เปิดประเทศใน 120 วัน คงต้องต่อเวลา เมื่อวัคซีนไม่มาตามนัด เศรษฐกิจแย่
หากยังจำกันได้? หนึ่งใน “พันธสัญญา” ด้วยวาจาที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และผู้อำนวยการ ศบค. ให้ไว้เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2564 นั่นคือ เป้าหมาย “เปิดประเทศภายใน 120 วัน” …มาถึงวันนี้ผ่านมา 1 เดือน ส่อแววว่าอาจคงต้อง ขอต่อเวลา!
ณ วันนั้น (16 มิ.ย. 64) ที่ประเทศไทยมียอดติดเชื้อรายใหม่ 2,331 ราย และเสียชีวิต 40 ราย ทาง “รัฐบาล” ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ นำทัพ ให้พันธสัญญาทางวาจากับเป้าหมาย “120 วัน เปิดประเทศ” อะไรไว้บ้าง? เพื่อไม่ให้ “คุณผู้อ่านไทยรัฐออนไลน์” ลืมเลือน จึงขอทบทวนคร่าวๆ คือ
- ฉีดวัคซีนให้ประชาชนเฉลี่ย 10 ล้านโดสต่อเดือน หากวัคซีนเพียงพอ และ
- ประมาณต้นเดือนตุลาคม 2564 ประชาชนจะได้ฉีดวัคซีนเข็ม 1 แล้ว 50 ล้านคน
เปิดประเทศใน 120 วัน คงต้องต่อเวลา แต่พอมาถึง… ณ วันนี้ (18 ก.ค. 64) เหลือเวลาไม่ถึง 100 วันแล้ว สำหรับเป้าหมาย “120 วัน เปิดประเทศ” พร้อมอ้าแขนรับผู้เยี่ยมเยือนจากต่างแดน กลับกลายเป็นว่า สถานการณ์ในประเทศไทยขมุกขมัวไปด้วยมรสุมการแพร่ระบาดโควิด-19 ที่แสนเลวร้ายและรุนแรงกว่าห้วงเวลา 1 เดือนที่แล้วหลายเท่า
ณ วันที่ 18 กรกฎาคม 2564 ยอดติดเชื้อรายใหม่ 11,397 ราย เสียชีวิต 101 ราย เฉลี่ยรอบ 7 วันที่ผ่านมา มียอดติดเชื้อสูงถึง 9,308 ราย และเสียชีวิตเฉลี่ย 88 ราย ทำ “นิวไฮ” อย่างต่อเนื่องจนน่าหวาดหวั่น เมื่อพิจารณาช่วง 2 สัปดาห์จากข้อมูลของ Our World in Data ณ วันที่ 17 กรกฎาคม 2564 ก็พบว่า แม้ประเทศไทยจะมีผู้ติดเชื้อรายใหม่แต่ละวันน้อยกว่า “สหรัฐอเมริกา” แต่กลับมีอัตราการติดเชื้อต่อประชากร 1,000,000 คนนั้น “สูงกว่า”

สวนทางกับมหกรรมระดมฉีดวัคซีนโควิด-19 ที่อยู่ๆ ก็เชื่องช้าลง ซึ่งนั่นไม่ใช่เพราะคนไทยไม่ยอมออกไป “ถกแขนเสื้อ” แต่เป็นเพราะสถานะการเดินทางของ “วัคซีน” ตอนนี้กลับไม่ยอมมาตามนัด!
แค่ 2 ข้อพันธสัญญาจากวาจาของ พล.อ.ประยุทธ์ ที่ให้ไว้ข้างต้นนั้น เมื่อเทียบเคียง “สถานการณ์จริง” ที่เกิดขึ้นในเวลานี้ ก็พอประเมินเบื้องต้นได้แล้วว่า “120 วัน เปิดประเทศ” คงต้องต่อเวลาเป็นแน่แล้ว…
ณ วันนั้น (16 มิ.ย. 64) พล.อ.ประยุทธ์ แถลงไว้ว่า รัฐบาลเจรจากับผู้ผลิตวัคซีน 6 รายแล้ว นั่นก็คือ ไฟเซอร์, จอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน, โมเดอร์นา, แอสตราเซเนกา, ซิโนแวค และซิโนฟาร์ม โดยลงนามทำสัญญาจองและสัญญาซื้อไปแล้ว 105.5 ล้านโดส
สอดคล้องกับแผนการจัดหาวัคซีนโควิด-19 ที่ นพ.นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ ให้ข้อมูลผ่านเวทีขององค์การอนามัยโลก (WHO) เมื่อต้นเดือนมิถุนายน 2564 ไว้ว่า วัคซีนซิโนแวค 10-15 ล้านโดส จะทยอยส่งมอบตั้งแต่เดือนมิถุนายนเป็นต้นไป ทีละ 2-3 ล้านโดส ส่วนวัคซีนไฟเซอร์และวัคซีนจอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน ปริมาณไม่ได้ตามที่ “รัฐบาล” ต้องการ แต่เป็นปริมาณที่ “ผู้ผลิต” จัดหาให้ได้มากที่สุดภายในปี 2564 แบ่งเป็น ไตรมาส 3 ไฟเซอร์ประมาณ 20 ล้านโดส และไตรมาส 3-4 จอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน ประมาณ 5 ล้านโดส

ขณะที่ วัคซีนแอสตราเซเนกา จนถึงห้วงเวลานั้น (4 มิ.ย. 64) รัฐบาลได้รับมาแล้ว 2.15 ล้านโดส
ที่บอกว่าจะฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้ประชาชน 10 ล้านโดสต่อเดือน หาก “วัคซีนเพียงพอ” ปรากฏว่า ผ่านมาครึ่งทางของเดือนกรกฎาคม 2564 นี้ (1-17 ก.ค.) ฉีดวัคซีนโควิด-19 รวม 3.99 ล้านโดสเท่านั้น เฉลี่ยฉีดเพียงวันละ 2.5 แสนโดส นั่นเท่ากับว่า “ตัวเลข” ที่เกิดขึ้นนี้เสมือนการยอมรับกลายๆ หรือไม่ว่า ณ วันนี้ (18 ก.ค.) ประเทศไทยมีวัคซีนโควิด-19 “ไม่เพียงพอ”
เมื่อเป็นแบบนั้นแล้ว พันธสัญญาด้วยวาจา “ข้อ 2” ของ “รัฐบาล” ที่บอกว่า ประมาณต้นเดือนตุลาคม 2564 ประชาชนจะฉีดวัคซีนโควิด-19 เข็มที่ 1 แล้ว 50 ล้านคน คงเป็นไปได้ยาก…