ไบเดน ประกาศล่าตัวมือระเบิดสนามบินคาบูล ประกาศจะล่าตัวผู้ก่อเหตุระเบิดสนามบินคาบูล พร้อมทั้งกล่าวโทษว่าเหตุรุนแรงครั้งนี้เป็นฝีมือเครือข่ายกองกำลังรัฐอิสลาม (ไอเอส) ในอัฟกานิสถานส่งผลให้ทหารอเมริกันเสียชีวิต 13 นาย
ไบเดน ประกาศล่าตัวมือระเบิดสนามบินคาบูล พร้อมทั้งกล่าวโทษว่าเหตุรุนแรงครั้งนี้เป็นฝีมือเครือข่ายกองกำลังรัฐอิสลาม (ไอเอส) ในอัฟกานิสถานส่งผลให้ทหารอเมริกันเสียชีวิต 13 นาย พร้อมยืนยันเดินหน้าอพยพประชาชนออกจากอัฟกานิสถานต่อให้เสร็จภายใน 31 ส.ค.นี้
ประธานาธิบดีไบเดนของสหรัฐ กล่าวว่า ทางการสหรัฐมีเหตุผลที่ทำให้เชื่อได้ว่าผู้อยู่เบื้องหลังการโจมตีครั้งนี้เป็นใคร และได้สั่งการให้ผู้บัญชาการทหารพัฒนาแผนการที่จะทำการโจมตีไอเอส ไม่ว่าจะเป็นตัวบุคคล สินทรัพย์ หรือสถานที่ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับคนพวกนี้
“เราจะตอบโต้ด้วยกองกำลังและโจมตีอย่างแม่นยำในเวลาและสถานที่ที่เราเลือก กลุ่มก่อการร้ายจะไม่มีวันชนะ เราจะช่วยเหลือชาวอเมริกันและนำพันธมิตรชาวอัฟกานิสถานออกมา ภารกิจของเราจะดำเนินต่อไป สหรัฐไม่หวาดกลัวต่อการข่มขู่คุกคาม”ประธานาธิบดีไบเดน กล่าว

ไบเดน ประกาศล่าตัวมือระเบิดสนามบินคาบูล
ประธานาธิบดี โจ ไบเดน จัดการแถลงถึงเหตุระเบิดท่าอากาศยานนานาชาติกรุงคาบูล ประเทศอัฟกานิสถาน เมื่อวานนี้ (26 ส.ค) ซึ่งมีทหารอเมริกันเสียชีวิตอย่างน้อย 13 นาย และมีพลเรือนชาวอัฟกานิสถานเสียชีวิต 60 คน โดยไบเดน ประกาศจะไม่มีวันให้อภัยผู้ก่อเหตุและจะตามล่าบุคคลเหล่านี้เพื่อนำตัวมาชดใช้ในสิ่งที่ทำให้ได้
นอกจากนี้ ไบเดน ยังสั่งนายทหารระดับผู้บัญชาการร่างแผนปฏิบัติการโจมตีกลุ่มรัฐอิสลามแห่งโคราซานหรือ ไอสิส-เค (Islamic State Khorasan ISIS-K) ที่อ้างตัวเป็นผู้ลงมือก่อเหตุ
ส่วนการโจมตีที่เกิดขึ้นเมื่อวานนี้เป็นการร่วมมือกันระหว่างกลุ่มไอสิส-เค และ กลุ่มตาลีบันหรือไม่นั้น ไบเดนระบุว่าจนถึงขณะนี้ยังไม่ได้รับหลักฐานจากผู้บัญชาการทหารในพื้นที่เกี่ยวกับความเชื่อมโยงระหว่าง 2 กลุ่มนี้
อย่างไรก็ตาม ไบเดน ยืนยันว่าแผนการอพยพออกจากอัฟกานิสถานจะดำเนินต่อไป และยังไม่ส่งสัญญาณว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงกำหนดเส้นตายถอนกำลังที่กำหนดไว้ในวันที่ 31 ส.ค.นี้
โดย ไบเดน ระบุว่าแม้ตนเองจะไม่ไว้ใจกลุ่มตาลีบัน แต่ก็เชื่อว่าการปล่อยให้ขั้นตอนอพยพดำเนินต่อไป น่าเป็นประโยชน์ต่อกลุ่มตาลีบันด้วย
