
เศรษฐกิจฟินแลนด์ สถานการณ์หลังสงครามโลก ครั้งที่ ๒ สิ้นสุดลงเป็นช่วงยากลำบากของฟินแลนด์เนื่องจากเป็นประเทศแพ้สงคราม ผู้นำฟินแลนด์ถูกนำตัวขึ้นศาล และถูกพิพากษาจำคุก แต่ฟินแลนด์ก็สามารถฟันฝ่าความยากลำบากมาได้ และร่วมมือกับระบบเศรษฐกิจตะวันตก
โดยเข้าเป็นสมาชิกของธนาคารโลก IMF ความตกลง Bretton Woods เป็นสมาชิก GATT ฟินแลนด์ส่งนักศึกษาไปเรียนต่อในประเทศตะวันตกมากขึ้น เศรษฐกิจฟินแลนด์ได้พัฒนาตามลำดับ สินค้าหลักได้แก่ เครื่องผลิตกระดาษ เครื่องจักรกล เครน ลิฟท์ อุตสาหกรรมเคมี ส่วนด้านเกษตร
รัฐบาลฟินแลนด์ได้ให้ความช่วยเหลือเกษตรกรด้านเครื่องมือ เครื่องจักรการเกษตร การพัฒนาเมล็ดพันธุ์พืช ปุ๋ย เพื่อเพิ่มผลผลิตการเกษตร
เศรษฐกิจฟินแลนด์ ในคริสต์ทศวรรษที่ ๑๙๘๐ ฟินแลนด์กลายเป็นประเทศพัฒนาก้าวหน้า สัดส่วนมูลค่า GDP ของภาคเกษตร อุตสาหกรรม และภาคบริการ เท่ากับ ๗ : ๓๕ : ๕๘ โดยพึ่งพาการส่งออกทั้งตลาดตะวันตก อันได้แก่ เยอรมัน สวีเดน อังกฤษ และตลาดตะวันออกคือ สหภาพโซเวียต
ฟินแลนด์ส่งออกสินค้าประเภทอิเล็กทรอนิกส์ และสินค้า hi-tech มากขึ้น แม้ในช่วงวิกฤตการณ์น้ำมัน (ค.ศ. ๑๙๗๓) ฟินแลนด์ไม่ได้รับผลกระทบมากนักเพราะใช้สินค้าแลกกับน้ำมันจากสหภาพโซเวียต
ในช่วงปลายทศคริสต์วรรษที่ ๑๙๘๐ ตลาดหุ้นและอสังหาริมทรัพย์ในฟินแลนด์เฟื่องฟู จนกระทั่งถูกโจมตีค่าเงิน (เงินฟินน์มาร์ก) ธนาคารชาติฟินแลนด์ได้พยายามต่อสู้กับการโจมตีค่าเงินฟินน์มาร์กตั้งแต่ปี ค.ศ. ๑๙๘๙ ในที่สุด เศรษฐกิจฟองสบู่แตกในปี ค.ศ. ๑๙๙๑ ราคาหุ้นลดลงร้อยละ ๗๐
ราคาอสังหาริมทรัพย์ลดลงร้อยละ ๕๐ GDP ของฟินแลนด์ลดลงร้อยละ ๑๓ หนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ ๖๐ ของ GDP และหนี้ภาคเอกชนเพิ่มขึ้นร้อยละ ๔๐๐ อัตราว่างงานสูงร้อยละ ๒๐ ค่าเงินฟินน์มาร์กลดลงร้อยละ ๑๘ ขีดความสามารถของประเทศดิ่งเหว ในช่วงปี ค.ศ. ๑๙๙๑-๑๙๙๓ เศรษฐกิจฟินแลนด์ตกต่ำมากที่สุด ปี ค.ศ. ๑๙๙๑
อัตราความเจริญทางเศรษฐกิจเท่ากับ -๗% ปี ค.ศ. ๑๙๙๒ เท่ากับ -๓.๘% และปี ค.ศ. ๑๙๙๓ เท่ากับ -๑% รัฐบาลฟินแลนด์ได้แก้ไขปัญหาในภาคการเงิน โดยเฉพาะการยกเลิกการใช้อัตราแลกเปลี่ยนแบบคงที่ ปล่อยค่าเงินฟินน์ มาร์กลอยตัว ลดรายจ่ายภาครัฐ ปรับโครงสร้างธนาคารและควบรวมกิจการ และกระชับนโยบายทางการเงิน
นอกจากนี้ รัฐบาลฟินแลนด์ยังพลิกวิกฤตเป็นโอกาสด้วยการส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ในการผลิต ค่าเงินมาร์กฟินแลนด์และค่าจ้างแรงงานที่ลดลง และอัตราดอกเบี้ยต่ำ ทำให้ขีดความสามารถของฟินแลนด์เพิ่มขึ้นอย่างมาก ในช่วงปี ค.ศ. ๑๙๙๔-๒๐๐๐ เศรษฐกิจฟินแลนด์ขยายตัวร้อยละ ๔.๗ ช่วงปี ค.ศ. ๒๐๐๑-๒๐๐๗
ขยายตัวร้อยละ ๓.๕ อัตราการว่างงานลดลงเหลือร้อยละ ๖ ในปี ค.ศ. ๒๐๐๘ ในปลายคริสต์ทศวรรษที่ ๑๙๙๐ ฟินแลนด์กลายเป็นประเทศที่มีเทคโนโลยีสูงที่สุดในโลก โดยบริษัท NOKIA มีบทบาทสำคัญ อันเป็นผลของการส่งเสริมเทคโนโลยีสารสนเทศ (IT) และ IT ได้ขยายฐานเศรษฐกิจของฟินแลนด์มากขึ้น
