Skip to content
Home » News » เงื่อนไข สนธิสัญญาแวร์ซาย

เงื่อนไข สนธิสัญญาแวร์ซาย

เงื่อนไข สนธิสัญญาแวร์ซาย
https://th.wikipedia.org/wiki/สนธิสัญญาแวร์ซาย

เงื่อนไข สนธิสัญญาแวร์ซาย มาตรการที่มีต่อเยอรมนี

การจำกัดทางกฎหมาย

ข้อ 227 แจ้งข้อหาแก่จักรพรรดิแห่งเยอรมนี จักรพรรดิวิลเฮล์มที่ 2 ในฐานะก่ออาชญากรรมต่อมวลมนุษยชาติ นอกจากนี้ยังถูกพิจารณาว่ามีความผิดฐานอาชญากรรมสงคราม

ข้อ 228-230 ระบุถึงอาชญากรสงครามชาวเยอรมันที่เกี่ยวข้อง

ข้อ 231 (“อนุประโยคความรับผิดในอาชญากรรมสงคราม”) ได้ถือว่าเยอรมนีเป็นฝ่ายเริ่มต้นสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง และเป็นผู้รับผิดชอบต่อความเสียหายที่ส่งผลประทบต่อพลเรือนของกลุ่มประเทศฝ่ายสัมพันธมิตร

การกำหนดกำลังทหาร

เงื่อนไข สนธิสัญญาแวร์ซาย ตามที่ได้ระบุไว้ในส่วนที่ห้าของสนธิสัญญาแวร์ซายว่า “ในความพยายามที่จะเริ่มต้นการจำกัดอาวุธของนานาประเทศนั้น เยอรมนีจำเป็นต้องยอมรับและปฏิบัติตามอย่างเข้มงวด ซึ่งปริมาณของกองทัพบก กองทัพเรือ และกองทัพอากาศจะต้องเป็นไปตามที่ระบุไว้ดังต่อไปนี้”

แคว้นไรน์แลนด์เป็นเขตปลอดทหาร ซึ่งอยู่ภายใต้การปกครองร่วมกันระหว่างสหราชอาณาจักรและฝรั่งเศส
กองทัพเยอรมันถูกจำกัดทหารเหลือเพียง 100,000 นาย การประกาศระดมพลถูกล้มเลิก

ตำแหน่งทหารชั้นประทวนจะได้ต้องยกเลิกไปเป็นเวลา 12 ปี และตำแหน่งนายทหารชั้นสัญญาบัตรจะต้องได้รับการยกเลิกไปเป็นเวลา 25 ปี

ห้ามทำการผลิตอาวุธในเยอรมนี และห้ามทำการครอบครองรถถัง ยานยนต์หุ้มเกราะ เครื่องบินรบและปืนใหญ่ทั้งสิ้น

ห้ามเยอรมนีนำเข้าและส่งออกอาวุธ รวมไปถึงการผลิตและการครอบครองแก๊สพิษ

กำลังพลกองทัพเรือถูกจำกัดลงเหลือ 15,000 นาย เรือรบ 6 ลำ (น้ำหนักเรือไม่เกิน 10,000 เมตริกตัน) เรือลาดตระเวน 6 ลำ (น้ำหนักเรือไม่เกิน 6,000 เมตริกตัน) เรือพิฆาตตอร์ปิโด 12 ลำ (น้ำหนักเรือไม่เกิน 800 เมตริกตัน) และเรือยิงตอร์ปิโด 12 ลำ (น้ำหนักเรือไม่เกิน 200 เมตริกตัน) เยอรมนีห้ามมีเรือดำน้ำในครอบรอง

การปิดล้อมทางทะเลต่อเรือถูกสั่งห้าม

การกำหนดพรมแดน

จากสนธิสัญญาแวร์ซาย ได้กำหนดให้เยอรมนีสูญเสียอาณานิคมทั้งหมด รวมไปถึงดินแดนบางส่วนของแผ่นดินแม่ โดยดินแดนที่สำคัญ ได้แก่ ดินแดนปรัสเซียตะวันตก ซึ่งต่อมาได้กลายเป็นสาธารณรัฐโปแลนด์ที่สอง และยังต้องสูญเสียฉนวนโปแลนด์และทางออกสู่ทะเลบอลติก นับตั้งแต่ผลของการแบ่งโปแลนด์ และทำให้แคว้นปรัสเซียตะวันออกถูกกีดกันออกไปจากแผ่นดินเยอรมนีเป็นดินแดนแทรก

