
เจ้าชายสิ้นพระชนม์ ในวันที่ 9 เมษายน ค.ศ. 2021 ณ ปราสาทวินเซอร์ สิริพระชนมายุ 99 ปี ทรงเป็นคู่อภิเษกที่กินเวลานานที่สุดในประวัติศาสตร์บริติช
ไม่มีการเปิดเผยสาเหตุการสิ้นพระชนม์ แต่สำนักพระราชวังออกแถลงการณ์ว่า เจ้าชายสิ้นพระชนม์ อย่างสงบ กำหนดพระราชพิธีศพไว้วันที่ 17 เมษายน ค.ศ. 2021 ณ โบสถ์น้อยเซนต์จอร์จ ปราสาทวินด์เซอร์
เจ้าชายฟิลิป ดยุกแห่งเอดินบะระ พระชนมายุ 99 พรรษา ซึ่งเป็นพระสวามีในพระบาทสมเด็จพระนางเจ้าเอลิซาเบธที่ 2 พระบรมราชินีนาถ แห่งสหราชอาณาจักร เสด็จประทับ ณ โรงพยาบาลพระราชาเอดเวิร์ดที่ 7 ในกรุงลอนดอน เมื่อเย็นวันอังคาร (16 ก.พ.) หลังจากทรงรู้สึกไม่ดีคล้ายว่าจะประชวร
สำนักพระราชวังบักกิงแฮม ยืนยันเรื่องดังกล่าว และออกแถลงการณ์ที่ระบุว่า การเสด็จเข้ารับการรักษาพระวรกายครั้งนี้ เป็นมาตรการเฝ้าระวัง และเกิดจากการถวายคำแนะนำของแพทย์หลังจากทรงรู้สึกไม่ดีนัก และคาดว่าเจ้าชายฟิลิปจะประทับ ณ โรงพยาบาลเพื่อเฝ้าดูพระอาการและพักผ่อนหลายวัน
ส่วนการเสด็จไปประทับ ณ โรงพยาบาลครั้งนี้ ทรงโดยสารด้วยรถยนต์หลวง และไม่ได้เข้ารับการรักษาแบบฉุกเฉิน ทั้งยังทรงพระดำเนินด้วยพระองค์เองได้
ขณะเดียวกัน แหล่งข่าวรายหนึ่งเผยว่า พระอาการของเจ้าชายฟิลิปไม่ได้เกี่ยวข้องกับโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) และยืนยันตามแถลงการณ์ของสำนักพระราชวังว่า ไม่ได้รับการวินิจฉัยว่าป่วย เพียงแต่เสด็จไปประทับเพื่อเฝ้าดูอาการเท่านั้น
โฆษกของนายบอริส จอห์นสัน นายกรัฐมนตรีสหราชอาณาจักร กล่าวว่า นายจอห์นสันกราบบังคมทูลถวายพระพรแด่ดยุกแห่งเอดินบะระแล้ว
เมื่อเดือน พ.ย. ที่ผ่านมา พระบาทสมเด็จพระราชินีนาถ และเจ้าชายฟิลิป ทรงฉลองวันครบรอบ 73 ปีพิธีราชาภิเษกสมรส และทั้ง 2 พระองค์ ทรงรับวัคซีนโรคโควิด-19 ด้วยกันเมื่อเดือน ม.ค.
สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า เมื่อวันเสาร์ที่ 17 เม.ย. ตามเวลาท้องถิ่น หรือ 21.00 น. ตามเวลาไทย สมาชิกราชวงศ์อังกฤษเข้าร่วมพระราชพิธีฝังพระศพ เจ้าชายฟิลิป ดยุกแห่งเอดินบะระ ซึ่งสิ้นพระชนม์อย่างสงบเมื่อวันที่ 9 เม.ย.ที่ผ่านมา ขณะมีพระชนมายุ 99 พรรษา ที่โบสถ์เซนต์ จอร์จ ภายในพระราชวังวินด์เซอร์
พระศพเคลื่อนจากสถานที่ประดิษฐานภายในโบสถ์ส่วนพระองค์ในพระราชวังวินด์เซอร์ ด้วยพระราชรถแลนด์โรเวอร์ ซึ่งเจ้าชายฟิลิปทรงช่วยออกแบบดัดแปลง
ขบวนพระดำเนินตามเสด็จหีบพระศพมี เจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ มกุฎราชกุมารแห่งอังกฤษ, เจ้าหญิงแอนน์ พระราชกุมารี, เจ้าชายแอนดรูว์ ดยุคแห่งยอร์ก, เจ้าชายเอ็ดเวิร์ด เอิร์ลแห่งเวสเซกซ์, เจ้าชายวิลเลียม ดยุคแห่งเคมบริดจ์ และเจ้าชายแฮร์รี ดยุคแห่งซัสเซกซ์ ที่เดินทางมาจากสหรัฐอเมริกามาเข้าร่วมพิธี ขณะที่ เมแกน มาร์เคิล พระชายาที่กำลังตั้งครรภ์ แพทย์แนะนำให้งดการเดินทาง