รัฐบาลฟินแลนด์ดำเนินนโยบายส่งเสริม IT มาตั้งแต่คริสต์ทศวรรษที่ ๑๙๘๐ โดยจัดตั้ง Science and Technology Policy Council ทำหน้าที่ประสานงานและวางแผนทางนโยบายระหว่างความเชี่ยวชาญกับนวัตกรรม และมีการจัดตั้งหน่วยงานสนับสนุนชื่อ TEKES ขึ้นมาให้คำแนะนำ ปรึกษา สร้างเครือข่าย และให้ความช่วยเหลือด้านเงินทุนแก่บริษัท IT เริ่มต้น (IT startup)
ในคริสต์ทศวรรษที่ ๑๙๙๐ บริษัท NOKIA เติบโตร้อยละ ๓๗ และลงทุนใน R&D เท่ากับร้อยละ ๕๐ ของมูลค่า R&D ของภาคเอกชนฟินแลนด์ ในปี ค.ศ. ๒๐๑๑ รายได้ของ NOKIA คิดเป็นร้อยละ ๒๐ ของสินค้าส่งออกของฟินแลนด์ หรือคิดเป็นร้อยละ ๔ ของรายได้มวลรวมประชาชาติของฟินแลนด์
ในปี ค.ศ. ๒๐๐๑-๒๐๐๓ World Economic Forum จัดให้ฟินแลนด์เป็นประเทศที่มีขีดความสามารถในการแข่งขันเป็นอันดับที่ ๑ ในปี ค.ศ. ๒๐๐๓ ฟินแลนด์มีการลงทุนในการวิจัยและพัฒนา (R&D) ต่อ GDP ในอัตราส่วนสูงสุดในกลุ่มประเทศ OECD และเป็นการลงทุนใน R&D ในธุรกิจเป้าหมายของรัฐบาล
โดยภาคเอกชนมีส่วนร่วมในการลงทุนใน R&D ด้วย โดยระบบการศึกษามีส่วนสำคัญในการสร้างนวัตกรรม นักวิชาการในมหาวิทยาลัยพัฒนาความคิด หรือค้นคิดสิ่งประดิษฐ์ใหม่ ๆ และกลายเป็นเจ้าของธุรกิจเริ่มต้น (startup)
ต่อมา ในปี ค.ศ. ๒๐๐๙ เศรษฐกิจฟินแลนด์เริ่มถดถอยอีกครั้งอันเป็นผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจในสหรัฐฯ และวิกฤตเงินยูโรจากกลุ่มประเทศ PIGS รวมทั้งการล้มสลายของ NOKIA เนื่องจากการตัดสินใจผิดพลาดที่เลือก Microsoft มาเป็นระบบ operating system ของโทรศัพท์มือถือ NOKIA
และการเกิดขึ้นของโทรศัพท์มือถือ iPhone ของ Apple ที่ใช้ระบบ ISO และ Samsung ที่ใช้ระบบ Android ทำให้ขีดความสามารถในการแข่งขันของฟินแลนด์ลดลงอย่างมาก ค่าจ้างแรงงานสูง อัตราการว่างงานสูงถึงร้อยละ ๘-๙
ปัจจุบัน เศรษฐกิจฟินแลนด์
ปัจจุบันเศรษฐกิจฟินแลนด์ค่อย ๆ กระเตื้องขึ้น ในปี ๒๕๕๙ มีอัตราเติบโตร้อยละ ๑.๔ และในปี ๒๕๖๑ ร้อยละ ๒.๓ โดยภาคเกษตรมีสัดส่วนมูลค่าต่อรายได้มวลรวมประชาชาติ เท่ากับร้อยละ ๒.๘ ภาคอุตสาหกรรมเท่ากับร้อยละ ๒๗.๑ และภาคบริการ เท่ากับร้อยละ ๗๐.๑
ปัจจุบันฟินแลนด์ยังมีชื่อเสียงในธุรกิจเริ่มต้น (startups) ด้าน IT, gaming, clean technology และ biotechnology ฟินแลนด์จัดงานส่งเสริมธุรกิจเริ่มต้นที่มีชื่อเสียงในสแกนดิเนเวียเป็นประจำทุกปีคือ SLUSH แต่อัตราการว่างงานยังสูงถึงร้อยละ ๘-๙ เช่นเดิม สาเหตุส่วนหนึ่งเพราะระบบสวัสดิการสังคมและการรับผู้อพยพต่างชาติ โดยบริษัทเอกชนฟินน์มักจะไม่รับผู้อพยพต่างชาติเข้าทำงาน
ปัจจุบัน สินค้าส่งออกที่สำคัญของฟินแลนด์ได้แก่ ไม้สนและอุตสาหกรรมไม้สน (เป็นอุตสาหกรรมที่มีผลกระทบทางการเมืองเพราะเกี่ยวข้องกับประชาชนในเขตชนบท) โลหะ เครื่องจักร อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เคมีภัณฑ์ และเทคโนโลยีสารสนเทศ ส่วนสินค้านำเข้าสำคัญของฟินแลนด์ ได้แก่ วัตถุดิบ พลังงาน สินค้าอุปโภคและบริโภค โดยมีประเทศคู่ค้าสำคัญคือ เยอรมนี สวีเดน อังกฤษ สหรัฐฯ รัสเซีย และจีน
วันที่ในข่าวนี้ 1 มกราคม 1980 วันที่ประมาณการ