อำนาจอธิปไตยเหนือแคว้นอาลซัส-ลอแรน ซึ่งเป็นดินแดนของเยอรมนีตามสนธิสัญญาแฟรงก์เฟิร์ต เมื่อปีค.ศ. 1871 จะถูกยกคืนแก่ฝรั่งเศส (คิดเป็นดินแดน 14,522 ตารางกิโลเมตร ประชากรประมาณ 1,815,000 คน (ประมาณการ ณ ค.ศ. 1905) เกลม็องโซเชื่อมั่นว่าเยอรมนีมีประชากรมากเกินไป และการยึดครองแคว้นอาลซัส-ลอแรนดังกล่าวจะเป็นการทำให้เยอรมนีอ่อนแอลงและทำให้ฝรั่งเศสแข็งแกร่งขึ้น

ดินแดนชเลสวิชตอนเหนือต้องคืนให้แก่เดนมาร์ก ตามผลของการลงประชามติ เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1920 (คิดเป็นดินแดน 3,984 ตารางกิโลเมตร ประชากรประมาณ 163,600 คน) ส่วนดินแดนชเลสวิชตอนกลาง รวมทั้งเมืองเฟล็นส์บวร์ค ยังคงเป็นของเยอรมนี จากผลของการลงประชามติใน ค.ศ. 1920

ส่วนใหญ่ของมณฑลโพเซินและปรัสเซียตะวันตก ซึ่งปรัสเซียได้รับมาหลังจากการแบ่งดินแดนโปแลนด์ เมื่อค.ศ. 1772 ถึง 1795 ต้องคืนให้แก่โปแลนด์ (คิดเป็นดินแดน 53,800 ตารางกิโลเมตร รวมไปถึงดินแดน 510 ตารางกิโลเมตร ประชากร 26,000 คน จากอัปเปอร์ซิลีเซีย)

ซึ่งดินแดนส่วนที่ฉีกออกมานั้นได้ตกอยู่ภายใต้การปกครองของโปแลนด์อย่างสมบูรณ์หลังจากเหตุการณ์ก่อจลาจลเมื่อปี ค.ศ. 1918 ถึง 1919 แต่ประชาชนไม่ยอมรับการลงประชามติ การรวมเอาดินแดนปรัสเซียตะวันตกและการละเมิดสิทธิชนกลุ่มน้อยของรัฐโปแลนด์ ทำให้พลเมืองปรัสเซียตะวันตกอพยพสู่ดินแดนเยอรมนีเป็นจำนวนมากในช่วงคริสต์ทศวรรษ 1920 โดยคิดเป็นกว่า 1,000,000 คนในปี ค.ศ. 1919 และอีกกว่า 750,000 คนในปี ค.ศ. 1926

ยกดินแดนฮุลทชิน ของอัปเปอร์ซิลีเซีย ให้แก่เชโกสโลวาเกีย (คิดเป็นดินแดน 333 ตารางกิโลเมตร ประชากรประมาณ 49,000 คน) โดยปราศจากการลงประชามติ

ยกทางตะวันออกของแคว้นอัปเปอร์ซิลีเซียให้แก่โปแลนด์ (คิดเป็นดินแดน 3,214 ตารางกิโลเมตร ประชากรประมาณ 965,000 คน) โดย 2 ใน 3 รวมเข้ากับเยอรมนี และอีก 1 ใน 3 รวมเข้ากับโปแลนด์ตามผลของการลงประชามติ

ยกมอเรสเนต ยูเพนและมาเมลคืนให้เบลเยี่ยม รวมไปถึงยกรางรถไฟเวนนบานให้แก่เบลเยี่ยมด้วย
ยกอาณาเขตของโซลเดา ในปรัสเซียตะวันออก ชุมทางรถไฟสายวอร์ซอ-ดานซิกที่สำคัญ ให้แก่โปแลนด์โดยไม่ต้องมีการลงประชามติ

ยกดินแดนทางตอนเหนือของอัปเปอร์ซิลีเซีย หรือแคว้นมาเมล ให้อยู่ภายใต้การปกครองของฝรั่งเศส ต่อมาได้โอนให้แก่ลิทัวเนีย

ยกดินแดนทางตะวันออกของปรัสเซียตะวันตกและทางตอนใต้ของปรัสเซียตะวันออกให้แก่โปแลนด์ หลังจากผลการลงประชามติ

ให้ดินแดนซาร์ลันท์อยู่ภายใต้การปกครองของสันนิบาตชาติเป็นเวลา 15 ปี และหลังจากครบกำหนดเวลาจะมีการลงประชามติว่าจะเลือกรวมกับฝรั่งเศสหรือรวมกับเยอรมนีตามเดิม (ผลการออกเสียงใน ค.ศ. 1935 ได้รวมกับเยอรมนี) โดยในช่วงเวลาระหว่างที่อยู่ภายใต้การปกครองของสันนิบาติชาติ ผลผลิตถ่านหินของแคว้นให้เป็นของฝรั่งเศส

