อีดี อามิน ผู้นำเผด็จการยูกันดา หรือ อีดี้ อามิน ดาดา โอมี เกิดช่วงปี ค.ศ.1923 มีพี่น้อง 8 คน เขาเป็นเด็กมีปัญหาบ้านแตก เรียนไม่เก่งและรักความรุนแรง ต่อมาได้เข้าเป็นทหารซึ่งขณะนั้นประเทศอูกันดายังอยู่ภายใต้อาณานิคมของอังกฤษ
เขาจึงอยู่ในสังกัดของทหารอังกฤษ และได้รับการสนับสนุนจากกองทัพจนกระทั่งได้เป็นแชมป์โลกรุ่นเฮฟวี่เวทในปี 1962 อังกฤษได้ถอนกำลังออกจากอูกานดา และได้ประกาศให้เป็นประเทศเอกราช โดยมีนายกรัฐมนตรีคนแรกคือ นาย มิลตัน โอโบเต้
โดยมีอามิน เป็นทหารอารักขาแต่แล้ว เดือนมกราคม 1971 อีดี้ อามิน ก็ได้วางแผนสั่งปลดนายกรัฐมนตรีคนแรก ซึ่งเป็นนายเหนือหัวของเขาอย่างหน้าตาเฉยโดยอามินได้เริ่มการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ จัดการกับกลุ่มคนที่ยังจงรักภักดีโอโบเต้ ในปี พ.ศ. 2515 อันได้แก่กลุ่มชนเผ่าอะโชลีและแลนโก้ในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2514 ทหารของอะโชลีและแลนโก้ถูกสังหารหมู่ในโรงเรียนทหารจากจินจาและมบาราร่าจำนวนมาก
ในปี พ.ศ. 2508 มิลตัน โอโบเตขณะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีกับอีดี อามิน ได้มีส่วนเกี่ยวข้องในการลักลอบนำงาช้างและทองคำเข้าประเทศยูกันดาจากสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโกอย่างผิดกฎหมาย เรื่องการลักลอบนำเข้านั้นเป็นข้อมูลที่ได้รับการกล่าวอ้างจากนายพลนิโคลาส โอเล็นกา ผู้ที่มีส่วนร่วมกับผู้นำชาวคองโกพาทริค ลูมัมบาในภายหลัง การลักลอบเป็นส่วนหนึ่งของข้อบังคับกับรัฐบาลของคองโกให้มีการลักลอบงาช้างกับทองคำเพื่อไม่ให้มีการเผชิญหน้าทางการทหารกับกองทัพของอามิน ในปี พ.ศ. 2509 ทางรัฐสภาได้มีข้อเรียกร้องให้สืบสวนเรื่องดังกล่าว โอโบเตได้กำหนดกฎหมายข้อบังคับใหม่ ให้ยกเลิกพิธีแต่งตั้งการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีโดยกาบากา (กษัตริย์) เอ็ดเวิร์ด มูเทซาที่ 2 แห่งบูกันดาลง และประกาศแต่งตั้งตนเองเป็นประธานาธิบดีบริหารบ้านเมือง เขาสนับสนุนให้อามินเป็นผู้บัญชาการกองทัพ อามินได้เข้าทำลายพระราชวังของกาบากา และใช้กำลังเนรเทศมูเทซาไปที่สหราชอาณาจักร ที่ที่มูเทซาอยู่จนกระทั่งชีวิตในปี พ.ศ. 2512
