Skip to content
Home » News » ไข้หวัดใหญ่ 2009 การแพร่ระบาดในไทย

ไข้หวัดใหญ่ 2009 การแพร่ระบาดในไทย

ไข้หวัดใหญ่ 2009
https://www.thaihealth.or.th/Content/27604-เชื้อไข้หวัดใหญ่2009ยังระบาดไม่รุนแรง.html

ไข้หวัดใหญ่ 2009 ในเดือนมีนาคม ปี 2552 ประเทศเม็กซิโก พบการเพิ่มจำนวนอย่างผิดปกติของผู้ป่วยที่มีอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ แต่กลับเข้าใจว่าเป็นไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล จนมีรายงานผู้ป่วยเสียชีวิตจากปวดบวมที่ไม่ทราบเชื้อขึ้น กระทั่งเดือนเมษายน ศูนย์ควบคุมโรคแห่งชาติสหรัฐอเมริกา ประกาศพบเชื้อไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่จากผู้ป่วยในรัฐคาลิฟอร์เนีย โดยเป็นเชื้อชนิด A ที่ไม่สามารถแยกแยะได้ด้วยวิธีมาตรฐานแบบเดิม

องค์การอนามัยโลกได้ส่งสัญญาณเตือนให้ประเทศต่างๆ และประกาศยกระดับการเตือนภัยไข้หวัดใหญ่เป็นระลอก จากระดับที่มีการแพร่ระบาดจากคนสู่คน ไปจนถึงระดับสูงสุด ซึ่งหมายถึงมีการแพร่ระบาดไปทั่วโลกกว่า 74 ประเทศ แน่นอนว่ารวมถึงประเทศไทย

เดือนพฤษภาคมปีเดียวกัน มีรายงานพบผู้ป่วยคนไทย 2 รายแรกที่เพิ่งเดินทางกลับจากประเทศเม็กซิโก และหลังจากนั้นก็มีรายงานพบผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ในประเทศตามมา

การแพร่กระจายเกิดขึ้นมากโดยเฉพาะในโรงเรียน ความโกลาหลอันเนื่องจากเชื้อไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 เกิดขึ้นนับแต่นั้น จนในเดือนกันยายนสถานการณ์แพร่ระบาดลดความรุนแรงลง สิ้นเดือนกันยายนมีรายงานการเสียชีวิตสะสมรวม 165 ราย

อย่างไรก็ตาม จากสถานการณ์ดังกล่าวมา ประเทศไทยก็ได้บทเรียนจากการควบคุมไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ด้วยเช่นกัน

“ไข้หวัดใหญ่ 2009” เป็นเชื้อไข้หวัดใหญ่กลุ่ม A (H1N1) ที่เพิ่งถูกค้นพบในคนและมีการรายงานครั้งแรกในเดือนเมษายน ปี ค.ศ. 2009 โดยเชื้อสายพันธุ์ดังกล่าวมีองค์ประกอบพันธุกรรมที่เป็นผลรวมจากเชื้อไข้หวัดใหญ่ที่พบในนก ในหมู และในมนุษย์

ไข้หวัดใหญ่ 2009 ในประเทศไทย ยังไม่ทราบว่าเชื้อดังกล่าวเกิดขึ้นได้อย่างไร ที่ไหน และผ่านจากสัตว์มาสู่คนครั้งแรกเมื่อไหร่ และเนื่องจากสามารถแพร่ติดต่อจากคนไปสู่คนได้อย่างรวดเร็ว จึงจัดเป็นโรคติดเชื้ออุบัติใหม่ที่สำคัญ

หากย้อนกลับไปดูการระบาดของไข้หวัดใหญ่สายพันธ์ใหม่ 2009 ที่แพร่ไปทั่วโลกอย่างรวดเร็วภายในเวลา 2 เดือน กล่าวได้ว่าเป็นบทพิสูจน์ความสามารถของกระทรวงสาธารณสุขของประเทศต่างๆ สำหรับประเทศไทยการระบาดภายในประเทศอย่างรวดเร็วเกิดขึ้นในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2552

โดยพบว่าตัวขับเคลื่อนการระบาดที่สำคัญได้แก่กลุ่มเด็กนักเรียนประถมและมัธยม มีการระบาดในโรงเรียนต่างๆ เริ่มจากกรุงเทพฯและปริมณฑล และแพร่ขยายไปทั่วทุกจังหวัด กล่าวคือ เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2552 ได้รับรายงานการระบาดและปิดโรงเรียนไปกว่า 476 โรงเรียน