ขณะที่สถานที่ราชการของสหรัฐฯ รวมถึงทำเนียบขาว ลดธงชาติลงครึ่งเสาเพื่อไว้อาลัยให้กับทหารที่เสียชีวิต
เหลืออีก 6 วันเท่านั้นก่อนถึงเส้นตายที่สหรัฐจะต้องอพยพพลเมืองและชาวอัฟกันที่ช่วยเหลือ พร้อมถอนกำลังออกมาจากอัฟกานิสถานให้หมด สถานการณ์เริ่มตึงเครียดและอ่อนไหวมากขึ้น เพราะไม่มีใครแน่ใจได้ว่า 6 วัน ที่เหลือจะพอหรือไม่ในการนำคนออกมา นอกเหนือจากความโกลาหลวุ่นวายของบรรดาผู้คนที่ไปรอแย่งชิงกันเพื่อออกนอกประเทศแล้ว วันสองวันที่ผ่านมา ตาลีบันเริ่มที่ขัดขวาง ปิดเส้นทางไปสนามบินเพื่อไม่ให้คนออก
โดยเฉพาะชาวอัฟกัน ส่งผลให้การอพยพทำได้ยากยิ่งขึ้น และยังมีตัวแปรอรกหนึ่งตัวที่โผล่เข้ามา นั่นคือ กลุ่มก่อการร้ายที่ฝังตัวในอัฟกานิสถาน ที่จะใช้ช่วงจังหวะนี้ปฏิบัติการ และจุดที่เป็นเป้าหมายสำคัญคือ สนามบินฮามิด คาไซ ที่ทหารสหรัฐกำลังปฏิบัติการอพยพคนออก กลุ่มหนึ่งที่ผู้นำสหรัฐ โจ ไบเดน เอ่ยชื่อออกมาระหว่างการแถลงข่าวคือ ISIS K นี่คือความสุ่มเสี่ยง ที่อาจทำให้เกิดวิกฤตและความวุ่นวายใน 6 วันต่อจากนี้

สนามบินนานาชาติฮามิด คาไซ ยังคงเต็มไปด้วยชาวอัฟกัน ที่พากันแออัดยัดเยียดมารอด้วยความหวังว่า จะเป็นหนึ่งในคนที่ได้รับคัดเลือกในการเดินทางออกนอกอัฟกานิสถาน
โดยภาพนี้มาจากกองทัพออสเตรเลีย ซึ่งเป็นหนึ่งในสมาชิกนาโต้ ที่เข้าไปปฏิบัติการในอัฟกานิสถาน ทหารออสเตรเลียช่วยอพยพเด็กๆ และผู้หญิงให้เข้ามาในพื้นที่สนามบิน
เมื่อคืนที่ผ่านมา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศสหรัฐอเมริกา แอนโทนี บลิงเคน เปิดแถลงข่าวถึงความคืบหน้าในการนำพลเมืองสหรับและชาวอัฟกันที่เคยช่วยงานสหรัฐออกมาว่า โดยการอพยพที่เริ่มขึ้นตั้งแต่วันที่ 14 สิงหาคม ตัวเลขจนถึงเมื่อวานอพยพคนออกมาได้แล้วประมาณ 82,3000 คน เป็นทั้งคนสหรัฐและชาติตะวันตก รวมถึงชาวอัฟกันและครอบครัวที่เคยช่วยงานสหรัฐ
เมื่อลงรายละเอียดเฉพาะคนสหรัฐ รัฐมนตรีต่างประเทศ บอกว่า มีที่แสดงความประสงค์ของอพยพออก 6,000 คน และตอนนี้ทหารสหรัฐช่วยออกมาได้แล้วประมาณ 4,500 คน ส่วนที่เหลืออีกประมาณ 1,500 คนนั้น ส่วนหนึ่งประสบปัญหาในการติดต่อสื่อสาร และบางคนไม่สามารถเดินทางมาสนามบินได้
สิ่งที่รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐพูดสะท้อนความเป็นจริงและสถานการณ์ในพื้นที่ว่า ยิ่งนานวันก็ยิ่งมีความยากลำบากในการอพยพคนมากขึ้นเรื่อย ๆ
