารถในการรบ

2. พระปรีชาสามารถในการผูกมัดใจคน

3. ทหารของพระองค์มีระเบียบวินัย  กล้าหาญ มีความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน

            หลังจากกอบกู้เอกราช รวบรวมไทยให้เป็นปึกแผ่น และตั้งกรุงธนบุรีเป็นราชธานีแล้ว ไทยต้องทำสงครามกับพม่า  เพื่อป้องกันอาณาจักรอีกถึง 9 ครั้ง โดย สามารถป้องกันบ้านเมืองไว้ได้สำเร็จ

วันที่ในข่าวนี้ 1 มกราคม 1767 วันที่ประมาณการ