Skip to content
Home » News » เหตุการณ์ 6 ตุลา (พ.ศ. 2519)

เหตุการณ์ 6 ตุลา (พ.ศ. 2519)

เหตุการณ์ 6 ตุลา
https://www.silpa-mag.com/this-day-in-history/article_3139

เหตุการณ์ 6 ตุลา (พ.ศ. 2519) หรือในภาษาอังกฤษเรียกชื่อเชิงพรรณนาว่า การสังหารหมู่ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (อังกฤษ: Thammasat (University) massacre) เป็นการปราบปรามอย่างรุนแรงถึงชีวิตของตำรวจและการลงประชาทัณฑ์ของกำลังกึ่งทหารและคนมุงฝ่ายขวาต่อนักศึกษาและผู้ประท้วงฝ่ายซ้ายในและบริเวณหน้ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ และท้องสนามหลวง เป็นการปิดฉากการประท้วง การเดินขบวนและการยึดพื้นที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ของนักศึกษา กรรมกรและผู้ประท้วงซึ่งต่อต้านการเดินทางกลับประเทศของจอมพลถนอม กิตติขจร อดีตนายกรัฐมนตรี ตั้งแต่วันที่ 28 กันยายน 2519 ในวันที่ 6 ตุลาคม ตำรวจใช้อาวุธสงครามปราบปรามการประท้วง ตามด้วยกลุ่มฝ่ายขวาที่ลงประชาทัณฑ์ในลักษณะร่วมมือกับตำรวจ เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตและผู้ได้รับบาดเจ็บ สถิติพบผู้เสียชีวิต 46 คนที่มีการชันสูตรพลิกศพ ซึ่งสาเหตุการเสียชีวิตมีทั้งถูกยิงด้วยอาวุธปืน ถูกทุบตี และถูกเผา แต่สถิติไม่เป็นทางการจากมูลนิธิป๋วยคาดว่ามีผู้เสียชีวิตกว่า 100 คน

จากเหตุการณ์ประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตยของประชาชนในวันที่ 14 ตุลาคม 2516 ได้ทำให้รัฐบาลเผด็จการทหารของจอมพลถนอม กิตติขจร พ้นจากอำนาจ และต้องเดินทางออกนอกประเทศพร้อมจอมพลประภาส จารุเสถียร และพ.อ.ณรงค์ กิตติขจร

แต่นับตั้งแต่กลางปี 2518 มีสัญญาณว่าเผด็จการทหารกลุ่มเดิมกำลังวางแผนที่กลับคืนสู่อำนาจอีกครั้ง และในวันที่ 19 กันยายน 2519 ถนอม ที่ถูกขับไล่ออกนอกประเทศและลี้ภัยอยู่ที่สหรัฐฯ ก็ได้เดินทางกลับประเทศไทยด้วยการบวชเป็นสามเณรเข้ามา โดยอ้างต่อสาธารณชนว่าตนจะอยู่ใต้ร่มกาสาวพัสตร์ มิได้มุ่งแสวงหาอำนาจ และต้องการมาเยี่ยมบิดาที่ใกล้ถึงแก่กรรม

สามเณรถนอมออกจากสนามบินมุ่งตรงไปยังวัดบวรนิเวศวิหารเพื่อเข้ารับการอุปสมบท แต่มวลชนจำนวนมากยังไม่เชื่อว่าสามเณรถนอมปรารถนาความหลุดพ้นจริงๆ (สุดท้ายเขาก็สึกในปีต่อมา ก่อนเรียกร้องให้รัฐบาลคืนทรัพย์สินของเขาที่ถูกยึดไปด้วยข้อหาทุจริต) จึงพากันออกมาประท้วง

