อุบัติเหตุ แพรวา เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นในคืนวันที่ 27 ธันวาคม 2553
อุบัติเหตุ แพรวา
รถยนต์นั่งส่วนบุคคล สีขาว ยี่ห้อฮอนด้าซีวิคขับโดย อรชร เทพหัสดิน ณ อยุธยา ชื่อเล่นว่า แพรวา อายุ 17 ปี แล่นมาด้วยความเร็ว พุ่งเข้าชนท้ายรถตู้สาธารณะ สีขาว
ยี่ห้อโตโยต้า ไฮเอซ บนทางยกระดับอุตราภิมุขเส้นทางระหว่างมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต กับสถานีหมอชิต (สาย ต.118) ซึ่งมีผู้โดยสาร 14 คน ส่วนใหญ่เป็นนักศึกษาและบุคลากรของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติเป็นเหตุให้รถตู้คันดังกล่าวฟาดกับขอบทางยกระดับอุตราภิมุขอย่างแรง มีผู้โดยสารกระเด็นออกจากรถ เบื้องต้นเสียชีวิต 8 คน บาดเจ็บอีก 6 คน ต่อมา ผู้บาดเจ็บเสียชีวิตลงอีก 1 คน รวมจำนวนผู้โดยสารเสียชีวิต 9 คน และบาดเจ็บ 5 คน ส่วนอรชร เทพหัสดิน ณ อยุธยา บาดเจ็บเล็กน้อย
ราว 21:00 นาฬิกา รถตู้สาธารณะคันข้างต้นได้รับผู้โดยสาร 14 คนจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ตำบลคลองหนึ่ง อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี ส่วนใหญ่เป็นนักศึกษาและบุคลากรของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ที่เลิกเรียนและเลิกงานจะกลับบ้านก่อนวันหยุดยาวช่วงขึ้นปีใหม่ ปลายทางของรถตู้คือสถานีหมอชิต เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร
ครั้นมาถึงทางยกระดับอุตราภิมุข ซึ่งอยู่สูง 20 เมตรเหนือทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 31 บริเวณหน้ามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ติดต่อกับสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ และบริษัทยาคูลท์ (ประเทศไทย) จำกัด แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร รถยนต์นั่งส่วนบุคคลของอรชร เทพหัสดิน ณ อยุธยา ได้วิ่งมาด้วยความเร็ว พุ่งเข้าชนท้ายรถตู้ รถตู้จึงเสียหลัก พลิกคว่ำไปชนขอบกั้นคอนกรีตของทางยกระดับอุตราภิมุข และฟาดกับเสาไฟฟ้า ก่อนคว่ำลงกับพื้นในลักษณะตะแคง กระจกแตก และประตูเปิดออก แรงเหวี่ยงส่งผลให้ผู้โดยสารบางส่วนกระเด็นจากรถ กระแทกพื้นทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 31 บางส่วนปลิวตกลงคลองของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มี 1 คนกระเด็นไปกระแทกสะพานลอยใต้ทางยกระดับอุตราภิมุขเสียชีวิตและศพเกี่ยวห้อยอยู่ ณ ที่นั้น ขณะที่อีกส่วนคาอยู่ในรถตู้
อุบัติเหตุครั้งนี้สร้างกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในด้านลบต่ออรชร เทพหัสดิน ณ อยุธยา อย่างกว้างขวางในสังคมออนไลน์ ขณะที่ชาวเน็ตบางกลุ่มเรียกร้องให้รัฐดำเนินกระบวนการยุติธรรมเกี่ยวกับอุบัติเหตุครั้งนี้อย่างโปร่งใสและเป็นกลางอีกทั้งยังส่งผลให้รัฐพิจารณาออกกฎระเบียบบังคับให้ผู้โดยสารรถสาธารณะต้องคาดเข็มขัดนิรภัยทุกคนด้วย
