
เผา 36 โรงเรียนใต้ วันนี้ในอดีต 1 ส.ค.2536 เกิดเหตุคนร้ายลอบวางเพลิง รร.ใน 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ คืนเดียวรวด 36 โรงเรียน นับเป็นเหตุการณ์ครั้งใหญ่ที่สุดเกี่ยวกับการเผาโรงเรียน
วันนี้ในอดีต 1 ส.ค. 2536 เกิดปฏิบัติการลอบเผาโรงเรียนในพื้นที่ชายแดนใต้ซึ่งสร้างความโกลาหลและหวาดผวาให้กับชาวบ้านอย่างมาก โดยมีการลอบวางเพลิงโรงเรียนถึง 36 แห่งพร้อมกันในคืนเดียว โดยเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ได้รับแจ้งเหตุในเวลาประมาณ 01.45 น. ของวันที่ 1 ส.ค.2536 ว่า มีโรงเรียนที่ถูกเผาเกือบ 40 แห่งในพื้นที่ 4 จังหวัดชายแดนใต้ คือ สงขลา ยะลา ปัตตานี และนราธิวาส
และจากหลักฐานที่รวบรวมไว้ได้ หลังเกิดเหตุพบว่า คนร้ายมีแผนที่จะลอบวางเพลิงโรงเรียนกว่า 50 แห่งในพื้นที่ 4 จังหวัด แต่ด้วยความจำกัดเรื่องเวลาและกำลังของคนร้าย ทำให้สามารถก่อเหตุได้เพียง 36 แห่ง โดยคนร้ายใช้ทั้งถ่านหิน กระสอบป่านอาบน้ำมันเบนซินเป็นตัวติดไฟ และใช้ผ้าพันปลายไม้ชุบน้ำมันเป็นตัวจุดไฟ เผา 36 โรงเรียนใต้
เหตุการณ์กลุ่มคนร้ายบุกเข้าปล้นปืนในกองพันพัฒนาที่ 4 ค่ายกรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ จ.นราธิวาส เป็นการกระทำที่อุกอาจอย่างที่สุด เพราะนอกจากคนร้ายจะเอาอาวุธปืนจำนวนเกือบ 400 กระบอกไปแล้ว ยังสังหารเจ้าหน้าที่ภายในค่ายอย่างเหี้ยมโหดถึง 4 นาย ถือเป็นเหตุการณ์ที่ยืนยันว่ามีกลุ่มขบวนการโจรก่อการร้ายเคลื่อนไหวในพื้นที่ภาคใต้จริง ไม่ใช่แค่ฝีมือ โจรกระจอก ข่มขู่-รีดค่าคุ้มครอง หรือปล้นปืนไปขาย อย่างที่รัฐบาลเคยปรามาสไว้อีกต่อไป !?
ส่วนการลอบวางเพลิงโรงเรียน 20 แห่ง ในคืนเดียวก็ไม่ใช่เหตุการณ์ที่เพิ่งเกิดขึ้นครั้งแรก ย้อนกลับไปในช่วงที่ผ่านมา ปฏิบัติการลอบเผาโรงเรียนเกิดขึ้นในพื้นที่ชายแดนใต้แทบจะนับครั้งไม่ถ้วน แต่ที่สร้างความโกลาหลและความหวาดผวาไม่ต่างจากช่วงดึกสงัดของวันที่ 4 ม.ค.ที่ผ่านมา คือ เหตุการณ์ลอบวางเพลิงโรงเรียนกว่า 30 แห่ง ใน 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้เมื่อปี 2536
เหตุเผาโรงเรียนครั้งนั้นมีเวลาไล่เลี่ยกับเหตุการณ์เมื่อวันที่ 4 ม.ค.2546 ทันทีที่เจ้าหน้าที่ในพื้นที่ได้รับแจ้งเหตุในเวลาประมาณ 01.45 น. วันที่ 1 ส.ค.2536 ว่า มีโรงเรียนที่ถูกเผาเกือบ 40 แห่งในพื้นที่ 4 จังหวัดชายแดนใต้ คือ จ.สงขลา ยะลา ปัตตานี และนราธิวาส อดีตนายตำรวจระดับสูง ประจำกองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 4 ย้อนที่มาเหตุการณ์ในครั้งนั้น