ล่าสุดมีคำเตือนจากหน่วยข่าวกรองและรัฐบาลสหรัฐให้ชาวอเมริกันที่อยู่ในกรุงคาบูล หลีกเลี่ยงการเดินทางไปที่สนามบินฮามิด คาไซ ซึ่งเป็นจุดการอพยพ เนื่องจากขณะนี้มีความอันตรายและความเสี่ยงมากขึ้นในการเดินทางไปที่นั่น
นอกเหนือจากกลุ่มตาลีบันจะเริ่มขัดขวางและปิดกั้นเส้นทางไปให้คนเดินทางไปที่สนามบินแล้ว ไม่เฉพาะชาวอัฟกัน และรวมถึงถึงชาวตะวันตกบางรายที่มีรายงานว่าถูกห้ามและถูกข่มขู่แล้ว
อีกปัจจัยหนึ่ง ซึ่งเป็นปัจจัยใหม่ที่เพิ่มเข้ามาให้สถานการณ์ซับซ้อนเข้าไปอีก คือ การเริ่มเข้าแทรกซึมพื้นที่ของกลุ่มก่อการร้าย
ในการแถลงข่าวเมื่อคืนวันอังคารที่ผ่านมา ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐฯ ออกมายอมรับเองว่า ต้องเร่งปฏิบัติการอพยพคนออกมาให้เร็วที่สุดและไม่อยากขยายเส้นตายในวันที่ 31 สิงหาคมออกไปเนื่องจากความเสี่ยงจากกลุ่มก่อการร้ายอย่าง ISIS K และเมื่อคืนนี้รัฐมนตรีต่างประเทศของสหรัฐก็พูดถึงความอันตรายของกลุ่มนี้อีกครั้งในการแถลงข่าว
ไอซิส เค (ISIS K) คือใคร ทำไมสหรัฐฯจึงต้องเกรงภัยที่จะเกิดขึ้นตามมา หากกลุ่มนี้เข้ามาในอัฟกานิสถาน
จุดกำเนิดของ ISIS เริ่มต้นจากอิรัก เมื่อปี 2003 ประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุช สั่งโจมตีอิรักเพื่อโค่นล้มประธานาธิบดีซัดดัม ฮุสเซน เมื่อซัดดัมเสียชีวิต สหรัฐพยายามสร้างอิรักใหม่ ถอนรากถอนมรดกของซัดดัม รวมถึงทหารสุหนี่กว่า 300,000 นายของที่ถูกปลด
หนึ่งในสมาชิกอัลไกดาในอิรัก อาบู มูซาบ อัล ซาคาวี เห็นจังหวะ ระดมเอาทหารที่โกรธแค้น จับอาวุธสู้กับรัฐบาลชีอะห์ที่ขึ้นมามีอำนาจได้เนื่องจากสหรัฐหนุนหลัง และกลายเป็นสงครามกลางเมืองระหว่าง 2 นิกาย
เป้าหมายคือให้นองเลือดให้มากที่สุดเพื่อกดดันให้สหรัฐถอนทหารจากอิรัก เพื่อไปถึงเป้าหมายสูงสุดคือ การตั้งรัฐอิสลาม ซาคาวีถูกสหรัฐสังหารได้ หลังจากนั้นสหรัฐตัดสินใจถอนทหารจากอิรัก
ISIS ได้ผู้นำคนใหม่คือ อาบู บากา อัล บักห์ดาดี เมื่อไม่มีทหารสหรัฐ ISIS แข็งแกร่งมากยิ่งขี้น บุกเข้ายึดซีเรียในหลายเมืองและกลับมายึดอิรักได้เกือบครึ่งประเทศก่อนจะประกาศตั้งรัฐอิสลามที่เมืองโมซุลในปี 2014
ISIS K เกิดขึ้นในช่วงเวลาเดียวกัน เป็นกลุ่มก่อการร้ายที่ประกาศสวามิภักดิ์กับ ISIS หลักในอิรักและซีเรีย Counter Extremism Project ที่มีสำนักงานในนิวยอร์คระบุว่า ISIS K ได้ถูกรับเข้าภายใต้ร่มธงของ ISIS หลักเมื่อเดือนมกราคม 2015 หลังจากนั้น ISIS K ได้รับเงินสนับสนุนจาก ISIS หลัก
