เร่ง ช่วย13ชีวิตในถ้ำหลวง จากกรณีภารกิจช่วยชีวิต 13 ชีวิต ทีมหมูป่า ซึ่งติดอยู่ในถ้ำหลวง เป็นวันที่ 16 แล้วนั้น ในวันนี้ (8ก.ค.) ศูนย์อำนวยการร่วม ค้นหาผู้สูญหายในวนอุทยานถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน โดย นายณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร อดีต ผวจ.เชียงราย ในฐานะผู้บัญชาการศูนย์อำนวยการร่วมฯ ได้แถลงข่าวว่า ในวันนี้จะเริ่มต้นทำภารกิจสำคัญ ในการนำตัวทั้ง 13 ชีวิต ออกจากถ้ำและคาดว่า หากเป็นไปตามที่ตั้งเป้าหมายไว้ คนแรกที่จะออกจากถ้ำน่าจะออกมาเวลาประมาณ 21.00 น. ของวันนี้

เร่ง ช่วย13ชีวิตในถ้ำหลวง เผยความลำบากเอาชีวิตรอด
ขณะเดียวกันบรรดาพ่อแม่และญาติพี่น้องของเด็กทั้ง 13 คนที่ปักหลักรอฟังข่าวอยู่ในห้องพักที่ทำการวนอุทยานฯ หลังทราบข่าวว่าหน่วยซีลพบผู้ช่วยโค้ชและเด็กทั้ง 13 คนแล้ว และทั้งหมดอยู่ในอาการ ปลอดภัยดี ทุกคนถึงกับโผเข้ากอดกัน ส่งเสียงร้องไห้ด้วยความดีใจ โดยแม่ของนายพรชัย หรือตี๋ คำหลวง อายุ 16 ปี 1 ในนักเตะทีมหมูป่าอะคาเดมีฯ เปิดเผยด้วยสีหน้ายิ้มแย้มว่า ดีใจมากที่ได้ลูกชายกลับคืนมา ต้องขอบคุณเจ้าหน้าที่ทุกคนทุกหน่วยงานที่ร่วมแรงร่วมใจกันค้นหาจนพบเด็กๆทุกคน ตอนนี้อยากเจอหน้าลูกมากที่สุด ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากข้อมูลเบื้องต้นที่ได้จากญาติของเด็กบอกว่า “เด็กบอกข้างในมันลำบากมาก เขาต้องยังชีพด้วยการเอามือไปรองและกินน้ำฝนที่หยดลงมาตามช่องถ้ำ ทำให้เขาสามารถประทังชีวิตอยู่ได้ รวมทั้งข้างในมืดมาก ต้องเอามือคลำๆกันว่าใครอยู่จุดไหนอย่างไร บางคนร้องไห้จนหมดเสียง แต่ก็ยังคงนอนรอความช่วยเหลืออยู่ในถ้ำ”
ด้าน พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกฯ เปิดเผยหลังทราบข่าวพบเด็กทั้ง 13คนอย่างปลอดภัยว่า นายกรัฐมนตรีแสดงความยินดีที่เจ้าหน้าที่พบตัวเยาวชนและโค้ชทีมฟุตบอลหมูป่าอะคาเดมีแม่สายทั้ง 13 คนแล้ว ได้รับรายงานว่าทุกคนปลอดภัย พร้อมขอบคุณความตั้งใจและเสียสละของเจ้าหน้าที่ทุกฝ่าย โดยเฉพาะหน่วยซีล รวมทั้งพลเรือน ตำรวจ ทหาร พี่น้องประชาชน จิตอาสาชาวไทยและต่างประเทศและสื่อมวลชน ที่ร่วมมือร่วมใจกันสนับสนุนให้ปฏิบัติการค้นหาครั้งนี้ประสบความสำเร็จด้วยดี

แม้เจ้าหน้าที่หน่วยซีลไปถึงหาดพัทยาแล้วแต่ยังไม่ลดละความพยายาม จนพบตัวเยาวชนที่บริเวณเนินนมสาว ห่างออกไปอีกประมาณ 400 เมตร จากนี้ไปศูนย์ปฏิบัติการในพื้นที่จะประเมินสถานการณ์และวางแผนลำเลียงเยาวชนทุกคนออกมาให้ได้อย่างปลอดภัยที่สุด นายกฯกำชับให้เจ้าหน้าที่ดำเนินการด้วยความรอบคอบ พร้อมย้ำว่าเหตุการณ์นี้แสดงให้เห็นถึงความเป็นหนึ่งเดียวกันของคนทั้งประเทศ
เร่งนำตัวออกมา–หวั่นน้ำขึ้นสูง
ผู้สื่อข่าวรายงานอีกว่า หลังพบตัวนักเตะและผู้ช่วยโค้ชทั้ง 13 ชีวิตที่ติดค้างอยู่ร่วม 10 วัน ภายในถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอนแล้วนั้น เจ้าหน้าที่หน่วยซีล พร้อมทีมแพทย์และทีมกู้ภัยพยายามเร่งหาหนทางและวิธีการในการเคลื่อนย้ายทั้งหมดออกจากถ้ำโดยเร็วภายในคืนนี้ เนื่องจากเกรงจะมีฝนตกลงมาอย่างหนัก และทำให้ระดับน้ำในถ้ำเพิ่มสูงขึ้นมาอีก ส่งผลให้การนำตัวทั้งหมดออกมาเป็นไปด้วยความยากลำบาก และอาจต้องติดค้างอยู่ในถ้ำต่อไป อย่างไรก็ตาม แม้จะพบผู้สูญหายทั้งหมดแล้ว แต่เจ้าหน้าที่กู้ภัยยังต้องทำงานหนัก ทั้งการระดมสูบน้ำ ในถ้ำออกมาต่อเนื่องเพื่อให้น้ำลดระดับมากที่สุด รวมทั้งการเคลียร์พื้นที่และเส้นทางรอรับเด็กๆออกมา และนำตัวส่งโรงพยาบาลให้แพทย์ตรวจร่างกายอย่างละเอียด