แต่นักกิจกรรมถูกตอบโต้กลับอย่างรุนแรง ในวันที่ 24 กันยายน 2 พนักงานการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคถูกฆ่าแขวนคอขณะออกไปปิดใบประกาศประท้วงการกลับมาของถนอม จากนั้นในวันที่ 4 ตุลาคม นักศึกษาได้แสดงละครแขวนคอเพื่อประท้วงการใช้ความรุนแรงซึ่งเชื่อว่าเจ้าหน้าที่รัฐมีส่วนเกี่ยวข้อง และต่อต้านความพยายามใดๆ ที่จะนำพาประเทศกลับสู่ระบบเผด็จการอีกครั้ง

วันต่อมา “ดาวสยาม” หนังสือพิมพ์ฝ่ายขวาได้กล่าวหานักศึกษาที่แสดงละครแขวนคอว่าหมิ่นพระบรมโอรสาธิราช พร้อมด้วยข้อหาล้มสถาบันกษัตริย์ ภาพจากหนังสือพิมพ์ดาวสยาม (ซึ่งมีการถกเถียงกันว่ามีการตกแต่งภาพหรือไม่ และหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นฉบับอื่นมีส่วนสมคบคิดกับดาวสยามหรือไม่) ถูกนำไปปลุกระดมให้ลูกเสือชาวบ้านและกลุ่มฝ่ายขวาอื่นๆ เข้าปิดล้อมธรรมศาสตร์ ที่มีนักศึกษานับพันคนชุมนุมประท้วงกันอยู่

หลังเหตุการณ์ 14 ตุลา (พ.ศ. 2516) ทำให้รัฐบาลทหารหมดอำนาจ บ้านเมืองมีบรรยากาศเสรีภาพ และเกิดการเฟื่องฟูของความคิดฝ่ายซ้ายต่าง ๆ ตลอดจนการประท้วงของกรรมกรและชาวนาอยู่เนือง ๆ ร่วมกับความไร้เสถียรภาพทางเศรษฐกิจและการเมือง กลุ่มฝ่ายขวาต่าง ๆ ซึ่งรู้สึกกังวลกับชัยของคอมมิวนิสต์ในประเทศเพื่อนบ้าน ใช้วิธีการก่อกวนขบวนการฝ่ายซ้ายจนมีผู้เสียชีวิตอยู่หลายโอกาส ขณะเดียวกัน มีฝ่ายกองทัพอย่างน้อยสองฝ่ายพยายามวางแผนให้เกิดรัฐประหารอีกครั้ง โดยฝ่ายหนึ่งใช้วิธีการนำตัว “สามทรราช” กลับประเทศเพื่อหวังให้เกิดสถานการณ์บานปลาย วันที่ 19 กันยายน 2519 จอมพล ถนอม กิตติขจร เดินทางกลับประเทศ และบวชเป็นภิกษุที่วัดบวรนิเวศวิหารโดยมีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระราชินีนาถเสด็จฯ เยี่ยม นักศึกษาปักหลักประท้วงที่สนามหลวง และย้ายไปมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วิทยาเขตท่าพระจันทร์ เริ่มตั้งแต่วันที่ 30 กันยายน ในวันที่ 4 ตุลาคม นักศึกษาจัดการแสดงล้อเหตุฆ่าคนงานฝ่ายซ้ายที่จังหวัดนครปฐม วันที่ 5 ตุลาคม มีการตีพิมพ์ข่าวการแสดงดังกล่าว โดยมีสื่อฝ่ายขวาลงว่าบุคคลที่ถูกแขวนคอนั้นมีใบหน้าคล้ายกับสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เป็นผลให้กำลังกึ่งทหารที่โกรธแค้นมาชุมนุมกันนอกมหาวิทยาลัยในเย็นนั้น ท่ามกลางสื่อฝ่ายขวาที่โหมปลุกความเกลียดชังอยู่ต่อเนื่อง มีผู้ประท้วงอยู่ในมหาวิทยาลัยราว 4,000 คน และมีตำรวจและคนมาล้อมไว้ราว 8,000 คน

