Skip to content
Home » News » อีลอน มัสก์ เตรียมทดสอบยานอวกาศ

อีลอน มัสก์ เตรียมทดสอบยานอวกาศ

อีลอน มัสก์ เตรียมทดสอบยานอวกาศ นักธุรกิจผู้บุกเบิกอุตสาหกรรมขนส่งอวกาศคนดัง “อีลอน มัสก์” ประกาศพร้อมบินทดสอบยานอวกาศต้นแบบ “สตาร์ชิป” (Starship) ครั้งแรก ภายใน 1-2 เดือนข้างหน้านี้ โดยเขาตั้งเป้าหมายให้ยานดังกล่าวและจรวดทรงพลังรุ่นใหม่ “ซูเปอร์เฮฟวี” (Super Heavy) ซึ่งจะใช้งานร่วมกัน นำมนุษย์เดินทางสู่ดวงจันทร์และดาวอังคารรวมทั้งจุดหมายปลายทางทั่วโลกได้อย่างสะดวกรวดเร็ว

อีลอน มัสก์ เตรียมทดสอบยานอวกาศ นายมัสก์ซึ่งเป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) ของบริษัทสเปซเอกซ์ แถลงที่ศูนย์ปฏิบัติการเมืองโบกาชิกาในรัฐเทกซัสของสหรัฐฯ เมื่อวันที่ 28 ก.ย.ว่า จะมีการบินทดสอบยานอวกาศสตาร์ชิปในไม่ช้านี้

โดยใช้ยานต้นแบบรุ่นแรก “มาร์กวัน” (Mk1) ประกอบเข้ากับจรวดขับดัน พุ่งทะยานขึ้นสู่ความสูงเหนือพื้นโลก 65,000 ฟุต หรือราว 20 กิโลเมตร ก่อนจะบังคับให้กลับมาลงจอดยังพื้นโลกอีกครั้ง โดยตัวยานสามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้

อีลอน มัสก์ เตรียมทดสอบยานอวกาศ
https://www.bbc.com/thai/international-49878917

การทดสอบยานต้นแบบที่มีความสูง 50 เมตรในครั้งนี้ จะนำไปสู่การพัฒนาและทดสอบยานต้นแบบรุ่นต่อไปคือ Mk3 ซึ่งจะนำมาทดลองใช้งานจริงคู่กับจรวดซูเปอร์เฮฟวี เพื่อปล่อยขึ้นสู่วงโคจรโลกได้อย่างเร็วในต้นปีหน้า

“มันอาจจะฟังดูบ้ามาก แต่ผมคิดว่าเราอยากลองพยายามขึ้นสู่วงโคจรโลกให้ได้ภายในเวลาน้อยกว่า 6 เดือน และหากความคืบหน้าด้านการออกแบบและการผลิตชิ้นส่วนของยานยังคงเป็นไปในอัตราก้าวกระโดดแบบนี้ ผมคิดว่ามันเป็นไปได้ภายในเวลาอีกไม่กี่เดือนเท่านั้น” มัสก์กล่าว

อย่างไรก็ตาม เป็นที่รู้กันทั่วไปว่า อีลอน มัสก์ มักจะกำหนดตารางเวลาสำหรับดำเนินงานในโครงการอวกาศต่าง ๆ ก่อนหน้านี้อย่างเร่งรัด แต่ในท้ายที่สุดก็จำต้องเลื่อนกำหนดเวลาเป้าหมายออกไปอยู่เสมอ จนตารางเวลาดังกล่าวถูกเรียกขานกันว่า “เวลาอีลอน” (Elon time)

ในการแถลงข่าวครั้งนี้ มัสก์ยังเผยถึงความเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ในการออกแบบและสร้างยานสตาร์ชิป โดยระบุว่าได้เปลี่ยนวัสดุที่ใช้จากคาร์บอนไฟเบอร์ซึ่งมีราคาแพง มาเป็นสแตนเลสหรือเหล็กกล้าไร้สนิมซึ่งราคาถูกกว่ากันถึง 52 เท่า แต่มีประสิทธิภาพสูงและใช้งานได้ดีทั้งในภาวะอุณหภูมิต่ำและอุณหภูมิร้อนแรง

นอกจากนี้ ยังมีการใช้แผ่นแก้วทนความร้อนปูที่พื้นผิวบริเวณที่ต้องรับอุณหภูมิสูงเป็นพิเศษ ขณะยานกลับเข้าสู่ชั้นบรรยากาศโลกอีกครั้ง ส่วนเครื่องยนต์ขับดัน “แรปเตอร์” (Raptor) ซึ่งใช้การเผาไหม้เชื้อเพลิงมีเทนนั้น จะติดตั้งที่ยานต้นแบบ Mk1 เพียง 3 ตัว แต่ยานอวกาศที่ใช้งานจริงจะมี 6 ตัว ส่วนจรวดซูเปอร์เฮฟวีรุ่นใหม่จะติดตั้งเครื่องยนต์แรปเตอร์ไว้ถึง 37 ตัว ซึ่งจะจุดระเบิดขึ้นพร้อมกันขณะทะยานสู่ห้วงอวกาศ

