
แผนฉีดวัคซีนสูตรไขว้ แอสตร้าเซนเนก้า-ไฟเซอร์ คณะอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค เตรียมเสนอให้กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) พิจารณาใช้วัคซีนสูตรไขว้สูตรที่ 2 เพื่อป้องกันโรคโควิด-19 เป็นแอสตร้าเซนเนก้าเข็มแรก และตามด้วยไฟเซอร์ คาดสัปดาห์หน้าจะทราบรายละเอียดและแผนการใช้วัคซีนสูตรใหม่
การประชุมคณะอนุกรรมการชุดดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อ 7 ต.ค. 2564
นพ. รุ่งเรือง กิจผาติ โฆษกกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวกับบีบีซีไทยว่า ขณะนี้ยังเป็นการประชุมของผู้ทรงคุณวุฒิ ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านวิชาการ ทั้งในและนอก สธ. ยังไม่ถือเป็นมติ จะต้องมีการพิจารณาข้อแนะนำเพิ่มเติมก่อน เพื่อการบริหารจัดการในภาพรวม
โฆษก สธ. ยังกล่าวด้วยว่า หลังจากนี้จะมีการประชุมใหญ่ของ สธ. ซึ่งประกอบด้วยเจ้าหน้าที่ด้านอื่น ๆ ก่อนจัดทำข้อเสนอเข้าสู่การพิจารณาของศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) เพื่อขออนุมัติต่อไป
“เรื่องของรายละเอียดว่าจะเริ่มใช้ยังไง เมื่อไหร่ ต้องรอประมาณวันอังคาร (12 ต.ค.)” นพ. รุ่งเรืองกล่าว
สำหรับคณะอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค แต่งตั้งรองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานกรรมการวัคซีนแห่งชาติโดยตำแหน่ง มี นพ. โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค เป็นประธาน
หาก สธ. และ ศบค. อนุมัติตามข้อเสนอของอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค ก็จะทำให้ประเทศไทยจะมีการใช้วัคซีนสูตรไขว้สูตรที่ 2 เพื่อป้องกันโรคโควิด-19 หลังจากใช้วัคซีนสูตรไขว้สูตรแรกคือ ซิโนแวคเป็นเข็มแรก ตามด้วยแอสตร้าเซนเนก้าเป็นเข็มที่ 2 ซึ่งคณะกรรมการโรคติดต่อ สธ. อนุมัติไปเมื่อวันที่ 12 ก.ค.
ก่อนหน้านี้ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) โดย นพ. โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค ระบุเมื่อวันที่ 3 ก.ย. ว่า สธ. มีแผนของวัคซีนสูตรไขว้ 2 กรณี ได้แก่ ซิโนแวค+แอสตร้าเซนเนก้า และอีกสูตรคือ แอสตร้าเซนเนก้า+ไฟเซอร์ ระยะห่าง 4-12 สัปดาห์ ใช้ในผู้ที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไปทุกกลุ่ม โดยสูตรนี้จะใช้แพร่หลายในเดือน ต.ค.
นพ. โสภณกล่าวตอนนั้นด้วยว่า การฉีดแอสตร้าเซนเนก้า และตามด้วยไฟเซอร์ มีการใช้อยู่บ้างในประเทศไทย โดยเป็นไฟเซอร์ที่เหลือจากการฉีดให้กับบุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้า ทำให้โรงพยาบาลนำไฟเซอร์มาฉีดให้กับประชาชนกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ กลุ่มผู้สูงอายุ และกลุ่มโรคเรื้อรัง ที่ได้รับแอสตร้าเซนเนก้าเป็นเข็มแรก เมื่อเดือน มิ.ย. ที่ผ่านมา
สำหรับวัคซีนไฟเซอร์ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.สาธารณสุข ระบุเมื่อ 29 ก.ย. ว่าในเดือน ต.ค. จะมีวัคซีนทยอยส่งมา 8 ล้านโดส และจะมีการรับมอบเพิ่มเติมจนครบ 30 ล้านโดส จนถึงเดือน ธ.ค.
