เหตุสังหารหมู่อันเทียนเหมิน พรรคคอมมิวนิสต์จีนใช้ “มาตรการบังคับเข้มงวดอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน” เพื่อยับยั้งการจัดงานรำลึกเหตุการณ์จัตุรัสเทียนอันเหมิน
เป็นเวลานับสามสิบสองปีตั้งแต่เกิดโศกนาฏกรรมที่จัตุรัสเทียนอันเหมิน การปราบปรามอย่างเหี้ยมโหดของพรรคคอมมิวนิสต์จีนต่อการเรียกร้องสันติภาพเพื่อเสรีภาพและประชาธิปไตย ยังคงสะท้อนให้เห็นถึงการควบคุมและการปิดกั้นในฮ่องกงไปจนถึงทิเบต
ช่วงเช้าของวันที่ 4 มิถุนายน พ.ศ. 2532 กลุ่มนักเรียน นักกิจกรรม และชาวจีนประมาณหลายพันคนถูกสังหารหมู่ด้วยน้ำมือของทหารและตำรวจจีน ขณะพยายามป้องกันตนเองไม่ให้ถูกทำร้ายที่จัตุรัสนอกพระราชวังต้องห้าม และผู้ประท้วงอีกหลายพันคนถูกจับกุมเนื่องจากมีการประกาศใช้กฎอัยการศึก ทั้งนี้กองทัพปลดปล่อยประชาชนยังได้ระดมกำลังเพื่อปราบปรามขบวนการเคลื่อนไหวที่กระจายอยู่ทั่วประเทศจีนในช่วงหลายสัปดาห์ก่อน ซึ่งขบวนการเคลื่อนไหวส่วนใหญ่มีศูนย์กลางอยู่ที่จัตุรัสเทียนอันเหมิน

เหตุสังหารหมู่อันเทียนเหมิน แม้รัฐบาลอำนาจเผด็จการจะพยายามลบล้างเหตุการณ์ที่เทียนอันเหมินออกจากการรับรู้ของผู้คนในชาติ ด้วยวาระครบรอบ 100 ปีของการก่อตั้งพรรคเมื่อ พ.ศ. 2464 แต่เหตุการณ์ดังกล่าวยังคงฝังติดอยู่กับพรรคคอมมิวนิสต์จีน นายศิวศันการ์ เมนอน ประธานคณะกรรมการที่ปรึกษาของสถาบันจีนศึกษาในกรุงนิวเดลี และนักวิชาการที่มีชื่อเสียงของสถาบันบรูกกิงส์ ระบุในบทวิเคราะห์ของเว็บไซต์เดอะไวร์ของอินเดีย เมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2564 ว่า “ผลสะท้อนของเหตุการณ์ที่เทียนอันเหมินยังคงสืบเนื่องต่อไป แม้รัฐบาลจีนได้ดำเนินการทุกวิถีทางเพื่อระงับและขจัดร่องรอยความทรงจำเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในกรุงปักกิ่ง”
มีการคาดการณ์ว่ารัฐบาลจีนจะใช้ “มาตรการบังคับเข้มงวดอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน” เพื่อสั่งห้ามการชุมนุมรำลึกถึงเหตุการณ์สังหารหมู่ประจำปีที่ฮ่องกง ตามการรายงานของนิวส์วีคเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2564 การชุมนุมครั้งแรกมีขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2533 โดยทางการได้สั่งห้ามการชุมนุมเป็นปีที่สองติดต่อกันแล้ว อ้างว่าเพื่อหลีกเลี่ยงความกังวลเกี่ยวกับไวรัสโคโรนา ครั้งนี้จะเป็นการชุมนุมครั้งแรกอย่างเงียบเชียบ นับตั้งแต่พรรคคอมมิวนิสต์จีนบังคับใช้กฎหมายด้านความมั่นคงแห่งชาติที่เข้มงวดในฮ่องกงเมื่อปลายเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2563 “ฮ่องกงและมาเก๊าเป็นเพียงสองเขตปกครองของจีนที่ได้รับอนุญาตให้จัดงานรำลึกเหตุการณ์เทียนอันเหมิน” ตามการรายงานของนิวส์วีค “ประเด็นนี้แทบไม่มีการพูดถึงในจีนแผ่นดินใหญ่ เนื่องจากการกล่าวถึงเหตุการณ์หรือแม้กระทั่งการแปรผันต่าง ๆ เช่น หมายเลข ’64’ ที่หมายถึงวันที่ 4 มิถุนายน ก็ถูกปิดกั้น”