นายตำรวจคนเดิม บรรยายเหตุการณ์ครั้งนั้นว่า เบาะแสการลอบวางเพลิงครั้งนั้น จากหลักฐานและเอกสารที่ชุดเฉพาะกิจรวบรวมไว้ได้หลังเกิดเหตุพบว่า
คนร้ายมีแผนที่จะลอบวางเพลิงโรงเรียนกว่า 50 แห่งในพื้นที่ 4 จังหวัด แต่ด้วยความจำกัดเรื่องเวลาและกำลังของคนร้าย ทำให้สามารถก่อเหตุได้เพียง 40 แห่ง แต่เจ้าหน้าที่สรุปความเสียหายได้เพียง 36 แห่งเท่านั้น เพราะบางแห่งแทบจะไม่ได้รับความเสียหาย เนื่องจากการวางเพลิงไม่สัมฤทธิ์ผล
หลักฐานที่พบในที่เกิดเหตุ ซึ่งกลุ่มคนร้ายใช้ลงมือในอดีต ไม่แตกต่างจากหลักฐานที่พบใน จ.นราธิวาส ครั้งล่าสุด โดยคนร้ายใช้ทั้งถ่านหิน กระสอบป่านอาบน้ำมันเบนซินเป็นตัวติดไฟ และใช้ผ้าพันปลายไม้ชุบน้ำมันเป็นตัวจุดไฟ!
กองกำลังที่ปฏิบัติการส่วนใหญ่จะเป็นเด็กหนุ่มและเยาวชนในพื้นที่ ซึ่งมีการรวมตัวกันฝึกปฏิบัติการในที่ลับแห่งหนึ่ง โดยมีแกนนำขบวนการเป็นผู้รวบรวมสมาชิก ก่อนที่จะกระจายกลับสู่พื้นที่ และเลือกใช้วิธีการเผาโรงเรียน เพื่อเป็นบทประเมินผลครั้งสุดท้ายว่าที่ฝึกมาว่าจะสำเร็จ หรือสอบผ่านหรือไม่?
ส่วนชนวนเหตุการเผาโรงเรียนครั้งนั้น ชุดทำงานในพื้นที่สันนิษฐานว่า น่าจะมาจากการที่กลุ่มขบวนการก่อการร้ายในพื้นที่พยายามแสดงแสนยานุภาพของกองกำลัง ก่อนที่จะจัดตั้งหน่วยกู้ชาติปัตตานี ภายหลังการเดินทางมาของ นายยัสเซอร์ อาราฟัต ผู้นำปาเลสไตน์ ซึ่งขณะนั้นมีกำหนดเดินทางเยือนประเทศมาเลเซีย โดยมีการแวะพักที่สนามบินดอนเมืองเป็นเวลา 1 ชั่วโมง
ช่วงนั้น ขบวนการดังกล่าวพยายามติดต่อขอเข้าพบผู้นำปาเลสไตน์ แสดงตัวเป็นแนวร่วมปลดปล่อยชาวมุสลิม แต่ไม่เป็นผล จึงใช้วิธีการดังกล่าวแสดงพลังและเรียกร้องความสนใจเพื่อเป็นการของบประมาณสนับสนุนจากต่างประเทศ
อีกประเด็นหนึ่งก็คือ การขัดแย้งผลประโยชน์ทางการเมืองของผู้มีอิทธิพลในพื้นที่ที่พยายามจะเข้าไปมีส่วนกับเกมการเมืองระดับชาติในขณะนั้น หวังจะดิสเครดิตนักการเมืองมุสลิมในพื้นที่ ซึ่งก้าวไปเป็นรัฐมนตรีกระทรวงหนึ่งในขณะนั้น หลังจากที่พยายามติดต่อเพื่อขอลงสมัคร ส.ส.แต่ได้รับการปฏิเสธที่จะสนับสนุน