ส่วนกรณีที่มีผู้วิจารณ์ว่านายมัสก์หมกมุ่นทุ่มเทให้กับการเดินทางสู่ดาวอังคารมากเกินไป จนลืมว่ายังมีประเด็นปัญหาของโลกอีกมากมายที่รอการแก้ไขนั้น เขากล่าวชี้แจงว่า “แน่นอนว่ายังมีปัญหาอีกมากมายบนโลกใบนี้ ซึ่งมีความสำคัญและเราจำเป็นต้องลงมือแก้ไข แต่เราก็ต้องการสิ่งที่ทำให้รู้สึกตื่นเต้นที่ได้มีชีวิตอยู่ สิ่งที่ทำให้เรารู้สึกยินดี

เมื่อตื่นขึ้นมาแล้วได้พุ่งทะยานสู่วันข้างหน้า ได้คิดฝันว่าอนาคตนั้นจะต้องเยี่ยมยอด การสำรวจของสเปซเอกซ์ถือเป็นหนึ่งในสิ่งเหล่านี้”

ปัจจุบันมีผู้แสดงความประสงค์จองที่นั่งในยานสตาร์ชิป เพื่อเดินทางท่องเที่ยวรอบดวงจันทร์กับบริษัทสเปซเอกซ์แล้วอย่างน้อยหนึ่งราย ได้แก่นายยูซาคุ มาเอะซาวะ มหาเศรษฐีผู้ทรงอิทธิพลในวงการแฟชั่นญี่ปุ่น ซึ่งมีแผนจะเชิญศิลปินจำนวนหนึ่งเดินทางไปกับเขาด้วย

https://www.bbc.com/thai/international-49878917

นายมัสก์ยังได้กล่าวย้ำถึงความสำคัญของการขนส่งมนุษย์ไปตั้งอาณานิคมบนดาวอังคาร โดยชี้ว่าเป็นเรื่องเร่งด่วนที่ทั่วโลกควรจะให้ความสนใจเสียแต่บัดนี้ เพราะเป็นสิ่งเดียวที่จะรับประกันความอยู่รอดของมนุษยชาติหลัง “ยุคมืด” ที่เป็นผลพวงจากสงครามโลกครั้งที่สาม

“ผมคิดว่าไม่น่าจะเป็นไปได้ที่เราจะไม่มีสงครามโลกเกิดขึ้นอีก มันเป็นแบบแผนของเราในอดีตมาโดยตลอด” นายมัสก์กล่าว

อย่างไรก็ตาม เขายอมรับว่ารู้สึกตื่นเต้นเมื่อจินตนาการถึงชีวิตใหม่ในอาณานิคมดาวอังคาร ซึ่งจะต้องมีการปกครองผู้คนในรูปแบบที่ต่างออกไป และมีโอกาสทางธุรกิจใหม่ ๆ เกิดขึ้นมากมาย “ผมว่ารูปแบบการปกครองที่เป็นไปได้มากที่สุดบนดาวอังคารคือประชาธิปไตยโดยตรง ซึ่งพลเมืองทุกคนมีสิทธิออกเสียงเพื่อลงมติตัดสินใจในทุกประเด็น”

เมื่อกล่าวถึงเรื่องความก้าวหน้าของปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) นายมัสก์ได้ตอกย้ำถึงจุดยืนที่เขายืนยันมาโดยตลอดว่า เอไออาจเป็นภัยต่อมนุษย์หากไม่มีการวางกฎเกณฑ์ควบคุมหรือวางแผนการรับมือไว้ล่วงหน้าเสียแต่บัดนี้ “เอไอนั้นเป็นอันตรายยิ่งกว่าสงครามนิวเคลียร์เสียอีก หากทุกคนเห็นตรงกันว่าไม่อาจปล่อยให้ใคร ๆ พัฒนาหัวรบนิวเคลียร์กันตามอำเภอใจได้ ทำไมจึงไม่มีการวางกฎเกณฑ์ควบคุมเอไอในแบบเดียวกัน?”

เมื่อมีผู้ถามถึงสถานะทางธุรกิจในปัจจุบันของบริษัทสเปซเอ็กซ์และเทสลา นายมัสก์ตอบว่ากิจการทั้งสองนั้น “เอาตัวรอดมาได้อย่างหวุดหวิด” หลังจากที่เกือบจะล้มละลายในปี 2008 ซึ่งในปีนั้นสเปซเอ็กซ์ยังปล่อยจรวดฟอลคอน-1 ล้มเหลวติดต่อกันถึง 3 ครั้ง ทำให้นายมัสก์มีเงินทุนเหลือเพียง 40 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ตัวของเขาเองยังประสบปัญหาครอบครัวจนต้องหย่าร้างกับภรรยา และต้องยืมเงินเพื่อนเพื่อจ่ายค่าเช่าบ้าน

“ผมไม่อาจเลือกลงทุนด้วยเงินก้อนสุดท้ายกับเทสลาหรือสเปซเอ็กซ์เพียงที่ใดที่หนึ่ง ทั้งสองเป็นเหมือนลูกที่ผมสร้างขึ้นมาด้วยน้ำพักน้ำแรงของตัวเอง และไม่อาจจะปล่อยให้กิจการใดต้องตายลงไป ผมจึงเสี่ยงลงเงินที่เหลืออยู่น้อยนิดกับทั้งสองแห่ง และโชคดีที่เราต่างรอดมาได้” นายมัสก์กล่าว