ซึ่งบ่งชี้ลักษณะสำคัญของการระบาดไว้ เช่น มีกิจกรรมที่ส่งเสริมการระบาดในโรงเรียนและสถานศึกษา หรือมีลักษณะทางกายภาพของสถานที่ซึ่งเอื้อต่อการระบาด เป็นต้น ยิ่งไปกว่านั้นกลุ่มเด็กนักเรียนได้ส่งผ่านการระบาดไปยังครอบครัวของตนเอง ผู้ปกครองที่ป่วยก็นำเอาเชื้อไปแพร่สู่ที่ทำงานของตนและชุมชน ยังผลให้มีการติดเชื้อประมาณ 10 ล้านคน เมื่อสิ้นปี 2552

ปัจจัยที่ส่งเสริมการระบาดในสถานที่หรือชุมชนต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในโรงเรียน สถาบันการศึกษาสถานบันเทิง ค่ายทหาร เรือนจำ โรงพยาบาล ประกอบด้วยปัจจัยทางกายภาพ เช่น ความหนาแน่นของประชากร สถานที่ปิดทึบ ติดแอร์ในพื้นที่รวม อากาศไม่ถ่ายเท ความแออัด การใช้ภาชนะบางอย่างร่วมกัน ฯลฯ

แต่ที่สำคัญกว่าปัจจัยทางกายภาพคือปัจจัยด้านกิจกรรมการรวมกลุ่ม เช่น การเข้าค่ายฝึกค้างแรมที่เปิดโอกาสให้คนมาทำกิจกรรมที่มีการสัมผัสใกล้ชิดกัน การปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้ป่วยกับญาติ รวมไปถึงกิจกรรมตามสถานบันเทิง ในงานแสดงดนตรี และในโรงภาพยนตร์

ยกตัวอย่างเช่น ปัจจัยที่ส่งเสริมการระบาดในโรงเรียน และสถาบันการศึกษา นอกจากปัจจัยทางกายภาพ ทั้งขนาดของโรงเรียน ห้องเรียนติดแอร์ และความหนาแน่นของนักเรียนแล้ว พบว่ากิจกรรมที่ส่งเสริมการระบาด เช่น การรับน้อง การเข้าค่ายที่ต้องกินนอนร่วมกัน การแข่งกีฬาระหว่างโรงเรียน การฝึกหลักสูตรรักษาดินแดน

เหล่านี้ล้วนเป็นปัจจัยส่งเสริมการระบาดที่สำคัญ นอกจากนี้ยังพบอุปสรรคเกี่ยวกับการควบคุมโรคตามมาตรการ เช่น นักเรียนที่ป่วยไม่ยอมหยุดเรียน การใช้มาตรการคัดกรองที่ไม่สามารถดำเนินการได้ในทางปฏิบัติเช่นการวัดไข้ นักเรียนเดินเรียนไม่มีห้องเรียนประจำ นักเรียนที่ป่วยระหว่างเรียนไม่มีห้องแยกให้รักษาระหว่างที่รอกลับบ้าน เป็นต้น

แม้ในภาพรวมประเทศไทยสามารถควบคุมการแพร่ระบาดในครั้งนี้ได้ โดยสามารถลดการตายได้ประมาณครึ่งหนึ่ง หรือประมาณ 500 ราย และชะลอการแพร่ระบาดเป็นหลายระลอกด้วยยุทธศาสตร์การลดการป่วยและลดการตาย อันประกอบด้วยมาตรการควบคุมโรคระบาดอันได้แก่ การหยุดเพื่อรักษาตัวอยู่ที่บ้าน

การหยุดกิจกรรมต่างๆในสถานที่ซึ่งมีการทำกิจกรรมร่วมกัน รณรงค์การล้างมือ ทำความสะอาดข้าวของเครื่องใช้ สวมหน้ากากอนามัย และการคัดกรองผู้ป่วยไม่ให้เข้าร่วมกิจกรรมในสถานที่หรือชุมชน การวินิจฉัยให้รวดเร็วและรีบรักษาด้วยยาต้านไวรัส การให้วัคซีนแก่กลุ่มเสี่ยงที่จะป่วยรุนแรงและเสี่ยงต่อการเสียชีวิต