ISIS ทำเช่นนี้ในอีกหลายพื้นที่ของโลก เช่น ลิเบีย อียิปต์ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่นในเกาะมินดาเนาของฟิลิปปินส์ เพื่อการขยายขอบเขตและแนวคิดของกลุ่ม สาขา ISIS ที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดสาขาหนึ่งคือ ISIS K
ISIS K มีฐานที่มั่นหลักอยู่ที่ภาคตะวันออกในจังหวัดนานการ์ฮา ของอัฟกานิสถาน และมีพื้นที่ปฏิบัติการครอบคลุมในจังหวัดคูนาร์รวมถึงบางส่วนของกรุงคาบูล เมืองหลวง
เป้าหมายของ ISIS K คือ รัฐอิสลาม อย่างไรก็ตาม ISIS K ไม่ได้มีกำลังและทรัพยากรเหมือนกับ ISIS ในอิรัก แผนของ ISIS K จึงไม่ได้ทะเยอทะยานมาก เป็นลักษณะของการ operate ย่อย
Counter Extremism Project คาดการณ์ว่า ISIS K มีกองกำลังอยู่ประมาณ 2,000 คน แต่คาดว่าหลังจากนี้จำนวนจะมากขึ้น หลังการขึ้นมามีอำนาจของตาลีบัน สิ่งที่อาจจะเกิดขึ้นคือ การหลั่งไหลของบรรดาคนที่เรียกตัวเองว่านักรบจีฮัดจากเอเชียกลางปากีสถาน มาที่อัฟกานิสถานเพื่อใช้กบดานและเป็นฐาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากฐานหลักในซีเรียและอิรักถูกตีแตกไปแล้ว
ที่ผ่านมา ISIS K ปฏิบัติการก่อการร้ายในอัฟกานิสถานหลายครั้งและถี่มากขึ้นนับตั้งแต่ปีที่แล้ว เดือนพฤษภาคม 2020 โจมตีด้วยระเบิดฆ่าตัวตายที่วอร์ดแม่และเด็กของโรงพยาบาลแห่งหนึ่งในกรุงคาบูลมีคนเสียชีวิต 24 คน โดยผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่เป็นชาวชีอะห์ โจมตีมหาวิทยลัยคาบูล เมื่อเดือนพฤศจิกายน และยิงจรวดใส่สนามบินนานาชาติในเดือนถัดมา
นอกจากนี้ก็มีการโจมตีคุกทางตะวันออกของอัฟกานิสถานเพื่อปลดปล่อยสมาชิกที่ถูกขังอยู่กว่า 400 คน และมีผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์นั้น 39 คน
ปฏิบัติการของ ISIS K รุนแรง และถี่มากขึ้น Counter Extremism Project ระบุว่า ในช่วง 4 เดือนที่ผ่านมา ISIS K ปฏิบัติการก่อการร้ายแล้วถึง 77 ครั้ง
สำหรับความสัมพันธ์ระหว่าง ISIS K ตาลีบัน Counter Extremism Project ระบุว่าทั้งสองกลุ่มเป็นศัตรูกันเนื่องจากความแตกต่างด้านอุดมการณ์
และขณะนี้กลุ่ม ISIS K กำลังเป็นภัยคุกคาม โดยเฉพาะในช่วงที่เกิดสูญญากาศทางการเมืองในอัฟกานิสถาน มีความหวาดกลัวกันว่า ISIS K จะใช้โอกาสในการก่อการร้ายเพื่อสร้างความปั่นป่วนวุ่นวายเพื่อประโยขน์ของกลุ่ม ซึ่งการที่ก่อความปั่นป่วนวุ่นวายนั้น เป้าหมายที่การโจมตีจะได้ผลที่สุดคือ การโจมตีปฏิบัติการของสหรัฐที่กำลังเร่งอพยพคนในขณะนี้