เมืองท่าดานซิก ซึ่งตั้งอยู่บนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำวิสตูล่า ริมชายฝั่งทะเลบอลติก ต้องเป็นนครเสรีดานซิก ภายใต้การปกครองของสันนิบาติชาติ โดยปราศจากการลงประชามติ (คิดเป็นดินแดน 1,893 ตารางกิโลเมตร ประชากรประมาณ 408,000 คน (ประมาณการปี ค.ศ. 1920)

เยอรมนีต้องรับรองและให้ความเคารพแก่ความเป็นเอกราชของออสเตรียอย่างเคร่งครัด และห้ามประเทศทั้งสองรวมเข้าด้วยกัน แม้ว่าประชาชนของทั้งสองฝ่ายมีความต้องการเช่นนั้น

ในข้อ 22 อาณานิคมเยอรมนีถูกแบ่งกันระหว่างเบลเยียม สหราชอาณาจักร บางประเทศในเครือจักรภพอังกฤษ ฝรั่งเศส และญี่ปุ่น ภายใต้ข้อกำหนดที่ว่าอาณานิคมเหล่านี้จะต้องไม่กลับเข้าไปรวมกับเยอรมนีอีก ซึ่งเป็นการรับประกันตามข้อ 119

ในทวีปแอฟริกา อังกฤษและฝรั่งเศสได้เยอรมันคาเมรุน (แคมารูน) และโตโกแลนด์ เบลเยี่ยมได้รูอันดา-อูรุนดีในทางตะวันออกเฉียงเหนือของแอฟริกาตะวันออกของเยอรมนี โปรตุเกสได้รับสามเหลี่ยมคิออนกา แอฟริกาตะวันตกเฉียงใต้ของเยอรมนีเป็นดินแดนในอาณัติของสหภาพแอฟริกาใต้

ในแปซิฟิก ญี่ปุ่นได้เกาะของเยอรมนีเหนือเส้นศูนย์สูตร (หมู่เกาะมาร์แชลล์ หมู่เกาะแคโรไลน์ หมู่เกาะมาเรียนา หมู่เกาะปาเลา) และอ่าวเกียวเจาในจีน เยอรมันซามัวได้รับมอบให้กับนิวซีแลนด์ เยอรมันนิวกินี กลุ่มเกาะบิสมาร์ค และนาอูรูให้เป็นดินแดนอาณัติของออสเตรเลีย

ปัญหามณฑลซานตง

ตามข้อที่ 156 ของสนธิสัญญา ได้กำหนดให้สัมปทานของเยอรมนีในมณฑลชานตงของจีนต้องถูกโอนให้แก่ญี่ปุ่น แทนที่จะถูกโอนกลับมาให้อยู่ภายใต้การปกครองของจีน ชาวจีนจึงจัดการเดินขบวนต่อต้านครั้งใหญ่ ที่เรียกว่า ขบวนการ 4 พฤษภาคม (อังกฤษ: May Fourth Movement) และส่งผลกระทบให้จีนไม่ร่วมลงนามในสนธิสัญญาดังกล่าว จีนได้ประกาศยุติสงครามกับเยอรมนีในปี ค.ศ. 1919 และลงนามในสนธิสัญญาแยกต่างหากกับเยอรมนีในปี ค.ศ. 1921

ค่าปฏิกรรมสงคราม

ตามข้อที่ 231 ของสนธิสัญญาแวร์ซายกำหนดให้เยอรมนีต้องรับผิดชอบในฐานะที่เป็นผู้เริ่มสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง และได้กำหนดค่าปฏิกรรมสงครามที่เยอรมนีจำเป็นต้องจ่ายให้แก่ฝ่ายสัมพันธมิตร โดยฝ่ายสัมพันธมิตรได้เรียกร้องเอาทองคำจากเยอรมนีเป็นมูลค่า 226,000 ล้านไรซ์มาร์ก (หรือ 11,300 ล้านปอนด์) ซึ่งเป็นจำนวนที่ได้รับการรับรองจากคณะกรรมการค่าปฏิกรรมสงครามของฝ่ายสัมพันธมิตร แต่ในปี ค.ศ. 1921 ถูกปรับลดลงมาเหลือ 132,000 ล้านไรซ์มาร์ก (หรือ 4,990 ล้านปอนด์)

การเรียกร้องค่าปฏิกรรมสงครามจากเยอรมนีส่วนหนึ่งนั้นเป็นการแก้แค้นของฝรั่งเศส เนื่องจากผลของสนธิสัญญาแฟรงเฟิร์ตเมื่อปี ค.ศ. 1871 ที่ได้ลงนามหลังจากสงครามฝรั่งเศส-ปรัสเซีย ซึ่งฝรั่งเศสจำเป็นต้องจ่ายค่าปฏิกรรมสงครามให้แก่เยอรมนีมากพอ ๆ กัน ขณะที่แผนการยัง ในปี ค.ศ. 1929 ได้กำหนดเวลาชำระหนี้ของเยอรมนี ซึ่งจะหมดอายุเมื่อปี ค.ศ. 1988