หลังเกิดเหตุคนร้ายใช้วิธีการเข้าหามวลชนในพื้นที่ด้วยการระดม ปลุกปั่น ป้ายสี การกระทำที่เกิดขึ้นว่าเป็นฝีมือของเจ้าหน้าที่รัฐ โดยเฉพาะตำรวจ เพื่อทำให้การสืบสวนสอบสวนหาตัวคนร้ายที่แฝงตัวอยู่ในหมู่บ้านเป็นไปได้ยากมากยิ่งขึ้น ซึ่งเป็นวิธีการเดียวกันกับที่คนร้ายใช้ภายหลังลงมือก่อเหตุในปัจจุบัน
แหล่งข่าวมองว่า ปฏิบัติการเผาโรงเรียน เมื่อปี 2536 แม้จะมีจำนวนที่มากกว่า แต่เมื่อเทียบความเสียหายและความรุนแรงแล้ว ถือว่าเหตุการณ์เมื่อวันที่ 4 ม.ค. รุนแรงกว่ามาก เนื่องจากกำลังของขบวนการก่อการร้ายเพิ่มมากขึ้น แถมยังมีการสนับสนุนของผู้มีอิทธิพลในพื้นที่เพิ่มขึ้นเช่นกัน
ดังนั้น กลุ่มคนร้ายจึงลงมือกระพือไฟใต้สำเร็จได้ในเวลาไม่ถึง 30 นาที เนื่องจากความหละหลวมในการทำงานของเจ้าหน้าที่รัฐในปัจจุบัน ส่งผลให้กลุ่มคนร้ายไม่เกรงกลัว หนำซ้ำการรายงานสถานการณ์ในพื้นที่ให้ผู้บังคับบัญชาระดับสูงทราบไม่ตรงกับความเป็นจริง ทำให้กลุ่มก่อการร้ายอหังการ กล้าแม้กระทั่งบุกเข้าปล้นปืนและฆ่านายทหารภายในค่าย
เหตุการณ์เมื่อ 12 ปีก่อน โชคดีที่การไล่ล่าคนร้ายและเครือข่ายที่ลงมือเผาโรงเรียนมีความว่องไวกระชับรัดกุม โดยใช้กลยุทธ์แบบอ่อนนอกแข็งใน ทำให้ตำรวจสามารถควบคุมตัวผู้ต้องสงสัย และผู้ต้องหาได้หลายรายในเวลาไม่นาน โดยเฉพาะแกนนำคนสำคัญ คือ นายต่วนสะมะแอ ด่วนบือซา นายมะนาเซ บินเฮม อายุ นายระยะ แวดอเลาะ และ นายกูมานะเส หรือ โต๊ะกูเฮง กอตอนีรอ
เผา 36 โรงเรียนใต้ เหตุการณ์ครั้งนั้นเป็นบทเริ่มต้นของความรุนแรงในภาคใต้
เหตุการณ์ครั้งนั้นเป็นบทเริ่มต้นของความรุนแรงในภาคใต้ในยุคต่อมา สร้างความวุ่นวายและทำลายเสถียรภาพของรัฐบาลอย่างต่อเนื่อง เพราะนายโต๊ะกูเฮง เป็นครูสอนศาสนาที่ชาวบ้านนับถือ หนำซ้ำศาลฎีกายังพิพากษาว่า นายโต๊ะกูเฮง ไม่มีความเห็น จึงสั่งยกฟ้อง ส่วนผู้ต้องหาคนอื่นยังไม่ทราบชะตากรรม
เหตุการณ์ในครั้งนั้นหากจะมองในมุมของเจ้าหน้าที่รัฐเพียงอย่างเดียวอาจเข้าใจ รากเหง้า ของปัญหาไม่ลึกพอ… คำตอบจึงน่าจะอยู่ที่ชาวบ้านในพื้นที่ ซึ่งมีความรู้และเข้าใจในปัญหาอย่างถึงแก่น
นายมูฮัมหมัด ยุนุ ผู้ใหญ่บ้านลุโปะแปะ ต.โละจูด อ.แว้ง จ.นราธิวาส ย้อนเหตุการณ์โหมไฟใต้ในขณะนั้นว่า ช่วงนั้นเขายังไม่ได้รับตำแหน่งผู้ใหญ่บ้านเช่นปัจจุบัน แต่เท่าที่จำได้ คือ เหตุเกิดในเวลาใกล้เคียงกันกับการลอบเผาโรงเรียน เมื่อวันที่ 4 ม.ค.ที่ผ่านมา แต่ครั้งนั้นโรงเรียนส่วนใหญ่จะได้รับความเสียหายน้อยกว่าครั้งนี้
