Skip to content
Home » News » โอบามากล่าวอำลาตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐ

โอบามากล่าวอำลาตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐ

โอบามากล่าวอำลาตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐ ประธานาธิบดีบารัค โอบามา ของสหรัฐฯ กล่าวอำลาก่อนหมดวาระการดำรงตำแหน่งผู้นำที่นครชิคาโก โดยเขากล่าวเน้นให้ชาวอเมริกันร่วมกันปกป้องประชาธิปไตย ซึ่งอาจตกอยู่ในภาวะอันตรายได้หากทุกคนละเลย

นายโอบามาเริ่มการกล่าวอำลาตำแหน่งโดยบอกว่า เลือกมากล่าวสุนทรพจน์ในโอกาสนี้ที่นครชิคาโกแทนที่จะเป็นทำเนียบประธานาธิบดีสหรัฐฯ ตามธรรมเนียม เนื่องจากต้องการกลับมายังสถานที่ที่เป็นจุดเริ่มต้นของทุกสิ่งทุกอย่าง โดยนครชิคาโกเป็นที่ที่เขาเติบโตมา ตั้งแต่วัยที่ยังต้องค้นหาตัวเองจนเข้าสู่แวดวงการเมือง โดยเขาได้ประกาศชัยชนะในการเลือกตั้งประธานาธิบดีสมัยแรกเมื่อปี 2551 ที่นี่ด้วย

โอบามากล่าวอำลาตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐ
https://news.thaipbs.or.th/content/259620

โอบามากล่าวอำลาตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐ นายโอบามายังกล่าวว่า ตลอด 8 ปีในตำแหน่งประธานาธิบดี เขาเห็นอเมริกาแข็งแกร่งขึ้นและดีขึ้นในเกือบทุกด้าน โดยเขาได้เห็นคนรุ่นใหม่จำนวนมากยังเชื่อในการสร้างให้อเมริกาเป็นประเทศที่เป็นธรรมและเท่าเทียม ซึ่งคนรุ่นใหม่เหล่านี้ทำให้เขารู้สึกว่า อเมริกายังมีอนาคตสดใสยิ่งกว่าที่เขาเคยคิดตอนเข้ารับตำแหน่งใหม่ ๆ

อย่างไรก็ตาม นายโอบามาย้ำเตือนว่าระบอบประชาธิปไตยนั้นอาจตกอยู่ในอันตรายได้หากทุกคนละเลยไม่ปกป้องดูแล โดยขอให้ชาวอเมริกันทุกหมู่เหล่ารับฟังความเห็นของกันและกันมากขึ้น หลังจากการแบ่งฝักแบ่งฝ่ายอันเนื่องมาจากความไม่เท่าเทียมทางเศรษฐกิจ การเหยียดเชื้อชาติ และการปิดตัวอยู่แต่ใน “ฟองสบู่” ความคิดเห็นที่รับฟังแต่คนกลุ่มเดียวกันมากกว่าข้อเท็จจริงพื้นฐาน ได้ทำให้ระบอบประชาธิปไตยของอเมริกาต้องสั่นคลอน

ทั้งนี้ คาดว่ามีผู้เข้าฟังการกล่าวสุนทรพจน์อำลาตำแหน่งของนายโอบามากว่า 20,000 คน โดยผู้ฟังร้องตะโกนอย่างพร้อมเพรียงกันให้เขาทำงานต่อไป “อีกสี่ปี” ซึ่งนายโอบามากล่าวตอบว่าเขาทำเช่นนั้นไม่ได้

นายโอบามาวัย 55 ปี เป็นประธานาธิบดีผิวดำคนแรกของสหรัฐฯ โดยอยู่ในตำแหน่งผู้นำมาสองสมัย ส่วนนายโดนัลด์ ทรัมป์ ว่าที่ประธานาธิบดีคนต่อไป จะสาบานตนเข้ารับตำแหน่งในวันที่ 20 มกราคมนี้

ก่อนที่ว่าที่ประธานาธิบดีคนใหม่อย่างโดนัลด์ ทรัมพ์ จะทำพิธีสาบานตนเข้ารับตำแหน่งในวันพรุ่งนี้ (20 ม.ค.) ซึ่งเป็นเวลาเดียวกับที่บารัค โอบามา จะต้องอำลาตำแหน่ง ตลอดระยะเวลา 8 ปี โอบามาได้ทำในหลายสิ่งที่จะกลายเป็นที่จดจำในหน้าประวัติศาสตร์ใหม่ของสหรัฐฯ

วันนี้ (19 ม.ค.2560) ตลอดระยะเวลา 8 ปี ที่ บารัค โอบามา ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีคนที่ 44 ของสหรัฐอเมริกา ได้ทำใน 9 สิ่งที่จะกลายเป็นที่จดจำในหน้าประวัติศาสตร์ใหม่ของสหรัฐฯ หลังจากจะต้องอำลาตำแหน่ง และว่าที่ประธานาธิบดีคนใหม่อย่างโดนัลด์ ทรัมพ์ จะทำพิธีสาบานตนเข้ารับตำแหน่งในวันพรุ่งนี้ (20 ม.ค.) โดยโอบามาถือว่าเป็นผู้ที่พลิกโฉมหน้าประวัติศาสตร์การเมืองของสหรัฐฯ ด้วยการชนะการเลือกตั้ง ได้ขึ้นเป็นประธานาธิบดีผิวดำคนแรก ที่ประวัติศาสตร์จะต้องจารึกเอาไว้ หลังจากการเลิกทาสผิวดำมาได้ 143 ปี วุฒิสมาชิกเชื้อสายแอฟริกัน-อเมริกัน วัย 47 ปี จากรัฐอิลลินอยส์ ในขณะนั้น ได้สะท้อนให้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงในสังคมอเมริกันที่มีการเปิดกว้างมากขึ้น