ผู้ใดก็ตามที่เข้าร่วมการชุมนุมโดยไม่ได้รับอนุญาตจะถือว่าเป็น “ผู้ไม่รักชาติ” และสมาชิกสภานิติบัญญัติฮ่องกงที่เข้าร่วมจะถูกปลดทันที ตามรายงานของนิวส์วีคในเว็บไซต์ข่าวเอชเค01 ของฮ่องกง
เมื่อต้นเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2564 นายโจชัว หว่อง นักเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตย พร้อมสมาชิกสภาเขตฮ่องกงสามคน ถูกตัดสินจำคุก 4 ถึง 10 เดือนในข้อหาเข้าร่วมการชุมนุมเมื่อ พ.ศ. 2563 ตามรายงานของหนังสือพิมพ์เซาท์ไชน่ามอร์นิ่งโพสต์ โดยทั้งหมดเป็นหนึ่งใน 24 คนที่ถูกตั้งข้อหาจัดงานหรือเข้าร่วมงานรำลึก ซึ่งทำให้ประชาชนหลายพันคนออกมาต่อต้านการสั่งห้ามและคำเตือนของทางการที่สวนสาธารณะวิคตอเรียในฮ่องกง (ภาพ: ระหว่างการจุดเทียนรำลึกในฮ่องกงเพื่อรำลึกถึงเหยื่อการสังหารหมู่ที่จัตุรัสเทียนอันเหมิน เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน พ.ศ. 2563 ชายคนหนึ่งถือโปสเตอร์ภาพอันโด่งดังซึ่งเป็นภาพ “ขบถนิรนาม” ที่เผชิญหน้ากับกองกำลังทหารจีน ณ จัตุรัสเทียนอันเหมินเมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2532)
แนวร่วมฮ่องกงที่สนับสนุนขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยรักชาติของจีน ซึ่งเป็นผู้จัดการชุมนุมได้ส่งเสริมให้ประชาชน “จุดเทียนจากทุกที่” เพื่อเป็นสัญลักษณ์ในวันครบรอบ 32 ปีของการประท้วงที่จัตุรัสเทียนอันเหมิน ตามรายงานของฮ่องกงฟรีเพรส เมื่อกลางเดือนพฤษภาคม สมาชิกแนวร่วมสี่คนได้เข้าร่วมงานวิ่งมาราธอนประจำปีเพื่อรำลึกถึงการสังหารหมู่ กิจกรรมที่ถูกสั่งลดขนาดลงดังกล่าวมีตำรวจคอยรักษาการอยู่จำนวนมาก และในเวลาต่อมา สถานีวิทยุโทรทัศน์ฮ่องกงซึ่งเป็นสถานีกระจายเสียงของรัฐบาล ได้ลบเนื้อหาข่าวในส่วนที่เกี่ยวกับงานแข่งขันวิ่งนั้นโดยระบุว่าเนื้อหาไม่มีความเกี่ยวข้อง ตามรายงานของเซาท์ไชน่ามอร์นิ่งโพสต์
เขตบริหารพิเศษฮ่องกงมีประชากร 7.5 ล้านคน ซึ่งมีอำนาจปกครองตนเองจำกัดเป็นเวลา 50 ปีจากสนธิสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการส่งมอบฮ่องกงจากอังกฤษคืนให้จีนปกครองเมื่อ พ.ศ. 2540 ถูกรัฐบาลจีนปราบปรามเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ นับตั้งแต่มีการประท้วงเพื่อประชาธิปไตยเมื่อกลาง พ.ศ. 2562 นอกเหนือจากกฎหมายด้านความมั่นคงแห่งชาติ รัฐสภาของพรรคคอมมิวนิสต์จีนยังอนุมัติการเปลี่ยนแปลงการเลือกตั้งเมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. 2564 ที่ออกแบบมาเพื่อทำให้ความพยายามในการสนับสนุนประชาธิปไตยอ่อนกำลังลง และทำให้ฮ่องกงอยู่ภายใต้การควบคุมของผู้จงรักภักดีต่อพรรค ซึ่งตามมาด้วยการเลื่อนกำหนดการเลือกตั้งในเดือนกันยายน พ.ศ. 2563