คำขอโทษ ขนมเปี๊ยะ และการถ่ายรูป
วรัญญู เกตชู ที่กระดูกไหปลาร้าหัก เข่าซ้ายแตก ต้องเข้าเฝือกท่อนล่าง นอนนิ่งๆ อยู่บนเตียง 2 เดือน และใช้เวลาหัดเดินนานนับปีกว่าจะกลับมาเดินได้ตามปกติ จากเหตุการณ์ดังกล่าว เล่าถึงสิ่งที่เกิดขึ้นในคดีนี้ผ่านทวิตเตอร์ @tintinwarunyoo ว่า ครั้งแรกที่เจอแพรวาในโรงพยาบาล เธอนั่งรถเข็นมาในห้องพร้อมกับแม่ “ขอโทษพี่เขาสิลูก” “หนูขอโทษค่ะ” พร้อมกับมอบขนมเปี๊ยะบ้านอัยการและถ่ายรูป (วันที่ 30 ธันวาคม พ.ศ.2553 หลังเกิดอุบัติเหตุสามวัน)
“ตอนนั้นไม่รู้สึกถือโกรธแล้วเพราะมันคืออุบัติเหตุ ไม่มีใครตั้งใจ เราก็รู้สึกดีนะที่มาขอโทษ ที่เขาไม่พูดเพราะเขายังเด็กอาจจะกลัวด้วย พอน้องออกไป พี่พยาบาลก็มาเล่าว่าน้องเขาเดินมาปกตินะ แต่มาขอรถเข็นหน้าวอร์ด เราเลยอึ้งไปพักนึง” วรัญญูว่าไว้
เขายังเล่าถึงความลำบากในการต่อสู้คดีตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมา ที่มองว่า ฝั่งแพรวาต้องการประวิงเวลา สู้คดีจนครบทั้ง 3 ศาล ในคดีอาญาและคดีแพ่ง วันนัดไกล่เกลี่ยก็มาสาย วันฟังคำพิพากษาศาลฎีกาก็ไม่มาปรากฎตัว จนเขาเองรู้สึกเหนื่อย ต้องเสียเวลา เสียเงินทอง แถมเดินทางมาไกลจากต่างจังหวัด ทุกครั้งที่เจอแม่ของคนขับรถตู้ (ที่เสียชีวิตในที่เกิดเหตุด้วย) เขาจะได้รับการยกมือไหว้ขอโทษ เป็นสิ่งที่เขาไม่เคยได้รับจากแพรวา
“เงินไม่ใช่ปัญหา แต่มันเป็นเรื่องของความใส่ใจต่างหาก ที่เราไม่รู้สึกเลย” หนึ่งในผู้บาดเจ็บจากอุบัติเหตุบนโทลล์เวย์ดังกล่าว บรรยายไว้ในกลุ่มข้อความทวีต ที่มาพร้อมแฮชแท็ก #แพรวา9ศพ #เราอยู่ในรถตู้คันนั้นแต่เราไม่ตาย
ขณะที่พ่อแม่ของผู้เสียชีวิตหลายคนที่ไปบอกเล่าประสบการณ์ในการต่อสู้คดีผ่านสื่อ ต่างยืนยันเป็นเสียงเดียวกันว่า แทบไม่ได้รับการสำนึกผิดอย่างจริงใจจากฝั่งแพรวาเลย แถมยังเจอคำพูดเชิงปรามาสว่า “อยากได้เงินเหรอ ก็สู้กันยาวๆ ไปเลย”

หลังเป็นข่าวใหญ่ช่วงปลายปี 2553 ต่อเนื่องถึงปี 2554 หลังจากนั้นแม้สื่อจะนำเสนอความคืบหน้าการดำเนินคดีกับแพรวาอยู่เรื่อยๆ แต่ก็ไม่ได้รับความสนใจเท่าครั้งเกิดเหตุแรกๆ
หลายปีก่อน มีคนนำรูปเธอในงานรับน้องเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยชื่อดังแห่งหนึ่งมาเผยแพร่ในโลกออนไลน์ ผู้คนก่นด่าเธอที่ยังใช้ชีวิตได้ตามปกติ ยิ้มแย้มมีความสุข ทั้งที่ก่อเหตุทำให้มีผู้เสียชีวิตไปเป็นจำนวนมาก
แต่ความสนใจต่อชีวิตของแพรวาในวันนั้น ก็ไม่เท่ากับความสนใจรอบล่าสุด ที่เริ่มต้นจากการนำตัวญาติผู้สูญเสียไปออกรายการโทรทัศน์ดังรายการหนึ่ง ในวันที่ 15 กรกฎาคมที่ผ่านมา จากนั้นผู้บาดเจ็บในเหตุการณ์ก็ทวีตเล่าความยากลำบากในการติดตามคดีตลอด 9 ปีที่ผ่านมา และทวงถามการสำนึกเสียใจ และการดูแลผู้สูญเสียอย่างเพียงพอ ที่พวกเขาไม่เคยได้รับ