แต่ขณะเดียวกัน อีกแง่มุมหนึ่งมีการสะท้อนปัญหาที่ยังน่าเป็นห่วงในมุมมองของชาวอเมริกัน โดยผลสำรวจล่าสุดจาก Gallup ชี้ว่าชาวอเมริกันร้อยละ 52 มองว่าปัญหาการเหยียดเชื้อชาติในสหรัฐฯ ย่ำแย่ลงกว่าเดิม ขณะที่มีเพียงร้อยละ 25 เท่านั้น ที่คิดว่าสถานการณ์ดีขึ้นนับตั้งแต่โอบามาเข้ารับตำแหน่งเมื่อปี 2552

ประการที่ 2 โอบามาทุ่มงบประมาณเพิ่มการใช้จ่ายของภาครัฐ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ มูลค่า 831,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 29.35 ล้านล้านบาท เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจที่ซบเซา หลังจากสหรัฐฯ ประสบกับสภาวะเศรษฐกิจถดถอยอย่างต่อเนื่อง จากวิกฤตการณ์ด้านอสังหาริมทรัพย์ในสมัยแรกที่โอบามาเข้ารับตำแหน่ง ซึ่งแม้ว่าตอนนี้สภาพเศรษฐกิจของสหรัฐฯ จะยังไม่ได้ฟื้นตัวอย่างเต็มที่ แต่นับว่ามีการสร้างตำแหน่งงานเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตลอดระยะเวลา 75 เดือนที่ผ่านมา

ส่วนอีกหนึ่งผลงานที่ชัดเจน คือความพยายามในการผลักดันกฎหมายควบคุมอาวุธปืนอย่างจริงจัง แต่ยังไม่ประสบความสำเร็จ เนื่องจากมีเสียงคัดค้านจากพรรครีพับลิกันอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ โอบามายังเป็นประธานาธิบดีที่เคลื่อนไหวในเรื่องสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจัง มีการออกกฎหมายควบคุมสิ่งแวดล้อมทั้งการอนุรักษ์ระบบนิเวศวิทยาทางทะเล การลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และสนับสนุนการใช้พลังงานทดแทน ซึ่งล่าสุด โอบามาประกาศให้เงินสมทบในกองทุนสหประชาชาติเพื่อแก้ปัญหาผลกระทบจากภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงอีก 500 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ก่อนลงจากตำแหน่ง

และยังเป็นประธานาธิบดีที่ผลักดันนโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือ “Obamacare” ได้สำเร็จ ซึ่งครอบคลุมถึงชาวอเมริกันประมาณ 20 ล้านคน แต่ยังคงต้องจับตามองกันต่อไปว่านโยบายนี้จะถูกประธานาธิบดีคนใหม่อย่างโดนัลด์ ทรัมพ์ ประกาศยกเลิกในอนาคตหรือไม่

นอกจากนี้ อีก 1 ใน 9 ข้อที่สำคัญอีกประการหนึ่ง คือความสำเร็จของกองกำลังสหรัฐอเมริกา ภายใต้การนำของประธานาธิบดีโอบามา ที่สังหารนายโอซามา บิน ลาเดน ได้เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2554 ถือเป็นการชำระแค้นให้กับชาวอเมริกันทั้งประเทศ จากเหตุโจมตีอาคารแฝด World Trade Center ในมหานครนิวยอร์ก และเหตุโจมตีอื่นๆ เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2544

นอกจากนี้ ในด้านการต่างประเทศ โอบามายังประสบความสำเร็จในการบรรลุข้อตกลงนิวเคลียร์กับคู่ปรับตลอดกาลอย่างอิหร่านได้สำเร็จ หลังมีปัญหาขัดแย้งยืดเยื้อนานกว่า 20 ปี ซึ่งนอกจากจะมีผลขัดขวางไม่ให้อิหร่านเข้าถึงเทคโนโลยีนิวเคลียร์แล้ว ยังเป็นการป้องกันการแข่งขันสะสมอาวุธนิวเคลียร์ในตะวันออกกลางอีกด้วย

อีกประการที่สำคัญ คือการรักษาคำพูดของโอบามา ที่ไม่กลับคำในเรื่องสงครามกลางเมืองในซีเรีย โดยโอบามายึดมั่นแนวทางปฏิบัติที่จะไม่ส่งกำลังทหารเข้าไปแทรกแซงสถานการณ์ แม้ว่าเหตุการณ์ในซีเรียจะทวีความรุนแรงอย่างต่อเนื่อง แต่มีบางส่วนที่ออกมาวิพากษ์วิจารณ์โอบามาที่ก่อนหน้านี้เคยตั้งเงื่อนไขเอาไว้ว่าถ้าหากรัฐบาลซีเรียใช้อาวุธเคมีก็จะสั่งทหารอเมริกันบุกซีเรียทันที แต่กลับไม่ได้ทำอย่างที่พูดไว้

สุดท้าย คือการกลับมาเดินหน้าสานสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้านในละตินอเมริกาที่เป็นคู่ปรปักษ์มายาวนาน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คิวบา การกลับมาสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับคิวบาอีกครั้ง หลังระงับความสัมพันธ์ไปนานกว่า 50 ปี นั้น ยังคงถือเป็นประเด็นที่ต้องจับตามองกันต่อไปว่า โดนัลด์ ทรัมพ์ ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนใหม่ จะสานต่อนโยบายผูกมิตรกับประเทศเพื่อนบ้านตามแบบอย่างที่โอบามาได้เริ่มเอาไว้แล้วหรือไม่

https://www.bbc.com/thai/international-38579746