อามินเริ่มรับทหารใหม่จากกากวา, ลักบารา, นูเบียน และชนเผ่าอื่น ๆ ในฝั่งตะวันตกของแม่น้ำไนล์ ซึ่งเป็นพื้นที่ชายแดนประเทศซูดาน ชาวนูเบียนได้อพยพจากประเทศซูดานเข้ามาสังกัดกองพันทหารอยู่ในประเทศยูกันดามาตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 20 แล้ว ในประเทศยูกันดานั้น ชาวนูเบียนถือเป็นชาวต่างด้าวและถูกมองเป็นพวกอพยพจากการก่อจลาจลในสงครามกลางเมืองซูดานครั้งที่ 1 (First Sudanese Civil War) ซึ่งไม่ได้เกี่ยวข้องกับประเทศยูกันดาเลย เพราะว่ามีชนเผ่าอยู่มากมายทางตอนเหนือของประเทศยูกันดาอาศัยอยู่ในทั้งยูกันดาและซูดาน ดังนั้นจึงอาจกล่าวอ้างได้ว่ากองทัพของอามินนั้นกอปรขึ้นจากเลือดเนื้อเชื้อไขทหารชาวซูดานด้วย
และต้นปี พ.ศ. 2515 ทหารของอะโชลีและแลนโก้ประมาณ 5,000 นายกับชาวบ้านบางส่วนหายสาบสูญ ไม่นานเหล่าผู้เคราะห์ร้ายก็หันไปพึ่งชนเผ่าอื่น, ผู้นำลัทธิ, นักหนังสือพิมพ์, ข้าราชการอาวุโส, ผู้พิพากษา, นักกฎหมาย, นักศึกษา, อาชญากร และชาวต่างชาติ เพื่อกระจายข่าวเกี่ยวกับอาชญากรรมที่เกิดขึ้น และจะมีผู้คนถูกสังหารอีกมากมายการสังหารถูกกระตุ้นโดยชนเผ่าตามปัจจัยทางนโยบายและการคลังดำเนินอยู่ตลอด 8 ปีที่อามินดำรงตำแหน่ง ไม่มีใครทราบจำนวนตัวเลขแน่นอนของคนที่ถูกสังหาร คณะกรรมาธิการนักกฎหมายสากลประมาณตัวเลขผู้เสียชีวิตไว้ไม่ต่ำกว่า 80,000 คนและอยู่ประมาณ 300,000 คน แต่การประมาณตัวเลขผู้เสียชีวิตขององค์กรผู้ลี้ภัยที่ได้รับการช่วยเหลือจากองค์การนิรโทษกรรมสากลได้คาดไว้ถึง 500,000 คน ในกลุ่มผู้ที่ถูกสังหาร
ชื่อที่สะดุดตานั้นมีเบเนดิกโต กิวานุก้า อดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งในภายหลังได้ดำรงตำแหน่งเป็นหัวหน้าผู้พิพากษา,จานานี ลุวุม แองกลิคันอาร์ชบิชอปแห่งคริสตจักรแห่งยูกันดา, โจเซฟ มูบิรุ ผู้ว่าการธนาคารกลาง, แฟร้งค์ มาลิมุโซ อธิการบดีมหาวิทยาลัยมาเกเรเร่, ไบรอน กาวาดว่า นักประพันธ์บทละครผู้มีชื่อเสียงและสองรัฐมนตรีของอามินเองคืออีรินาโย วิลสัน ออร์เยม่ากับชาลส์ โอบอธ โอโฟมบิ

เสรีภาพเรื่องการแสดงความคิดเห็นต่างพบเจอบ่อยในประเทศที่มีเสรีภาพ ทว่าในบางพื้นที่บนโลก คำว่า “การวิพากษ์วิจารณ์” แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับสังคมและการเมืองเป็นสิ่งที่ต้องห้ามปราม ดังเช่นยุคหนึ่งของประเทศยูกันดา ภายใต้การปกครองของประธานาธิบดี อีดี อามิน (Idi Amin) ผู้ที่ได้ฉายาว่า ‘อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ แห่งแอฟริกาใต้’