ผู้สังเกตการณ์ระบุว่า การควบคุมการจัดงานรำลึกเหตุการณ์เทียนอันเหมินมีความเชื่อมโยงกับงานครบรอบร้อยปีของพรรคคอมมิวนิสต์จีน ซึ่งวางแผนจัดขึ้นในวันที่ 1 กรกฎาคม ณ กรุงปักกิ่ง ความโหดเหี้ยมทารุณทั้งหมดที่เกิดขึ้นเมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2532 จะถูกกลบด้วยเรื่องราวการปิดบังข้อเท็จจริงที่พรรคคอมมิวนิสต์จีนเผยแพร่ก่อนการจัดงานพิธีดังกล่าว นายเมนอน ซึ่งดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศและที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งชาติ ระบุว่า “วันนี้ พรรคคอมมิวนิสต์จีนจะเปลี่ยนแปลงประวัติศาสตร์อีกครั้งด้วยวันครบรอบหนึ่งร้อยปีของพรรค”
เช่น เมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2564 สื่อของรัฐบาลจีนได้เผยแพร่บทความที่กล่าวถึง “แนวทางสู่ประชาธิปไตยและความเจริญรุ่งเรือง” ของทิเบตในฐานะเขตปกครองตนเองของจีน ซึ่งไม่ได้ระบุถึงการเข้ายึดครองทิเบตของจีน ในครั้งที่กองทัพปลดปล่อยประชาชนรุกรานทิเบตเมื่อ 70 ปีก่อน
ชาวทิเบต กลุ่มสิทธิมนุษยชน และรัฐบาลประชาธิปไตย กล่าวหาว่าพรรคคอมมิวนิสต์จีนพยายามถอนรากถอนโคนภาษา ขนบธรรมเนียม และศาสนาของชาติพันธุ์ทิเบต พร้อมกับใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติของทิเบต ประธานาธิบดีที่ได้รับเลือกตั้งคนใหม่ของฝ่ายบริหารกลางทิเบต ซึ่งเป็นรัฐบาลพลัดถิ่นของทิเบต ระบุว่า มีภัยคุกคามเร่งด่วนเกี่ยวกับ “การล้มล้างเผ่าพันธุ์ทางวัฒนธรรม”
“หากคุณไม่คัดค้านการปฏิบัติของจีนตอนนี้ จีนจะฉกฉวยทุกสิ่งทุกอย่างได้สำเร็จโดยไม่ถูกลงโทษ” นายเพนพา เซอริง กล่าวกับรอยเตอร์ในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2564 “ต้องมีการหยุดยั้งการปฏิบัติเช่นนี้”
เหตุการณ์สังหารหมู่ที่เทียนอันเหมินและงานรำลึกถึงเหตุการณ์ดังกล่าวที่จัดขึ้นในวันที่ 4 มิถุนายนของทุกปีที่ฮ่องกง แต่ในปีนี้และปีที่ผ่านมา ทางการฮ่องกงไม่อนุญาตให้จัดงานรำลึก โดยอ้างเหตุผลเรื่องความมั่นคงของชาติและการแพร่ระบาดของโควิด-19 แม้ว่าฮ่องกงจะมีผู้ติดเชื้อโควิด-19 น้อยมากก็ตาม นอกจากนี้พิพิธภัณฑ์ที่จัดแสดงเรื่องราวของเหตุการณ์ก็ถูกปิดอย่างกะทันหันเพียงสองวันก่อนวันครบรอบเหตุการณ์ โดยเจ้าหน้าที่อ้างว่าเมื่อทำการสืบสวนแล้วพบว่าขาดใบอนุญาตที่จำเป็นสำหรับการจัดแสดงนิทรรศการสาธารณะ
เป็นเวลาหลายต่อหลายปีที่ทางการจีนไม่อนุญาตให้มีการพูดถึงเหตุการณ์การสลายการชุมนุมของผู้สนับสนุนประชาธิปไตยที่จัตุรัสเทียนอันเหมินในกรุงปักกิ่งของจีน และพยายามที่จะลบเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นออกไปจากความทรงจำของผู้คน ซึ่งในปัจจุบันอาจถึงคิวของฮ่องกงก็เป็นได้ ขณะที่พรรคคอมมิวนิสของจีนพยายามทำให้ฮ่องกงขึ้นตรงกับรัฐบาลจีนมากขึ้น