ในอดีตหลายอำเภอใน จ.นราธิวาสถูกลอบเผาโรงเรียนเหมือนกับครั้งล่าสุด ซึ่งเป็นพื้นที่เดิมๆ ไม่ว่าจะเป็นสุไหงปาดี สุไหงโก-ลก สุคิริน รวมไปถึงอำเภออื่น แต่ในอดีตคนร้ายไม่มีการสังหารเจ้าหน้าที่ ซึ่งผิดกับครั้งนี้ทำให้รู้สึกว่า ขบวนการดังกล่าวเริ่มที่จะแสดงความอหังการมากขึ้น
แต่สิ่งที่เหมือนกันระหว่างอดีตกับปัจจุบันคือ ผู้ที่ได้รับผลกรรม เป็นชาวบ้านและนักเรียนที่ไม่รู้อีโหน่อีเหน่ จึงไม่อยากให้เกิดเหตุการณ์เผาโรงเรียนซ้ำรอยเป็นครั้งที่ 3 หรือครั้งต่อๆ ไปอีก
ด้านชาวบ้านในพื้นที่อีกรายคือ นายโฮม เอื้อแหลม ปลัดอาวุโส อ.แว้ง จ.นราธิวาส ซึ่งในอดีตเคยปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งปลัดฝ่ายป้องกันอำเภอสุไหงปาดี จ.นราธิวาส เล่าว่า เหตุการณ์ครั้งนั้นสร้างความโกลาหลให้กับเจ้าหน้าที่และชาวบ้านอย่างมาก แต่ครั้งนั้นไม่มีผู้ได้รับบาดเจ็บ ต่างจากครั้งล่าสุดที่มีการสังเวยชีวิตเจ้าหน้าที่
ยุทธวิธีที่คนร้ายลงมือครั้งนี้แสดงให้เห็นว่าสามารถต่อกร และสร้างความปั่นป่วนให้กับเจ้าหน้าที่รัฐได้อย่างมาก ทั้งการวางแผนก่อเหตุ และการวางแผนหลบหนีหลังก่อเหตุ ซึ่งถือได้ว่าแยบยลกว่าเมื่อ 10 ปีที่แล้วเป็นอย่างมาก หากไม่สามารถควบคุมหรือจับกุมคนเหล่านี้ได้ เชื่อว่าจังหวัดชายแดนใต้จะยิ่งย่ำแย่กว่าที่เป็นอยู่อย่างแน่นอน
ปลัดอาวุโสในพื้นที่ชายแดนใต้ท่านนี้ ฝากความหวังไปยังรัฐบาลว่า ครั้งนั้นหากเจ้าหน้าที่สามารถสยบปัญหาไฟใต้ได้เชื่อว่าคงจะไม่เหตุการณ์ลักษณะเช่นนี้เกิดขึ้นซ้ำรอย ปัญหาชายแดนใต้ได้หยั่งรากลึกจนแทบจะเกินเยียวยา ได้แต่หวังว่าครั้งนี้ทุกอย่างคงจะดีขึ้น

ด้านผู้เชี่ยวชาญปัญหาในพื้นที่ตัวจริงเสียงจริงอย่าง พล.อ.กิตติ รัตนฉายา ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีด้านความมั่นคงแห่งชาติ ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งแม่ทัพภาคที่ 4 ในขณะนั้น วิเคราะห์ว่า การก่อวินาศกรรมในภาคใต้ ยกเว้นเหตุการณ์การระเบิดสถานีรถไฟ จ.นครศรีธรรมราช เมื่อวันที่ 23 เม.ย.2537 ล้วนเป็นฝีมือของกลุ่มโจรก่อการร้ายทั้งสิ้น และเป็นกลุ่มเดียวกับที่ก่อเหตุวางระเบิดสถานีรถไฟหาดใหญ่เมื่อปี 2535 ก่อนหน้าที่จะมีการลอบเผาโรงเรียนกว่า 30 แห่ง ในปี 2536