แผนฉีดวัคซีนสูตรไขว้ ประเทศไหนบ้างในโลกใช้วัคซีนสูตรผสม และเป็นยี่ห้อใดบ้าง
แผนฉีดวัคซีนสูตรไขว้ แอสตร้าเซนเนก้า-ไฟเซอร์ สำนักข่าวรอยเตอร์ รวบรวมรายชื่อประเทศที่มีนโยบายใช้วัคซีนสูตรผสม เป็นเข็มที่ 2 และเข็มที่ 3 หรือเข็มกระตุ้น ข้อมูลล่าสุดจนถึงวันที่ 27 ก.ย. 2564
ในเดือน ก.ค. องค์การอนามัยโลก (WHO) เตือนว่า การสร้างภูมิคุ้มกันโดยจับคู่วัคซีนจากผู้ผลิตหลายรายมาผสมกัน ซึ่งหลายประเทศกำลังดำเนินการอยู่นั้น ถือเป็น “แนวโน้มที่อันตราย” เพราะยังมีข้อมูลการวิจัยว่าด้วยการฉีดวัคซีนแบบผสมสูตรอยู่น้อยมาก แต่ก็ย้ำว่าหากเป็นการตัดสินใจของหน่วยงานด้านสาธารณสุขที่อยู่บนพื้นฐานข้อมูลก็เป็นสิ่งที่กระทำได้ อย่างไรก็ตาม ในยุโรป หน่วยงานกำกับการใช้ยาของยุโรป ไม่ได้มีคำแนะนำเป็นการเฉพาะถึงการฉีดวัคซีนแบบสลับ
สำหรับรายชื่อประเทศที่มีการใช้วัคซีนสูตรผสมตามการรวบรวมของรอยเตอร์มี ดังนี้
กัมพูชา
สูตร ซิโนแวค+ซิโนแวค+แอสตร้าเซนเนก้า
สูตร ซิโนฟาร์ม+ซิโนฟาร์ม+แอสตร้าเซนเนก้า
สูตร แอสตร้าเซนเนก้า+แอสตร้าเซนเนก้า+ซิโนแวค
สมเด็จฮุนเซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา ระบุเมื่อวันที่ 1 ส.ค. เกี่ยวกับการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นไว้ว่า จะให้มีการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นด้วยวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า ในผู้ที่รับวัคซีน 2 เข็มแรก เป็นซิโนแวค หรือซิโนฟาร์ม
ส่วนผู้ที่ฉีดแอสตร้าเซนเนก้า 2 เข็ม กระตุ้นเข็ม 3 ด้วยซิโนแวค
เดนมาร์ก
ข้อมูลจากสถาบันเซรั่มแห่งประเทศเดนมาร์ก เมื่อ 2 ส.ค. ให้ฉีดเข็มที่สองเป็นไฟเซอร์ หรือโมเดอร์นา หลังจากได้รับเข็มแรกเป็นวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า
เยอรมนี
กระตุ้นเข็ม 3 ด้วยไฟเซอร์ หรือโมเดอร์นา ตั้งแต่เดือน ก.ย. สำหรับประชาชนกลุ่มเปราะบาง
รัสเซีย
สูตร แอสตร้าเซนเนก้า+สปุตนิก วี
กองทุนเพื่อการลงทุนของรัฐบาลรัสเซีย (Russian Direct Investment Fund – RDIF) ที่ให้ความช่วยเหลือด้านการเงินแก่โครงการพัฒนาสปุตนิก วี ระบุเมื่อ 27 ก.ย. ว่ามีการศึกษาทดลองในชั้นคลินิกเกี่ยวกับการฉีดวัคซีนไขว้ด้วยแอสตร้าเซนเนก้า และสปุตนิก วี พบว่าสร้างภูมิคุ้มกันได้ดีในผู้เข้าร่วมการทดลองวิจัยส่วนใหญ่
ตุรกี
สูตร ซิโนแวค+ซิโนแวค+ไฟเซอร์
หน่วยงานสาธารณสุขตุรกี ระบุเมื่อ 16 ส.ค. ว่าอนุญาตให้ประชาชนที่ฉีดซิโนแวค 2 เข็ม รับเข็มกระตุ้นเป็นไฟเซอร์ได้ เพื่อบรรเทาผลกระทบต่อการเดินทางไปยังประเทศที่ไม่ได้รับรองการฉีดซิโนแวค
สหรัฐฯ
ทางการสหรัฐฯ เคาะแนวทางการกระตุ้นเข็มสามเมื่อวันที่ 13 ส.ค. โดยใช้ไฟเซอร์ หรือโมเดอร์นา
สหราชอาณาจักร
สหราชอาณาจักรเริ่มการฉีดเข็มกระตุ้นเข็มที่ 3 เมื่อเดือน ก.ย. ที่ผ่านมา โดยเริ่มต้นที่กลุ่มบุคลากรด้านสุขภาพ วัคซีนที่ใช้คือไฟเซอร์ หรือโมเดอร์นา
ในสหราชอาณาจักร มีวัคซีนที่ฉีดให้ประชาชน ได้แก่ แอสตร้าเซนเนก้า ไฟเซอร์ โมเดอร์นา และวัคซีนแจนเซ่นของจอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน โดยเป็นการฉีดชนิดเดียวกันทั้ง 2 เข็ม
ส่วนการฉีดวัคซีนสูตรผสม เพิ่งจะมีการวิจัยระดับการตอบสนองภูมิคุ้มกันของการฉีดวัคซีนต่างชนิดในเด็ก โดยใช้สูตรไฟเซอร์เป็นเข็มแรก ส่วนเข็มที่ 2 จะให้เป็นชนิดใดจะมีการระบุในภายหลังเมื่อมีการรวบรวมข้อมูลได้เพิ่มขึ้น
อิตาลี ประชาชนที่อายุต่ำกว่า 60 ที่ได้แอสตร้าเซนเนก้าไปโดสแรก จะได้รับวัคซีนอื่นเป็นโดสที่ 2
สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ทางการบอกว่าจะมีวัคซีนไฟเซอร์ให้สำหรับคนที่ได้วัคซีนซิโนฟาร์มเป็นเข็มแรก
นอกจากนี้ยังมีอีกอย่างน้อย 3 ประเทศ ที่ใช้วัคซีน 2 เข็มต่างชนิดกัน ในสูตรแอสตร้าเซนเนก้าเข็มที่ 1 และวัคซีนชนิดเอ็มอาร์เอนเอ (ไฟเซอร์ หรือโมเดอร์นา) เป็นเข็มที่ 2 เช่น แคนาดา เกาหลีใต้ เวียดนาม เป็นต้น