การชดใช้หนี้ตามที่ระบุในสนธิสัญญาแวร์ซายได้อยู่ในหลายรูปแบบ อย่างเช่น ถ่านหิน เหล็กกล้า ทรัพย์สินทางปัญญา และผลผลิตทางการเกษตร เนื่องจากการคืนเงินในรูปของสกุลเงินจะทำให้เกิดภาวะเงินเฟ้ออย่างรุนแรง ซึ่งได้เกิดขึ้นในเยอรมนีในปี ค.ศ. 1920 และเป็นการลดผลประโยชน์ที่ฝรั่งเศสและสหราชอาณาจักรจะได้รับ ที่ประชุมนานาชาติแห่งปี ค.ศ. 1953 กำหนดให้รัฐบาลเยอรมนีชำระหนี้ให้หมดภายในปี ค.ศ. 2020

เงื่อนไข สนธิสัญญาแวร์ซาย การจัดตั้งองค์กรระหว่างประเทศ

ในส่วนที่หนึ่งของสนธิสัญญาแวร์ซายได้กล่าวถึงกติกาของสันนิบาตชาติ ซึ่งได้นำไปสู่การก่อตั้งสันนิบาตชาติ อันเป็นองค์การระหว่างประเทศโดยมีจุดประสงค์ที่จะขจัดความขัดแย้งระหว่างประเทศ และหลีกเลี่ยงสงครามที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต ส่วนที่สิบสามของสนธิสัญญาแวร์ซาย ก็ได้เป็นจุดกำเนิดขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ

โดยมีความพยายามที่จะกำหนดจำนวนชั่วโมงทำงานต่อวัน รวมไปถึงการกำหนดเพดานวันและเวลางานสูงสุด การกำหนดการบรรจุแรงงาน และการป้องกันการว่างงาน การกำหนดอัตราค่าจ้างให้เพียงพอต่อค่าครองชีพ การดูแลรักษาแรงงานจากอาการป่วยและบาดเจ็บ

การป้องกันการใช้แรงงานเด็ก สตรี ผู้สูงอายุและผู้บาดเจ็บ การกำหนดผลประโยชน์ของแรงงานเมื่อไม่ได้รับความร่วมมือและการอบรมจากประเทศที่ได้รับการบรรจุ รวมไปถึงมาตรการที่เกี่ยวข้อง และยังได้มีความพยายามที่จะจัดตั้งคณะกรรมาธิการระหว่างประเทศขึ้นเพื่อดูแลดินแดนแถบแม่น้ำเอลเบ แม่น้ำโอเดอร์ แม่น้ำเนอเมนและแม่น้ำดานูบ

ประเทศเกิดใหม่จากผลของสนธิสัญญาแวร์ซาย

  • ออสเตรีย ออสเตรีย มีพื้นที่ 28,000 ตารางไมล์ มีพลเมือง 6 ล้านคน
  • ฮังการี ฮังการี มีพื้นที่ 45,000 ตารางไมล์ มีพลเมือง 8 ล้านคน
  • เชโกสโลวาเกีย เชโกสโลวาเกีย (ประกอบด้วยแค้วนโบฮีเมีย โมราเวีย สโลวาเกียและบางส่วนของไซลีเซีย) มีพลเมือง 11 ล้านคน
  • ยูโกสลาเวีย ยูโกสลาเวีย (ประกอบด้วยแคว้นมอนเตนิโกร บอสเนีย เฮอร์เซโกวนา ชลาโวเนีย คัลมาเซียและโครเอเซีย: ซึ่งเคยเป็นประเทศบอสเนียมาก่อน) มีพลเมือง 9 ล้านคน
  • โปแลนด์ โปแลนด์ มีพื้นที่ 120,000 ตารางไมล์ มีพลเมือง 12 ล้านคน
  • ฟินแลนด์ ฟินแลนด์ มีพื้นที่ 150,000 ตารางไมล์ มีพลเมือง 3.5 ล้านคน
  • เอสโตเนีย เอสโตเนีย มีพื้นที่ 18,355 ตารางไมล์ มีพลเมือง 1 ล้านคน+
  • ลัตเวีย ลัตเวีย มีพื้นที่ 25,384 ตารางไมล์ มีพลเมือง 2 ล้านคน
  • ลิทัวเนีย ลิทัวเนีย มีพื้นที่ 21,000 ตารางไมล์ มีพลเมือง 3.5 ล้านคน