อาร์เมเนีย-อาเซอร์ไบจาน ปะทะเดือด การปะทะกันระหว่างอาเซอร์ไบจานกับกลุ่มชาติพันธ์ุอาร์เมเนีย บริเวณพื้นที่พิพาท รุนแรงขึ้นอีกในวันอาทิตย์ หลังเมืองใหญ่ของอาเซอร์ไบจานถูกโจมตี ฝ่ายอาร์เมเนียก็เสียหายหนัก
สำนักข่าว บีบีซี รายงานว่า กลุ่มชาติพันธ์ุอาร์เมเนีย ซึ่งปกครองพื้นที่พิพาท นากอร์โน-คาราบัค เปิดเผยในวันอาทิตย์ที่ 4 ต.ค. 2563 ว่า กองทัพของพวกเขายิงอาวุธโจมตีเมืองกันจา เมืองใหญ่อันดับ 2 ของอาเซอร์ไบจาน สร้างความเสียหายแก่สนามบินของกองทัพ เพื่อตอบโต้ที่อาเซอร์ไบจานยิงมิสไซล์จากฐานเมืองแห่งนี้เข้าใส่เขตพลเรือนในเมืองสเตพานาแกร์ต เมืองเอกของพวกเขา

อาร์เมเนีย-อาเซอร์ไบจาน ปะทะเดือด ขณะที่ นายอารายิค ฮารูตุนยาน ผู้นำของภูมิภาคนากอร์โน-คาราบัค เตือนว่า จากนี้ไปสิ่งก่อสร้างทางทหารที่ประจำการอย่างถาวรในเมืองใหญ่ๆ ของอาเซอร์ไบจานจะตกเป็นเป้าหมายการโจมตีของกองกำลังป้องกันตนเองของพวกเขาอย่างถูกต้องตามกฎหมาย อย่างไรก็ตาม ตอนนี้เขาสั่งให้หยุดโจมตีไว้ก่อน เพื่อป้องกันไม่ให้พลเรือนผู้บริสุทธิ์ต้องเสียชีวิต
ด้านนายซาคารี ฮาซานอฟ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมของอาเซอร์ไบจาน ออกแถลงการณ์ในวันเดียวกัน ยืนยันว่า กองทัพอาร์เมเนียโจมตีเข้าใส่เมืองกันจา ซึ่งตั้งอยู่ทางเหนือของนากอร์โน-คาราบัค จริง ทำให้พลเรือนเสียชีวิต 1 ศพ พร้อมประณามว่านี่เป็นการยั่วยุอย่างชัดเจนซึ่งจะทำให้ความขัดแย้งขยายกว้างขึ้น
ต่อมา กระทรวงกลาโหมอาเซอร์ไบจานออกแถลงการณ์อีกฉบับว่า ข่าวที่อาร์เมเนียเผยแพร่ออกมาเรื่องสิ่งปลูกสร้างทางทหารในเมืองกันจาถูกโจมตีนั้นไม่เป็นความจริง แต่ผลจากการโจมตีทำให้พลเรือน, โครงสร้างพื้นฐานของพลเรือน และสิ่งก่อสร้างทางประวัติศาสตร์ได้รับความเสียหาย
ทั้งนี้ อาร์เมเนียกับอาเซอร์ไบจานแย่งชิงภูมิภาคนากอร์โน-คาราบัค มานานนับร้อยปีแล้ว และเคยเกิดสงครามใหญ่ช่วงปี 2531-2537 ก่อนจะจบลงด้วยการหยุดยิง นับแต่นั้นกลุ่มชาติพันธ์ุอาร์เมเนียซึ่งเป็นประชากรส่วนใหญ่ก็สถาปนาตนเองเป็นสาธารณรัฐอาร์ทซัค ปกครองดินแดนแห่งนี้เรื่อยมา แต่ไม่ได้รับการยอมรับจากนานาชาติ รวมถึงจากอาร์เมเนีย ซึ่งอ้างเป็นเจ้าของพื้นที่แห่งนี้ แต่ทั่วโลกยังให้การยอมรับว่า นากอร์โน-คาราบัค เป็นของอาเซอร์ไบจาน
อาเซอร์ไบจานกับชาวอาร์เมเนียในคาราบัคปะทะกันประปรายมาตลอด โดยที่ประเทศอาร์เมเนียคอยให้การสนับสนุนทางทหารและเศรษฐกิจแก่คาราบัค แต่การต่อสู้ครั้งล่าสุดซึ่งเริ่มตั้งแต่วันอาทิตย์ที่ 27 ก.ย. ถือเป็นครั้งที่รุนแรงที่สุดนับตั้งแต่จบสงครามใหญ่ มีผู้เสียชีวิตทั้ง 2 ฝ่ายแล้วมากกว่า 220 ศพ
ด้านนางซูซาน สเตปันยาน โฆษกหญิงของกระทรวงกลาโหมอาร์เมเนีย ออกมาระบุว่า ไม่มีการเปิดฉากโจมตีจากแผ่นดินของอาร์เมเนียเข้าสู่อาเซอร์ไบจาน