เหตุการณ์ 6 ตุลา ตำรวจปิดทางเข้าออกมหาวิทยาลัยไว้ทุกด้านตั้งแต่เวลาดึก ระหว่างเวลา 5.30–11.00 น. ตำรวจเปิดฉากใช้อาวุธสงครามหลายชนิดทั้งปืน เครื่องยิงลูกระเบิด ปืนต่อสู้รถถังและระเบิดมือเข้าปราบปรามผู้ประท้วง พลตำรวจโท ชุมพล โลหะชาละ รองอธิบดีกรมตำรวจ อนุญาตให้ยิงเสรี เกิดการยิงปะทะระหว่างสองฝ่ายช่วงสั้น ๆ ก่อนผู้ประท้วงเป็นฝ่ายแพ้อย่างรวดเร็ว เป็นการใช้กำลังเกิดกว่าเหตุและขาดความชอบธรรม ในเหตุการณ์ที่นิตยสาร ไทม์ เรียกว่า “ฝันร้ายของการลงประชาทัณฑ์และการเผา” นักศึกษาที่ยอมจำนนแล้วและที่กำลังหลบหนีกระสุนถูกทำร้ายร่างกาย ปล้นชิงทรัพย์สิน ล่วงละเมิดทางเพศ ถูกยิง เผาทั้งเป็น และทุบตีจนตาย ส่วนศพถูกทำลายและเผา ผู้ประท้วง 3,094 คนถูกจับ ส่วนผู้ลงมือฆ่าได้รับความดีความชอบ คณะผู้ยึดอำนาจการปกครองที่มีพลเรือเอก สงัด ชลออยู่เป็นหัวหน้าคณะ ยึดอำนาจในเวลา 18.00 น. โดยอ้างเหตุนักศึกษาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ และมีอาวุธหนัก

เหตุการณ์ 6 ตุลาและรัฐประหารเป็นจุดสิ้นสุดของ “ยุคการทดลองประชาธิปไตย” ซึ่งมีอายุไม่ถึงสามปี และกระแสสังคมนิยมเสื่อมลง มีการตั้งรัฐบาลใหม่ที่มีธานินทร์ กรัยวิเชียรเป็นนายกรัฐมนตรี รัฐบาลมีความคิดขวาจัดและเกิดการกวาดล้างฝ่ายซ้ายอย่างรุนแรงทำให้บางส่วนหนีไปเข้ากับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยทำให้การก่อการกำเริบรุนแรงยิ่งขึ้น การเมืองต่อจากนี้ไม่มีกระทบผลประโยชน์ของชนชั้นนำอีก ไม่มีกระบวนการสอบสวนความจริงและชดเชยแก่ญาติผู้เสียหายของรัฐ มีแกนนำผู้ประท้วง 19 คนถูกฟ้องฐานพยายามก่อจลาจล แต่สุดท้ายรัฐบาลนิรโทษกรรมในปี 2521 รัฐบาลใช้วิธีการปล่อยให้สังคมลืม เมื่อถึงประมาณพุทธทศวรรษ 2530 มติมหาชนเปลี่ยนมาเห็นใจนักศึกษามากขึ้นแล้วแต่สังคมยังคาดหวังให้เงียบเพื่อความสมานฉันท์ของบ้านเมือง

หนังสือเรียนประวัติศาสตร์สมัยใหม่ในประเทศไทยแทบทั้งหมดข้ามเหตุการณ์นี้ไปเสียเฉย ๆ มีความพยายามตีแผ่ข้อเท็จจริงโดยคณะกรรมการรับข้อมูลและสืบพยานเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 และโครงการบันทึก 6 ตุลา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จัดงานรำลึกเป็นประจำทุกปี และมีการสร้างประติมากรรมอนุสรณ์ในมหาวิทยาลัยในปี 2539 สำหรับบทบาทของสถาบันพระมหากษัตริย์ในเหตุการณ์ นักวิชาการต่างประเทศชี้ว่า สถาบันพระมหากษัตริย์มีส่วนส่งเสริมเหตุการณ์ผ่านการสนับสนุนกลุ่มลูกเสือชาวบ้าน และการเสด็จฯ เยี่ยมพระถนอม