สำหรับขั้นตอนหลังเจอ 13 ชีวิต “ทีมหมูป่าอะคาเดมี่” แล้ว มีดังนี้
หลังจากที่หน่วยซีลได้พบทั้ง 13 ชีวิตที่ติดอยู่ในถ้ำหลวง โดยหลังจากนี้ สิ่งที่ต้องเดินหน้าต่อไป คือ การนำตัวทั้ง 13 คนออกจากถ้ำหลวง โดยนาวาเอกอนันต์ สุราวรรณ์ ผู้บังคับกรมรบพิเศษ 1 ที่อยู่ภายในโถง 3 ได้วางแผนการนำทั้ง 13 คนออกจากถ้ำหลวง โดยแบ่งเป็น 3 เฟส
- เฟส 1 ส่งนักดำน้ำ 4 นาย พร้อมอุปกรณ์ดำรงชีพ พาวเวอร์เจล เข้าทำการช่วยเหลือ และพักอาศัยเป็นเพื่อน พร้อมกับสำรวจโครงสร้างภายในให้อยู่ได้โดยปลอดภัย
- เฟส 2 ส่งนักดำน้ำ พร้อมแพทย์ เข้าทำการช่วยเหลือ และปรับสภาพอากาศเข้าไปภายใน ให้สามารถดำรงชีพได้อย่างสะดวกสบาย
- เฟส 3 เตรียมส่งอาหาร เพิ่มเติม ให้อยู่ได้ 4 เดือน เป็นอย่างน้อย ควบคู่กับการสอนดำน้ำให้ ทั้ง 13 คน พร้อมกับยังคงดำรงการระบายน้ำ ตลอดเวลา
ทั้งนี้ การพา 13 ชีวิตออกจากถ้ำจะมีหน่วยซีลประกอบอย่างน้อยเด็ก 1 คนต่อหน่วยซีล 1 คน
ขณะที่โรงพยาบาลแพทย์สนาม ได้เตรียมขั้นตอน ช่วยเหลือทั้ง 13 ชีวิตแล้ว โดยแบ่งออกเป็น 8 ขั้นตอน
- หน่วยเตรียมขนส่ง จะต้องนำผู้ประสบภัยให้อยู่บนบอร์ดลำเลียง และประเมินการตอบสนองของผู้ป่วยเบื้องต้น ก่อนนำผู้ป่วยลำเลียงออกจากปากถ้ำ ก่อนขึ้นบันไดมาที่รถพยาบาล
- หากทีมพบเจอผู้ประสบภัยแล้ว จะมีการประเมินอาการว่า อยู่ในระดับไหน ถ้าหากอยู่ในระดับที่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ ก็จะนำออกมาบริเวณหน้าถ้ำ และขึ้นรถพยาบาลทันที แต่หากผู้ประสบภัยอยู่ในอาการวิกฤต ทางทีมแพทย์จะปฐมพยาบาลเบื้องต้นภายในถ้ำเลย หากอาการดีขึ้น ถึงจะนำออกมาขึ้นรถพยาบาลทันที
- หน่วยลำเลียงผู้ป่วยขึ้นรถพยาบาลไปยังโรงพยาบาลสนาม (ลักษณะเป็นห้องผ่าตัดแบบเร่งด่วน) ซึ่งตั้งอยู่บริเวณใกล้ปากทางเข้าถ้ำ
- หน่วย Triage and Resuscitation หรือ หน่วยแพทย์ที่วิเคราะห์อาการตามความรุนแรง ความจริงถ้าจะมีการทำการคัดแยกอาการของผู้ประสบภัยตามความรุนแรง และความเร่งด่วนของผู้ประสบภัยให้การรักษาการตัดสินใจวิธีการในการส่งต่อโดยคำนึงถึงความเร่งด่วน หากผู้ป่วยที่มีอาการเร่งด่วนอาจจะต้องรักษาที่โรงพยาบาลสนาม
- หน่วยขนส่งผู้ป่วยไปยังท่าอากาศยาน หากทีมแพทย์วิเคราะห์อาการแล้ว พบว่าสามารถไปรักษาที่โรงพยาบาลเชียงรายได้ ก็จะรีบลำเลียงผู้ป่วยขึ้นรถพยาบาลไปลานบินจักกะผัก
- หน่วยดูแลผู้ป่วย ขณะส่งทางอากาศ ทางทีมแพทย์ Sky Doctor 2 ท่าน จะปฐมพยาบาลผู้ป่วยบนเฮลิคอปเตอร์ โดยทีมแพทย์จากโรงพยาบาลตำรวจและทหาร จะรับผิดชอบในการเป็นแพทย์ดูแล ขณะขนส่งทางอากาศ
- หน่วยดูแลผู้ประสบภัยที่ลานบินเป้าหมาย จะมีทีมแพทย์ดูแลผู้ประสบภัยจากสนามเก่าไปยังโรงพยาบาลเชียงราย
- หน่วยดูแลผู้ประสบภัยที่โรงพยาบาลเชียงรายราชประชานุเคราะห์ เมื่อได้มีการประเมินผู้ป่วยเบื้องต้นที่โรงพยาบาลสนามแล้ว ไม่มีการสื่อสารมาแจ้งให้ทีมแพทย์ที่โรงพยาบาลรายเพื่อเตรียมการรักษา ทั้งนี้ขั้นตอนของการปฐมพยาบาล จะทำภายใน 30 นาที