เกิดการปะทะกันทางทหารอย่างหนักระหว่างประเทศอาร์เมเนียกับอาเซอร์ไบจาน ในเรื่องพื้นที่พิพาท ‘ภูมิภาคนากอร์โน-คาราบัค’ ที่นานาชาติยอมรับเป็นของอาเซอร์ไบจาน แต่กลุ่มชาติพันธ์ุอาร์เมเนียควบคุมและแยกตัวออกมา โดยทั้ง 2 ฝ่ายโจมตีกันไปมา และต่างอ้างว่าทำเพื่อตอบโต้ที่อีกฝ่ายโจมตีมาก่อน ทำให้มีพลเรือนและทหารเสียชีวิตทั้ง 2 ฝ่าย
ตามการเปิดเผยของกระทรวงกลาโหมอาร์เมเนีย เกิดการโจมตีที่อยู่อาศัยของประชาชนใน ภูมิภาคนากอร์โน-คาราบัค หลายจุด รวมถึงที่เมืองเอกอย่าง สเตพานาแกร์ต ตั้งแต่เวลาประมาณ 8:10น. วันอาทิตย์ที่ 27 ก.ย. 2563 ตามเวลาท้องถิ่น ทำให้มีผู้หญิง 1 คนและเด็กอีก 1 คนเสียชีวิต ขณะที่หน่วยงานปกครองของ ภูมิภาคนากอร์โน-คาราบัค ระบุว่า เจ้าหน้าที่ของพวกเขาเสียชีวิต 16 ศพ บาดเจ็บอีกนับร้อย
อาร์เมเนียจึงโจมตีตอบโต้ โดยยิงเฮลิคอปเตอร์ของอาเซอร์ไบจานตกไป 2 ลำ โดรนอีก 3 ลำ และทำลายรถถึงได้อีก 3 คัน ขณะที่รัฐบาลอาร์เมเนียประกาศกฎอัยการศึก และเคลื่อนกำลังทหารเต็มรูปแบบ ไม่นานหลังจากหน่วยงานปกครองของ ภูมิภาคนากอร์โน-คาราบัค ประกาศคำสั่งเดียวกัน
นายกรัฐมนตรี นิโคล ปาชินยาน แห่งอาร์เมเนียเตือนว่า ภูมิภาคนี้ใกล้เข้าสู่ภาวะสงครามขนาดใหญ่ กล่าวหาอาเซอร์ไบจานว่าวางแผนรุกรานไว้ล่วงหน้า และโจมตีตุรกีว่ามีพฤติกรรมกร้าวร้าว เขายังเรียกร้องให้ประชาคมนานาชาติร่วมมือกันเพื่อป้องกันไม่ให้เสถียรภาพสั่นคลอนไปมากกว่านี้
ด้านกระทรวงกลาโหมของอาเซอร์ไบจานระบุว่า พลเรือนของเขาบาดเจ็บหรือเสียชีวิต หลังอาร์เมเนียยิงปืนใหญ่โจมตีหลายหมู่บ้าน พร้อมยืนยันว่าพวกเขาเสียเฮลิคอปเตอร์ไปเพียง 1 ลำ แต่ลูกเรือรอดชีวิต ขณะที่พวกเขาสามารถทำลายระบบป้องกันทางอากาศของอาร์เมเนียได้ 12 จุด ขณะที่ประธานาธิบดี อิลฮัม อาลิเยฟ ระบุว่า เขาออกคำสั่งปฏิบัติการโจมตีตอบโต้ขนานใหญ่แล้ว เพื่อตอบสนองต่อการโจมตีของกองทัพอาร์เมเนีย
ทั้งนี้ ข้อพิพาทเรื่อง ภูมิภาคนากอร์โน-คาราบัค เป็นปัญหาที่แก้ไม่ตกมานานกว่า 3 ทศวรรษแล้ว และเป็นชนวนเหตุให้อาร์เมเนียกับอาเซอร์ไบจานปะทะกันเป็นครั้งคราว เช่นก่อนหน้านี้เมื่อเดือนกรกฎาคม มีผู้เสียชีวิต 16 ราย ทำให้เกิดการเดินขบวนประท้วงครั้งใหญ่ที่สุดในรอบหลายปีที่กรุง บากู ของอาเซอร์ไบจาน เรียกร้องให้รัฐบาลยึดดินแดนแห่งนี้กลับคืนมา
ระหว่างการปะทะกันครั้งล่าสุด ประธานษธิบดี อิลฮัม อาลิเยฟ แห่งอาเซอร์ไบจานออกมากล่าวว่า เขามั่นใจว่าจะสามรถยึดการควบคุม ภูมิภาคนากอร์โน-คาราบัค กลับมาได้อีกครั้ง ขณะเดียวกัน ประธานาธิบดี เรเจป ไตยิป เอร์โดอัน แห่งตุรกี ประกาศให้การสนับสนุนฝ่ายอาเซอร์ไบจาน ด้านรัสเซีย ซึ่งเป็นมิตรกับอาร์เมเนีย เรียกร้องให้ทั้ง 2 ฝ่ายหยุดยิงในทันทีและจัดการเจรจาเพื่อบรรเทาสถานการณ์
ส่วนฝรั่งเศส ซึ่งในประเทศมีชุมชนชาวอาร์เมเนียขนาดใหญ่ ก็เรียกร้องให้ทั้ง 2 ฝ่ายหยุดยิงและหันหน้าเจรจาเช่นกัน ขณะที่อิหร่านซึ่งมีพรมแดนติดต่อกับทั้งอาเซอร์ไบจานและอาร์เมเนีย เสนอตัวเป็นตัวกลางเจรจาสันติภาพ