อีดี อามิน ผู้นำเผด็จการยูกันดา มีจุดเริ่มต้นสู่อำนาจคล้ายกับผู้นำเผด็จการคนอื่น ๆ ทั่วโลก ทิ้งอาชีพนักมวยมาเป็นทหารชั้นผู้น้อย ไต่เต้าเรื่อย ๆ จนเป็นนายทหารระดับสูง จากนั้นกระโจนเข้าสู่โลกการเมืองด้วยการช่วยนักการเมืองล้มเจ้า ขับไล่กษัตริย์มูเตซาที่ 2 ออกนอกประเทศ พยายามลอบสังหารประธานาธิบดีมิลตัน โอโบเต (Milton Obote) ทว่าไม่สำเร็จ จึงจัดการทำรัฐประหารพาตัวเองขึ้นเป็นผู้นำ ด้วยวุฒิการศึกษาที่ลือลั่นปากต่อปากว่าจบแค่ระดับประถมศึกษาปีที่ 4
หลังทำรัฐประหาร เขาให้คำมั่นอย่างดิบดีว่าจะจัดการความวุ่นวายให้เรียบร้อย บอกว่าตัวเองเป็นทหารไม่ใช่นักการเมือง จะเร่งคืนประชาธิปไตยให้ปวงชน จะรีบจัดการเลือกตั้ง ทว่าการกระทำของเขากลับสวนทางกับคำพูดทุกอย่าง ประธานาธิบดีอามินตัดสินใจฉีกรัฐธรรมนูญ เอาทหารมาปกครองด้านต่าง ๆ ของประเทศ อยู่ยาวไม่ยอมลงจากอำนาจตามที่แจ้งไว้กับประชาชน
ประธานาธิบดีอามินเสพสุขกับเงินก้อนโต อำนาจล้นมือ สั่งซื้ออาวุธราคาแพงเหมือนกับเป็นของเล่น มีสาวงามข้างกายจำนวนมากที่คาดว่ามีทายาทราว 30-40 คน เมื่อนำทหารที่ไม่มีความรู้หรือประสบการณ์ด้านการบริหารประเทศมาทำงาน ประกอบกับไล่คนเอเชียที่เก่งเรื่องค้าขายไปจนหมด และยึดทรัพย์สิน บ้าน ที่ดินมาเป็นของรัฐ ส่วนชาวเมืองทั้งแรงงานไปจนถึงปัญญาชนที่เห็นต่างพากันหลบซ่อนตัว เศรษฐกิจของประเทศยูกันดาจึงเริ่มพังพินาศ แต่เขากลับไม่สนใจวิกฤตเศรษฐกิจ ยังคงหาซื้อสิ่งของฟุ่มเฟือยอย่างนาฬิกาข้อมือแบรนด์เนม วิสกี้ราคาแพง ไวน์หายาก มาแจกจ่ายให้นายทหารที่เป็นพรรคพวกตัวเอง
นอกจากไม่สนใจความเป็นอยู่ของประชาชน ท่านผู้นำได้จัดตั้งหน่วยงานเฉพาะเพื่อกำจัดคนคิดต่างทางการเมือง บีบบังคับสื่อไม่ให้เขียนข่าวโจมตี จับคนเห็นต่างมาทรมานด้วยวิธีการหลากหลายที่พอจะจินตนาการถึง เช่น ให้นอนราบบนพื้นถนน จากนั้นใช้ทหารขับรถถังทับร่างจนแหลก จับถ่วงน้ำ ยิงทิ้ง โยนให้จระเข้กินทั้งเป็น และมักนำร่างไร้วิญญาณไปทิ้งในแม่น้ำ ผู้นำโหดสังหารหมู่ประชาชนอย่างโจ่งแจ้งโดยไม่สนใจเรื่องศีลธรรมเพราะเขาไม่มีมันตั้งแต่แรก
ระยะเวลา 8 ปี ของการปกครองของประธานาธิบดีอามิน มีการสันนิษฐานว่าเขาสั่งสังหารประชาชนไปกว่า 100,000-500,000 คน เพียงเพราะไม่ถูกใจ เพียงเพราะคิดต่าง เพียงเพราะวิจารณ์การเมือง คนจำนวนมากที่ถูกทรมานและล้มหายตายจากเยอะยิ่งกว่าใบไม้ร่วงในช่วงสารท สมกับคำที่เขาเคยประกาศกร้าวไว้ว่า “พวกคุณมีเสรีภาพในการพูด แต่ผมไม่รับประกันเสรีภาพของคุณหลังจากพูดมันออกมาแล้ว” เพื่อตอกย้ำถึงอำนาจเผด็จการที่ไม่เคยส่งผลดีต่อประชาชน