ในขบวนดังกล่าว เจ้าชายวิลเลียมและเจ้าชายแฮร์รีไม่ได้ดำเนินเคียงข้างกัน แต่มี ปีเตอร์ ฟิลิปส์ โอรสในเจ้าหญิงแอนน์ เดินคั่นกลาง ขณะที่ สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธ พระชนมพรรษา 94 พรรษา ประทับรถยนต์เบนท์เลย์พระที่นั่งแยกต่างหาก
ขณะที่ พิธีกรรมทางศาสนามีจัสติน เวลบี อาร์ชบิชอปแห่งแคนเทอร์เบอรี ผู้นำคริสตจักรอังกฤษเป็นผู้ประกอบพิธี นอกจากพระบรมวงศ์และเชื้อพระวงศ์ที่กล่าวถึงข้างต้นแล้ว ยังรวมถึง คามิลลา ดัชเชสแห่งคอร์นวอลล์ พระชายาในเจ้าฟ้าชายชาร์ลส์, แคทเธอรีน ดัชเชสแห่งเคมบริดจ์ พระชายาในเจ้าชายวิลเลียม, เจ้าหญิงเบียทริซ และเจ้าหญิงยูเชนี พระธิดาในเจ้าชายแอนดรูว์, ซารา ทินดัลล์ พระธิดาในเจ้าหญิงแอนน์, พระญาติชาวเยอรมันของเจ้าชายฟิลิป และเลขานุการส่วนพระองค์ของเจ้าชายฟิลิป
พิธีพระศพของเจ้าชายฟิลิปถูกจัดขึ้นอย่างเรียบง่าย และไม่ต้องตั้งพระศพให้สาธารณชนร่วมถวายความอาลัยตามพระประสงค์ และมีการจำกัดผู้เข้าร่วมไว้เพียง 30 คน ตามมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยสถานีโทรทัศน์ของอังกฤษพากันงดรายการปกติและถ่ายทอดสดตลอดพิธี
ทั้งนี้ หลังเสร็จสิ้นพิธีภายในโบสถ์เซนต์ จอร์จ หีบพระศพเจ้าชายฟิลิป ซึ่งคลุมด้วยธงประจำพระองค์ มีพวงหรีด, หมวกและกระบี่ทหารเรือของเจ้าชายวางไว้ด้านบน จะถูกอัญเชิญไปฝังไว้ภายในห้องใต้ดินหลวงใต้โบสถ์เซนต์ จอร์จ
ผู้นำที่ยอมรับความเป็น “หมายเลขสอง” อย่างเข้มแข็ง
พระอุปนิสัยโผงผางตรงไปตรงมาของดยุคแห่งเอดินบะระ ทำให้หลายครั้งทรงถูกวิพากษ์วิจารณ์ถึงถ้อยคำไม่เหมาะสมที่ได้ตรัสออกมาในหลายโอกาส แต่ก็มีบางคนมองว่า พระอุปนิสัยดังกล่าวแสดงถึงความเป็นตัวของตัวเอง ซึ่งจะไม่ยอมอ่อนข้อให้กับสิ่งใด แม้แต่กรอบการแสดงความเห็นที่ถือกันว่าถูกต้องทางการเมือง
อย่างไรก็ตาม ดยุคแห่งเอดินบะระทรงลดพระอุปนิสัยแข็งกร้าวลงไปอย่างมากเมื่อมีพระชนมายุมากขึ้น ซึ่งอาจเนื่องมาจากปัญหาชีวิตสมรสที่ไม่ยั่งยืนของเหล่าพระโอรสธิดา และกระแสความไม่พอใจของสาธารณชนที่มีต่อราชวงศ์อังกฤษในช่วงหนึ่ง
ซึ่งเกิดจากการสิ้นพระชนม์ของเจ้าหญิงไดอานาแห่งเวลส์ ปัญหาเหล่านี้ทำให้ดยุคแห่งเอดินบะระต้องทรงเป็นผู้ปลอบโยนแสดงความเข้าใจต่อความทุกข์ของบรรดาพระราชวงศ์ รวมทั้งทรงทำหน้าที่ช่วยผลักดันให้สถาบันกษัตริย์แสดงบทบาทที่สอดคล้องลงตัวกับทัศนะของสังคมที่เปลี่ยนไป ตลอดช่วงเวลาหลายปีที่ผ่านมา
ดยุคแห่งเอดินบะระตรัสว่า พระภารกิจหลักที่สำคัญใหญ่หลวงต่อพระองค์ที่สุดก็คือ “การทำให้สมเด็จพระราชินีนาถทรงครองราชย์ตราบยิ่งยืนนาน” แม้จะต้องทรงยอมรับบทบาทอย่างเป็นทางการที่ต้องตกเป็นรองพระชายาในทุกครั้งก็ตาม
ในวโรกาสทรงเฉลิมฉลองการอภิเษกสมรสครบรอบ 50 ปี
สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่สองมีพระราชดำรัสถึงพระราชสวามีซึ่งคอยสนับสนุนพระองค์ตลอดมาว่า
“ท่านเป็นผู้ที่ไม่ยอมรับคำชมง่าย ๆ แต่ที่จริงแล้วท่านเป็นขุมพลังแข็งแกร่งที่ช่วยให้ข้าพเจ้ายืนหยัดอยู่ได้ในทุกวันนี้ ข้าพเจ้าและสมาชิกครอบครัวของท่านทั้งหมด รวมทั้งประเทศนี้และประเทศอื่น ๆ ต่างเป็นหนี้ต่อท่านมากยิ่งกว่าที่จะกล่าวอ้างหรือล่วงรู้ได้”