พล.อ.กิตติ มองว่า เหตุการณ์การเผาโรงเรียน 36 แห่งในปี 2536 กับเหตุการณ์เมื่อวันที่ 4 ม.ค.2547 ไม่แตกต่างกัน เพราะกลุ่มที่ลงมือมาจากขบวนการเดียวกัน และมีการเชื่อมโยงกันเรื่อยมา ฉะนั้นรูปแบบและวิธีการจึงคล้ายคลึงกัน
ผมไม่สามารถบอกได้ว่าจะติดตามจับกลุ่มผู้กระทำผิดมาลงโทษได้หรือไม่ เพราะผมไม่ได้มีหน้าที่ในการปฏิบัติ แต่ผมเชื่อว่า จากการที่ผู้ใหญ่ในรัฐบาลเอาจริงเอาจัง ทุกอย่างมันจะดีขึ้น เพราะขณะนี้การแก้ปัญหามาถูกทางแล้ว พล.อ.กิตติ รับประกันความเชื่อมั่น ในแนวทางแก้ปัญหาที่ถูกจุดของรัฐบาล
แนวทางในการแก้ปัญหาของรัฐบาลที่มองว่ามาถูกทางแล้วในขณะนี้คือ การกัดไม่ปล่อย โดยมีการดำเนินการในทุกระดับ ตั้งแต่การเจรจากับระดับแกนนำในต่างประเทศ ที่มีกระทรวงการต่างประเทศรับหน้าที่ดำเนินการ หรือการให้กองทัพภาคที่ 4 เข้ามารับผิดชอบเรื่องการไล่ล่ากองกำลัง โดยการประกาศใช้กฎอัยการศึก
ที่ผ่านมาการแก้ปัญหาเป็นลักษณะไฟไหม้ฟาง ทำกันชั่วครั้งชั่วคราว 7 วัน 15 วันก็เลิก หลังจากนั้นก็ปิดแฟ้ม ทำให้แก้ปัญหาไม่ต่อเนื่อง เมื่อไม่ต่อเนื่อง ทำให้ฝ่ายตรงข้ามคอยจังหวะโต้กลับ
นอกจากนี้ สิ่งแรกที่ควรดำเนินการคือ ต้องนำปัญหาในพื้นที่ตั้งแต่ปี 2537 จนถึงปัจจุบัน มาวิเคราะห์และประเมินให้ถี่ถ้วนว่าเกิดอะไรขึ้น เพราะบางปีก็รุนแรง บางปีก็เบา และเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นล่าสุดค่อนข้างใหญ่โตมาก เพราะเข้ามาโจมตีในค่ายทหาร ฆ่าทหาร และปล้นอาวุธปืนไปถึง 300 กระบอก
อดีตแม่ทัพภาคที่ 4 ฟันธงว่า ผู้ที่แก้ปัญหาไฟใต้ต้องเป็นทหาร ไม่ใช่ตำรวจ เพราะตำรวจเป็นเพียงผู้รักษากฎหมาย ที่ผ่านมาทหารไม่มีอำนาจ แม้แต่ตั้งด่านยังทำไม่ได้เลย ส่วนประกาศใช้กฎอัยการศึกก็ต้องให้ชาวบ้านเข้าใจด้วยว่าเป็นเพียงการใช้บางส่วนเท่านั้น เพื่อป้องกันการคัดค้าน และจะต้องรีบดำเนินการใช้กฎอัยการศึกให้เร็ว และเลิกให้เร็วที่สุดด้วย
ส่วนยุทธวิธีพิชิตศึกต้องใช้กองกำลังขนาดเล็กเคลื่อนไหวตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อให้ชาวบ้านเชื่อใจ ตอนนี้เขาไม่กล้าให้ข้อมูล เพราะกลัวอำนาจโจร เป็นไปตามปรัชญาของสงครามที่ย่อมเลือกข้างผู้ชนะเสมอ
การไล่ล่าคนร้ายกลุ่มขบวนการโจรก่อการร้ายที่ก่อเหตุครั้งนี้จะมีบทสรุปแบบไหน จะ บานปลาย-ตายยาก เหมือนเหตุการณ์เมื่อปี 2536 หรือไม่… ต้องติดตามด้วยใจระทึก!